ปลูก “มะละกอแขกดำ” ผสมผสานไม้ผลเสริมรายได้ในสวนยาง

จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นแหล่งปลูกยางใหม่ที่เกษตรกรหันมาปลูกยางในยุคที่ยางมีราคาแพง มีเนื้อที่ปลูกยางรวมทั้งหมด ประมาณ 30,000 ไร่ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ราคายางอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง รายได้จากการขายยางไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย คุณชัยฤทธิ์ บัวแสง ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาสระแก้ว (กยท. สาขาสระแก้ว) ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรี จึงส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานในลักษณะปลูกพืชแซมในสวนยาง หรือปลูกพืชร่วมยาง ในช่วงที่ต้นยางยังเล็กเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้

คุณชัยฤทธิ์ บัวแสง ผู้อำนวยการ กยท. สาขาสระแก้ว สละเวลาพาผู้เขียนไปเยี่ยมชมกิจการสวนยางผสมผสานของเกษตรกรคนเก่ง คือ คุณลักษณ์-คุณจอม ฤทธิ์ภักดี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 6 ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โทร. (086) 091-9800, (080) 076-7021

คุณชัยฤทธิ์ บัวแสง ผู้อำนวยการ กยท. สาขาสระแก้ว

ครอบครัวฤทธิ์ภักดี ทำสวนยางควบคู่กับการทำเกษตรผสมผสานจนประสบความสำเร็จทางอาชีพและรายได้  กยท. สาขาสระแก้ว จึงประกาศยกย่องให้สวนยางแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยมอบเงินทุนสนับสนุนให้ ครัวเรือนละ 5,000 บาท เพื่อนำเงินไปต่อยอดการทำเกษตรผสมผสาน

คุณจอม และคุณลักษณ์ พา ผอ.ชัยฤทธิ์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ กยท. และผู้เขียนเดินชมสวนยางผสมผสานแห่งนี้ ประกอบด้วย แปลงปลูกต้นลำไย ปลูกอ้อยโรงงาน ทำสวนมะละกอ และไม้ผลอื่นๆ นอกจากขายผลผลิตข้างต้นแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการเพาะขยายกิ่งพันธุ์พืชที่ตลาดต้องการ เช่น กล้วย ลำไย สะเดาทะวาย ฯลฯ เข้ากระเป๋าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท

คุณจอม และคุณลักษณ์ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีสวนแห่งนี้มีรายได้หลักจากการทำสวนยาง เนื้อที่ 30 ไร่ ต่อมาเจอวิกฤตราคายางตกต่ำ จึงตัดสินใจโค่นต้นยางอายุ 16-17 ปี เนื้อที่ 20 ไร่ ทิ้ง เพื่อนำที่ดินดังกล่าวมาปลูกพืชผสมผสาน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สวนยางที่เหลืออยู่เป็นยางต้นเล็กที่ยังไม่ครบอายุเปิดกรีด

 

ปลูกมะละกอ ส่งขายโรงงาน   

คุณจอม พาเดินชมแปลงปลูกมะละกออายุ 5 เดือนกว่า ที่ปลูกแซมต้นขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ แปลงด้านซ้ายมือปลูกมะละกอพันธุ์แขกดำ ถัดไปเป็นแปลงมะละกอพันธุ์ดำเนินลูกใหญ่ ที่ปลูกในลักษณะยกร่องแปลงใหญ่ เพื่อป้องกันปัญหาโรคโคนเน่าของต้นมะละกอ ในช่วงที่มีฝนตกชุก

เขาหาซื้อพันธุ์มะละกอมาจากแม่ค้าในท้องถิ่นนำมาปลูก โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกมะละกอ ในระยะห่าง 2×3 เมตร แต่เขาต้องการปลูกในระยะถี่ 2×2 เมตร เพื่อปลูกมะละกอให้ได้ 400 ต้น ต่อไร่ แม้ได้จำนวนต้นมาก แต่ดูแลยาก เพราะทำให้มะละกอมีลำต้นสูงเพื่อยืดรับแสง ส่วนแปลงที่ปลูกมะละกอแซมกับต้นขนุน สามารถปลูกมะละกอได้เพียง 80 ต้น ต่อไร่

ปลูกมะละกอแซมขนุนทองประเสริฐ

เขาบำรุงต้นมะละกอตามระยะการเติบโต โดยเริ่มจากให้ปุ๋ยสูตรเร่งโตก่อนจึงค่อยให้ปุ๋ยสูตรเสมอ สำหรับพื้นที่ปลูก 3 ไร่ จะหว่านปุ๋ยใต้ต้นมะละกอประมาณ 2 กระสอบ พร้อมเสริมแคลเซียมโบรอนอย่าให้ขาด เมื่อต้นมะละกอเริ่มติดดอก ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยเร่งโต สูตรตัวกลางและตัวท้ายสูง เช่น ปุ๋ยเคมี สูตร 15-12-34 ช่วงติดผลเล็ก ควรบำรุงด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ก่อนผลสุก ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 เพื่อช่วยให้เนื้อมะละกอออกสีและเติมความหวาน

หลังจากใช้เวลาปลูกดูแลมะละกอ 8 เดือน ก็เก็บผลผลิตออกขายส่งโรงงานได้ทุกๆ 5-7 วัน ผลผลิตของที่นี่ มีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด เพราะดูแลให้น้ำในแปลงปลูกอย่างเหมาะสม โดยลงทุนติดตั้งเรื่องระบบน้ำ ประมาณไร่ละ 10,000 บาท ช่วยให้ต้นมะละกอไม่ขาดน้ำ ดูแลจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้เขาสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ 30 กว่าตัน

มะละกอผลโตลูกดกเต็มคอ

เกษตรกรรายนี้แนะนำว่า หากเป็นไปได้ ควรปลูกมะละกอก่อนเดือนมีนาคม-เมษายน เนื่องจากสภาพอากาศไม่ชื้นแฉะจนเกินไป ทำให้ต้นมะละกอติดลูกได้ดี ลำต้นไม่สูงเกินไป ปัญหาอุปสรรคที่เจอคือ ปัญหาโรคใบด่าง ที่คุณจอมยอมรับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก ทำได้แค่คอยให้ปุ๋ย แคลเซียมโบรอน ช่วยบำรุงต้นมะละกอไม่ให้โทรม  เขาจะเก็บผลมะละกอสุกที่มี 2-3 แต้มสี ส่งขายโรงงาน ก่อนรวบรวมผลผลิตส่งโรงงานปอกมะละกอในท้องถิ่น คุณจอมจะเจาะผลมะละกอเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์มะละกอเพื่อจำหน่าย ในราคา ขีดละ 500 บาท วิธีเก็บเมล็ดพันธุ์มะละกอ เริ่มจากใช้ช้อนจิ้มผลมะละกอสุกให้เป็นรูวงกลมที่ปลายผล กระแทกผลเล็กน้อย เพื่อให้เมล็ดมะละกอหลุดร่วงลงมา จากนั้นจึงค่อยเอาเนื้อมะละกอที่เจาะไว้มาปิดรูตามเดิม

นอกจากนี้ เขายังเพาะต้นมะละกอออกขายให้แก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจ เนื่องจากสินค้าเมล็ดพันธุ์ของสวนแห่งนี้ มีคุณภาพดี จึงเป็นที่นิยมในวงกว้าง มีลูกค้าสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากจันทบุรีและหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน เฉพาะรายได้จากการขายเมล็ดมะละกอพันธุ์แขกดำและดำเนินลูกใหญ่ในปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้กับครอบครัวนี้นับหลายแสนบาททีเดียว

โดยทั่วไป มะละกอที่ลูกไม่สวย หรือมีขนาดผลใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 4-7 กิโลกรัม ต่อผล จะคัดออกขายส่งโรงงาน ส่วนผลที่สวยได้ขนาดน้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัม จะผลิตในลักษณะมะละกอห่อ คิดเป็น 10% ของผลผลิตทั้งหมด จะส่งขายตลาดสด ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท คำนวณรายได้จากการขายผลมะละกอในช่วงที่ผ่านมา ทำรายได้รวม ประมาณปีละ 300,000-400,000 บาท

ผอ.ชัยฤทธิ์ บัวแสง นำทีมงาน กยท. เยี่ยมชมสวนเกษตรผสมผสาน

เมื่อปีก่อน เคยส่งมะละกอสุกขายโรงงานได้ ในราคากิโลกรัมละ 6-12 บาท แต่ปีนี้โรงงานอ้างว่า สินค้าส่งออกไม่ได้ เพราะเจอสารเคมีตกค้าง ทำให้ราคารับซื้อลดลง เหลือแค่กิโลกรัมละ 3 บาท เท่านั้น ดังนั้น เกษตรกรหลายราย รวมทั้งคุณจอมตัดสินใจชะลอการขยายพื้นที่ปลูกมะละกอออกไปก่อน เพื่อเช็กกระแสตลาดว่า ควรลุยต่อหรือหยุดพักสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

 

ขายลำไย ได้กำไรก้อนโต

สวนลำไยอายุ 10 ปี เนื้อที่ 6 ไร่ กำลังติดดอกดกมาก คุณจอม บอกว่า หลังติดดอกต้องดูแล 7 เดือน จึงเก็บเกี่ยวได้ หากบำรุงต้นลำไยดีๆ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ไว โดยใช้เวลาดูแลแค่ 6 เดือนครึ่งเท่านั้น เก็บผลผลิตได้ 400 กว่ากิโลกรัม ต่อต้น อาศัยเทคนิคการให้น้ำมาก ทุกๆ 2-3 วัน เปิดให้น้ำให้ดินชุ่มพอประมาณ พร้อมให้ปุ๋ยตามระยะการเติบโตของผล เช่น ปุ๋ยเคมี สูตร 15-9-20 ช่วยให้ลำไยมีลูกโต และให้ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-27 ทุก 15-20 วัน ช่วยเพิ่มความหวานให้ผลลำไย

“ลำไย ให้ผลกำไรที่ดี เมื่อปีก่อนขายผลผลิตกิโลกรัมละ 35 บาท พื้นที่ปลูก 6 ไร่ เก็บผลผลิตออกขายได้ 600,000 บาท หักต้นทุนการผลิตลำไย ประมาณ 80,000 บาท (ยังไม่รวมต้นทุนค่าแรง 2 สามีภรรยาเจ้าของสวน) ยังเหลือผลกำไรก้อนโต ถือว่าลำไยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอกับการลงทุน” คุณจอม กล่าว

 

คุณลักษณ์-คุณจอม ฤทธิ์ภักดี

มะกอกฝรั่ง…ขายดี ในตลาดกัมพูชา

นอกจากนี้ คุณจอม ยังมีรายได้จากการเก็บสะเดาทะวายออกขาย ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม โดยปลูกสะเดาทะวาย ในระยะห่าง 5×5 เมตร สลับฟันปลา ปลูกแซมด้วยต้นมะกอกฝรั่ง ในระยะห่างต่อต้น ประมาณ 2-3 เมตร

คุณจอม บอกว่า แม่ค้าขาประจำจะพาคนงานมาเก็บ “มะกอกฝรั่ง” ผลอ่อน ในราคาหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ก่อนนำไปวางขายที่ตลาดโรงเกลือ ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่นิยมกินมะกอกผลแก่ แต่ชาวกัมพูชาชอบกินมะกอกฝรั่งผลอ่อนไปจิ้มพริกกับเกลือ เรียกว่า มะกอกฝรั่ง เป็นสินค้ายอดนิยมที่ขายดีมากในตลาดกัมพูชา ที่นี่เก็บผลผลิตออกขายได้ครั้งละ 700-800 กิโลกรัม ผลผลิตมีเท่าไร แม่ค้าก็รับซื้อหมด ขายดีมาก จนต้นมะกอกฝรั่งโตไม่ทันยอดสั่งซื้อแล้ว

ก่อนจากกัน ผอ. ชัยฤทธิ์ กล่าวเชิญชวนให้เพื่อนเกษตรกรชาวสวนยางหันมาทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายช่องทาง ช่วยกระจายความเสี่ยงในการขาดทุนช่วงที่ยางพาราราคาตกต่ำได้เป็นอย่างดี หากใครมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกยางพารา หรือการทำเกษตรแบบผสมผสานร่วมกับสวนยางในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทย สาขาสระแก้ว เลขที่ 354/60-61 ถนนสุวรรณศร ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว 27000 โทรศัพท์ (037) 609-822 โทรสาร (037) 609-823 อีเมล [email protected]