หอมแม่โจ้ 9 คุณสมบัติใกล้เคียงขาวดอกมะลิ 105 ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ อีกไม่นาน เกษตรกรได้ปลูกแน่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายพันธุ์ข้าว และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดตัวเมล็ดข้าวพันธุ์ “หอมแม่โจ้ 9” เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์หลัก ส่งต่อข้าวพันธุ์ดีถึงมือเกษตรกร และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

ในงาน มี ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นประธานในพิธี ผู้ร่วมงานประกอบด้วย รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คุณสุทัศน์ เจริญธรรมรักษา ประธานที่ปรึกษาสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว คุณเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผศ.ดร.วราภรณ์ แสงทอง ผู้อำนวยการหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตัวแทนกรมส่งเสริมการเกษตร ตัวแทนกรมการข้าว และเกษตรกร

พิธีหว่านเมล็ดข้าว “หอมแม่โจ้ 9”

ข้าวหอมแม่โจ้ 9 ใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ 8 ปี โดยได้รับงบประมาณจาก สวก.50 ล้านบาทในการวิจัย

ทางสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้รับสิทธิ์ในพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้ 9 เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เผยแพร่สู่เกษตรกร

พันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้ 9 ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีผสมกลับ และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก โดยในปี 2554 ทำการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งใช้เป็นพันธุ์รับ (recurrent parent) และสายพันธุ์ กข 6 ต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งใช้เป็นพันธุ์ให้ (donor parent) โดยให้ยีนต้นเตี้ย และไม่ไวต่อช่วงแสง ได้เมล็ดลูกชั่วที่ 1 (F1) จากนั้นนำต้น F1 ผสมกลับไปหาพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพื่อผลิตเมล็ด BC1F1 คัดเลือกต้น BC1F1 ด้วยเครื่องหมายโมเลกุลแล้วผสมกลับไปหาพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพื่อผลิตเมล็ด BC2F1 คัดเลือกต้น BC2F1 ด้วยเครื่องหมายโมเลกุล จากนั้นทำการผสมตัวเองเพื่อผลิตเมล็ด BC2F2 คัดเลือกต้น BC2F2 ด้วยเครื่องหมายโมเลกุลแล้วผสมกลับไปหาพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพื่อผลิตเมล็ด BC3F1 – BC5F1 คัดเลือกต้น BC5F1 ด้วยเครื่องหมายโมเลกุล และผสมตัวเองเพื่อผลิตเมล็ด BC5F2 ต่อจากนั้นในฤดูนาปรัง 2558 ถึงฤดูนาปรัง 2559 ปลูกคัดเลือกต้น BC5F2 – BC5F4 ด้วยวิธีพันธุประวัติ และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก ในฤดูนาปี 2559 ปลูกศึกษาพันธุ์ 2 แถวของสายพันธุ์ BC5F5 และฤดูนาปรัง 2560 ปลูกศึกษาพันธุ์ 4 แถวของสายพันธุ์ BC5F6 ทดสอบผลผลิตภายในสถานีที่แปลงนาทดลองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 3 ฤดู  คือ นาปี 2560 นาปรัง 2561 และนาปี 2561 รวมระยะที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ 8 ปี

ผศ.ดร.วราภรณ์ แสงทอง

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้า ต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้ม ความสูงต้นประมาณ 91 เซนติเมตรในฤดูนาปี และ 86 เซนติเมตรในฤดูนาปรัง

เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง

อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 125 วันในฤดูนาปี และ 128 วันในฤดูนาปรัง เมื่อปลูกด้วยวิธีปักดำ

ระยะพักตัว 7 สัปดาห์

ลักษณะทรงกอแบะ ลำต้นค่อนข้างแข็ง

รวงยาว 24.5 เซนติเมตร คอรวงโผล่พ้นพอดี

ข้าวเปลือกสีฟาง มีความยาวเฉลี่ย 11.15 มิลลิเมตร กว้าง 2.60 มิลลิเมตร และหนา 2.00 มิลลิเมตร

ข้าวกล้องสีขาว มีความยาวเฉลี่ย 7.82 มิลลิเมตร กว้าง 2.15 มิลลิเมตร และหนา 1.76 มิลลิเมตร

รูปร่างเมล็ดเรียว (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง 3.64)

มีประสิทธิภาพการสีดี (ข้าวเต็มเมล็ด และต้นข้าว 52.53%)

ปริมาณอะมิโลส 14.67%

คุณภาพข้าวสุก นุ่ม มีกลิ่นหอม

ข้าวเปลือก

ผลผลิต

ฤดูนาปี ผลผลิตเฉลี่ย 711 กิโลกรัมต่อไร่ (ที่ความชื้น 14%)

ฤดูนาปรัง ผลผลิตเฉลี่ย 603 กิโลกรัมต่อไร่ (ที่ความชื้น 14%)

ข้าวสารหอมแม่โจ้ 9

ลักษณะเด่น

เป็นข้าวต้นเตี้ย ทำให้ต้นข้าวไม่หักล้ม

เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง จึงปลูกได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง

เป็นข้าวเจ้า หอม พื้นนุ่ม เมล็ดเรียวยาว

รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ที่ 2 จากขวา) ผศ.ดร.วราภรณ์ แสงทอง (ที่ 3 จากขวา) ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ที่ 4 จากขวา) และคณาจารย์ ม.แม่โจ้

ข้อควรระวัง

  1. อ่อนแอต่อโรค และแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ ขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  2. ควรปลูกในเวลาที่เหมาะสม

ในฤดูนาปี ควรตกกล้าในเดือนกรกฎาคม และดำในเดือนสิงหาคม

ในฤดูนาปรัง ควรตกกล้าระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม และดำระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

  1. ไม่ควรปลูกเร็วหรือล่าช้าเกินไป เพราะจะทำให้ข้าวมีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นไม่เหมาะสม ส่งผลให้มีผลผลิตต่ำ
  2. หลีกเลี่ยงการปลูกที่ออกดอกในช่วงที่อากาศหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม)
คุณเกษม ผลจันทร์ (ที่ 2 จากขวา) คุณนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา (ที่ 3 จากขวา) และกรรมการสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว

หลีกเลี่ยงการปลูกที่จะทำให้ข้าวโน้มรวงในช่วงที่ฝนตกชุก เพราะจะทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง

ผศ.ดร.วราภรณ์ ให้ข้อมูลว่า ข้าวหอมแม่โจ้ 9 มีคุณสมบัติดีเด่นเกือบเท่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ อีกราวปีเศษ สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายพันธุ์ข้าวจะสามารถเผยแพร่พันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูกได้

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายพันธุ์ข้าว โทรศัพท์ 089-836-1326