ข้าว พืชเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น ผลิตข้าวได้ต่อไร่สูงที่สุดในโลก

ชาวนาญี่ปุ่นจะทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันอยู่เสมอ โดยมีสหกรณ์เป็นพี่เลี้ยง

ในอดีต คนญี่ปุ่นทางตอนเหนือของประเทศ เคยอดข้าวตายมาแล้ว เนื่องจากอากาศหนาวจัดทำนาไม่ได้ผล ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ญี่ปุ่นภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ลงมือปฏิรูปด้านการเกษตรเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะการผลิตข้าวเพื่อให้เพียงพอบริโภคภายในประเทศ ด้วยให้นโยบายว่า “ข้าวเป็นพืชเพื่อความมั่นคงของชาติ” เน้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับการปฏิรูปที่ดิน

การเพาะกล้า ชาวนาบางรายหลังจากเมล็ดงอกแล้ว นำถาดเพาะกล้าเข้าอบในอุโมงค์พลาสติก
การเพาะกล้า ชาวนาบางรายหลังจากเมล็ดงอกแล้ว นำถาดเพาะกล้าเข้าอบในอุโมงค์พลาสติก

มีการจัดรูปที่ดินอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบให้มีขนาดมาตรฐาน ขนาด 10×100 เมตร หรือเท่ากับ 0.1 เฮกแตร์ มีหน่วยเรียกว่า 10a ออกเสียงว่า จูอาร์ และจัดสรรที่ให้ครอบครัวละ 1 เฮกแตร์ หรือเท่ากับ 6.25 ไร่ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีอากาศหนาวเย็น ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ญี่ปุ่นจึงมีอากาศอบอุ่นเพียง 6 เดือน เท่านั้น เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส พอย่างเข้าเดือนเมษายนอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้น

ชาวนาญี่ปุ่นเริ่มเพาะกล้าในถาดพลาสติก ก้นฉลุเป็นตาข่าย ขนาด 30×60 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร ใช้ดินร่วนสะอาดเป็นวัสดุเพาะ ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 270 กรัม ต่อถาด รดน้ำด้วยฝักบัวพอชุ่ม แล้วนำเข้าตู้อบ วางซ้อนกันชั้นๆ รูปทรงคล้ายตู้เก็บเสื้อผ้าทำจากพลาสติกที่เคยนิยมกัน รักษาอุณหภูมิในตู้อบ ที่ 32-35 องศาเซลเซียส ด้านล่างสุดมีถาดหล่อน้ำไว้ตลอดเวลา อบไว้เป็นเวลา 25 วัน ต้นกล้าจะมี 3 ใบ แข็งแรงพร้อมนำไปปักดำได้ เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว จึงยกต้นกล้าขึ้นจากถาดเหมือนเสื่อสีเขียวผืนเล็กๆ ใส่ลงในเครื่องปักดำชนิดเดินตามจนแล้วเสร็จ วันไหนฝนตก หรืออากาศแปรปรวน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะนำเครื่องบินขนาดเล็กออกประกาศ พร้อมโปรยแผ่นปลิวให้ชาวนาฉีดสารเคมีควบคุมโรคอย่างถูกต้องตามที่ทางการแนะนำ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

สภาพแปลงนา ขณะที่ชาวนากำลังปักดำข้าว
สภาพแปลงนา ขณะที่ชาวนากำลังปักดำข้าว

ชาวนาญี่ปุ่นจะระบายน้ำออกและสูบน้ำเข้าแปลงนาสลับกัน 4-5 ครั้ง ไปจนถึงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวในนา การระบายน้ำออกแต่ละครั้งเกษตรกรทิ้งระยะไว้จนดินแตกระแหง หรือประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นพิษกับรากต้นข้าว ก๊าซดังกล่าวเกิดขึ้นจากขบวนการย่อยสลายของเศษฟางข้าวและหญ้าที่ไถกลบลงดินก่อนการปักดำ ในขณะเดียวกัน ชาวนาจะหว่านปุ๋ยให้ตกลงตามรอยแยกของดินเข้าใกล้รากข้าวมากที่สุด แล้วสูบน้ำเข้าแปลงนา ดินจะปิดทับเก็บปุ๋ยไว้ในดิน ละลายออกมาให้รากข้าวนำไปใช้ได้อย่างช้าๆ วิธีการดังกล่าวสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ 7-10 เปอร์เซ็นต์ ย่างเข้าเดือนตุลาคม เป็นฤดูกาลของการเก็บเกี่ยว

เกษตรกรจะใช้รถเกี่ยวนวดขนาดเล็ก พร้อมบรรจุกระสอบพลาสติก อาจซื้อเป็นของส่วนตัว หรือเช่าจากสหกรณ์ก็ได้ จากนั้นนำเข้าเครื่องอบไอร้อนไล่ความชื้นก่อนบรรจุกระสอบ ส่งขายให้สหกรณ์ต่อไป โดยสหกรณ์เป็นตัวแทนรัฐบาลรับซื้อในราคาที่แพง และรับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมด หรือทุกเมล็ด แต่เมื่อนำไปแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาที่ต่ำกว่าที่รัฐบาลรับซื้อ

 

จะเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเขาโอบอุ้มชาวนาอย่างจริงจังแล้ว ยังเอาใจประชาชนของตนไปในโอกาสเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นนี่น่ารักจัง