ผู้เขียน | ฤทธิเดช สุขคง |
---|---|
เผยแพร่ |
การปลูกพริกไทยพุ่มแซมยางพารา
คุณสมนึก ฉิมปลอด บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 6 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย เล่าว่า พริกไทยที่ปลูกอยู่ในปัจจุบัน เป็นพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ที่บริเวณเทือกเขาบรรทัด เกษตรกรเมื่อเข้าป่าไปหาของป่าพบเจอเข้า ได้นำมาปลูกในพื้นที่ของตนและขยายพันธุ์แพร่หลายมากขึ้น และปลูกในลักษณะสวนหลังบ้านมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน

ต่อมามีความสนใจการปลูกพริกไทยเพื่อเป็นอาชีพมากขึ้นจึงเริ่มมีการขยายพันธุ์และปลูกกันทั่วไปในอำเภอนาโยง โดยตนเองได้ปลูกพริกไทยซึ่งมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 1 ไร่ โดยปลูกทั้งแบบสวนเดี่ยวและแซมในสวนยาง
วิธีปลูกพริกไทยของอำเภอนาโยง มี 2 วิธี คือ
- การปลูกพริกไทยค้าง เกษตรกรปลูกให้ต้นพริกไทยเลื้อยขึ้นไปบนเสาปูน หรือไม้แก่น หรือต้นยอ ซึ่งผลผลิตจะออก 1 ครั้ง ต่อปี ในช่วงฤดูแล้ง
- การปลูกพริกไทยพุ่ม เกษตรกรคัดเลือกกิ่งแขนงมาขยายพันธุ์ มักใช้วิธีเสียบยอดโดยใช้ต้นตอเป็นต้นโคโลบีนั่ม แล้วนำไปปลูกลงดิน หรือปลูกในภาชนะ เช่น ตะกร้า วิธีนี้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าค้างพริกลงไปได้ สามารถปลูกแซมในสวนอื่นๆ เช่น สวนยางพารา หรือสวนไม้ผลต่างๆ ได้ และการปลูกพริกไทยพุ่มจะได้รับผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี
คุณสมนึก เล่าว่า การปลูกพริกไทยพุ่มแซมยางพารา มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

- สามารถใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์โดยมีผลตอบแทนต่อพื้นที่สูงกว่าพืชแซมชนิดอื่นๆ ซึ่งจะได้รับผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 75 ของการปลูกพริกไทยเชิงเดี่ยว
- ลดต้นทุนในการจัดการ โดยปกติสวนพริกไทยเดี่ยวๆ ควรมีการพรางแสง แต่พริกไทยแซมยางจะได้รับร่มเงาที่พอดีจากยางพารา ทำให้ลดต้นทุนในการจัดการลงไป
- สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี ทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง
- โรคแมลงรบกวนน้อย เนื่องจากเป็นพริกไทยที่มีต้นตอคือต้นโคโลบินั่ม ซึ่งมีความต้านทานต่อโรครากเน่าของพริกไทยอันเป็นโรคสำคัญของพืชชนิดนี้ ทั้งนี้ โรคแมลงอื่นๆ ในพริกไทยมีน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว
ขั้นตอนการปลูกพริกไทยพุ่มแซมยางพารา มีดังนี้
- การคัดเลือกพันธุ์พริกไทย การผลิตพริกไทยพุ่มของ คุณสมนึก ฉิมปลอด ประกอบด้วย 2 สายพันธุ์ คือพริกพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งมีลักษณะเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในการทำเครื่องแกงชนิดต่างๆ และอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ พันธุ์ปะเหลียน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิต แตกต่างกันที่ลักษณะของยอดเท่านั้น
- การขยายพันธุ์พริกใช้ต้นตอคือ ต้นโคโลบินั่ม มาเป็นต้นตอในการเสียบยอดพันธุ์พริกที่ต้องการ ซึ่งจะต้องเตรียมต้นตอไว้ก่อน เมื่อต้นตอเจริญแข็งแรงดีจึงนำไปเสียบยอดได้
- การเตรียมพื้นที่สวนยางสำหรับปลูกพริกไทย ต้องเป็นสวนยางที่โตเต็มที่ คืออายุประมาณ 5-6 ปีขึ้นไป เนื่องจากจะให้ร่มเงาที่พอดีกับพริก พื้นที่ควรเป็นที่ราบหรือเนินเล็กน้อย น้ำไม่ท่วมขัง ภายในพื้นที่ต้องมีแหล่งน้ำสำหรับไว้รดพริกไทยในช่วงที่ฝนไม่ตกเป็นเวลานาน และร่องยางต้องกำจัดเศษไม้ หรือไม้ขนาดเล็กออกให้หมด
- การเตรียมต้นพันธุ์และวิธีการปลูกพริกไทยแซมยาง เตรียมภาชนะปลูก คือตะกร้าพลาสติก ขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร การเตรียมต้นพันธุ์ จะใช้ต้นพริกไทยที่ผ่านการเสียบยอดด้วยต้นโคโลมินั่ม ที่มีความแข็งแรงแล้ว จำนวน 3 ต้น ต่อ 1 ตะกร้า และเตรียมดินปลูก ประกอบด้วย ดินอัตรา 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และแกลบเผา 1 ส่วน และอีกอย่างหนึ่งคือ อิฐบล็อคเพื่อไว้สำหรับวางรองตะกร้าที่ปลูก จำนวนเท่ากับจำนวนตะกร้า วิธีการปลูก ทำการผสมวัสดุปลูกตามอัตราส่วน นำต้นพันธุ์ปลูกจำนวน 3 ต้น ต่อ 1 ตะกร้า และขนย้ายไปในสวนยาง โดยวางรองบนอิฐบล็อคเพื่อป้องกันวัชพืช และให้ต้นพริกได้รับสารอาหารเต็มที่ และสะดวกต่อการบริหารจัดการ ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 2×2 เมตร แต่ละร่องยางจะปลูกได้ 3 แถว และพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกพริกได้ประมาณ 300 ตะกร้า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของการปลูกพริกไทยเต็มแปลงเพียงชนิดเดียว
- การดูแลรักษา ประกอบด้วย การให้น้ำ การให้ปุ๋ย และการดูแลรักษาทั่วไป การให้น้ำจะให้ทุกวัน เว้นวันที่มีฝนตก ระบบน้ำใช้ 2 วิธี คือรดด้วยสปริงเกลอร์ และรดด้วยระบบน้ำหยด ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกัน แต่ระบบน้ำหยดจะประหยัดน้ำและป้องกันวัชพืชได้ดีกว่า การให้ปุ๋ย ใช้ทั้งปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมี โดยให้สลับ เดือนเว้นเดือน การดูแลรักษาจะควบคุมเรื่องแสงให้มีปริมาณพอเหมาะ คือประมาณ 50% หากมากเกินไปต้นพริกจะเหี่ยวและตายได้ หากน้อยเกินไปต้นพริกจะยืดและไม่ติดผล ทั้งนี้ ในสวนยางร่มเงาจะมีความเหมาะสมอยู่แล้ว
- การเก็บเกี่ยว เมื่อพริกเริ่มมีเม็ดสุกสีแดง 1-2 เม็ด ก็สามารถเก็บได้ จะเก็บทุกวันเนื่องจากพริกจะทยอยสุกอยู่ตลอด พริกไทยจะเริ่มติดผลเมื่ออายุ 8 เดือน หลังปลูกลงดิน และเริ่มเก็บผลผลิตได้เมื่อครบอายุ 1 ปี หลังจากนั้นจะมีผลผลิตทยอยออกให้เก็บอีกหลายปีขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษา
- การแปรรูป นำพริกที่เก็บไปล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้งแล้วนำไปตากในตู้ที่ออกแบบขึ้นมาเองสำหรับตากพริก ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมโปร่งใส ด้านบนเป็นวงโค้ง ปิดสนิททุกด้านป้องกันความชื้น แมลงและฝุ่นละออง ด้านล่างมีช่องสำหรับใส่ถ่านไฟเมื่อต้องตากพริกในฤดูฝน ตากพริกไว้ 3 วัน พริกก็จะเปลี่ยนจากสีเขียวหรือแดงเป็นดำสนิท นำไปเก็บรักษาไว้ในที่ร่ม สามารถเก็บได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี พริกสด 3 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนัก 1 กิโลกรัม

ต้นทุนและผลตอบแทน การปลูกพริกไทยพุ่มแซมยางพารา
ปลูกแบบพุ่มระหว่างต้นยาง 2×2 เมตร (เว้นต้นยาง) 1 ไร่ ปลูกจะได้ 300 ต้น
กิจกรรม | ค่าใช้จ่าย (บาท) | หมายเหตุ |
ค่าปรับพื้นที่ | 500 | โดยการตัดหญ้า |
ตะกร้าพลาสติก ขนาดเบอร์ 5 | 15,000 | ใช้ 300 ใบ ใบละ 50 บาท |
อิฐบล็อค | 2,100 | ใช้ 300 ก้อน ก้อนละ 7 บาท |
วัสดุปลูก | 9,000 | ตะกร้าละ 30 บาท |
ค่าต้นพันธุ์ (เสียบยอดต้นโคโลบินั่ม) | 15,000 | ต้นละ 50 บาท |
ค่าแรงปลูก | 3,000 | ตะกร้าละ 10 บาท |
ระบบน้ำ | 6,000 | |
ค่าสารเคมีป้องกันโรค/แมลง | 1,000 | |
ค่าปุ๋ยเคมี | 3,240 | ใช้ต้นละ 0.6 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 18 บาท (ใช้เดือนละ 50 กรัม) |
อื่นๆ | 2,000 | |
รวม | 56,840 |
ต้นทุนผันแปรในแต่ละปี
- ปุ๋ยคอก พุ่มละ 0.5 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2 บาท = 2,700 บาท
- ปุ๋ยเคมี ใช้พุ่มละ 0.6 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 18 บาท (ใช้เดือนละ 50 กรัม) = 3,240 บาท
- ค่าสารเคมีป้องกันโรค/แมลง จำนวน 1,000 บาท
- ค่าแรงเก็บเกี่ยว 5,000 บาท
- อื่นๆ 500 บาท
รวมต้นทุนต่อปี 12,440 บาท

วิเคราะห์ผลตอบแทน
คุณสมนึก เล่าว่า ผลผลิตพริกไทยจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 1 ปี โดยมีผลผลิตเป็นพริกไทยสด ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อพุ่ม และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 4 ปี ก็จะเป็นต้นที่โตเต็มที่ ซึ่งจะได้รับผลผลิตประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อพุ่ม ต่อปี ราคาจำหน่ายพริกไทยอ่อน กิโลกรัมละ 80 บาท ถ้าจำหน่ายเป็นพริกแห้ง จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ทั้งนี้ การตากพริกไทยแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้พริกไทยสด 3 กิโลกรัม
รายการ/ปี | ปีที่ 1 | ปีที่ 2 | ปีที่ 3 | ปีที่ 4 เป็นต้นไป |
รายรับ | ยังไม่มีผลผลิต | พริกไทยแห้ง 180 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 300 บาท รวม 54,000 บาท | พริกไทยแห้ง 360 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 300 บาท รวม 108,000 บาท | พริกไทยแห้ง 450 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 300 บาท รวม 135,000 บาท |
รายจ่าย | 56,840 | 12,440 | 12,440 | 12,440 |
กำไร | -56,840 | 41,560 | 95,560 | 122,560 |
สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง ได้เล็งเห็นถึงบทบาทความสำคัญของการปลูกพริกไทยพุ่มแซมยางอันจะสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเหมาะสมกับปัจจัยและทรัพยากรของเกษตรกรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมถึงเทคนิคการผลิตที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสมที่จะให้บุคคลที่สนใจได้เรียนรู้ จึงได้คัดเลือกให้คุณสมนึก ฉิมปลอด ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเครือข่าย ของอำเภอนาโยง ในกิจกรรมเด่นคือ การผลิตพริกไทยพุ่มแซมยาง เมื่อปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันได้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสมนึก ฉิมปลอด บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 6 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โทร. 098-015-1603 หรือติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โทร. 075-299-788