น้ำหมักชีวภาพ วัตถุดิบใกล้บ้าน หาง่าย ราคาถูก ลดต้นทุนการปลูกลำไยถึง 20 เปอร์เซ็นต์

คุณประสิทธิ์ รัตนพรหม เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน อดีตวิศวกร ผันตัวมาเป็นชาวสวนลำไยโดยการใช้น้ำหมักอินทรีย์บำรุงลำไย จากวัตถุดิบใกล้บ้าน หาง่าย ราคาถูก ต้นทุนถูกลงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี 20 เปอร์เซ็นต์ ใช้ต่อเนื่องสภาพใบและต้นลำไยดีขึ้นเห็นผลอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังหารายได้จากการขายน้ำหมักอินทรีย์ได้อีกด้วย

คุณประสิทธิ์ รัตนพรหม อดีตวิศวกร ผันตัวมาเป็นชาวสวนลำไยโดยการใช้น้ำหมักอินทรีย์ บำรุงลำไยจากวัตถุดิบใกล้บ้าน1

คุณประสิทธิ์ เล่าว่า ก่อนจะมายึดอาชีพเป็นชาวสวนลำไยอย่างเต็มตัวนั้น ตนเป็นวิศวกรในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ประสพกับช่วง 13 ปีที่แล้ว ภรรยาท้องลูกแฝด 3 คน ตนจึงต้องเสียสละลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก อีกทั้งครอบครัวพ่อแม่ของตนก็มีอาชีพเป็นชาวสวนลำไยอยู่แล้ว ประกอบกับราคาลำไยช่วงนั้นค่อนข้างดี จึงหันมาเป็นชาวสวนลำไยอย่างเต็มตัว ปัจจุบันมีสวนลำไยอยู่ที่ 120 ไร่ มีต้นลำไย 1,400 ต้น

ดอกลำไย จากต้นที่บำรุงด้วยปุ๋ยชีวภาพ

สาเหตุที่หันมาใช้น้ำหมักอินทรีย์บำรุงต้นลำไย คุณประสิทธิ์บอกว่า เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน การทำลำไยให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นจำเป็นต้องใช้สารเคมีสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลำไยนั้นสูงขึ้นตาม และพบว่าดินของลำไยมีปริมาณธาตุอาหารหลายๆ ตัวเกินสมดุล จึงมองหาความรู้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงสภาพดิน นั่นคือการนำฮอร์โมนไข่, น้ำหมักจากปลาทะเล เข้ามาช่วยแก้ไขปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น

น้ำหมักปลาหลักจากนำส่วนผสม ลงในถัง

โชคดีที่รอบๆ สวนลำไยของตนค่อนข้างที่จะมีวัตถุดิบหลักที่ทำน้ำหมักทั้งสองตัวครบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำนมตกเกรดเหลือทิ้งจากฟาร์ม ไข่ไก่ที่ขายไม่ได้ช่วงปิดเทอมโรงเรียนจากฟาร์มใกล้บ้าน ประกอบกับมีคนรู้จักที่ทำธุรกิจอาหารสัตว์ ทำให้มีปลาทะเลมาหมักได้ตลอดทั้งปี วัตถุดิบทั้งหมดที่ได้มาราคาไม่แพง นั่นคือข้อได้เปรียบที่หันมาทำน้ำหมักอินทรีย์มากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี

ปลา ส่วนประกอบหลักที่นำมาทำน้ำหมักปลา

การทำฮอร์โมนไข่

การทำฮอร์โมนไข่ คุณประสิทธิ์อธิบายว่า จะใช้สัดส่วนถังสีฟ้า 200 ลิตร ไข่ไก่ 30 กิโลกรัม กากน้ำตาล 30 กิโลกรัม นมสด 120 ลิตร ผง พด.2 1 ซอง นมเปรี้ยวขวดใหญ่ 1 ขวด น้ำเปล่า 5 ลิตร เมื่อเตรียมวัตถุดิบเรียบร้อย ให้นำน้ำตาลใส่ในถัง 200 ลิตร จากนั้นให้ใส่ไข่ไก่ลงไป โดยจะมีเทคนิคเล็กๆ นั่นคือการทุบไข่พอให้ไข่แดงแตก แล้วนำเปลือกใส่ในถุงตาข่าย หย่อนลงไปทั้งหมด นำผง พด.2 มาละลายน้ำ 5 ลิตร แล้วค่อยเติมลงไปในถัง เติมนมเปรี้ยวและนมสดเป็นส่วนผสมสุดท้าย หลังจากนั้นปิดฝานำพลาสติกคลุมพร้อมใช้ยางรัดปากถังให้แน่น เก็บในที่ร่ม น้ำเข้าไม่ถึง ใช้เวลากระบวนการหมักประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถนำมาใช้พ่นทางใบได้แล้ว

วัตถุดิบไข่ไก่ ส่วนประกอบหลักที่นำมาทำฮอร์โมนไข่

คุณประสิทธิ์ เล่าหลักการนำน้ำหมักไปใช้พ่นทางใบว่า จะใช้ถังพ่น 200 ลิตร จะใช้ฮอร์โมนไข่ 300-500 ซีซี โดยสามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเกล็ด ฮอร์โมนธาตุอาหารเสริมได้ ผสมพร้อมกับน้ำในการฉีดพ่นทางใบลำไย ฮอร์โมนไข่จะใช้พ่นได้ 2 ช่วง นั่นคือช่วงระยะที่เมล็ดลำไยเล็กๆ เป็นสีขาว และช่วงที่เมล็ดลำไยเป็นสีดำหรือน้ำตาล สามารถพ่นได้ 1-2 ครั้ง

ข้อดี ข้อเสีย

ข้อดี คือ 1. เรื่องต้นทุนที่ถูกลง 2. สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้น 3. มีความปลอดภัยต่อต้นลำไยต่อชาวสวนมากขึ้น

ข้อเสีย คือ 1. ความรวดเร็วในการดูดซึม เช่น การทำดอกของผลไม้ จะมีสภาวะการแข่งขันกับใบ หมายความว่าหากพ่นปุ๋ยช้าไป หรือให้ฮอร์โมนช้าไป แทนที่จะได้ดอกลำไยกลับได้ใบลำไยแทน การใช้อินทรีย์ในช่วงนี้ค่อนข้างจะมีความเสี่ยง จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้เคมีสัก 1 ครั้ง 2. ความสะดวกของสถานที่ในการหมัก

การเก็บหลังจากผสมส่วนผสมน้ำหมักปลาลงในถังเรียบร้อยแล้ว

ข้อควรระวัง

  1. หากอยู่ระหว่างกระบวนการหมักแล้วมีน้ำเข้าไปในถังจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น
  2. การทำน้ำหมักต้องใช้กากน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น อาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย จึงต้องระวังที่จะพ่นในช่วงการขยายขนาดผลลำไย แนะนำว่าหากไม่อยากใช้กากน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ สามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำตาลทางด่วนหมักแทนกากน้ำตาล ราคาก็จะแพงขึ้นมากหน่อย แต่ตัดปัญหาเรื่องของกากน้ำตาลเป็นเหตุของเชื้อราได้

 

น้ำหมักปลาทะเล

การทำน้ำหมักปลาทะเล คุณประสิทธิ์อธิบายว่า จะใช้สัดส่วนถังสีฟ้า 200 ลิตร ปลาทะเล 30 กิโลกรัม กากน้ำตาล 30 กิโลกรัม ผง พด.2 1 ซอง นี่คือวัตถุดิบหลัก หากชาวสวนลำไยท่านไหนมีน้ำหมักชีวภาพ EM หรือเปลือกสับปะรดใส่ลงไปได้ยิ่งดี เพราะระยะการหมักแรกๆ น้ำหมักจะมีกลิ่นเหมือนปลาร้า อาจส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้านได้ หากใช้น้ำหมักชีวภาพ EM จะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นได้ดีขึ้น การใส่สับปะรดลงไปจะทำให้ส่วนผสมย่อยสลายได้ง่ายขึ้น เมื่อเตรียมวัตถุดิบเรียบร้อยให้นำส่วนผสมข้างต้นลงไปในถังทั้งหมด จากนั้นเติมน้ำลงไปในถังให้เหลือปริมาณจากปากถัง 1 คืบ ไม่ต้องปิดฝา

หลังจากนำส่วนผสมของฮอร์โมนไข่ ลงในถังเรียบร้อยแล้ว

ช่วงสัปดาห์แรกต้องคนส่วนผสมให้เข้ากันวันละครั้ง เมื่อหมักผ่านไประยะเวลา 2 สัปดาห์ ให้ปิดฝาไม่ให้อากาศเข้าป้องกันกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน ห้ามให้น้ำไหลเข้าไปในถังกรณีที่ฝนตก เมื่อหมักครบ 2 เดือน ส่วนผสมจะย่อยสลายเหลือแค่ก้าง สามารถนำก้างและน้ำหมักมาใช้งานราดทางดิน เพื่อปรับปรุงสภาพดินและฟื้นฟูระบบรากดินได้ และหมักต่อไปอีก 1 เดือน ก็สามารถนำมาพ่นทางใบทดแทนอะมิโนที่จะต้องไปซื้อตามร้านเคมีเกษตรได้ หลักการนำน้ำหมักไปใช้พ่นทางใบ คือใช้น้ำ 200 ลิตร น้ำหมักปลาทะเล 300-500 ซีซี ผสมกันแล้วฉีดพ่นทางใบในช่วงบำรุงใบ สามารถใช้สลับช่วงกับฮอร์โมนไข่ได้

ข้อดี ข้อเสีย

ข้อดี คือ 1. เรื่องต้นทุนที่ถูกลง อะมิโนทำใบขายตามร้านค้า 1 ลิตร เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150-300 บาท พ่น 1 ครั้ง จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 50 บาท หากใช้น้ำหมักปลา ต้นทุนต่อครั้งจะอยู่ที่ 10 บาท 2. สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้น 3. มีความปลอดภัยต่อต้นลำไยและชาวสวนมากขึ้น

ข้อเสีย คือ 1. สภาพต้นจะอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับต้นลำไยที่ใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ 2. ใช้ช่วงขยายขนาดผลลำไยอาจเกิดเชื้อราได้จากส่วนผสมกากน้ำตาล 3. มีกลิ่นเหม็นเหมือนปลาร้า อาจรบกวนเพื่อนบ้านเรื่องกลิ่น

กระบวนการทำฮอร์โมนไข่

ฝากถึงชาวสวนลำไย

คุณประสิทธิ์ฝากถึงชาวสวนลำไยว่า การทำลำไยไม่ให้ขาดทุนต้องประเมินให้ได้ อย่างช่วงระยะทำดอกเสร็จ จะต้องประมาณการให้ออกว่าลำไยที่ติดผลมันคุ้มกับต้นทุนที่เราจะลงทุนไปไหม ยกตัวอย่าง ถ้าลำไยติดลูกน้อยเกินไป ตนแนะนำให้ตัดทิ้งเลย ไม่อยากให้ดันทุรังทำลำไยต่อ ถ้าน้ำหนักที่ได้มันหารต่อต้นทุนที่จะลงไปไม่คุ้ม ให้ตัดทิ้งแล้วทำใหม่และเน้นบำรุงต้นลำไยจากอินทรีย์

ติดต่อเพิ่มเติมได้ทาง เพจเกษตร สนุก ต้นทุนต่ำ เบอร์โทร. 098-294-7894

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2565