เจาะลึก สารโพแทสเซียมคลอเรต ทำไมถึงทำให้ลำไยออกดอกนอกฤดูได้

ลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย มีมูลค่าการส่งออกต่อปีที่สูง ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกลำไยรายใหญ่ของโลก ในช่วงปี 2558-2562 ปริมาณการส่งออกลำไยของไทยเพิ่มขึ้น 553,256 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.58 ต่อปี แหล่งผลิตสำคัญลำไยไทยจะอยู่ในทางภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของภาคเหนือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการออกดอกของลำไย ในปีไหนที่อากาศหนาวเย็นยาวนาน ลำไยจะออกดอกติดผลได้ดี ส่วนปีไหนอุณหภูมิต่ำไม่พอ ปีนั้นต้นลำไยจะออกดอกน้อย หรือไม่ออกดอกเลย

ผลผลิตคุณภาพ

สารโพแทสเซียมคลอเรต เป็นสารเติมออกซิเจน สามารถทำปฏิกิริยารุนแรงอย่างมากกับสารรีดิวซิงเอเจนต์ และสารอินทรีย์ทุกชนิด สารโพแทสเซียมคลอเรต สามารถระเบิดได้เองเมื่อมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือด จึงนิยมนำสารนี้มาทำดอกไม้ไฟ และด้วยความบังเอิญของคนทำดอกไม้ไฟ ทำให้พบว่าสารนี้สามารถชักนำการออกดอกของลำไย โดยไม่ต้องพึ่งพาความหนาวเย็นได้

ผศ. พาวิน มะโนชัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้นำโครงการวิจัยด้านลําไยหลายโครงการ เรียบเรียงหนังสือและเอกสารเผยแพร่เพื่อการเรียนการสอน อาทิ ลําไย การผลิตลําไย การผลิตลําไยนอกฤดูอย่างมืออาชีพ กล่าวถึงสารโพแทสเซียมคลอเรตว่า กลไกของการศึกษาของสารนี้ในปัจจุบันนั้นยังศึกษาไม่ลึกมากพอ แต่คุณสมบัติของสารตัวนี้คือการเข้าไปกระตุ้นทำให้ลำไยออกดอกได้ โดยไม่ต้องผ่านความหนาวเย็น หลายปีที่ผ่านมาได้มีทีมวิจัยในการศึกษาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของลำไย โดยใช้แปลงทดลองจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยทดลองให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในลำไย และเก็บยอดลำไยไปวิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนออกซิน ไซโตไคนิน เอทิลิน ฯลฯ ปรากฏว่ามีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ค่อนข้างจะไปสัมพันธ์ในการออกดอกในลำไย นั่นคือไซโตไคนิน พบว่าต้นที่ออกดอกดีจะมีไซโตไคนินสูง หรือสรุปได้ว่าการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตจะทำให้ลำไยมีสารไซโตไคนินสูง ทำให้ลำไยออกดอกได้ดีนั่นเอง

เริ่มให้ผลผลิต

ในงานวิจัย “ผลของสารโพแทสเซียมคลอเรตต่อการออกดอก ติดผลของลําไยพันธุ์อีดอในรอบปี” ของ ผศ.ดร. พาวิน และคณะวิจัย ได้สรุปผลการวิจัยการใช้สารสารโพแทสเซียมคลอเรตในลำไยไว้ว่า ในช่วงฤดูฝนของการใช้สารตัวนี้ลำไยจะออกดอกน้อยที่สุด สาเหตุเนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีการชะล้างความเข้มข้นของสารออกจากบริเวณเขตรากลำไยไป อีกทั้งความชื้นในช่วงฤดูฝนยังทำให้พืชคายน้ำน้อย ทำให้รากของต้นลำไยดูดสารโพแทสเซียมคลอเรตได้น้อย นอกจากนี้ ยังพบว่าความเข้มของแสงแดดมีผลต่อการตอบสนองของต้นลำไยต่อสารโพแทสเซียมคลอเรต

จากงานวิจัยพบว่าการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในเดือนต่างๆ จะสามารถควบคุมการออกดอกของลำไยอยู่ในช่วง 78.5-100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะใช้ระยะเวลาการแทงช่อดอกหลังให้สารโพแทสเซียมคลอเรต อยู่ในช่วง 28.6-45.5 วัน งานวิจัยนี้ยังเสนอแนะไว้ว่า เกษตรกรควรวางแผนการผลิตลำไย 2-3 รุ่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ลดความเสี่ยงด้านราคาตกต่ำ คือควรผลิตลำไยเพื่อให้เก็บผลผลิตในช่วงที่ตลาดต้องการสูง เช่นในช่วงเทศกาลวันชาติจีน ตรุษจีน หรือวันเช็งเม้ง

 

หลักการใช้ และข้อควรระวัง

การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตทางดินในช่วงฤดูหนาว ให้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต 10 กรัม ต่อตารางเมตร พื้นที่ทรงพุ่ม ในช่วงฤดูฝนให้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต 20 กรัม ต่อตารางเมตร พื้นที่ทรงพุ่ม

การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตทางใบ ให้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต 400 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นใบลำไย 1-2 ครั้ง การพ่นต้องพ่นให้เป็นละอองฝอย ไม่งั้นถ้าพ่นเยอะเกินไปจะทำให้ใบไหม้และร่วง

ข้อควรระวังในการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต ถ้าใช้ทางดินจะต้องใช้ในสัดส่วนที่พอดี ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป หากใช้ในสัดส่วนที่มากเกินไปจะทำให้สารนั้นตกค้างในดินได้ ถ้าใช้ทางใบควรระวัง ไม่ฉีดพ่นเยอะเกินไป หากความเข้มของสารสูงเกินไปเมื่อฉีดเสร็จจะทำให้ใบลำไยไหม้ได้

ดูแลจัดการแปลงดี

ฝากถึงเกษตรกรชาวสวนลำไย

“ปัญหาลำไย อย่างแรกคือเรื่องของคุณภาพ ภาคเหนือคุณภาพโดยรวมถือว่าต่ำ ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทั้งหมด สิ่งที่ต้องทำคือการยกระดับลำไยเกรด AA ให้เพิ่มมากขึ้น โดยนอกเหนือจากการหาวิธีการที่ดีแล้ว เราต้องไปควบคุมปริมาณผลลำไยไม่ให้มันดกเกินไป โดยเราจะควบคุมได้ 2 ระยะ ระยะแรกการควบคุมหลังการเก็บเกี่ยว คือการตัดแต่งกิ่งใบ เมื่อตัดแต่งกิ่งใบจะทำให้ได้กิ่งใบใหม่ที่สมบูรณ์ และยังลดจำนวนกิ่งของลำไยอีกด้วย อย่างที่สองคือ หลังจากลำไยออกดอกแล้วติดผล จะต้องตัดแต่งกิ่งช่อผล ซึ่งถ้าหากเกษตรกรสวนลำไยทำแบบนี้ ก็จะไปเพิ่มเกรดผลลำไยเป็น AA ได้ เพราะผลลำไยจะมีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย กล่าว