สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ‘สารคาม’ พลิกไร่มัน ปลูกมะม่วงพันธุ์ดี 1,500 ต้น ขายผลผลิตได้ 900,000 บาท

พื้นที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีสภาพดินปนทรายและขาดแคลนน้ำ ได้ชื่อว่าเป็นอำเภอที่มีสภาพแห้งแล้ง เกษตรกรมักปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น มันแกว มันสำปะหลัง แต่ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน หลายครอบครัวจึงปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงกว่า

ละออง โสจันทร์ เกษตรกรบ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 11 ตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ เป็นอีกรายที่ประสบความสำเร็จ หลังปรับเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังตามแนวทางของพ่อแม่ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก มาทำสวนมะม่วงตามคำชักชวนของสามีชาวนครปฐม ในปี 2550 ระยะแรกลงทุนขุดบ่อบาดาลทำระบบน้ำหยด และลงพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น มะยงชิด ลำไย แต่พืชสวนหลักๆ คือ มะม่วง 1,500 ต้น ทั้งมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มัน เขียวเสวยสามรส และมหาชนก ลองผิดลองถูกมานาน กระทั่งประสบความสำเร็จโดยเฉพาะมะม่วงผลใหญ่ ผิวสวย

“ด้านการตลาด จะขายส่งพ่อค้าคนกลางที่ตลาดไท และส่งขายห้างใหญ่ โดยเป็นผลผลิตเกรดพรีเมียม ขายในตลาดบน ผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูงทำให้ขายสินค้าได้ราคาเพิ่มขึ้น อีกทั้งมะม่วงที่สวนผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าปลอดภัย เมื่อปีที่ผ่านมาสามารถเก็บผลผลิตขายได้เงินกว่า 900,000 บาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะมีรายได้จากการขายมะม่วงพันธุ์ดีมากกว่า 1 ล้านบาท” ละออง กล่าว

ด้าน ประยูร สุวรรณคำ เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สวนมะม่วงของ คุณละออง โสจันทร์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ สมาชิกเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) “Smart Farmer” ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP มะม่วงที่สร้างรายได้คือ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มัน และเขียวเสวยสามรส ระหว่างแปลงยังปลูกผักสวนครัวอีกหลายชนิด เช่น พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว เพื่อเก็บผลผลิตออกขายก่อนมะม่วงให้ผลผลิต ทำให้มีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

เสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดมหาสารคามเป็นเมืองเกษตรกร ส่วนใหญ่ปลูกข้าว มัน อ้อย ผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ แต่ราคาผลผลิตไม่นิ่ง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง ตามนโยบายของรัฐบาลมีการกำจัดพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ไม่เหมาะสมจะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือปรับเปลี่ยนไปด้านอื่น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมจะแนะนำให้ยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่า โดยมุ่งสู่การเกษตรแบบอินทรีย์ในอนาคต

“ส่วนการรวมกลุ่มแบบแปลงใหญ่ ปลูกพืชชนิดเดียวกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ ทำให้ผลผลิตได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด พ่อค้าคนกลางรับซื้อได้ครั้งละมากๆ เกิดความสามัคคีของเกษตรกร และสามารถกำหนดราคาเองได้ สวนมะม่วงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เกษตรกรทำในสิ่งที่ตนชอบ ทำแล้วมีความสุข เกิดความเข้าใจที่จะเรียนรู้ ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี”

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สุคนธ์ทิพย์ กำธรเจริญ