สาวสระแก้ว ทำเกษตรแบบคนรุ่นใหม่ ไม่เจ็บ ไม่จน ด้วยเทคนิคการตลาด 30 : 30 : 30 : 10

คุณรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ หรือ พี่ป๋อมแป๋ม เจ้าของไร่ดีต่อใจ เลขที่ 264 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พ่วงด้วยตำแหน่งประธานยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดสระแก้ว อดีตผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนหลักแสน กลับมาพัฒนาบ้านเกิดที่จังหวัดสระแก้ว ด้วยการพัฒนาพื้นที่ทำกินของพ่อแม่จากเมื่อก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยว ด้วยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จนสามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรถึงหลักล้านบาทต่อปี รวมถึงเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนให้เดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง

พี่ป๋อมแป๋ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ตนเองเริ่มเข้ามาอยู่ในวงการเกษตรตั้งแต่ปี 2557 จากเมื่อก่อนทำงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มานานกว่า 10 ปี จนถึงจุดอิ่มตัวเบื่อชีวิตเมืองกรุงอยากกลับมาหางานทำที่บ้าน แต่ด้วยที่บ้านไม่มีธุรกิจอย่างอื่นให้ทำนอกจากการเป็นเกษตรกร มาสานต่อสวนไม้ผลของพ่อกับแม่ที่ปลูกพืชหลักอย่างกระท้อนและมะยงชิดไว้ แต่ถึงแม้ว่าตนเองจะเป็นลูกหลานเกษตรกร มีดีเอ็นเอเป็นเกษตรกรอยู่เต็มสายเลือด แต่ก็ไม่เคยได้ลงมือทำงานด้านการเกษตรแบบจริงจังสักครั้ง เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ตอนเด็กด้วยประโยคที่ว่า “เรียนให้เก่งๆ นะลูก โตขึ้นมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ต้องมาลำบาก ตากแดด ตากลม เหมือนพ่อกับแม่” และตนเองก็เชื่อแบบนั้นมาตลอด จึงตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว จนเรียนจบได้ทำงานในที่ดีๆ ได้เงินเดือนสูงอย่างที่หลายคนหวังไว้ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อไปถึงจุดแล้วอิ่มกับงานประจำ เบื่อกับการแข่งขันที่สูงขึ้นๆ ทุกวัน ก็มาถึงวันที่ต้องกลับมาสู่จุดที่ทำแล้วสบายใจคืองานสายเกษตร โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า การเกษตรในยุคที่ตนเองทำจะต้องไม่เป็นแบบเดิม คือไม่เจ็บ ไม่จน ทุกคนในบ้านจะต้องสบาย ด้วยการทำเกษตรสมัยใหม่ใช้เทคนิคการตลาดนำการผลิต

นาข้าวอินทรีย์

 

 

 

 

 

เริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกร สาย (อบ) รม
สู่เกษตรกรมืออาชีพ และขับเคลื่อนชุมชน

พี่ป๋อมแป๋ม บอกว่า ถึงแม้พ่อกับแม่ของตนเองจะเป็นเกษตรกรมาก่อน แต่ตนเองไม่ค่อยได้ช่วยหยิบจับอะไรช่วยพ่อกับแม่มากนัก พอมาถึงคราวที่ต้องลงมือทำเองหนทางก็มืดแปดด้านไปหมด จึงต้องมาตั้งหลักใหม่ด้วยการเดินเข้าหาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพราะมีความคิดที่ว่าถ้าเริ่มต้นถูก ก็ไม่ต้องมาแก้ทีหลัง ก็ใช้เวลาอบรมหาความรู้นานเกือบ 2 ปี กว่าจะได้ลงมือทำแบบจริงจัง

คุณรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ หรือ พี่ป๋อมแป๋ม เจ้าของไร่ดีต่อใจ

“ช่วงแรกที่พี่เข้าสู่วงการทำเกษตรใหม่ๆ พี่เริ่มต้นจากเป็นเกษตรกรสายอบรม ก็คือมีให้อบรมที่ไหนพี่ไปมาหมดทุกที่ อบรมครบทุกศาสตร์ ทั้งด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักออร์แกนิก อบรมเรื่องดิน ด้านประมง ปศุสัตว์ พี่ไปมาหมด ตอนนั้นเหมือนมีอาชีพหลักคือการอบรม แล้วอาชีพรองคือการเป็นเกษตรกร อบรมไปอบรมมาจนสุดท้ายได้เข้าไปร่วมโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เมื่อกลางปี 2559 ก็เหมือนถูกจริตกับตัวเอง ได้เจอกับคนรุ่นเดียวกัน คุยแล้วเข้าใจกันง่าย และด้วยทักษะของแต่ละคนเมื่อมาผสานกันงานก็ไปได้ไกล พี่ก็เลยจับเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เคยได้ไปอบรมมาใช้ในพื้นที่โดยมองบริบทเดิมว่าที่สวนปลูกอะไรอยู่ก่อนแล้ว ก็คือกระท้อนกับมะยงชิด แล้วยังมีสวนยางพาราอีกประมาณ 20 ไร่ ที่พ่อปลูกแล้วปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม พี่ก็ไปรื้อแล้วก็ขุดคลองก่อนเลยอันดับแรก และที่สวนเราโชคดีตรงที่มีน้ำจากคลองพระปรง ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี เราก็จะสูบน้ำจากคลองพระปรงมาพักไว้ในบ่อ แล้วเริ่มแบ่งโซนปลูกทั้งผักผลไม้และทำปศุสัตว์ และใช้ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์มาทำการตลาด”

จัดสรรพื้นที่ปลูกไม้ผล-สมุนไพร-เลี้ยงสัตว์
สร้างประโยชน์เอื้อกันเป็นห่วงโซ่

ไร่ดีต่อใจ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

พี่ป๋อมแป๋ม บอกว่า หลังจากที่เริ่มจับทางถูกว่าจะทำเกษตรไปในแนวทางไหน ก็เริ่มมีการจัดสรรพื้นที่ปลูกให้เป็นสัดส่วนบนพื้นที่มีอยู่จำนวน 45 ไร่ แบ่งปลูกพืชเป็นโซนดังนี้

กระท้อนอีล่า พรีเมี่ยม

โซนที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผล คือ 1. กระท้อน ปลูกทั้งสายพันธุ์อีล่า ปุยฝ้าย และทับทิม ที่เป็นกระท้อนพันธุ์ดั้งเดิมที่นิยมปลูกกันมายาวนาน 2. มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า 3. มะม่วงแก้วขมิ้นที่มีตลาดโรงงานรองรับอยู่แล้ว และ 4. พืชสมุนไพร ปลูกไว้ใต้ต้นไม้ผล เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง กระชาย

โรงอบสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์

โซนที่ 2 เป็นพื้นที่ทำปศุสัตว์ เลี้ยงโคขุน หมูป่า และไก่พื้นเมือง

โซนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับทำที่อยู่อาศัย

โซนที่ 4 เป็นพื้นที่ทำนา ปลูกข้าวไว้กินเอง ให้มีกินตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องซื้อ รวมถึงพื้นที่ทำแปลงนาสาธิต

โซนที่ 5 ขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรให้มีพอใช้ตลอดทั้งปี

โซนที่ 6 พื้นที่ทำโรงงานแปรรูปขนาดเล็ก รวมถึงโรงเรือนตากพลังงานแสงอาทิตย์ และสถานที่ฝึกอบรมอาชีพ

มะยงชิดทูลเกล้า ปลูกแซมในสวนกระท้อน
เตรียมส่งลูกค้า 

การเอื้อประโยชน์กันภายในสวน มีอะไรบ้าง

  1. การเกื้อกูลกันโดยธรรมชาติ วัชพืชที่ขึ้นอยู่ในสวนก็คืออาหารของวัว โดยการปล่อยให้วัวเข้ามากินหญ้าได้โดยการควบคุมพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ตัวเจ้าของสวนเองก็ไม่ต้องเสียเวลากำจัดวัชพืช เพราะว่าสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ ส่วนเศษผลไม้ที่อยู่ในแปลงก็นำเอาไปสับให้เป็นอาหารของวัว อาหารหมูป่าได้ด้วย ส่วนฟางข้าว ที่สวนปลูกข้าวอินทรีย์ เพราะฉะนั้นฟางข้าวก็เป็นฟางข้าวอินทรีย์ ก็สามารถเก็บฟางไว้ให้วัวกินช่วงหน้าแล้งที่หญ้าขาดแคลน
  2. มูลสัตว์ที่ได้มาจากการเลี้ยงวัว หมูป่า และไก่พื้นเมือง นำส่วนนี้ไปใส่เป็นปุ๋ยให้กับไม้ผล ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไปได้เยอะ ส่วนจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงก็จะใช้สมุนไพรและผลไม้ที่เน่าเสียมาหมักฉีดไล่แมลง
  3. ปลูกพืชสมุนไพรไว้บริเวณใต้ต้นไม้ผล ข้อดีคือส่งผลไปถึงการป้องกันกำจัดแมลง สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าแมลงจะมารบกวนพืชผักผลไม้ที่ปลูกน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การตลาดทฤษฎีใหม่ 30 : 30 : 30 : 10
ขายได้ ขายดี ไม่มีจน

มะม่วงแก้วขมิ้น
กระท้อนอีล่า ลูกดก ผลใหญ่ รสชาติหวานจัดปนเปรี้ยวนิดๆ

เจ้าของบอกว่า เนื่องจากอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง จากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน มีการผันผวนไปเรื่อยตามฤดูกาล รวมถึงปัจจัยภายนอก คือพ่อค้าคนกลางที่เข้ามากดราคาซ้ำเติมเกษตรกรไปอีก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่หันมาเหลียวมองมาที่อาชีพเกษตร เพราะทำแล้วได้ผลตอบแทนน้อย แต่เหนื่อยมาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ที่ไร่ดีต่อใจตอนนี้ได้ลบคำสบประมาทของใครหลายคนไปแล้ว จากที่ไร่สามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรได้ถึงหลักล้านบาทต่อปี ด้วยการทำเกษตรแบบครบวงจร

กระท้อนอีล่า ลูกดก ผลใหญ่ รสชาติหวานจัดปนเปรี้ยวนิดๆ

“เมื่อก่อนพ่อกับแม่ของพี่ปลูกกระท้อนเป็นหลัก มีมะยงชิดแซมอยู่เล็กน้อย ก็จะมีรายได้แค่ช่วงไม่กี่เดือน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรทำ ไม่มีรายได้เข้ามา และยิ่งถ้าช่วงไหนเกิดเจอวิกฤตราคากระท้อนที่เป็นพืชหลักตกต่ำก็แย่ พี่จึงเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิม ด้วยการปลูกพืชให้หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง หากผลไม้ชนิดใดตกก็ยังมีตัวอื่นมาช่วยพยุง รวมถึงการต่อยอดทำท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีโฮมสเตย์ให้พักแบบครบวงจร ก็ถือว่ามีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดมือเลย”

โดยแนวคิดที่กล่าวมานี้เกิดจากการนำแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้กับการทำตลาด มีการแบ่งสัดส่วนการตลาดออกเป็น 30 : 30 : 30 : 10 คือ 30 แรกคือการขายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางที่มาซื้อหน้าสวน ตรงนี้จะทิ้งเขาไม่ได้เพราะว่าบางทีการที่เจ้าของสวนไปเทขายไว้ตลาดที่เดียวหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะไปขายให้ใคร 30 ถัดมาคือการแบ่งขายให้กับห้างโมเดิร์นเทรด เช่น แม็คโคร โลตัส และอีก 30 คือการขายส่งเข้าโรงงานแปรรูป ส่วน 10 สุดท้าย คือทำตลาดขายปลีกเอง

สมุนไพรฟ้าทะลายโจร พืชทำรายได้แห่งปี 2564

 

นำประสบการณ์จากงานเก่า
มาประยุกต์ใช้กับงานเกษตรยังไงบ้าง

สำหรับการนำประสบการณ์จากงานเก่าที่ทำเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์มาประยุกต์ใช้กับงานเกษตรยังไงได้บ้าง พี่ป๋อมแป๋ม บอกว่า นำมาใช้ได้เยอะมาก 1. คือเรื่องของคอนเน็กชั่น “คนเก่งไม่กลัว กลัวคนมีคอนเน็กชั่น” เพราะงานที่ตนเองเคยทำมาช่วยต่อยอดให้งานการเกษตรไปได้เร็วมาก อย่างน้อยมีฐานลูกค้าที่เคยติดต่อไว้ ซึ่งประโยชน์ส่วนนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับสวนเราสวนเดียว แต่กระจายไปถึงวิสาหกิจชุมชน เครือข่าย และกลุ่มเพื่อนๆ ที่ดึงมา เนื่องจากผลผลิตของสวนเจ้าเดียวมีไม่เพียงพอ

  1. คือการนำกลยุทธ์การขายมาใช้กับงานเกษตร คือต้องมีการรีเสิร์ชข้อมูลคู่แข่งก่อน แล้วนำเอาข้อมูลที่ได้มาประมวลผลทำออกมาเป็นโปรเจ็กต์ในการนำเสนอขาย มีโมเดลเหมือนกับการขายอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นทำการประชาสัมพันธ์การตลาด แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้จัก เพราะเราไม่มีต้นทุนการตลาดแบบสินค้าแบรนด์ใหญ่ และทุนก็ไม่หนาเท่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้คนรู้จักสินค้าของเราเร็วที่สุดคือ การสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก สร้างตนเองขึ้นมาให้เป็นไอดอล จึงใช้ตัวเองประชาสัมพันธ์ ด้วยการเข้าประกวด นำสินค้าและผลผลิตที่มีเข้าประกวด รวมถึงการออกบู๊ธโชว์สินค้าขายสินค้า มีตรงไหนเราไปหมด ด้วยเหตุนี้ที่ไร่ดีต่อใจถึงเติบโตเร็ว
ผลิตภัณฑ์ขิงตากแห้งและกระชายตากแห้ง

เกษตรผสมผสาน
รายได้ไม่ธรรมดา

การสร้างรายได้ของไร่ดีต่อใจ พี่ป๋อมแป๋มอธิบายให้ฟัง เริ่มต้นจาก

  1. มะยงชิด ปลูกแซมไว้ในสวนกระท้อน จำนวน 50-60 ต้น เก็บขายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
  2. มะม่วงแก้วขมิ้น จำนวน 400 กว่าต้น จะออกให้เก็บผลผลิตปีละ 3 ครั้ง เก็บครั้งที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม เก็บครั้งที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม เก็บครั้งที่ 3 ช่วงเดือนเมษายน ขายทั้งผลสดและส่งโรงงานแปรรูป
  3. กระท้อน จำนวน 25 ไร่ ผลผลิตออกช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ขายคละไซซ์ราคาเริ่มต้นที่ 35-60 บาท ต่อกิโลกรัม จากนั้นเข้าสู่ฤดูทำนา
  4. พืชสมุนไพร สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลทำให้รายได้จากการขายสมุนไพรทะลุทะลวง สร้างรายได้ให้กับคนทั้งชุมชนยิ้มได้
  5. ปศุสัตว์ เลี้ยงใช้มูลสัตว์มาทำเป็นปุ๋ย และในอนาคตวางแผนเลี้ยงวัวเพิ่มอีก 70 ตัว เพื่อผลิตมูลให้เพียงพอกับการใช้ในสวนเกษตรอินทรีย์

 

แนะทำเกษตรยังไงให้รอด

“เทคนิคแรกเลยคือต้องใช้การตลาดนำการผลิต ไม่ใช่ว่าปลูกตามกระแส กว่าพี่จะจับจุดได้มาถึงวันนี้ก็ยากเหมือนกัน อย่างเช่นกระท้อนเมื่อก่อนขายราคาไม่ได้ขนาดนี้ คือพ่อค้าเขามาซื้อเท่าไหร่เราไม่มีสิทธิ์โต้แย้งเลย แต่พอเราเริ่มมาจับกระบวนการถูก เราเริ่มรวมกลุ่มกัน เริ่มถือไพ่เหนือกว่าเริ่มมีทางเลือก ไม่ได้มีแค่เจ้าเดียว แต่เราไปขายให้แม็คโครได้ ขายให้ตลาดไทได้ เริ่มแบ่งขายให้เขาน้อยลง เราก็เริ่มบอกราคาได้เองละว่าจะขายราคาเท่าไหร่ ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่เคยได้ว่าราคาได้เองเลย เขาจะซื้อเท่าไหร่เราต้องขายเท่านั้น เรื่องการตลาดจึงสำคัญมาเป็นอันดับแรก

ภูมิใจกับผลผลิตที่ปลูก

ต่อมาคือดูว่าต้นทุนเรามีอะไร เราทำอันนั้นให้ดี อย่างเช่นของพี่ ทุนเดิมคือเกษตร มีกระท้อนกับมะยงชิด พี่ก็เอาสิ่งที่เป็นแนวเดียวกันมาเพิ่มอีก แล้วก็ไปเน้นหนักให้ไม้ผล ส่วนอย่างอื่นเป็นรายได้แบบผลพวงตามมา และก็ต้องจับกลุ่มเกษตรกรให้ได้เปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นพันธมิตรแล้วขายร่วมกัน อันนี้คืออยากจะบอกเกษตรกรว่าอย่าไปมองสวนข้างเคียงคือคู่แข่ง อย่างของพี่มีสมาชิกอยู่ 30 กว่ารายที่เขาปลูกกระท้อน ตอนแรกอาจจะยากนิดหนึ่งกว่าจะมาเป็นก๊วนเดียวกันได้ แต่ถ้าพอสำเร็จแล้วมันตกไปถึงลูกถึงหลานว่าต่อไปพวกเขาไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องมาแข่งขันกัน มาคุยกันว่าเราขายราคากลางไหม ไม่ว่าสวนนอกสวนในขายเท่านี้ แล้วเรามีตลาดเราก็เอามาเผื่อแผ่เขา เราอยู่ได้เขาอยู่ได้พึ่งพากันไป แบบนี้ถึงจะเป็นเกษตรที่ยั่งยืน และอยู่รอด” พี่ป๋อมแป๋ม กล่าวทิ้งท้าย

ผลิตภัณฑ์ข้าวจากไร่ดีต่อใจ
บาล์มกระท้อน
มะยงชิดทูลเกล้า ปลูกแซมในสวนกระท้อน
แปลงนาสาธิต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 094-464-1444 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : ไร่ดีต่อใจ