เกษตรกรเชียงม่วน ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นทำพันธุ์ ใช้น้ำน้อย รายได้หลักแสน

ถั่วแระ เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของคนไทยมานานแล้ว โดยได้จากการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองในระยะที่ฝักไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป ฝักยังคงมีสีเขียวอยู่ นํามาต้ม หรือนึ่งทั้งต้นและฝัก โรยเกลือเล็กน้อย รับประทานเป็นอาหารว่าง ถั่วแระที่นํามาบริโภคนี้คือ ถั่วเหลือง เพื่อนําเมล็ดไปสกัดนํ้ามัน หรือทําอาหารโปรตีน

ดังนั้น เมล็ดจึงมีขนาดเล็กแข็งกระด้าง รสชาติจืด นอกจากนี้ ในท้องตลาดจะมีถั่วแระ เมล็ดถั่วแระญี่ปุ่นที่แกะจากฝักแล้ววางขายเป็นครั้งคราวเฉพาะฤดูที่มีการปลูกถั่วเหลืองเท่านั้น ไม่มีการปลูกถั่วเหลืองเพื่อผลิตถั่วแระโดยตรง ในทวีปเอเชียประเทศที่มีประวัติการบริโภคถั่วเหลืองในระยะฝักไม่อ่อนและไม่แก่เกินไปมานานคือ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานถั่วแระเป็นกับแกล้มเบียร์ หรืออาหารว่างเกือบทุกครัวเรือน จึงมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองให้มีฝักและเมล็ดใหญ่กว่าถั่วเหลืองธรรมดา 2 เท่า เมล็ดนุ่ม รสชาติหวานมัน

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สําหรับบริโภคฝักสดเพียงอย่างเดียว และมีความพยายามปลูกถั่วแระส่งตลาดตลอดทั้งปี ซึ่งความต้องการบริโภคถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วเหลืองฝักสด (Vegetable Soybean) ของชาวญี่ปุ่น ประมาณปีละ 150,000 ตัน แต่สามารถผลิตภายในประเทศได้เพียง 100,000-110,000 ตัน จึงต้องนําเข้าจากต่างประเทศ

ซึ่งปัจจุบัน ไต้หวันและจีนเป็นประเทศส่งถั่วแระญี่ปุ่นในรูปฝักสดแข็งไปจําหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น ปีละ 40,000 ตัน ถั่วแระญี่ปุ่นจึงจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นพืชที่สามารถส่งออกไปจําหน่ายยังต่างประเทศในรูปฝักสดแช่แข็งได้แล้วยังเป็นพืชโปรตีนสูง (ถั่วแระญี่ปุ่น มีโปรตีน 12.7% ถั่วฝักยาว มีโปรตีน 2.4%) รสชาติอร่อย สามารถนําไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เหมาะแก่คนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้นิยมบริโภคอาหารมังสวิรัติ

จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกและบริโภคในประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การปลูกถั่วเหลืองฝักสดหรือถั่วแระญี่ปุ่น มีความแตกต่างจากการปลูกถั่วเหลืองไร่อย่างมาก การปฏิบัติดูแลรักษาควรได้รับการเอาใจใส่อย่างประณีตเช่นเดียวกับการปลูกพืชผัก ซึ่งต้องการนํ้าและดินอุดมสมบูรณ์ การลงทุนด้านปุ๋ย เคมี และแรงงานในการเก็บเกี่ยวเด็ดฝักค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง ตลอดจนต้องเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม การคัดเลือกฝักตามมาตรฐาน การบรรจุหีบห่อ การขนส่งอย่างรวดเร็วสู่ตลาดหรือโรงงาน ซึ่งต้องการประสานกันระหว่างผู้ปลูก พ่อค้าโรงงานแช่แข็ง และผู้ส่งออกอย่างดี จึงจะทําให้ธุรกิจเกษตรของพืชชนิดนี้ประสบผลสําเร็จได้

Advertisement

ความแตกต่างระหว่างถั่วแระญี่ปุ่นกับถั่วเหลืองไร่ คือ ถั่วแระญี่ปุ่น เป็นถั่วเหลืองที่มีฝักขนาดใหญ่ บริโภคเมล็ดในระยะเมล็ดเต่งเต็มที่แต่ฝักยังมีสีเขียวอยู่ อายุเก็บเกี่ยวฝักสด ประมาณ 65 วัน หลังจากหยอดเมล็ดฝักที่ได้มาตรฐานส่งตลาดญี่ปุ่นจะต้องมีเมล็ดตั้งแต่ 2 เมล็ดขึ้นไป ความยาวฝักไม่น้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร ฝัก 1 กิโลกรัม มีจํานวนฝักไม่เกิน 350 ฝัก และไม่มีรอยตําหนิใดๆ บนฝัก

ลําต้นเป็นพุ่มเตี้ย มี 7-10 ข้อ และแขนง 2-3 แขนง เมล็ดพันธุ์มีขนาดใหญ่โดย 100 เมล็ดจะมีนํ้าหนักประมาณ 25-35 กรัม ส่วนใหญ่บริโภคฝักสดเป็นอาหารว่างโดยต้มทั้งฝักในนํ้าเดือดใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 5-6 นาที โรยเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือแกะเมล็ดออกจากฝักนํามาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผัดกับกุ้ง แกงส้ม ข้าวผัด และใช้แทนถั่วลันเตากระป๋องได้เป็นอย่างดี ถั่วเหลืองไร่ เป็นถั่วเหลืองที่มีฝักขนาดเล็ก 100 เมล็ดหนักเพียง 12-18 กรัม ลําต้นตั้งตรง มักเป็นลําต้นเดียวไม่มีแขนง ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้ง เช่น นําไปสกัดนํ้ามัน หรือแปรรูปเป็นอาหารโปรตีนต่างๆ

Advertisement

ฤดูปลูกและแหล่งปลูก การปลูกถั่วแระญี่ปุ่น สามารถปลูกได้ดีเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ปลูกถั่วเหลืองฝักสดแล้วได้ผลผลิตค่อนข้างตํ่า เพราะดอกจะทยอยบานต่อเนื่องเป็นเวลานาน กว่า 14 วัน ทําให้การแก่ของฝักไม่พร้อมกันยากแก่การกําหนดวันเก็บเกี่ยว และอุณหภูมิที่สูงเกินไปทําให้อัตราการเกิดฝักที่มีเมล็ดลีบทั้งฝัก และฝักที่มีเมล็ดลีบบางเมล็ดสูงขึ้น ฝักมีขนาดเล็กลงทําให้จํานวนฝักตกเกรดมีมากขึ้น เป็นผลให้ผลผลิตตํ่า จึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกในช่วงที่อากาศร้อนจัด สําหรับแหล่งปลูกเพื่อการส่งออกไม่ควรอยู่ห่างจากโรงงานแช่แข็งมากนัก ทั้งนี้ เพื่อให้สะดวกในการรวบรวมผลผลิต และใช้เวลาขนส่งสั้น สามารถรักษาคุณภาพผลผลิตหลังจากเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเข้าสู่โรงงานได้ดี อย่างไรก็ดี แหล่งที่ดีจะต้องมีแหล่งนํ้าชลประทานเพียงพอตลอดอายุปลูก

อำเภอเชียงม่วน อยู่ห่างจากจังหวัดพะเยานับร้อยกิโลเมตร และห่างจากโรงงานแช่แข็งที่จังหวัดเชียงใหม่ สามร้อยกว่ากิโลเมตร จึงเป็นอุปสรรคในการผลิตถั่วเหลืองฝักสด แต่ด้วยสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ และมีน้ำพอเพียงในการหล่อเลี้ยงต้นถั่วเหลืองฝักสด ทางบริษัทผู้ผลิตแนะนำให้เกษตรกรทำการปลูกเพื่อขายเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรแหล่งที่อยู่ใกล้โรงงานนำไปปลูกถั่วเหลืองฝักสดๆ ส่งเข้าโรงงาน

คุณเที่ยง ดวงทิพย์ บ้านเลขที่ 133 หมู่ที่ 9 บ้านบ่อตอง ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด เล่าให้ฟังว่า บริษัทผู้ผลิตถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด ได้เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานแช่แข็งก่อนในแถบตำบลบ้านสระ อำเภอเชียงม่วน แต่ด้วยระยะทางห่างจากโรงงานมากทำให้คุณภาพของฝักถั่วเหลืองลดลง

บริษัทจึงแนะนำให้เกษตรกรในอำเภอเชียงม่วนเปลี่ยนมาปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพในการผลิตถั่วเหลืองฝักสดแทน จากนั้นจึงขยายพื้นที่มายังตำบลบ้านมาง ที่แต่เดิมเกษตรกรในอำเภอเชียงม่วนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในสภาพไร่และหลังฤดูทำนา ซึ่งราคาก็ไม่แน่นอน เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับถั่วแระญี่ปุ่นแล้วแตกต่างกันนับ 2-3 เท่าตัว ถึงแม้จะใช้น้ำน้อยแต่ก็ยังมากกว่าถั่วแระญี่ปุ่นอยู่ดี

โดยถั่วแระญี่ปุ่นจะปลูกประมาณ 2 รุ่น รุ่นแรกในสภาพไร่หรือที่ดอนแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะปลูกประมาณต้นเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวประมาณเดือนธันวาคม รุ่นที่ 2 จะปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ประมาณ 15 ธันวาคม เป็นต้นไป

โดยจะทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัทและทางสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงม่วน ทั้งการให้น้ำด้วยระบบสายน้ำพุ่ง โดยแหล่งน้ำจากลำน้ำปี้ และลำน้ำยม มีการตัดพันธุ์ปนหรือต้นที่กลายพันธุ์ ซึ่งว่าเป็นการทำงานที่ละเอียดแต่ผลตอบแทนถือว่าคุ้มค่า เพราะ 1 ไร่ ต้นทุนไม่เกิน 1 หมื่นบาท โดยทางบริษัทจะจัดวัสดุทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยให้ก่อนเมื่อขายผลผลิตคืนจึงจะหักคืน ผลผลิตจะได้ไร่ละ 450-500 กิโลกรัม ในรุ่นแรกบริษัทประกันราคาที่กิโลกรัม 65 บาท เกษตรกรจะมีรายได้รุ่นแรก ประมาณ 29,250-32,500 บาท

ส่วนรุ่นหลังนา หรือรุ่นที่ 2 ประกันราคาที่ 70 บาท ผลผลิตเฉลี่ยที่ 400-450 กิโลกรัม รายได้ประมาณ 28,000-31,500 บาท ถือว่าเกษตรกรมีความพอใจ เพราะหากเกษตรกรปลูกรายละ 3-5 ไร่ ผลตอบแทนเป็นเงินแสนแน่นอน

ถั่วแระญี่ปุ่นเป็นพืชผสมตัวเองมีโอกาสผสมข้ามพันธุ์น้อยมาก ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ การเว้นระยะห่างระหว่างพันธุ์จึงไม่จําเป็น แต่ควรระมัดระวังการปะปนของเมล็ดพันธุ์ขณะเก็บเกี่ยว กะเทาะเปลือกทําความสะอาดคัดแยกเมล็ด ตลอดจนการบรรจุลงในถุงหรือภาชนะ ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลดลงมากกว่าเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์

การปฏิบัติดูแลรักษาทําเช่นเดียวกับการผลิตฝักสด แต่อาจลดอัตราปุ๋ยที่ให้ลงเหลือ 1/2 ถึง 3/4 ของปริมาณที่ใช้ในการผลิตฝักสด เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกสามารถนําไปขยายพันธุ์เพื่อใช้ปลูกต่อไปได้ แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี คือตรงตามพันธุ์ เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงกว่า 90% เมื่อนําไปปลูกจะให้ต้นกล้าที่แข็งแรงเจริญเติบโตรวดเร็ว ปราศจากโรคและแมลง ต้องการปัจจัยสําคัญหลายประการ ดังนี้

ฤดูปลูกที่เหมาะสม ในช่วงที่เมล็ดเจริญเติบโตและพัฒนาตั้งแต่เริ่มติดฝัก จนกระทั่งเมล็ดเต่งสมบูรณ์ต้องการสภาพอากาศที่ไม่ร้อนจัดเกินไป อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสม ประมาณ 25-27 องศาเซลเซียส และในช่วงที่ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลจนกระทั่งเก็บเกี่ยวตากฝักให้แห้ง การกะเทาะเมล็ดออกจากฝักต้องการสภาพอากาศค่อนข้างแห้งไม่มีฝนตก แสงแดดจัด ดังนั้น ฤดูปลูกที่เหมาะสมจึงอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ราวเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเย็นและความชื้นในอากาศตํ่า การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วแระญี่ปุ่นให้ได้คุณภาพดี จึงสามารถผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หากพ้นระยะนี้จะใช้ผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ ถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วเหลืองฝักสด

การคัดทิ้ง คือการคัดต้นที่มีลักษณะผิดจากปกติทิ้งไป แม้ว่าถั่วแระญี่ปุ่นจะมีโอกาสผสมข้ามพันธุ์น้อยมาก แต่การเกิดต้นที่มีลักษณะผิดพันธุ์มักจะพบเห็นบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากการปะปนของพันธุ์อื่น หรือการกลายพันธุ์ ดังนั้น การที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องตรงตามพันธุ์ มีความสมํ่าเสมอในสายพันธุ์เป็นเยี่ยม จะต้องมีการคัดทิ้งทุกระยะการเจริญเติบโต เช่น ระยะหลังงอก คัดทิ้งต้นที่งอกช้ากว่าปกติ ต้นที่มีสีลําต้นผิดไป ระยะออกดอก คัดทิ้งต้นที่ออกดอกเร็วหรือช้ากว่าปกติ คัดทิ้งต้นที่มีสีดอกผิดไป ระยะติดฝักจนถึงฝักแก่ คัดทิ้งต้นที่มีการเจริญเติบโตผิดไป สังเกตได้จากความสูง สีใบ ลักษณะใบ การติดฝัก สีขนบนฝักที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ ยังต้องคัดทิ้งเมล็ดพันธุ์ที่มีสีเมล็ดผิดไปหรือเมล็ดถูกทําลายโดยเชื้อรา หรือเมล็ดที่มีขนาดเล็กเกินไป หรือเมล็ดที่แตกหักเสียหายออกจากเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์

การเก็บเกี่ยวและเทคโนโลยีเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ หลังจากปลูกถั่วแระญี่ปุ่นไปแล้วประมาณ 80-85 วัน ฝักจะแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีนํ้าตาล เมื่อฝักส่วนใหญ่กว่า 70% เปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด แม้ว่าฝักยังเป็นสีเหลืองก็ให้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณมีคุณภาพดีเช่นเดียวกัน ในระยะที่ฝักเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีนํ้าตาล ควรจะฉีดสารกันเชื้อรา 1 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทําลายฝักและเมล็ด

การเก็บเกี่ยวไม่ควรล่าช้าเกินไป เพราะถ้าปล่อยให้ฝักแห้งอยู่ในแปลงปลูกนาน โอกาสที่เชื้อราจะติดกับฝักและเมล็ดมีมากขึ้น อีกทั้งฝักอาจจะแตกออกเองเมล็ดร่วงหล่นเสียหาย การเก็บเกี่ยวทําโดยตัดทั้งต้นโดยใช้เคียวหรือกรรไกร นําต้นและฝักไปเกลี่ยตากให้แห้งบนตาข่ายไนลอนหรือผ้าใบ การตากใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน (ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม อากาศจะแห้ง แดดจัด) เมื่อฝักแห้งจะแตกออกเอง แต่บางเมล็ดยังติดอยู่ในฝักเนื่องจากฝักที่แตกออกม้วนตัวเป็นเกลียวหุ้มเมล็ด

การกะเทาะเปลือก ต้องทําด้วยความละมุนละม่อม ถ้าฝักแห้งดีการใช้ไม้ตีเบาๆ ก็จะทําให้เมล็ดหลุดจากฝักได้ ถ้าใช้เครื่องกะเทาะต้องใช้ความเร็วรอบตํ่า และกะเทาะเปลือกขณะที่ความชื้นในเมล็ดลดต่ำกว่า 20% มิฉะนั้นเมล็ดจะแตกเสียหายมาก การลดความชื้นในเมล็ดให้ตํ่ากว่า 8% ก่อนนําไปเก็บรักษาเป็นสิ่งจําเป็น

ยิ่งความชื้นในเมล็ดให้ตํ่าลงมาก ก็จะเก็บรักษาเมล็ดได้นานขึ้น เพราะเชื้อราหรือแมลงที่ติดมาไม่สามารถเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ต่อไปได้ แต่การลดความชื้นในเมล็ดจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรให้เมล็ดกระทบแสงแดดจัดโดยตรง ควรช่วยพรางแสงโดยใช้ตาข่ายไนลอนปิดด้านบน หรือกลบเกลี่ยเมล็ดบ่อยๆ

การเก็บรักษา เนื่องจากถั่วแระญี่ปุ่น เป็นพืชน้ำมันที่เมล็ดสูญเสียความงอกอย่างรวดเร็ว ถ้าเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในสภาพธรรมชาติ ซึ่งความชื้นและอุณหภูมิมีความแปรปรวนตลอดเวลา เมล็ดถั่วแระญี่ปุ่นจะสูญเสียความงอกเหลือตํ่ากว่า 50% ภายในระยะเวลา 3-4 เดือน

ดังนั้น จึงต้องรีบกะเทาะเมล็ด ทําความสะอาด คัดเลือกเมล็ด และบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทอย่างรวดเร็ว และนําไปเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ประมาณ 1 ปี ถ้าต้องการเก็บรักษานาน 2-3 ปี จะต้องเก็บในสภาพอุณหภูมิตํ่ากว่า 10 องศาเซลเซียส

การปลูกถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วเหลืองฝักสดของเกษตรกรในอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ถือว่าตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล และปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนในเรื่องน้ำ เพราะถั่วแระญี่ปุ่นต้องการน้ำน้อย ประกอบเป็นพืชที่สามารถทำพันธสัญญากับบริษัทผู้รับซื้อ หรือขายก่อนปลูก และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อหน่วยการผลิต แต่เกษตรกรจะต้องขยันและใช้ความประณีตในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพตรงความต้องการของคู่สัญญา

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565