ปลูกลิ้นจี่ ในดงมะม่วงนอกฤดู ได้ผลดีเกินคาด

ปัจจุบันแหล่งปลูกลิ้นจี่ในประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะทางภาคเหนือตอนบนที่มีอากาศหนาวเย็นเหมาะแก่การปลูกเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายพันธุ์ไปปลูกในบริเวณอื่นบางแห่งทั่วประเทศที่มีสภาพอากาศตอบสนองต่อการปลูกอย่างแถบพื้นที่ภาคกลางที่ราบต่ำแถวอำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จนมีพันธุ์ที่คุ้นชื่อกันคือพันธุ์ค่อม (ค่อมลำเจียก) กะโหลกใบยาว สำเภาแก้ว ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วยังสามารถปลูกลิ้นจี่ในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดเลย นครพนม หนองคาย เป็นต้น อาทิ ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1(นพ.1) ถือเป็นสายพันธ์ที่ได้จากการกลายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ดมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนนครพนม(ศวพ.นครพนม)

ส่วนทางภาคตะวันออกมีจังหวัดที่ปลูกลิ้นจี่ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี แต่ก็ไม่มากนัก

อาจารย์ประทีป กุณาศล ที่ปรึกษาหนังสือเล่มนี้ เปรยกับคุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ว่าได้ไปพบและทดลองชิมลิ้นจี่พันธุ์หนึ่งในงานแสดงผลไม้ โดยเจ้าของสวนบอกว่าเป็นลิ้นจี่ที่มีผลขนาดโต เนื้อแห้ง รสหวาน ที่สำคัญสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจำหน่ายสร้างรายได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์

1470740503

เมื่อสบโอกาสคุณพานิชย์จึงได้ชักชวนท่านที่ปรึกษาไปพิสูจน์ลิ้นจี่พันธุ์นี้ที่ “สวนอัมรินทร์” ตั้งอยู่เลขที่ 126 หมู่ 2 ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าของสวนคือคุณช้อย สองเมือง โทรศัพท์ 081-8784117 และ 086-2517081

จากประสบการณ์ปลูกพืชไร่

สู่…การเปลี่ยนมาเดินบนเส้นทางไม้ผล

คุณช้อย สองเมือง นับเป็นเกษตรกรนักคิดที่ชอบเปลี่ยนแปลงอาชีพตัวเอง เส้นทางอาชีพเกษตรกรรมของเขาผ่านมาแล้วทั้งการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือแม้แต่มะม่วง กระทั่งเขาได้เรียนรู้การปลูกมะม่วงนอกฤดูจนสามารถทำและประสบความสำเร็จคนหนึ่งเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ด้วยความคิดที่ว่าหากทำสำเร็จจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกและเป็นรายได้ที่ดีกว่าการรอให้มะม่วงออกตามฤดู เนื่องจากทุกคนทำเหมือนกัน ผลผลิตจึงล้นตลาดทำให้ราคาตก

เขาเล่าว่ากว่าจะประสบความสำเร็จต้องใช้เวลานานเกือบสิบปีด้วยการศึกษาทดลองด้วยตัวเอง ต้องผจญกับปัญหาทั้งความรู้ ความชำนาญด้านสารเคมีที่ใช้ทำ ต้องดิ้นรนทำด้วยตัวเอง ลองผิดถูก แล้วยังขาดคนชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องอันเนื่องมาจากพื้นที่อาศัยสมัยนั้นยังเป็นป่า การเดินทางเข้ามาของหน่วยงานราชการจึงมีความลำบาก

ปัจจุบันเขาเลิกทำมะม่วงนอกฤดูแล้วเนื่องจากมองเห็นว่ามีเกษตรกรหลายรายหันมาทำกันมาก แล้วเกษตรกรเหล่านั้นทวีความเข้มข้นในการใช้สารเคมีมากขึ้น พร้อมกับเล็งเห็นว่าถ้าทอดเวลาไปนานเท่าไรอาจยิ่งเพิ่มต้นทุนมากขึ้นเรื่อย ทั้งนี้เพราะกรรมวิธีในการปลูกจะทวีความเข้มข้นขึ้นไปตามลำดับ ทั้งต้นทุนการห่อผลและอื่นๆ

“กระทั่งก่อนเลิกทำมะม่วงนอกฤดูสัก 4 ปี มีสัญญาณบอกเหตุแล้วว่าต้นทุนต้องขยับขึ้นมาอีก 40 เปอร์เซ็นต์ แต่หากคนปลูกเกิดความผิดพลาดอาจสร้างความเสียหายได้ จนขณะนี้ชาวบ้านหลายคนบ่นว่าอยู่ในสภาพย่ำแย่กัน”

ย้อนเส้นทางลิ้นจี่พันธุ์นี้

คุณช้อยย้อนให้ฟังว่าไปพบลิ้นจี่พันธุ์นี้ แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นพันธุ์อะไรแน่และถูกปลูกอยู่ในพื้นที่บ้านเพื่อนเพียงต้นเดียวในอำเภอปากช่องระหว่างที่เขาไปสอนการทำมะม่วงนอกฤดู ช่วงนั้นลิ้นจี่พันธุ์นี้ปลูกมาก่อนแล้ว 2 ปี เป็นต้นลิ้นจี่ที่เพื่อนได้มาจากคนรู้จักอีกทอดหนึ่งซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นพันธุ์อะไร

1470740517

เขาเผยว่าตกใจเมื่อเห็นผลผลิตเพราะแปลกตรงขนาดผลใหญ่ มีรสชาติดี และผลผลิตสุกเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน เท่าที่ทราบมีเพียงพันธุ์ค่อมอัมพวาเท่านั้นที่จะมีผลแก่ในช่วงเวลานั้น ดังนั้นเขาจึงขอตอนกิ่งพันธุ์มาจำนวน 1 กิ่ง แล้วนำมาปลูกในสวนมะม่วง

ทดลองนำพันธุ์อื่นมาปลูกเทียบ

แต่ปรากฏพันธุ์ที่ได้มาดีกว่ามาก

จากข้อสังเกตหลายประการที่คุณช้อยคิดว่าลิ้นจี่พันธุ์นี้แตกต่างจากพันธุ์อื่นที่เขารู้จัก ฉะนั้นเพื่อเป็นการหาข้อมูลมายืนยันเขาจึงตัดสินใจนำพันธุ์ลิ้นจี่อื่นอาทิ ฮองฮวย จักรพรรดิ ค่อม กิมเจง และอีกหลายพันธุ์รวมถึงพันธุ์ที่ได้มาจากเพื่อนนำมาปลูกร่วมกันด้วย ทั้งนี้เพื่อนำมาปลูกเปรียบเทียบว่าพันธุ์ใดที่เหมาะกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศในบริเวณนี้มากที่สุด

ในช่วง 2 ปีแรก คุณช้อยได้ตอนกิ่งจากต้นลิ้นจี่ต้นเดียวที่ได้มา จนได้กิ่งตอนจำนวนหนึ่งจากนั้นนำมาปลูกเพื่อตรวจสอบดูการเจริญเติบโต การออกดอกติดผล และความทนทานต่อศัตรูพืช โดยใช้ระยะปลูก 6 คูณ 6 เมตร ไม่นานจึงพบว่าลิ้นจี่พันธุ์นี้เจริญเติบโตพร้อมทั้งทนทานต่อศัตรูพืชได้ดีมาก ทั้งๆ ที่ปลูกในสวนมะม่วง

“ปรากฎว่าพันธุ์ค่อมกับพันธุ์ที่นำมา ออกผลผลิตพร้อมกันทุกปีแล้วไม่เคยเว้นปี ส่วนพันธุ์อื่นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะจักรพรรดิที่ออกยากมาก ที่ผ่านมาเคยให้ผลดกมากในปีที่มีอากาศหนาวจัดครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว จนในที่สุดพันธุ์ที่เคยปลูกเปรียบเทียบได้โค่นไปหมดแล้วจะเหลือไว้แต่ค่อมกับจักรพรรดิเท่านั้นเพื่อไว้ดูเล่นและให้คนมาเที่ยวสวนได้ชิมเปรียบเทียบ”

1470740557

เมื่อหาข้อสรุปได้แล้ว จากนั้นคุณช้อยจึงเดินหน้าขยายพันธุ์ที่ได้มาให้มีจำนวนมากแทนการปรับปรุงคุณภาพพันธุ์ จนปัจจุบันเขาปลูกลิ้นจี่รุ่นนั้นไว้จำนวน 200 ต้น และขณะนี้เริ่มปลูกเพิ่มขึ้นอีกรุ่นที่สองในเนื้อที่กว่า 20 ไร่ หรือประมาณ 600 ต้น (1ไร่ปลูกได้ 30 ต้น) พร้อมกับได้วางระบบน้ำเรียบร้อยแล้วเพื่อเตรียมตัวรองรับผลผลิตที่จะออกได้ในปีหน้า

การปลูกลิ้นจี่ของคุณช้อยคงทำไปในแนวทางเดียวกับการปลูกมะม่วงนอกฤดูอย่างที่ผ่านมา ด้วยการพยายามค้นคว้าหาข้อมูลวิธีการปลูกที่เหมาะสมถูกต้องด้วยตัวเองทั้งการศึกษาจากตำราเอกสาร สอบถามจากแหล่งผู้แทนจำหน่ายปุ๋ยและยา จนกระทั่งคุณช้อยได้มีโอกาสพบกับรองศาสตราจารย์วิจิตร วังใน ซึ่งเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการลิ้นจี่มาเป็นเวลานาน และยังให้ความกรุณาชี้แนะและคำปรึกษาหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งแนวทางวิชาการและการปฏิบัติจริง

อาจารย์ประทีป ถามคุณช้อยว่า เคยเห็นพันธุ์นครพนม 1 หรือไม่ เขาบอกว่าเคยได้ยินแต่ชื่อจากชาวสวนที่เคยซื้อกิ่งพันธุ์ของเขาไปปลูก แต่ยังไม่เคยเห็นผลจริง

“เท่าที่ทราบมีหลายคนบอกว่าพันธุ์นี้คล้ายกับนครพนม 1 มาก แม้แต่ชาวสวนลิ้นจี่แถบจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ ได้ชิมนครพนม 1 เปรียบเทียบกับพันธุ์นี้แล้วต่างให้ข้อมูลว่าทั้งสองพันธุ์มีความใกล้เคียงกันมากทั้งทางทรงต้น และรูปร่างของผล แต่ชาวสวนที่มีโอกาสได้ชิมบอกว่าลิ้นจี่ที่ปลูกในสวนอัมรินทร์มีขนาดผลใหญ่กว่า และมีรสชาติหอมกว่า”คุณช้อยกล่าว

จุดเด่น เก็บผลผลิตได้ก่อนสงกรานต์

สำหรับการให้ผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์นี้เจ้าของสวนให้รายละเอียดว่าจะออกดอกติดผล และสามารถให้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัมต่อต้นในช่วงปีที่ 3 โดยจะออกดอกปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ผลแก่เก็บเกี่ยวได้ก่อนลิ้นจี่ทางภาคเหนือของไทย 2 เดือน และก่อนลิ้นจี่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 เดือน (จีนเก็บเกี่ยวปลายเดือนกรกฎาคม ถึง ต้นสิงหาคม)

ระยะเวลาจากแทงช่อดอกถึงผลแก่เก็บเกี่ยวได้ 135 วัน จากแทงช่อดอกถึงดอกบานใช้เวลา 20 วัน จากดอกบานถึงติดผล 15 วัน และจากติดผลถึงเวลาเก็บเกี่ยวผล 90 วัน

1470740524

“โดยปกติดอกจะออกประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นธันวาคม แล้วจะเริ่มเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน แต่จะหมดก่อนสงกรานต์ ไม่มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษเพียงแต่จะเน้นการให้น้ำและปุ๋ยในช่วงที่แทงช่อดอก ส่วนวิธีอื่นที่เคยทำอย่างเช่นใช้สาหร่ายพ่น 3 ครั้งก่อนดอกออกหรือเป็นช่วงหลังหนาวก่อนเข้าร้อน จะเป็นการฉีดเพื่อกระตุ้น”

คุณช้อยบอกว่าเคยมีการทำบันทึกข้อมูลไว้หากน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ได้จำนวนผล 25-27 ผล ส่วนขนาดเมล็ดถือว่าปานกลาง ยังไม่จัดว่าเล็ก และมีความหวานประมาณ 18 บิท

เขาบอกว่าด้านผลผลิต อย่างปีที่แล้ว (2555) ซึ่งถือว่ามีอากาศดี จะได้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 50 กิโลกรัมในเนื้อที่ 4 ไร่ มีจำนวน120 ต้นมีรายได้แล้วหนึ่งล้านบาท

ในเวลา 3 ปีที่ผ่านมาการจำหน่ายผลผลิตลิ้นจี่ของสวนอัมรินทร์มีด้วยกันสองส่วนคือ การจำหน่ายให้แก่ลูกค้าประจำที่มารับถึงสวน โดยลูกค้ากลุ่มนี้มีทั้งหน้าเก่าและใหม่ กับอีกส่วนนำไปส่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ ทั้งนี้ทั้งสองส่วนกำหนดราคาจำหน่ายไว้เท่ากันคือกิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากนั้นยังมีการจำหน่ายกิ่งพันธุ์ในราคากิ่งละ 500 บาท

“แต่ปีนี้ (2556) ได้ผลผลิตน้อยซึ่งเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ จึงงดส่งห้างแต่มีจำนวนเพียงพอเพื่อส่งให้ลูกค้าประจำที่สั่งกันมาตลอด”

คุณช้อย เผยว่า ลิ้นจี่ปลูกง่ายกว่ามะม่วงมาก แถมยังลงทุนน้อยเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัญหาด้านศัตรูและโรคพืชพบน้อยมาก การใช้เงินลงทุนปลูกลิ้นจี่และลำไยพอกัน แต่ถือว่าลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่ลงทุนปลูกน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้

1470740533

อาจารย์ประทีป กล่าวว่า คุณสมบัติของดินในบริเวณนี้มีแคลเซียมสูง และมีค่า ph สูงกว่าที่นครพนม อีกทั้งยังมีความสูง 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลทำให้เนื้อลิ้นจี่แห้ง แข็ง กรอบ และมีรสชาติหวาน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่เจอเช่นนี้

อาจารย์ประทีป บอกอีกว่า จากประสบการณ์มีความคล้ายกับพันธุ์นครพนม 1 มากทั้งลักษณะและรสชาติ ทั้งนี้สันนิษฐานอาจมีโอกาสกลายพันธุ์จากตาหรือกิ่ง และเมื่อเทียบเคียงแล้วอาจคล้ายกับการกลายพันธุ์ของมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ที่ถูกคัดเลือกจากมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ออกเป็นทวายหลายต้น หรือแม้แต่องุ่นในบ้านเราก็มีการกลายพันธุ์เช่นกัน เพราะพืชสวนมักจะมีปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่แปลก

การควั่นกิ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้กิ่งมีการเก็บสะสมอาหารมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังเป็นวิธีหนึ่งที่ยับยั้งการแตกใบอ่อนซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการออกดอกของลิ้นจี่ได้ระยะใบที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการควั่นกิ่งควรอยู่ในระยะใบแก่ แต่สำหรับลิ้นจี่พันธุ์นี้คุณช้อยบอกว่าไม่จำเป็นต้องควั่นกิ่งผลผลิตก็สามารถออกได้ดี อันนี้เคยมีการทดลองมาแล้ว โดยมีการใช้เลื้อย ใช้มีด หรือปล่อยไม่ต้องควั่น ผลออกมาว่าไม่แตกต่างกันเลย

“อย่างไรก็ตามลิ้นจี่พันธุ์นี้สามารถออดดอกติดผลง่ายแม้ว่าจะถูกกระทบจากอุณหภูมิเย็นที่ 20-25 องศาเซลเซียส แล้วยังออกดอกได้ทั่วทั้งต้น อีกทั้งมีผลขนาดโต เนื้อแน่น แล้วไม่แฉะแม้จะมีฝนในช่วงเก็บเกี่ยว”

ท้ายสุด เจ้าของสวนอัมรินทร์บอกว่า ถึงแม้พันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกอยู่นี้อาจจะยังหาที่มาไม่ได้แน่ชัด และมีความเป็นไปได้อย่างที่อาจารย์ประทีปบอกว่าคล้ายกับพันธุ์นครพนม 1 (นพ.1)มาก แต่เมื่อนำมาปลูกได้ผลประการใดก็จะบอกไปตามข้อมูลจริงที่พบ

ถือเป็นพืชที่เกษตรกรปลูกแล้ว ต้นทุนไม่สูง รายได้ดี ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมเหมาะสม ผู้สนใจปลูกต้องศึกษาพื้นที่สวนของตนเองก่อน ว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงใด