ขมิ้นชัน 1 งาน สร้างกำไรหลักหมื่น พืชทางเลือกเกษตรกรตรัง

ขมิ้นชัน (Turmeric) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L.จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าสีเหลืองเข้มถึงแสดจัดอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด มีองค์ประกอบหลักสำคัญที่นำมาใช้ประโยชน์ 2 ชนิด คือ น้ำมันหอมระเหย (termeric oil) และสารที่ให้สีเหลือง คือ curcuminoid ในภาคใต้นิยมนำขมิ้นชันมาเป็นส่วนประกอบหลักในเครื่องแกง เช่น แกงเหลือง ช่วยเพิ่มสีสันให้น่ารับประทาน และให้กลิ่นเครื่องเทศที่เป็นเอกลักษณ์ ในด้านเภสัชกรรมถูกจัดอยู่ในตำรายาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในลูกประคบ โดยช่วยลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการจากโรคผิวหนัง

คุณเกรียงศักดิ์ นุ้ยสี และ คุณชัสมา นุ้ยสี สองสามีภรรยา

คุณเกรียงศักดิ์ นุ้ยสี และ คุณชัสมา นุ้ยสี สองสามีภรรยา Smart farmer และ Young Smart farmer ตำบลนาเมืองเพชร อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 128/2 หมู่ที่ 2 ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เดิมเป็นพนักงานโรงงานปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใช้เวลาว่างทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยางพาราแผ่น ก่อนตัดสินใจออกจากงานประจำ มาทำลานรับซื้อปาล์มน้ำมัน ไม้ยางพารา และมามุ่งทำการเกษตรอย่างเต็มตัวร่วม 10 ปี โดยเริ่มจากการซื้อที่ดินเก็บไว้ แล้วลองปลูกพืชตามความชอบและความถนัด ลองผิดลองถูกหลายครั้งโดยพืชที่เป็นรายได้หลักคือปาล์มน้ำมันและยางพารา

คุณวินัย วรรธนะนาถ เกษตรอำเภอสิเกา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมเยียนที่แปลงเกษตรที่หมู่ 7 ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีการปลูกพืชสวนผสมเนื้อที่เกือบ 30ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นหลัก 14 ไร่ รองลงมาคือ ทุเรียน 7 ไร่ และพืชสมุนไพรอย่างละนิดละหน่อยเพื่อบริโภคในครัวเรือน ทั้งยังเล่าให้ฟังว่า แปลงเกษตรทุกแปลงจะใช้ประโยชน์จากเชื้อราไตรโค    เดอร์ม่าเพื่อป้องกันโรคพืช ซึ่งได้เรียนรู้มาจากการจัดอบรมของสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกาอยู่หลายต่อหลายครั้ง เมื่อได้เริ่มลองใช้กับแปลงปาล์มน้ำมันแล้วได้ผลดี จึงนำมาใช้กับแปลงเกษตรทุกแปลง เช่นเดียวกับขมิ้นชันที่ปลูก ใช้เนื้อที่ประมาณ 1 งานนี้เช่นกัน ความคิดริเริ่มในการเลือกปลูกขมิ้นชัน เริ่มจากมีการติดต่อจากแผนกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง ว่ามีความต้องการใช้ขมิ้นชันจำนวนมากตามแผนการผลิตเพื่อใช้ในแผนกทั้งสอง จึงตัดสินใจปลูกเพื่อจำหน่ายเนื่องจากปลูกง่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน ถือว่าเป็นแปลงทดลองการปลูกขมิ้นเพื่อศึกษาแนวทางในการผลิตรอบถัดไป

คุณวินัย วรรธนะนาถ เกษตรอำเภอสิเกา และ คุณอรณิช คะเณย์ เกษตรตำบล ลงพื้นที่

การปลูกขมิ้นชัน

คุณชัสมา เล่าว่า ขมิ้นชันที่ปลูกเป็นพันธุ์ตรัง 1 และ ตรัง 2 ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน โดยสามารถเริ่มปลูกช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ขั้นตอนแรก เตรียมดินโดยพรวนดินให้ร่วนซุย ทำแปลงแบบแถกดิน ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 0-3-0 และโดโลไมท์ ประมาณอย่างละ 1 กำมือ วางหัวพันธุ์ที่มีน้ำหนัก 15-50 กรัม ที่มีตา 2-3 ตา เรียงปลูกด้วยระยะ 35×50 เซนติเมตร จากนั้นกลบด้วยดินและโรยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสดผสมมูลวัว อัตราส่วน 1 : 100 ต้นละ 50 กรัม หรือประมาณ 1 กระป๋องนม รดน้ำให้ทั่ว และคลุมหน้าดินด้วยฟางเพื่อรักษาความชื้นโดยมีวิธีการดูแลและใส่ปุ๋ยดังตาราง

อายุขมิ้นชัน การดูแลและการใส่ปุ๋ย
3 เดือน ปุ๋ยสูตร 15-15-1515 กรัม/ต้น

ปุ๋ยคอก50 กรัม/ต้น

5 เดือน กำจัดวัชพืช

ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-1515 กรัม/ต้น

ปุ๋ยคอก50 กรัม/ต้น

 

หลังจากนั้นจะเก็บเกี่ยวช่วงเข้าฤดูแล้ง เมื่อขมิ้นชันมีอายุประมาณ 9-11 เดือน โดยรดน้ำเพื่อให้ดินที่เกาะขมิ้นชันคลายตัว ค่อยๆ ใช้จอบขุดและถอนขึ้นมา จากนั้นนำไปทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าจนไม่เหลือเศษดิน ตัดแต่งเอารากและส่วนที่เสียทิ้ง วางผึ่งไว้ให้สะเด็ดน้ำเพื่อเตรียมจัดส่งให้กับทางโรงพยาบาลต่อไป

ต้นทุนและกำไรจากการปลูกขมิ้นชัน
รายการต้นทุนสำหรับปลูกขมิ้นชัน เนื้อที่ 1 งาน

รายการ จำนวน ราคา/หน่วย รวม(บาท)
หัวพันธุ์ขมิ้นชัน 70 กิโลกรัม 25 1,750
ปุ๋ย 0-3-0(50 กิโลกรัม/กระสอบ) 1 กระสอบ 190 190
โดโลไมท์   (25 กิโลกรัม/กระสอบ ) 5 กระสอบ 35 175
ปุ๋ยคอก     (50 กิโลกรัม/กระสอบ) 8 กระสอบ 60 480
ปุ๋ย 15-15-15 (50 กิโลกรัม/กระสอบ) 1 กระสอบ 700 700
ค่าแรง 2 คน 10 วัน 315 6,300
ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 1,500 1,500
อุปกรณ์สำหรับทำเชื้อสด ไตรโคเดอร์ม่า

เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

ชนิดน้ำ

ข้าวสาร

ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 8×12นิ้ว

ยาง

เข็ม

 

ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกา

5 กิโลกรัม

50 กรัม

 

50 กรัม

1 ซอง

 

 

 

75

10

 

10

10

 

 

 

75

10

 

10

10

 

รวม (บาท) 11,200

*ราคาสินค้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาด

ผลผลิตขมิ้นชันรอบนี้เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด 698 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 30 บาท รวม 20,940 บาท เมื่อนำมาหักต้นทุนเท่ากับว่ารอบนี้ได้กำไร 9,740 บาท ต่อ 1 งาน คิดเป็นกำไรเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในอนาคตทั้งสองมีแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาผลผลิตโดยเก็บพันธุ์ขมิ้นชันสำหรับการปลูกรอบถัดไป เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนการผลิตและหัวพันธุ์ ที่ปลูกรอบนี้ไม่พบปัญหาโรคพืชการส่งตรวจวิเคราะห์ดินที่ปลูก การยื่นขอมาตรฐาน GAP ของขมิ้นชัน การส่งวิเคราะห์ตัวยาในขมิ้นชัน โดยคาดว่าเมื่อได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานแล้วจะสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 80 บาท ทั้งยังมีแนวคิดในการนำขมิ้นชันไปแปรรูปเป็นสบู่ และนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สปาเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางด้วย

ลักษณะขมิ้นชัน

การเตรียมหัวพันธุ์ขมิ้นชัน เพื่อการปลูกรอบถัดไป

แปลงทดลองขมิ้นชันนี้ถือว่าให้ผลที่น่าพอใจสำหรับทั้งสอง ซึ่งมองได้ว่าเป็นตลาดนำการผลิตก็ไม่ผิดนัก เพราะมีตลาดที่รองรับแน่นอน ทั้งยังบอกอีกว่ายังไงก็จะปลูกรอบถัดไปอีกแน่นอนเพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย การดูแลไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริม

ขมิ้นชันเตรียมจำหน่าย

สอบถามแลกเปลี่ยนความรู้ทางการเกษตร คุณชัสมา นุ้ยสี เบอร์โทร 095-772-2059 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โทร. 075-291-124

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354