มะนาวแพง! อยากปลูกมะนาวไว้กินเอง ปลูกยังไง ใช้เวลากี่ปี

มะนาว เป็นพืชที่ปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่ถ้าต้องการให้เจริญเติบโตและคุณภาพดี ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุผสมอยู่มาก และควรเลือกพื้นที่ปลูกใกล้แหล่งน้ำ

การรู้จักสภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม กิ่งพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา จึงเป็นส่วนสำคัญในการปลูกมะนาวให้ได้ผลดี

การเตรียมกิ่งพันธุ์

กิ่งพันธุ์มะนาว

ส่วนใหญ่การปลูกมะนาว นิยมปลูกจากกิ่งตอน ดังนั้น กิ่งตอนก่อนที่จะนำมาปลูก ควรได้รับการชำเสียก่อน เพื่อให้กิ่งพันธุ์ตั้งตัวเจริญเติบโตแข็งแรงพร้อมที่จะนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้

กิ่งที่ได้จากการชำและพร้อมที่จะนำลงหลุม ควรนำมาตัดแต่งกิ่งออกเสียบ้าง ให้เหลือเพียงส่วนน้อย เพื่อลดการระเหยของน้ำ และจะทำให้การเจริญเติบโตดีขึ้น หากกิ่งพันธุ์ที่ได้มามีลักษณะไม่สมบูรณ์ ควรเลี้ยงไว้ระยะหนึ่งจนกว่าจะแข็งแรง ถ้ากิ่งพันธุ์มีโรคติดมา ควรตัดออกทิ้งไป เพื่อไม่ให้โรคระบาดเข้ามาในสวนได้ และควรเตรียมกิ่งพันธุ์สำรองไว้เผื่อต้นตาย จะได้ซ่อมทันที เพื่อให้ต้นมะนาวเติบโตทันกัน

อย่างไรก็ตาม การเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดี ควรเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เช่น ปลูกเพื่อการค้า ปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน เช่น พันธุ์แป้นพิจิตร 1 ทนต่อโรคแคงเกอร์ ส่วนพันธุ์ตาฮิติ ผลใหญ่ น้ำมาก และไม่มีเมล็ด เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากมีกิ่งพันธุ์แล้ว ควรเลือกกิ่งที่ปราศจากโรคแคงเกอร์ เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อโรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงต่อระบบการปลูกมะนาวมากที่สุด

การเตรียมพื้นที่ปลูก

ติดผลดก

การเลือกพื้นที่ปลูก มะนาวสามารถขึ้นได้ในพื้นที่เกือบทุกชนิด โดยจะปลูกในดินเหนียว ดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินลูกรัง ก็ขึ้นได้ทั้งนั้น ปลูกได้ตั้งแต่ที่ดอนจนถึงที่ลุ่ม แต่ที่สำคัญต้องระบายน้ำดี เนื่องจากมะนาวไม่ชอบน้ำขัง การที่จะปลูกมะนาวให้เจริญงอกงามดี และให้ผลผลิตดีนั้น การปลูกในพื้นที่ที่มีดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุมาก ความเป็น กรด-ด่าง ประมาณ 5.5-6.0

เมื่อเลือกพื้นที่ได้แล้ว จำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ให้โล่งเตียน เพื่อสะดวกในการเตรียมหลุมปลูก และการปรับสภาพโครงสร้าง และคุณสมบัติของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะนาว โดยทั่วไปพื้นที่ปลูกมะนาว มี 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ดอนและพื้นที่ลุ่ม ซึ่งการเตรียมพื้นที่จะต่างกัน

การปลูกแบบที่ดอน

พื้นที่ดอน ได้แก่ พื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชไร่ทั่วไป มีลักษณะเป็นเนินหรือที่ราบสูง ไม่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ ส่วนใหญ่มักเป็นดินร่วน ดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินลูกรัง ซึ่งมีการระบายน้ำดี หากมีน้ำเพียงพอ มักจะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นประปราย การเตรียมพื้นที่ปลูกจำเป็นต้องรื้อถอนออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะขอบแปลง เพื่อเป็นไม้กันลม ไถดินอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกไถดะให้ได้ดินก้อนโตและรอยไถที่ลึก ตากดินทิ้งไว้จนแห้ง จึงไถแปรย่อยดินให้ละเอียดยิ่งขึ้น

ในกรณีดินปลูกมีอินทรียวัตถุอยู่น้อย ควรปรับปรุงดินด้วยการทำปุ๋ยพืชสด โดยการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วผี ถั่วลาย ให้ทั่ว เมื่อดอกบานไถกลบ ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้ง จนเห็นว่าดินมีสภาพดีเพียงพอ นอกจากนี้ควรตรวจสภาพความเป็นกรดและด่างของดิน ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 5.6-6.0 ถ้าดินเป็นกรด ใส่ปูนขาวในอัตราที่เหมาะสมเพื่อปรับสภาพดิน

เตรียมวัสดุปลูกในวงบ่อซีเมนต์

ในที่ดินบางแห่ง อาจมีชั้นหินอยู่ตื้นๆ หรือบางแห่งอาจมีหินดินดานได้ เมื่อฝนตกน้ำจะซึมลงลึกไม่ได้ ซึ่งทำให้น้ำท่วมหน้าดินอย่างรวดเร็ว หรือไหลลงสู่ที่ต่ำหมด และเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำที่อยู่ในชั้นดินที่ลึกๆ จะซึมผ่านชั้นดินดานขึ้นมาชั้นบนได้ยาก ทำให้มะนาวเกิดการขาดน้ำได้อย่างรวดเร็ว และอาจทำให้ต้นมะนาวโค่นล้มได้ง่าย เพราะระบบรากตื้น สภาพดินดานมักเกิดจากการไถพรวนตื้นๆ เพื่อปลูกพืชไร่หรือพืชอายุสั้นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ทำให้ดินที่อยู่ใต้ระดับรอยไถจับตัวกันเป็นชั้นดินแห้งหรือชั้นดินดาน ดังนั้น ควรมีการไถพรวนระเบิดหน้าดินด้วยไถสิ่ว เพื่อให้ชั้นดินดานแตกตัวเสียก่อน จะทำให้น้ำไหลซึมลงไปเก็บกักไว้ในดินชั้นล่างได้ และเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำจะกลับซึมขึ้นมาสู่ผิวดินเป็นประโยชน์

การปลูกแบบที่ลุ่ม

พื้นที่มักจะเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูฝน ตามปกติจะมีระดับน้ำใต้ดินสูง ส่วนใหญ่มักเป็นที่นามาก่อน มักจะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ดินเหนียวจัดระบายน้ำยาก จึงต้องมีการยกระดับดินให้สูงกว่าพื้นที่ราบโดยทั่วไป โดยทำเป็นร่องปลูก จะทำให้รากต้นไม้ปลูกกระจายได้ลึก ระหว่างแปลงดินเป็นร่องน้ำ สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้และขณะเดียวกันเป็นช่องทางระบายน้ำ โดยมีคันดินรอบแปลงปลูกทั้งหมด เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมและรักษาระดับน้ำตามต้องการได้

การยกร่องเพื่อปลูกมะนาว

  1. การไถปรับพื้นที่ นิยมทำกันในหน้าแล้ง ส่วนใหญ่ใช้รถแทรกเตอร์ ขนาด 3-5 ผาล ไถปรับพื้นที่ให้เรียบ ทำคันโอบล้อมพื้นที่ทั้งหมด อาจใช้รถตักดินขนาดใหญ่หรือจ้างคนแทงดินขึ้นเป็นคันโอบ ความกว้างของคันโอบหรือคันล้อม ประมาณ 6-8 เมตร ซึ่งสามารถนำรถยนต์เข้าไปบรรทุกผลผลิตได้
  2. การไถแหวก นิยมใช้รถแทรกเตอร์ไถ เป็นแนวทางตามเชือกที่ขึงไว้หรือแนวโรยปูนขาว จากนั้นจึงขุดแทงร่องตามแนวที่ไถไว้
  3. การแทงร่องหรือซอยร่อง นิยมใช้แรงงานคนมากกว่ารถตักดิน เพราะร่องที่ได้จะมีดินที่ฟูไม่ทึบแน่น ขนาดของแปลงดินหลังร่องนิยมทำกว้าง ประมาณ 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร และก้นร่องน้ำกว้างประมาณ 0.5-0.7 เมตร แล้วตากดินให้แห้ง 1-2 เดือน จนเม็ดดินแห้ง (เรียกกว่าดินสุก) จึงทำประตูระบายน้ำเข้าออก นิยมทำด้วยท่อคอนกรีต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว (30.5 เซนติเมตร) ซึ่งยังขึ้นกับขนาดสวน แล้วจึงระบายน้ำเข้าท่วมแปลงให้ระดับน้ำสูงกว่าแปลงดิน ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ดินยึดตัวดีขึ้น และเป็นการฆ่าเชื้อโรคและแมลงที่อยู่ในดินด้วย จากนั้นระบายน้ำออกจนดินเริ่มแห้ง (หมาด) ถ้าดินเป็นกรดให้โรยใส่ปูนขาวตามอัตราที่กำหนดตามความเป็นกรดด่างของดิน ปกติให้ใส่ปูนขาวก่อนปลูกต้นไม้ ประมาณ 1 เดือน แล้วจึงวัดระยะหลุมปลูก

วิธีปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสม สะดวกต่อการปฏิบัติจัดการสวน คือ ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว เท่ากับ 5×5 หรือ 6×6 เมตร

ปลูกยกร่องแบบลูกฟูก

การเตรียมหลุมปลูกต้นมะนาว ควรขุดหลุมให้มีขนาด กว้าง ยาว และลึก ประมาณ 80 เซนติเมตร หาเศษใบไม้ใบหญ้าหรือเศษฟางเก่าๆ ผุเปื่อยใส่รองก้นหลุม อัดให้แน่นหนาประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อให้ช่วยซับน้ำที่รดลงไปเก็บไว้ ให้มีความชุ่มชื้นแก่รากมะนาว ชั้นถัดขึ้นมาใส่ปุ๋ยคอก หนาประมาณ 15 เซนติเมตร อาจใส่ปุ๋ย 20-10-20 ประมาณ 2 ช้อนแกง ผสมลงไปด้วย เพื่อเป็นแหล่งธาตุอาหารแก่ราก กิ่งต้นพันธุ์ที่ใช้ควรผ่านการนำไปชำในกระบะเพาะชำ หรือลงถุงชำ ระยะหนึ่ง ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังตัดกิ่งตอนที่ออกรากดี จะช่วยลดอัตราการตายหลังปลูกลงได้มากกว่าการตัดกิ่งตอนมาปลูก ก่อนที่จะวางกิ่งพันธุ์ลงในหลุม ต้องกรีดถุงพลาสติกออก แล้วจึงวางกิ่งให้อยู่ตรงกลางหลุม

การปลูก ควรจัดรากให้แผ่ออกไปโดยรอบในลักษณะไม่หักพับ เมื่อวางกิ่งต้นลงหลุมแล้ว ค่อยๆ โรยดินกลบไปจนมิด ควรกลบให้ดินพูนสูงขึ้น เพื่อป้องกันการแช่ขังของน้ำในปากหลุม และกดดินรอบต้นให้แน่นพอสมควร แล้วรดน้ำ เพื่อให้เม็ดดินกระชับราก ควรปักไม้หลักผูกยึดลำต้น เพื่อป้องกันการโยกคลอน

ควรปลูกตอนต้นฤดูฝน ฉะนั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนผู้ปลูกจะต้องปรับพื้นที่ให้เรียบ หรือทำเป็นคันร่องนูนแบบหลังเต่าเพื่อไม่ให้น้ำขังในช่วงฝนตกชุกและช่วยระบายน้ำออกได้โดยเร็ว

ระยะปลูก ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ควรใช้ระยะ 6×6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 44 ต้น หากดินไม่อุดมสมบูรณ์ ควรพูนดินให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำขังในช่วงฝนตกชุก และช่วยระบายน้ำออกได้โดยเร็ว

แต่ปัจจุบันมีวิธีการปลูกที่แตกต่างไปตามสภาพของพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มะนาวเกิดโรคได้ง่าย เช่น การขึ้นลูกฟูกสูง การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ เป็นต้น

การดูแลรักษา

การให้น้ำ ช่วงปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำวันละครั้ง (กรณีฝนไม่ตก) หลังจากต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้ว การให้น้ำสามารถเว้นระยะนานขึ้น หลังจากมะนาวออกดอกและกำลังติดผลอ่อน เป็นช่วงที่มะนาวต้องการน้ำมาก

การให้ปุ๋ย ต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว แบ่งการใส่ปุ๋ย ดังนี้

  1. บำรุงต้น ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
  2. สร้างตาดอก ใช้ปุ๋ย สูตร 12-24-12 หรือ 9-24-24
  3. บำรุงผล ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
  4. ปรับปรุงคุณภาพ ใช้ปุ๋ย สูตร 13-13-21

ส่วนปริมาณการใส่ปุ๋ย ประมาณ 1 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง

การพรวนดินดายหญ้า ในฤดูฝนวัชพืชมักจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ถากถางออกเสียบ้างเป็นครั้งคราวก็จะไปแย่งอาหารต้นมะนาวได้ ฉะนั้น ควรดายหญ้าสัก 1-2 ครั้ง ในฤดูฝนก่อนใส่ปุ๋ยตอนปลายฤดูฝน จำเป็นอย่างยิ่งต้องพรวนดินดายหญ้า สุ่มโคนต้นเพื่อช่วยเก็บความชุ่มชื้นในดินไว้ เพราะไม่มีฝนตกมากนักในฤดูหนาวและฤดูร้อน

การปลิดดอก ในระยะ 1-2 ปี นับจากวันปลูก ถ้าหากต้นมะนาวออกดอกในช่วงนี้ควรจะปลิดทิ้ง เพราะต้นมะนาวยังเล็กไม่มีกำลังพอที่จะเลี้ยงทั้งต้นและลูก ถ้าหากปล่อยให้ติดลูกต้นมะนาวอาจจะแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร หรือจะโทรมตายเร็วกว่าเท่าที่ควร ดังนั้น ควรจะให้ต้นมะนาวติดผลได้เมื่ออายุ 3 ปี

การตัดแต่งกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกให้หมด ในช่วงอายุ 4 ปี ควรตัดแต่งกิ่งออก 1 ส่วน 3 ของทรงพุ่ม เมื่อต้นมะนาวอายุ 6 ปี ควรตัดแต่งกิ่งออก 1 ส่วน 2 ของทรงพุ่ม

การกำจัดวัชพืช สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ถอน ถาง หรือใช้เครื่องตัดหญ้าแต่ต้องระวังอย่าให้เกิดบาดแผลตามโคนต้น หรือกระทบกระเทือนราก วิธีกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่งที่นิยมคือ การใช้สารเคมี เช่น พาราชวิท ไกลโฟเสท ดาวพอน เป็นต้น โดยการใช้จะต้องระวัง อย่าให้สารพวกนี้ปลิวไปถูกใบมะนาว เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ทำให้ใบไหม้เหลืองเป็นจุดๆ หรือไหม้ทั้งใบ ดังนั้น จึงควรฉีดพ่นตอนลมสงบ

 ม.ค.-ก.พ.    มี.ค.-เม.ย.  พ.ค.-ก.ค. ส.ค.-ก.ย. พ.ย.-ธ.ค.
– ออกใบอ่อน– ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง – ออกช่อดอก– ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง – ผลเจริญเติบโต– ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 – เลือกเก็บผลที่โตเต็มที่ไปจำหน่าย – ตัดแต่งกิ่ง
– ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง – ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15
– เลือกเก็บผลที่โตเต็มที่ไปจำหน่าย