ลุงวัย 65 ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงสร้างเงินแสน!!

วันนี้ได้รับคำแนะนำจาก คุณร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดสกลนคร ว่า มีเกษตรกรที่บ้านคำประมง ตำบลบัวสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีชีวิตแนวคิดที่อยากให้ครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ ยึดอาชีพการเกษตร ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ที่บรรพบุรุษยึดทำกินเลี้ยงปากท้องคนบนโลกนี้มานานแสนนาน น่าสนใจนำมาบอกเล่าเปิดเผยให้ทราบทั่วไป

จึงขับรถยนต์ออกจากจังหวัดสกลนคร เดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านคำประมง ตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี เมื่อพ้นเขตเทศบาลนครสกลนคร ราว 5 กิโลเมตร ก็จะพบเพิงไม้ร้านขายมันสำเภา (มันแกว) มาวางขายเรียงรายตั้งแต่ แยกหน้าราชภัฏสกลนคร เรื่อยมาถึงบ้านพังขว้างใต้หลายกิโลเมตร มองเห็นแล้วชุ่มชื่นหัวใจ ที่มีผลผลิตออกมาวางขาย หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ถิ่นนี้ “แอ่งสกลนคร”

พอเข้าเขตบ้านพาน ผ่านเทศบาลดงมะไฟ มองเห็นน้ำเจิ่งนองตามสองฟากข้างถนน ชาวนากำลังบังคับควายเหล็กเสียงคำรามดังสนั่นลั่นทุ่ง บางที่มีชาวบ้านดำนาและหว่านข้าว บางแห่งเริ่มเขียวขจีมองแล้วเพลินตาสบายใจ

เลยเทศบาลตำบลดงมะไฟ ราว 2 กิโลเมตร ก็เข้าเขตพื้นที่อำเภอพรรณานิคม ถึงสามแยกไฟแดง ชาวบ้านเรียกว่า “สามแยกสูงเนิน” เลี้ยวขวาไปตามถนนสูงเนิน-เซกา ผ่านบ้านพอกใหญ่ ที่มีลำน้ำอูนพาดผ่าน น้ำอูนเริ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากสีของน้ำที่ขุ่นมัวบางแห่งเริ่มใส มองเห็นกระชังปลาเลี้ยงของชาวบ้านในลำน้ำอูนที่คดเคี้ยวยาวสุดตา แม้ยามนี้ข่าวว่า “เขื่อนน้ำอูน” ยังไม่สามารถปล่อยน้ำลงมาให้เกษตรกรทำการเกษตรได้ก็ตาม

วิ่งมาอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็เข้าเขตตำบลบัวสว่าง อำเภอพรรณานิคม ก่อนเข้าหมู่บ้านจะพบป้ายบอกเลี้ยวขวา ไปวัดคำประมง หรืออโรคยาศาลา บ้านคำประมง เลี้ยวขวาไปตามถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท อีกราว 5 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านคำประมง หมู่ที่ 4 ตำบลบัวสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

1470797609

เมื่อเข้าเขตหมู่บ้านจะพบกับความชุ่มชื่นเขียวชอุ่มของแมกไม้นานาพรรณที่ชาวบ้านปลูกตามรั้วรอบขอบบ้าน ล้วนแต่เป็นไม้ผลที่กินได้ เช่น มะม่วง มะขาม เป็นต้น

ที่นี่ได้พบกับ คุณลุงทองปาน พิมพานิช วัย 65 ปี และภรรยา คุณป้าเคี่ยม พิมพานิช อายุ 63 ปี ที่มีความทะมัดทะแมงแข็งแรงทำงานได้สบายๆ หลังจากทักทายแนะนำตัวแล้ว

คุณลุงทองปาน เล่าว่า ยึดอาชีพทำนา ทำสวน มาจากบรรพบุรุษ เดิมอยู่บ้านบัวสว่าง ต่อมาเมื่อมีการมาตั้งหมู่บ้านที่นี่จึงออกมา เพราะว่ามีที่ดินอยู่ที่นี่ คุณลุงทองปาน มีลูก 6 คน ชาย 2 หญิง 4 คน แต่งงานมีครอบครัว ก็ยึดอาชีพทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ส่วนแม่บ้านยามว่างก็หันมาทอผ้าใช้เอง ไม่ได้ซื้อหาเหมือนปัจจุบัน ผ้าส่วนใหญ่ที่ทอ ผ้าคราม ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ใช้เองในครอบครัว

อินทผลัมกินผล
อินทผลัมกินผล

ฐานะครอบครัวค่อนข้างลำบาก แม้จะมีที่ดินทำนา ทำสวน ทำไร่ ก็ตาม เพราะการทำการเกษตรนั้นส่วนใหญ่จะรอน้ำจากฝนที่ตกลงมา ไม่ได้พัฒนาเหมือนปัจจุบัน ลูกหลายคนถามว่า จะให้เรียนหนังสือแล้วไปรับราชการทำงานหรือไม่ จึงบอกไปว่า การเรียนหนังสือเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราฉลาด แต่เป็นส่วนประกอบของความสบายระดับหนึ่งเท่านั้น คิดว่าลูกๆ ทุกคน ประกอบอาชีพการเกษตรดีกว่า เพราะคนทุกคนบนโลกนี้จะต้องกินข้าว กินน้ำ แม้จะมีเงินก็ต้องกินขาดไม่ได้ จึงช่วยกันทำนา ทำสวน เรื่อยมา

 

การเปลี่ยนแปลง

เกิดขึ้น เมื่อ ปี 2540

คุณลุงทองปาน บอกว่า มีผู้นำบางคนบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี และต้องมีความขยัน อดทน ประหยัด จะทำให้เราประสบผลสำเร็จได้ เมื่อวันหนึ่งเข้าไปในตัวเมือง ในตลาด พบว่า ราคาพริกสูงมาก จึงเกิดแนวคิดว่า เมื่อเรามีที่ดินมาก จำนวนกว่า 32 ไร่ หากปลูกพริกสักไร่คงทำเงินได้ ลูกๆ ก็ไม่ต้องไปหาทำงานรับจ้างที่อื่น จึงตัดสินใจปลูกพริก ตอนนั้นราคาพริกสูงมาก ขายปีแรกได้เงิน 70,000 บาท จึงปลูกอีก จนถึง ปี 2543 ราคาพริกตก เพราะมีคนปลูกกันมาก และในช่วงที่ปลูกพริก ส่วนหนึ่งก็ปลูกมะม่วงอกร่อง มะม่วงแก้ว ไว้ด้วย

มะม่วงคุณภาพดี
มะม่วงคุณภาพดี

ต่อมาได้มีหลานชาย ที่ทำงานในห้างแห่งหนึ่งได้ซื้อมะม่วงลูกโตๆ มาฝาก กินแล้วอร่อย จึงได้สอบถามว่า เขาปลูกที่ไหน ซึ่งหลานชายบอกว่าจะติดต่อให้ เพราะเขาต้องการพื้นที่มาปลูกแถวอีสานเช่นกัน ด้วยความคิดที่ว่า ต้องปลูกหลายชนิด ดังที่เคยฟังวิทยุ เกษตรแบบผสมผสาน เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ และไม่ต้องซื้อ ไม่ปลูกพืชอย่างเดียว เพราะทำให้เสี่ยง

จึงตัดสินใจเดินทางไปขอซื้อพันธุ์มะม่วงดังกล่าวที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 300 ต้น ต้นละ 30 บาท นำมาปลูก 300 ต้น เรียกว่า มะม่วงพันธุ์ “งามเมืองย่า” ในช่วง 2 ปี มะม่วงให้ผลผลิตออกลูกมาจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรหลายรายสนใจอยากปลูก จึงได้ต่อกิ่งพันธุ์ขาย ในปีแรกสามารถขายทั้งผลและกิ่งพันธุ์ได้เงิน 200,000 บาท

จากนั้นได้หันมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ว่าทำอย่างไร ซึ่งก็ทำให้เข้าใจ จึงชักชวนลูกทั้ง 6 คน ที่แต่งงานแล้วมาปลูกพุทรา มะละกอ สับปะรด อ้อยปั่นน้ำสด อินทผลัม มะขามเปรี้ยวฝักโต แก้วมังกร ผักหวานป่า กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำหว้า พืชผักสวนครัวทุกชนิด สัตว์เลี้ยง กระบือ หมู เป็ด ไก่ กบ ปลา

พร้อมทั้งการขุดบ่อน้ำ เป็นบ่อเลี้ยงปลา และทำเป็นแหล่งน้ำ จำนวน 2 บ่อ บ่อละ 1 ไร่เศษ เพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทำอะไรก็ได้ผลดี
ทำอะไรก็ได้ผลดี

ปัจจุบัน จะมีรายได้จากการขายผลผลิตในสวน เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 3,000-3,500 บาท หรือปีที่ผ่านมา ได้ 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาท) รวมทั้งขายมะม่วงด้วย โดยมะม่วงจะให้ผลผลิตช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ทุกปี จากนั้นจะเป็นการขายต้นพันธุ์ซึ่งมีการต่อกิ่งพันธุ์ขายตลอดปี

คุณลุงทองปาน บอกว่า ผลจากการลองผิดลองถูก และได้หันมายึดหลักแนวทางพระราชดำริของในหลวง ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้วันนี้ตนสามารถบอกได้ไม่อายปากว่า แม้อาชีพทำการเกษตรก็สามารถทำให้มีเงินแสนเงินล้านได้ และที่สำคัญมีความสุข อยู่อย่างพอเพียง ในทางของตนคือทำเศรษฐกิจพอเพียง แบบเงินมาหา เพราะทุกอย่างผู้ที่ต้องการจะมาซื้อเอง ไม่ได้เอาไปจำหน่าย

ดังนั้น ในพื้นที่ 32 ไร่ ที่มีอยู่ จึงพอเพียงกับครอบครัว ลูกๆ ทั้ง 6 คน ได้ทำกิน เพราะการทำการเกษตรนี้ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก

“กินได้ที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่ไม่ต้องซื้อ”

“เมื่อเราพออยู่พอกินในครอบครัวก็นำมาจำหน่าย สร้างรายได้”

หากกลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานใด สนใจอยากศึกษาดูงานหรือรายละเอียด สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร หรือที่ คุณลุงทองปาน พิมพานิช โทร. 080-196-9410 ทุกวัน ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ของทุกคนที่สนใจ

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354