“บ้านอุ่มแสง” แปรรูป-เพิ่มมูลค่า ข้าวอินทรีย์ ตอบโจทย์ตลาดในอนาคต

“อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ” เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูก “ข้าวหอมมะลิ 105” ข้าวหอมพันธุ์ดี รสชาติอร่อยที่สุดของโลก ในอดีต ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ นิยมปลูกข้าวนาหว่าน โดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในแปลงนาเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการ ทำให้ความหอมของข้าวหอมมะลิลดลง แถมมีต้นทุนการผลิตสูง เมื่อเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก มีภาระหนี้สินรุงรัง แทบไม่เหลือเงินทุนสำหรับใช้ลงทุนทำนาในฤดูถัดไป

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนอุ่มแสง

เพื่อหลีกหนีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่มีแต่หนี้กับหนี้ เมื่อปี 2547 กลุ่มชาวนาในชุมชนบ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล ภายใต้การนำของ คุณบุญมี สุระโคตร โทร. (063) 750-5553 ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนอุ่มแสง (กลุ่มเกษตรทิพย์)” เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน มุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต โดยนำเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลผลิตเพื่อผลิตมูลค่า

คุณบุญมี สุระโคตร โชว์ผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปจากข้าว

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ เป็นกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ครบวงจรขนาดใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาสูง มีรายได้ที่มั่นคงขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง สินค้าข้าวอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้มีคุณภาพดี เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจที่จะสานต่ออาชีพทำนาจากพ่อแม่

 

ด้านการผลิต

ทางกลุ่มได้ส่งเสริมให้ชาวนาที่เป็นสมาชิกผลิตข้าวตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยดำเนินกิจการมาแล้ว 8 ปี ปัจจุบันกลุ่มได้ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกผลิตข้าวอินทรีย์ในรูปแบบนาแปลงใหญ่ มีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 1,021 ราย พื้นที่ 14,720 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 14,085 ไร่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 539 ไร่ ข้าวมะลินิล 63 ไร่ และข้าวมะลิแดงสุรินทร์ 37 ไร่ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ได้แก่ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไทย (Organic Thailand) International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM, การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา (USDA) FLO ID 27806 ของ FAIRETRADE มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU-NOP) มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และการรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

แปลงเพาะพันธุ์ข้าว

สำหรับการทำเกษตรแปลงใหญ่ของกลุ่มแห่งนี้ มุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการรวมกันหาพันธุ์ข้าว ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นไปตามมาตรฐานความต้องการของตลาดแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกร ในชื่อโครงการ “ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า เกษตรทิพย์” แนวคิดนี้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้แล้วยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี

 

ตลาดข้าวอินทรีย์

สินค้าข้าวอินทรีย์ ของกลุ่มแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า “ข้าวอินทรีย์ ลุงบุญมี สุระโคตร” โดยขายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์ และงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น งานโอท็อป และงาน Thaifex เป็นต้น การพัฒนาการผลิตและการตลาดอย่างไม่หยุดนิ่งของกลุ่ม ช่วยสร้างความเข้มแข็งในชุมชนชาวนาแล้ว สมาชิกยังได้รับผลตอบแทนสูงและมีรายได้มากขึ้น ทำให้มีความยั่งยืนในอาชีพการทำนาไปพร้อมๆ กัน

“ข้าวสาร” เป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักของกลุ่ม โดยผลผลิตร้อยละ 80 มุ่งผลิตป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 20 จำหน่ายภายในประเทศ ปัจจุบัน กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และเอเชียสนใจบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะปลอดภัยจากปัญหาสารเคมีตกค้าง ทำให้ยอดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น กลุ่มข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ฯลฯ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

“สินค้าแปรรูปจากข้าว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าว เรียกว่า ขายดีมากจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของผู้ซื้อจากทั่วประเทศ เนื่องจากทางกลุ่มผลิตข้าวกล้องเป็นหลัก ผลิตข้าวขาวที่ผ่านการขัดสีเพียงแค่ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขยายกำลังการผลิตน้ำมันรำข้าว สำหรับสินค้าใหม่คือ ผลิตภัณฑ์สปา อยู่ระหว่างการพัฒนาตัว สินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐาน อย. รวมทั้งศึกษาแนวทางเจาะตลาดใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าตลาดสปา ในอนาคต” คุณบุญมี กล่าว

 

แปรรูปเพิ่มมูลค่า ข้าวอินทรีย์

คุณบุญมี กล่าวว่า ถึงแม้ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มจะขายดี เป็นที่ต้องการสูงในตลาดโลก แต่การขายข้าวสารยังให้มูลค่าผลตอบแทนน้อย เมื่อเทียบกับสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ดังนั้น ในปี 2557-2558 ทางกลุ่มจึงหันมาศึกษาวิจัยเรื่องการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวและพัฒนาช่องทางตลาดไปพร้อมๆ กัน

เส้นพาสต้า และเส้นหมี่ ที่แปรรูปจากข้าวกล้องอินทรีย์

ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการเรื่องการแปรรูปข้าวจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ จนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวได้หลายสิบรายการ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวอินทรีย์แปรรูป แป้งจากจมูกข้าวกล้องงอก จมูกข้าวกล้องงอกพร้อมดื่ม ไอศกรีมข้าวกล้องงอก ขนมที่ทำจากข้าวกล้องงอก เป็นต้น

ส่วนรำข้าวที่เหลือจากกระบวนการขัดสีข้าว ก็นำมาผ่านกระบวนการหีบเย็น จนได้น้ำมันรำข้าวส่งขายตลาดต่างประเทศ ส่วนข้าวหัก ถูกนำแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น ผงสครับขัดผิว สบู่ข้าว ลิปบาล์ม รวมทั้งผลิตภัณฑ์แป้งข้าวเจ้าอินทรีย์ ประเภท แป้งข้าวหอมมะลิ แป้งข้าวหอมนิล แป้งข้าวมะลิแดง และแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ฯลฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถแปรรูปสร้างมูลค่าได้หลากหลายเมนู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นสปาเกตตี ฯลฯ

 

การผลิตข้าวอินทรีย์ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้

คุณบุญมี บอกว่า สินค้าข้าวหอมมะลิของกลุ่ม ผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตพื้นที่อำเภอราษีไศล และอำเภอศิลาลาด ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งพื้นที่แหล่งนี้ส่วนใหญ่เป็นดินที่มีความเค็ม น้ำน้อย เมื่อปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จะทำให้มีความหอมมากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย จึงทำให้ทุ่งกุลาร้องไห้มีความโดดเด่นในเรื่องข้าวหอมมะลิ จนได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ตราลุงบุญมี

 

การเพาะปลูกพืชอินทรีย์หลังนา

ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ส่งเสริมให้สมาชิกลดต้นทุนการทำนาด้วยการหยอดข้าวแห้งและทำนาดำด้วยรถดำนาแทนการหว่าน ขณะเดียวกัน ได้ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์สำหรับใช้ในชุมชน รวมทั้ง ส่งเสริมปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วเหลือง ถั่วพร้า ปอเทือง เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและลดการใช้ปุ๋ยในการทำนา นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ส่งเสริมให้สมาชิกทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว ทำเกษตรปลอดการเผา ควบคู่กับการปลูกป่า เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน

แปลงปลูกมันเทศญี่ปุ่น พืชเสริมรายได้หลังฤดูทำนา

ทางกลุ่มเน้นการจัดการตามมิติความสัมพันธ์ตามห่วงโซ่ของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น “วิสาหกิจกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกษตรทิพย์” ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในชุมชนและจำหน่ายแก่ผู้สนใจ “กลุ่มวิสาหกิจเครื่องจักรกล” เน้นรวมพื้นที่การเพาะปลูกให้สอดคล้องกับการคุ้มค่าการใช้เครื่องจักรกลทั้งการจ้างเพื่อการใช้งาน และการซ่อมบำรุง

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจพืชหลังนา” เพื่อส่งเสริมปลูกพืชเสริมรายได้หลังฤดูทำนา เช่น แตงกวา คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ มะละกอ ตะไคร้ แตงโม มันเทศญี่ปุ่น ถั่วเหลือง ฯลฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ ปลูกดูแลง่าย ใช้เวลาน้อย แต่ขายผลผลิตได้ราคาดี เป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง เพราะพืชผักเหล่านี้ ปลูกดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์ตลอดกระบวนการผลิตนั่นเอง