ปทุมวดี พันคง จากล้งผลไม้ สู่เส้นทางเกษตรกรปลูกส้มโอ ที่ลอง

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำยมไหลผ่านกลาง มีลำน้ำสาขาไหลมารวมทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำและลำน้ำสาขา กอปรกับสภาพอากาศโดยทั่วไปไม่ร้อนจัด เกษตรกรจึงปลูกไม้ผลกันมาก เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ เงาะ ลองกอง ลางสาด ทุเรียน ลำไย มะม่วง แก้วมังกร กล้วย เป็นต้น จังหวัดแพร่จึงกำหนดให้อำเภอลอง เป็นเมืองยุทธศาสตร์ด้านไม้ผล

แปลงปลูกส้มโอมาตรฐาน 8×8 เมตร

เฉพาะไม้ผลส้มโอ มีการเพาะปลูกกันมาไม่น้อยกว่า 50 ปี จนปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่ปลูกกันเป็นจำนวนมาก แต่ละแปลงมีเนื้อที่ไม่มาก ผลผลิตออกมาก็ต่างคนต่างขาย ขายกันเองในท้องถิ่น หรือมีพ่อค้า-แม่ค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อ เมื่อได้รับการแนะนำส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และสำนักงานเกษตรอำเภอลอง ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ และกำลังพัฒนาต่อไปสู่มาตรฐานการผลิตตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP : Good Agricultural Practices เพื่อพัฒนาส้มโอให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมกับส่งเสริมให้ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI : Geographical Indications

โรงเก็บและคัดแยกส้มโอก่อนส่งตลาดปลายทาง

การขยายพื้นที่ปลูกส้มโอจำนวนมากนั้น อายุต้นจะอยู่ในช่วงปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ผลผลิตแต่ละต้นจึงมีจำนวนไม่มาก ยกเว้นแปลงส้มโอที่ปลูกมานาน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก การระบายผลผลิตส้มโอจึงต้องอาศัยพ่อค้า-แม่ค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อออกสู่ตลาดผู้บริโภค

ระบบส่งน้ำผ่านท่อ PE และหัวมินิสปริงเกลอร์

ผู้เขียนได้พบกับแม่ค้าคนกลางที่เข้าไปรับซื้อส้มโอของเกษตรกรเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยการมองเห็นลู่ทางทางการตลาดส้มโอ เธอได้ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรปลูกส้มโอเสียเอง

คุณปทุมวดี พันคง อายุ 51 ปี เดิมเป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร ย้ายมาตั้งบ้านเรือนกับครอบครัว ที่บ้านวังน้ำเย็น เลขที่ 84 หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. 085-269-3391

คนงานกำลังคัดแยกผลส้มโอเพื่อบรรจุถุงตาข่าย ส่งตลาดปลายทาง

อาชีพล้งผลไม้ มุ่งมั่นมาตั้งแต่อายุ 18 ปี

คุณปทุมวดี เล่าถึงอาชีพล้งผลไม้ว่า ก่อนเธอจะมาสร้างหลักปักฐานที่บ้านวังน้ำเย็น อำเภอลอง นั้น เธอได้ประกอบอาชีพรับซื้อผลไม้มาตั้งแต่อายุ 18 ปี ก่อนจะพัฒนามาเป็นล้งผลไม้อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร รับซื้อผลไม้รวมทั้งส้มโอ แถบจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร เชียงใหม่

Advertisement

ที่อำเภอลอง คุณปทุมวดี กล่าวว่า เริ่มเข้ามารับซื้อส้มโอ เมื่อ ปี พ.ศ. 2558 ได้พยายามหาช่องทางที่จะเข้าถึงเกษตรกรเจ้าของสวนส้มโอ ต้องทำความรู้จักกับคนในพื้นที่ สอบถามข้อมูล ให้เขาชี้เป้าแหล่งผลิตส้มโอ เมื่อรู้แหล่งก็เข้าไปติดต่อ เข้าไปดูภายในสวน ก็หลายรายอยู่…จึงเจรจาซื้อ-ขาย วิธีการซื้อก็มีทั้งเหมาสวน บางสวนก็มีทั้งผลเล็ก ผลใหญ่ บนต้น คละกันไป จากนั้นก็คาดคะเนผลผลิตด้วยสายตา ประเมินราคา ก็ถึงขั้นตกลงซื้อขาย ให้คนงานเข้าไปตัดเก็บผล แล้วจ่ายเงิน นำขึ้นรถบรรทุกไปไว้ที่โรงเก็บคัดแยกผลไม้ จนได้จำนวนหรือปริมาณที่เพียงพอก็จะนำส่งตลาดปลายทางทันที

คุณยนต์และคุณปทุมวดี สองสามี-ภรรยา เจ้าของสวนส้มโอทรัพย์ไทรทอง

กับอีกวิธีการหนึ่ง เข้าไปรับซื้อเก็บผลส้มโอแล้วชั่งกิโล ราคาตามที่ตกลงกัน โดยอิงราคาตลาด ทั้งจากตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาด ณ ประเทศกัมพูชา

Advertisement

เธอกล่าวว่า เธอเป็นผู้รับซื้อส้มโอรายแรกและรายใหญ่ที่เข้าไปรับซื้อผลผลิตส้มโอในพื้นที่อำเภอลอง แต่ระยะหลังๆ ก็จะมีคนซื้อรายอื่นๆ เข้าไปรับซื้อบ้าง แต่ปริมาณรับซื้อไม่มากนัก ปีๆ หนึ่งเธอซื้อส้มโอไม่น้อยกว่า 300 ตัน เธอจึงมีความสัมพันธ์ คลุกคลี คุ้นเคยกับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่เป็นอย่างดี

คนงานกำลังคัดแยกผลส้มโอเพื่อบรรจุถุงตาข่าย ส่งตลาดปลายทาง

กล่าวถึงตลาดส่งต่อปลายทาง เธอมีส่วนแบ่งระบายผลผลิตส้มโอเข้าโรงงานเพื่อแปรรูป ร้อยละ 50 ส่งโรงงานที่จังหวัดราชบุรีและชลบุรี อีกร้อยละ 50 ส่งตลาดกลาง อย่างตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดที่ประเทศกัมพูชา

“ก็คิดจะส่งส้มโอไปตามห้างโมเดิร์นเทรดเหมือนกัน แต่ติดขัดที่ไม่มีใบรับรองมาตรฐาน GAP ต้องการจริงๆ ก็รอรับการส่งเสริมอยู่ ถ้าได้ใบรับรอง GAP อาจส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ด้วย” คุณปทุมวดี กล่าวอย่างมีความหวัง

คุณปทุมวดี คุณยนต์ และผู้เขียน

ด้านราคานั้น คุณปทุมวดี บอกว่า มีขึ้นมีลงตามกลไกตลาด โดยมีปัจจัยและตัวแปรด้านปริมาณ คุณภาพ/มาตรฐาน การผลิตส้มโอและฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เธอกล่าวว่า เคยรับซื้อผลส้มโอ ราคาต่ำสุดกิโลกรัมละ 10 บาท มีเหตุปัจจัยด้านปริมาณผลผลิต หากมีมาก กับปัจจัยด้านฤดูกาล เกี่ยวข้องกับรสชาติ อย่างฤดูหนาว รสชาติจะออกเปรี้ยว และรสออกขม ราคาไม่ดี ราคาสูงสุดเคยซื้อกิโลกรัมละ 18 บาท รสชาติออกหวาน เปลือกบาง แต่ผลผลิตมีน้อย โดยเฉพาะในฤดูร้อน

ทางด้านคุณภาพ/มาตรฐาน รสชาติต้องมาก่อน รสชาติต้องดี มาตรฐานก็ต้องได้ด้วย ทั้งผิวผล คือ ผิวดี ต้องสวย ไม่มีขี้กลาก รอยตำหนิที่เกิดจากโรคและแมลงเข้าทำลาย ขนาด หรือไซซ์ (size) ไซซ์เล็ก น้ำหนักต่อผลไม่เกิน 1 กิโลกรัม ไซซ์ใหญ่ น้ำหนัก 1 กิโลกรัมขึ้นไป

การจัดการสวนที่ดี

สร้างความสัมพันธ์ ด้วยการส่งมอบคุณค่าให้แก่กันและกัน

คุณปทุมวดี รับซื้อผลผลิตส้มโอมาเป็นระยะเวลายาวนาน เธอเป็นผู้รับซื้อจากเกษตรกรและรวบรวมผลผลิตส่งต่อไปยังตลาดปลายทาง ดังนั้น ความผูกพันเธอต้องสร้างความสัมพันธ์ด้วยการส่งมอบคุณค่า (องค์ประกอบของผลผลิตมีคุณค่า มีประโยชน์ มีจุดขาย จุดยืน) ให้แก่กัน ทั้งเธอกับเกษตรกร ในทางกลับกันเกษตรกรก็ต้องสร้างและส่งต่อคุณค่าให้กับเธอเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เธอก็ต้องส่งต่อคุณค่าให้แก่ตลาดปลายทางด้วย

ผลผลิตส้มโอขาวน้ำผึ้งปีแรก

เธอให้รายละเอียดว่า กับเกษตรกรนั้น เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า คำพูดที่มีต่อกันตรงไปตรงมา ต้องรักษาคำพูด ให้ความจริงใจกับเกษตรกร ซื่อสัตย์กับเกษตรกร ให้ราคาดี จ่ายเงินตรงเวลาเป๊ะ ไม่มีผัดผ่อน บางครั้งก็เห็นใจเกษตรกรที่เขาดูแลผลผลิตส้มโอมาทั้งปี ถ้าราคาตลาดปรับตัวดีขึ้นก็จะเพิ่มราคา เพิ่มเงินให้ หรือแบ่งกำไรช่วยเหลือเขา

ในทางกลับกัน เธอกล่าวว่า เธอก็ได้รับมอบคุณค่าผลผลิตส้มโอจากเกษตรกรที่ขายส้มโอคุณภาพ รสชาติดี ไม่ขม ไม่เฝื่อน ไม่ซ่า ผลมีขนาดตามที่ต้องการ เกษตรกรไม่ปิดบัง จะบอกถึงวิธีการปฏิบัติดูแลต่อต้นส้มโอก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผล

คุณค่าที่เธอจะต้องส่งต่อให้กับตลาดปลายทางก็ต้องส่งผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ในจำนวนตามโควตาที่ได้รับ และส่งมอบครบจำนวน และคุณภาพต้องได้ รสชาติต้องได้ บอกตามความเป็นจริง ตรงไปตรงมา ถ้าส้มสวย รสชาติดี ก็ต้องบอกว่าดี ถ้าพอใช้ได้ก็ต้องบอกว่าพอใช้ได้

ผลผลิตของต้นส้มโออายุ 3 ปี

อดีตเคยทำเกษตรและค้าขาย : จากล้งผลไม้สู่วิถีเกษตรกร

คุณปทุมวดี เล่าว่า ตนเองประกอบอาชีพล้งผลไม้มาเป็นเวลานาน เมื่อปรึกษากับครอบครัวแล้วที่จะลงมือปลูกส้มโอให้เป็นแบบอย่างหรือแปลงตัวอย่างกับเกษตรกรที่สนใจ “อาชีพรับซื้อส้มโอ หรือล้งผลไม้ มันง่ายกว่าการลงทุน ลงแรงปลูกส้มโอ…ไม่ต้องปฏิบัติดูแลสวน มีเงินทุนก็เข้าไปซื้อ เก็บผล ไม่นานก็หมดสวน ส่งตลาด แต่อาชีพเกษตร ลงทุนแล้วไม่รู้จะได้ทุนคืนหรือเปล่า ต้องดูแลตลอด 1 ปี ได้ผลผลิตครั้งเดียว แต่ที่ต้องมาปลูกส้มโอด้วย รับซื้อส้มโอไปด้วย เพราะใจมันชอบ อยากอยู่สวน กับอีกอย่าง…ต้องการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง การสร้างจิตสำนึก การผลิตส้มโอที่ปลอดภัย ทั้งกับตัวเองและผู้บริโภค”

ส้มโอขาวน้ำผึ้งผลผลิตปีแรก น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ชีวิตครอบครัวในอดีตก็ทำการเกษตรด้วย ค้าขายไปด้วย เลยมีชีวิตที่ผูกพันกันมา

คุณปทุมวดีและครอบครัวตัดสินใจหาที่ดินปลูกส้มโอที่บ้านวังน้ำเย็น เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นป่ารกชัฏ มีร่องรอยการปลูกมะม่วงและข้าวโพดมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาพื้นที่แล้ว น่าจะเหมาะต่อการปลูกส้มโอ เพราะดินดี แต่ก็ต้องให้ความสำคัญที่จะต้องฟื้นฟูจากสภาพรกร้าง พัฒนาเป็นพื้นที่ปลูกส้มโอ

เริ่มลงมือปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2560 แปลงแรกนำกิ่งพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้ง จำนวน 700 กิ่ง มาจากจังหวัดพิจิตร แต่เมื่อปลูกไปแล้วมันตายไปเกือบครึ่ง แล้วก็ซื้อกิ่งพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจากเกษตรกรในพื้นที่ที่คุณปทุมวดีเข้าไปซื้อผลส้มโอเป็นประจำ เห็นว่าส้มโอเขารสชาติดี การดูแลสวนก็ดี จึงสั่งซื้ออีกมาปลูกเพิ่ม รวมเนื้อที่ปลูกในปัจจุบัน 24 ไร่ และแปลงใหม่ที่ปลูกได้ไม่ถึงปี รวมจำนวนต้น 2,200 ต้น ต้นที่มีอายุเข้าปีที่ 4 ก็ให้ผลผลิตครั้งแรกแล้ว แต่จำนวนผลมีไม่มาก

การปลูกและการดูแล อาศัยแนวทางจากผู้มีประสบการณ์มาเป็นครู

การปลูก

– วางระบบน้ำก่อนปลูก

– ปลูกระยะห่าง 7×8 เมตร และ 8×8 เมตร

– ลักษณะหลุมปลูก ทำเป็นแอ่งคล้ายใบบัว ส่งผลดีต่อการให้น้ำ ให้ปุ๋ย แต่จะขยายแอ่งออกข้างทุกปี เมื่อต้นส้มโอโตขึ้นตามขนาดทรงพุ่ม

การดูแล

– ดิน เป็นดินเดิมๆ ไม่ได้นำไปตรวจวิเคราะห์หาความเป็นกรดเป็นด่าง และหาธาตุอาหารในดิน

– น้ำ จากแม่น้ำยม ส่งสู่ต้นผ่านระบบสปริงเกลอร์

– ปุ๋ย เน้นปุ๋ยคอกจากมูลหมู ไก่ วัว แต่จะไม่นำมาเทหรือหว่านรอบต้น ใช้วิธีวางปุ๋ยคอกทั้งกระสอบใต้ทรงพุ่ม ครบ 1 ปี ก็จะกรีดถุงให้ปุ๋ยคอกระบายออกสู่ดินเอง

ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันส้มโออายุ 3-4 ปี ให้ผลผลิตครั้งแรก ปุ๋ยที่ใช้เพียง 2 สูตรก่อน คือ 15-15-15 และ 8-24-24 สูตรที่ยังไม่นำมาใช้ คือ สูตร 13-13-21

– วัชพืช ใช้เครื่องตัดหญ้า จะไม่ใช้สารเคมีฉีดพ่น เพราะส้มโอมีระบบรากตื้น ฉีดพ่นสารเคมีลงไปเพื่อจะฆ่าหญ้า แต่มันไปทำลายราก ไส้เดือนก็ตาย จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ก็ตายหมด

ทัศนียภาพสวนส้มโอทรัพย์ไทรทอง

สวนนี้มีดี ถ้าต้องการจะเข้าไปชม

คุณปทุมวดี กล่าวอย่างมั่นใจว่า สวนส้มโอของเธอแม้จะเพิ่งปลูกมาได้ไม่นาน แต่ก็ยินดีที่จะให้เกษตรกรเข้าไปชมสวนส้มโอทรัพย์ไทรทอง มีจุดเด่นที่พอจะดูได้ ก็เช่น

– การวางระบบน้ำ

– วิธีการปลูกส้มโอ

– การปฏิบัติดูแล

– โรงคัดแยก เก็บรักษาผลส้มโอก่อนส่งออกสู่ตลาดปลายทาง

ส่งความปรารถนาดี ถึงเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ

คุณปทุมวดีบอกถึงสิ่งที่พบเจอ เมื่อเข้าไปดูสวนส้มโอบางแห่ง ดูๆ แล้วเหมือนขาดการดูแลเอาใจใส่ คือเขาปลูกส้มโอแล้วก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ขาดการดูแลในเรื่องน้ำ ปุ๋ย แล้วก็ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกเกินไป เจ้าของสวนก็จะเป็นคนชราหรือผู้สูงวัย โอกาสที่จะพัฒนาปรับปรุงส้มโอให้ได้คุณภาพ/มาตรฐาน ตามที่ตลาดต้องการนั้นค่อนข้างจะมีปัญหา ถ้าจะขายก็ไม่ได้ราคา

สำหรับเกษตรกรที่ผลิตส้มโอเชิงการค้านั้น ตัวแปรที่สำคัญที่จะช่วยให้ขายส้มโอได้ราคาดี ขายก็ง่าย ก็คือ รสชาติดีและผิวผลภายนอกปราศจากรอยเข้าทำลายของโรค แมลง ทั้งต้องปรับปรุงในเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรเอง

โรงเก็บและคัดแยกผลส้มโอที่รับซื้อจากเกษตรกร

ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร รวมกันผลิตเป็นกลุ่ม

คุณปทุมวดีเป็นสมาชิกคนหนึ่งของโครงการระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ส้มโอเมืองลองบอกว่า สิ่งที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งก็ด้วยการรวมกลุ่มกันผลิต ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิต และต่างคนต่างขาย เกษตรกรต้องผลิตส้มโอให้ได้คุณภาพ/มาตรฐาน ให้เป็นต้นแบบ แล้วรายอื่นๆ ก็จะทำตาม ลำพังเกษตรกรแต่ละคนจะหาตลาดเองนั้นมันยาก

การรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ส้มโอนั้น เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้

ระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ คงจะมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ รวมทั้งได้ผลผลิตมีคุณภาพ/มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ควรมีการผลิตร่วมกันเป็นกลุ่ม เชื่อมสัมพันธ์ เกาะเกี่ยวกันในรูปของกลุ่ม มิใช่ตัวใครตัวมันที่รังแต่จะทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และกลุ่มจะมีการเชื่อมโยงกันด้านการตลาด เพื่อบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ต้องการซื้อ กับเกษตรกรที่ต้องการขายส้มโอ คือทุกฝ่ายอยู่รอด อยู่ได้อย่างมั่นคง

สรุปท้ายบท ถึงเกษตรกรที่ปลูกพืชหรือกำลังคิดวางแผนที่จะปลูกอะไรสักอย่าง

คุณปทุมวดี แนะนำว่า “หากมีพื้นที่ว่างหรืออยากปรับเปลี่ยนพืชอื่น ให้หันมาปลูกส้มโอ เหตุผลก็คือ ส้มโอดูแลง่าย ทนแล้ง อายุยืน ตลาดมีความต้องการ แต่ว่า…ต้องมีใจรัก ต้องตั้งใจทำ ต้องร่วมมือ รวมกลุ่มกันทำ พร้อมใจกันทำ ผลิตให้ได้คุณภาพ/มาตรฐาน รายได้ก็จะตามมา”

คุณปทุมวดีและครอบครัวยินดีต้อนรับทุกท่านที่จะเข้าไปเยี่ยมชมสวนส้มโอทรัพย์ไทรทอง ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เบอร์โทร.ที่ให้ไว้ตอนต้น

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2564