แปลงใหญ่ข้าวอู่ทอง ต้นแบบความสำเร็จ ที่เชื่อมโยงเครือข่าย ศพก.อย่างเข้มแข็ง

ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชูจุดแข็งประความสำเร็จการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล จากการที่เกษตรกรสามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่เข้าด้วยกันอย่างอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรในทิศทางที่สามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น จากการวางแผนการผลิต การใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสม การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ด้วยกันอย่างลงตัว

นายสืบพงษ์ ออเพชร ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า พื้นที่ ต.บ้านดอน อ.อู่ท่อง จ.สุพรรณบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีคลองส่งน้ำชลประทานตัดผ่าน จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพการทำนาเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง

แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบกับภาวะต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาข้าวตกต่ำ ดินเสื่อมโทรม ส่งผลให้การอาชีพการปลูกข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ค่อนข้างไม่มั่นคง จนกระทั่งในปี 2559 รัฐบาลมีนโยบายการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ พร้อมกับมีการส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้ครอบคลุมทุกด้านในการทำเกษตรกรรมทุกสาขา เพื่อขับเคลื่อนการทำเกษตรแปลงใหญ่ให้เกิดขึ้น ภายใต้นโยบายหลักต้องการให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ โดยเน้นไปที่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ

สำหรับการรวมแปลงใหญ่ของ ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง ประกอบด้วยพื้นที่การทำนาแปลง 1 แปลง ในพื้นที่ 1387 ไร่ เกษตรกร 101 ราย โดยก่อนที่จะมีการรวมแปลงใหญ่เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4000-5000 บาท/ไร่ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงมาจากค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารเคมี แต่หลังจากที่มีการรวมแปลงใหญ่ทางศพก.ได้มีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมในการเพาะปลูกข้าว ด้วย “เทคโนโลยี 3 ลด 1 เพิ่ม 2 ปฏิบัติ” มาใช้ได้แก่ 3 ลด ประกอบด้วย

ลดที่ 1 ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว จากเดิมใช้ 30-40 กิโลกรัม/ไร่ให้เหลือเพียง 8-10 กิโลกรัม/ไร่ โดยใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์แทนการใช้แรงงานคน ช่วยให้สามารถลดเงินลงไปได้ 150-300 บาท/ไร่

ลดที่ 2 ลดการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในปริมาณที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อพืชสูงสุด

ลดที่ 3 ลดการใช้สารเคมีลง หันมาผลิตสารชีวภัณฑ์ใช้เอง ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย และบีที ส่วน 1 เพิ่ม ประกอบด้วย เพิ่มมูลค่าของดิน ด้วยการไถกลบตอซัง ปลูกปอเทือง ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และ 2 ปฏิบัติ ประกอบด้วย 1 ปฏิบัติ ทำบัญชีครัวเรือน เกษตรกรจะต้องรู้ทำบัญชีครัวเรือนเพื่อรู้รายได้ รายจ่าย 2 ปฏิบัติ ก็คือการนำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานมาปรับใช้สร้างรายได้รายวัน และสร้างอาหารให้กับครัวเรือนของตนเอง

นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า จากภาพรวมสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ อ.อู่ทอง ที่มีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก ศพก. มีการบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเหมะสมและถูกต้อง ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงข้าวลงเหลือเฉลี่ยไร่ละ 3200 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20

ขณะเดียวกันยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวขึ้นจากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 12.5 หรือคิดเป็น 100 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งเกษตรกรยังหันมาทำเกษตรในรูปแบบทฤษฎีใหม่ผสมผสานการปลูกพืช แม้จะเน้นไปที่การทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ก็จะมีการแบ่งพื้นที่มาทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล สมุนไพร เพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นการลดรายจ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือก็แบ่งขายสร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปี

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2560

Update 24/6/2021