เห็ดแครง สร้างรายได้จากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก

เห็ดแครง เป็นเห็ดขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายพัด ด้วยฐานมีก้านขนาดสั้นๆ ยาวประมาณ 0.1-0.5 เซนติเมตร ดอกเห็ดกว้าง ประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะดอกเหนียวและแข็งแรง เห็ดแครงที่พบในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ที่พบในภาคใต้ส่วนใหญ่จะพบขึ้นอยู่บนท่อนไม้ยางพาราที่ตัดโค่น เมื่อท่อนไม้ตายและเมื่อฝนตกลงมาจะมีเห็ดแครงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติจำนวนมากอยู่ตามท่อนไม้ที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นเห็ดที่นิยมนำมาบริโภคกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ เพราะเป็นเห็ดที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมากกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ

คุณชลธิชา ชัยเพชร เจ้าของฟาร์มเห็ดแครง

จุดเด่นของเห็ดแครงอยู่ที่เนื้อสัมผัสเหมือนกับการรับประทานเนื้อไก่ เห็ดแครงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์มากขึ้น อีกทั้งยังมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการส่งผลให้ความต้องการบริโภคเห็ดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการของเห็ดแครง ใน 100 กรัม ให้โปรตีน 17.0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 280 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 640 มิลลิกรัม ทำให้เห็ดแครงดอกเล็กๆ แต่คุณประโยชน์ไม่เล็กนั้นเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่กินอาหารแบบมังสวิรัติ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือช่วงเทศกาลอาหารเจ

คุณชลธิชา ชัยเพชร เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เล่าว่า อยากมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้นอกจากการทำสวนยางพารา ประกอบกับมีโรงเรือนว่างเปล่าและระยะหลังๆ สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงทำให้ปัจจุบันหาเห็ดแครงตามธรรมชาติได้ยากขึ้นทุกที ส่วนตัวสนใจในการเพาะเห็ดแครงที่ได้รับชมจากสื่อออนไลน์และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากเครือข่ายบ้านเห็ดแครงสงขลา จึงนำมาสู่การเพาะเห็ดแครงอินทรีย์จำหน่ายดอกเห็ดสดในราคา 150 บาท ต่อกิโลกรัม กำลังการผลิตสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม ยอดขายอยู่ที่ 15,000 บาท/สัปดาห์ หลังจากหักต้นทุนการผลิตแล้วกำไรจากการผลิตเห็ดแครง ขายอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท/สัปดาห์ ส่งผลผลิตทั้งหมดจำหน่ายให้แก่บ้านเห็ดแครงสงขลา ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่แน่นอนและขายปลีกหากมีลูกค้าสนใจ

เกษตรตำบลเข้าแนะนำ เยี่ยมชมโรงเรือน

สูตรอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดแครง คุณชลธิชา อธิบายว่าได้ใช้ขี้เลื่อย รำละเอียดยิบซัม และดีเกลือ ปรับความชื้นด้วยน้ำ หลังจากได้ส่วนผสมแล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกเพาะเห็ด ขนาด 6.5×10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง นำไปนึ่งในหม้อนึ่งลูกทุ่ง เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลา พักไว้ให้เย็นลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อแล้วรีบใส่เชื้อ

ภายในโรงเรือนเพาะเห็ดแครง

วิธีการเปิดดอกเห็ดแครงจะใช้เวลาบ่มก้อนเชื้อ 21 วัน เชื้อก็จะเดินเต็มก้อนพร้อมนำไปเปิดดอก การเปิดดอกเริ่มจากนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเรือน ดึงกระดาษที่ปิดก้อนเชื้อออกแล้วใช้ยางรัดปากถุงแทน จากนั้นกรีดถุงก้อนเชื้อวันแรกรดน้ำที่พื้นและผนังโรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้นในโรงเรือน เพราะในระยะแรกตรงบริเวณรอยกรีดเส้นใยจะขาด ต้องรอให้เส้นใยเจริญประสานกันก่อน ถ้ารดน้ำไปถูกก้อนเชื้ออาจจะทำให้น้ำเข้าไปบริเวณรอยกรีดก้อนเชื้อเห็ดอาจจะเน่าเสียหายได้

หลังจากกรีดถุงและรดน้ำพื้นให้ชื้นประมาณ 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มออกตุ่มดอกออกมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6-7 ดอกเห็ดจะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ แนะนำให้ใช้มีดคมๆ เฉือนตรงโคนดอกเห็ดที่ดอกบานเต็มที่แล้วเก็บได้รุ่นแรก จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 120 กรัม ต่อเห็ด 1 ก้อน หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วรออีก 6-7 วัน จึงจะสามารถผลผลิตรุ่นที่ 2 โดยจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 20-30 กรัม แต่อาจจะมีขนาดเล็กลง คุณภาพลดลง จึงควรเก็บดอกเพียง 2 รุ่น แล้วรื้อก้อนเห็ดทิ้งเลย นำก้อนเห็ดชุดใหม่เข้าแทน การเก็บเห็ดในแต่ละรอบต้องมีการพักล้างโรงเรือนเพื่อทำความสะอาดด้วยน้ำส้มควันไม้เนื่องจากว่าจะมีตัวไรที่จะทำให้เห็ดเกิดโรคได้ง่าย

คุณชลธิชา บอกว่า การเพาะเห็ดแครงนั้นถ้าเราสนใจและตั้งใจทำจริงๆ มันก็ไม่ยุ่งยากเหมือนอย่างที่หลายๆ คนคิด อย่างคุณชลธิชานี่ก็จะศึกษาหาความรู้จากตำราต่างๆ พร้อมกับออกไปศึกษาจากผู้มีประสบการณ์จริงๆ ด้วย จึงอยากจะบอกว่าถ้าใครคิดจะหันมาเพาะเห็ดขายเป็นรายได้เสริม หรือเพาะเป็นอาชีพมันไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย แต่ต้องศึกษาให้เข้าใจและถ่องแท้ก่อนจากการเพาะเห็ดแครงจำหน่ายสร้างรายได้ค่อนข้างสูง ปัจจุบัน ได้เริ่มขยายการผลิตเพิ่มเติมในการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฎาน สามารถจำหน่ายผลผลิตเห็ดได้เกือบทุกขั้นตอนในการผลิต เช่น ก้อนเพาะเชื้อสำเร็จรูปและดอกเห็ด นำไปสู่อาชีพเสริมเล็กๆ สู่อาชีพหลักที่มั่นคง

ทำก้อนเชื้อเห็ดแครง

หากท่านใดสนใจดูงาน ซื้อผลผลิต หรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 082-940-6837 คุณชลธิชา ชัยเพชร เพื่อขอคำแนะนำ หรือศึกษาดูงานของจริงได้ที่ฟาร์มเห็ด คุณชลธิชายินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความเต็มใจ Facebook : นภิศ ฟาร์มเห็ด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง  เบอร์โทรศัพท์ 075-218-681

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354