ต้นแบบการปลูกพริกไทยแบบควบคุม ใช้พื้นที่น้อย สร้างเงินหลักแสนได้ง่ายๆ

การปลูกพริกไทย หากเทียบกับผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีจะดีกว่าผลไม้หลายๆ ชนิด ที่ใช้พื้นที่ปลูกเท่าๆ กัน ดังนั้น การปลูกพริกไทยในพื้นที่น้อยก็สามารถสร้างรายได้หลักแสนให้แก่เกษตรกรได้ไม่ยากนัก ราคาพริกไทยสดค่อนข้างสูงเกือบตลอดทั้งปี หรือแม้แต่ราคาพริกไทยแห้ง คือ พริกไทยดำ พริกไทยขาว ก็เช่นกัน นอกจากจำหน่ายในประเทศแล้วยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย เป็นเครื่องเทศที่เป็นสากล

พริกไทย เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี แม้ในพื้นที่ซึ่งมีความชื้นสูง ไม่มีน้ำท่วมขัง สูงจากระดับน้ำทะเล 0-1,200 เมตร สภาพเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี ค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ที่ 6.0-6.5 ความลึกของหน้าดินมากกว่า 50 เซนติเมตร พื้นที่อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,200-2,500 มิลลิเมตร มีแหล่งน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษเจือปน มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.0-6.5

พริกไทย พืชที่ใช้พื้นที่น้อยแต่สามารถสร้างมูลค่าให้ผลตอบแทนที่ดี

สรุปว่าปลูกได้ทั่วไป เนื่องจากสร้างโรงเรือน มุงซาแรนพรางแสงช่วย และมีระบบน้ำ เช่น ระบบพ่นหมอก เพื่อช่วยลดความร้อน สร้างความชื้นให้เกิดความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

สายพันธุ์ของพริกไทยที่นิยมปลูกในประเทศไทย พริกไทยที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยนั้นเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูกกันนั้นถือว่าได้รับความนิยมและผ่านการคัดสรรคัดกรองมาแล้วว่า ตลาดในประเทศเรามีความต้องการสูง ซึ่งสายพันธุ์พริกไทยที่ปลูกในบ้านเราตอนนี้จะมีอยู่ 3 สายพันธุ์หลักๆ คือ

พันธุ์ซาราวัค หรือพันธุ์มาเลเซีย เป็นพันธุ์พริกไทยที่มีกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย จะมีความทนทานต่อโรคได้ดี การเจริญเติบโตเร็ว ใบจะเขียวเข้มเป็นมันหนาและมีลักษณะเรียวกว่าพันธุ์ของทางศรีลังกา ส่วนฝักจะมีความยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตร ผลมีลักษณะกลมโต จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นพริกไทยดำหรือพริกไทยขาวเพื่อจำหน่าย

พันธุ์ซีลอนยอดขาว เป็นพันธุ์พริกไทยที่มีกำเนิดจากประเทศศรีลังกา มีลักษณะเป็นเถาออกสีเขียวอ่อน จุดเด่นตรงยอดจะออกสีเขียวอ่อนออกไปทางขาว นี่คือ ที่มาของชื่อสายพันธุ์ซีลอนยอดขาว ช่อผลที่ออกจะมีลักษณะยาวมาก และการเจริญเติบโตก็จะเร็วมากเช่นกัน นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายฝักสด และนำมาแปรรูปเป็นพริกไทยดำหรือพริกไทยขาวได้ ฝักสดที่ออกมาจะมีลักษณะยาว ประมาณ 10-15 เซนติเมตร

พันธุ์ซีลอนยอดแดง เป็นพันธุ์พริกไทยที่มีกำเนิดจากประเทศศรีลังกา มีลักษณะเป็นเถาออกสีเขียว มีใบที่เขียวเข้ม แต่ส่วนยอดและก้านยอดที่ออกใหม่จะเป็นสีน้ำตาล จึงนิยมเรียกกันว่า ซีลอนยอดแดง จุดเด่นคือ มีความทนทานต่อโรคมากกว่า เมื่อมีอายุมากขึ้นลำต้นจะใหญ่มาก ส่วนผลที่ออกจะมีสีเขียวเข้ม หากผลสุกจะออกแดงเข้ม ขนาดเม็ดจะใหญ่ใกล้เคียงกับพันธุ์ซาราวัค ส่วนความยาวของฝักพบว่ามีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร

คุณนิพนธ์ พรหมรักษ์ เจ้าของ “สวนพริกไทยท้ายไร่” เลขที่ 58 หมู่ที่ 4 บ้านวังกระทึง ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โทร. 086-202-2522, 089-153-8213, 087-520-8710

คุณนิพนธ์ เล่าว่า ปลูกพริกไทยพันธุ์ซีลอนยอดขาว จำนวน 1 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ซึ่ง 1 ไร่ จะปลูกได้ 400 หลัก (เสาปูนมีความสูงจากพื้น 3 เมตร) ซึ่งในแต่ละหลักจะใช้ต้นพันธุ์พริกไทย 4 ต้น หรือปลูกข้างเสา ด้านละ 1 ต้น ใน 1 ไร่ จะใช้ต้นพันธุ์พริกไทยทั้งหมด 1,600 ต้น

เนื่องจากที่สวนพริกไทยท้ายไร่ มี “การปลูกพริกไทยแบบควบคุม” คือใช้วงบ่อปูนเปิดก้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร เพื่อปรุงดินผสมวัสดุปลูกที่เหมาะสมลงไป จำนวนวงบ่อก็จะใช้เท่ากับจำนวนเสา คือ 400 วงบ่อ

คุณนิพนธ์ พรหมรักษ์ เจ้าของสวนพริกไทยท้ายไร่

คุณนิพนธ์ เล่าถึงความเป็นมาของสวนพริกไทยท้ายไร่ว่า เกิดจากความสนใจในตัวพืชสมุนไพรโดยเฉพาะพริกไทย เนื่องจากมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน จึงมีความต้องการใช้กันเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ มีราคาและมีความต้องการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ดังนั้น จึงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแรงในอนาคต โดยนอกจากขายพริกสด

“ผมโฟกัสเรื่องการแปรรูปเป็นพริกไทยดำมากกว่า ซึ่งการแปรรูปเป็นการสร้างมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรที่ดีทางหนึ่ง อีกทั้งยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น พริกไทยดำอัดแคปซูล หรือพริกไทยดำผสมกับพืชสมุนไพรชนิดอื่น เช่น ดีปลี ขมิ้น อัดแคปซูล ทำให้ผลผลิตจากพื้นที่ปลูกที่ไม่มากนัก จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างแน่นอน”

ส่วนช่องทางการตลาด คุณนิพนธ์ อธิบายว่า ทุกวันนี้การค้าขายมันเปลี่ยนไป เกษตรกรจะต้องปรับตัวให้ทัน เช่น การขายผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ และเว็บไซต์ เป็นช่องทางที่สำคัญมากในปัจจุบัน ที่ทำให้ผู้ขายกับผู้ซื้อได้ซื้อขายสินค้ากัน และการขนส่งหรือจัดส่งสินค้าเดี๋ยวนี้สะดวกมากขึ้น จัดส่งได้หลายทาง เช่น ไปรษณีย์ ขนส่งเอกชน รถไฟ เครื่องบิน ทำให้การค้าขายสะดวกขึ้นมาก ซึ่งตนไม่ได้กังวลเรื่องของการตลาดของพริกไทยมากนัก ซึ่งสามารถขายเป็นพริกไทยสดได้ ขายพริกไทยแห้ง (พริกไทยดำ-พริกไทยขาว) ขายพริกไทยแปรรูป ขายต้นพันธุ์พริกไทยได้

ก่อนที่จะลงมือปลูกพริกไทย คุณนิพนธ์ เล่าว่า ตนเองเดินทางไปศึกษาหาความรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์แล้วหลายที่ และก็ได้พบปัญหาหลายอย่างในการผลิตพริกไทย ตนเองจึงใช้เวลากว่า 2 ปี ในการศึกษาพัฒนาทดลองและสรุปวิธีการปลูก ที่เรียกว่า “การปลูกพริกไทยแบบควบคุม” ซึ่งการปลูกแบบนี้จะขจัดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ปลูกพริกไทยให้หมดไปได้เป็นอย่างมาก

การปลูกพริกไทยแบบควบคุม

คุณนิพนธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การปลูกพริกไทยแบบควบคุม” หมายความว่า ผู้ปลูกพริกไทยนั้นสามารถควบคุมปัจจัยและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับพริกไทยที่เราปลูกไว้ทั้งหมด เมื่อเราควบคุมได้ทั้งหมดแล้วปัญหาต่างๆ ย่อมไม่เกิดขึ้นกับพริกไทยที่เราปลูก และการควบคุมองค์ประกอบที่กล่าวข้างต้น คือ

ควบคุมวัชพืช วัชพืชไม่สามารถขึ้นได้เลย เนื่องจากเราควบคุมวัสดุปลูกไว้ในพื้นที่อุปกรณ์ที่เรากำหนด (หลายท่านที่เคยปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะรู้ดี) หรืออย่างการใช้เครื่องตัดหญ้าตัดในร่องทางเดินที่ไม่ต้องกังวลว่าจะตัดโดนต้นพริกไทยขาด หรือระบบน้ำ ให้เกิดความเสียหาย

ควบคุมวัสดุปลูก วัสดุปลูกของเราจะไม่กระจายออกไปด้านข้างได้เลย เนื่องจากถูกอุปกรณ์ เช่น ท่อปูน หรือแท่งปูนควบคุมไว้ ซึ่งต่างจากปลูกแบบปั้นยกร่อง ซึ่งเมื่อนานๆ ไป ร่องจะพังทลายลง และวัสดุปลูกที่เหมาะสม และจากการทดลองแล้วนั้น สรุปได้ว่าวัสดุปลูกที่ปลูกแล้วพริกไทยโตเร็ว ลำต้นแข็งแรง คือ ข้าวลีบ หรือแกลบเก่า 4 ส่วน+ดิน 1 ส่วน+ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน

แปลงปลูกพริกไทย พื้นที่ 1 ไร่ อายุ 1 ปีเศษ

ควบคุมรูปทรงพื้นที่ปลูกให้คงที่ บริเวณแปลงปลูกไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะคงสภาพเหมือนกับวันแรกที่เตรียมแปลงปลูก เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอุปกรณ์การปลูก

ต้นพริกไทยที่ปลูกลงดินไม่กี่เดือนเจริญเติบโตดีมาก

ควบคุมน้ำและปุ๋ย น้ำและปุ๋ยโดยเฉพาะปุ๋ยเมื่อใส่แล้วพริกไทยจะได้รับเต็มที่ ไม่ไหลออกด้านข้างเหมือนการปลูกแบบเก่า ควบคุมรูปทรงต้นพริกไทย ง่ายต่อการจัดการทรงพุ่มพริกไทย และการดูแลรักษา

แล้วจากการศึกษาทดลอง พบว่า อุปกรณ์การปลูกพริกไทยแบบควบคุมนั้น สามารถทำได้ 2 รูปทรง คือ

ใสปุ๋ยหมักให้กับพริกไทย เมื่อเห็นว่าวัสดุปลูกลดพร่องลงไป
มีการตัดแต่งใบออกบ้าง เพื่อไม่ให้พุ่มแน่นทึบเกิดโรค

ทรงกลม ซึ่งอุปกรณ์การปลูกแบบทรงกลม สามารถใช้วงบ่อซีเมนต์แบบไม่ปิดก้น ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร จัดเรียงในระยะ 1.5×1 เมตร

ทรงเหลี่ยม ซึ่งอุปกรณ์การปลูกแบบทรงเหลี่ยม สามารถใช้แท่งปูนหรือวัสดุอื่นวางเรียงเป็นคันกั้นร่องโดยร่องที่จะใส่วัสดุปลูกนั้น กว้าง 50 เซนติเมตร และร่องทางเดิน 80 เซนติเมตร

สูตรผสมวัสดุปลูก สำหรับพริกไทยสูตรสวนพริกไทยท้ายไร่

ธรรมชาติเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโรคของพริกไทย ซึ่งเป็นเหมือนพืชไม้เลื้อยทั่วไป นั่นก็คือ โรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งเกิดจากพื้นที่ปลูกไม่สามารถระบายน้ำได้ดีนั่นเอง เมื่อเกิดน้ำท่วมขังหรือมีความชื้นมากเกินไปจนถึงแฉะ ทำให้เป็นสาเหตุเกิดอาการรากเน่าและแห้งตายในที่สุด ดังนั้น ต้องตรวจสอบหรือออกแบบให้แปลงพริกไทยนั้นมีความสามารถในการระบายน้ำออกจากแปลงได้อย่างรวดเร็วหลังจากเกิดฝนตกหนัก

ต้นพริกไทยเริ่มออกดอกติดผลแล้ว

วัสดุที่ใช้ปลูกก็สำคัญเช่นกันที่จะต้องคัดสรรและเลือกวัสดุปลูกที่มีคุณสมบัติการระบายน้ำได้ดี และสามารถเก็บความชื้นได้ยาวนาน ซึ่งจะทำให้ประหยัดน้ำที่จะมาใช้รดต้นพริกไทย สำหรับสวนพริกไทยท้ายไร่นั้นเลือกวัสดุหลักคือ แกลบเก่าค้างปี

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักคุณสมบัติเด่นของแกลบเก่ากันก่อน สมัยก่อนหลายคนคงเคยเห็นตามบ้านนอกที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ไม่มีตู้แช่หรือห้องเย็นเหมือนสมัยนี้ เวลาจะเก็บน้ำแข็งไว้ให้ได้ยาวนาน เขาจะฝังไว้ในกองแกลบ ทำให้น้ำแข็งก้อนนั้นละลายช้ามากๆ เก็บไว้ได้นานหลายวัน เนื่องจากคุณสมบัติของแกลบก็คือ เมื่อได้รับความชื้นแล้วจะคงความชื้นบริเวณรอบๆ ก้อนน้ำแข็งนั้นไว้ ทำให้ไม่มีการดึงความชื้นออกจากก้อนน้ำแข็ง หรือดึงความชื้นออกมาน้อยมากๆ จึงเป็นเหตุให้น้ำแข็งนั้นไม่ละลาย จึงสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน อันนี้คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านของแท้

มัดต้นพริกไทย เพื่อประคองให้เกาะหลักเสาปูน

แต่หากเราใช้แกลบมาเป็นวัสดุหรือส่วนผสมหลักในการปลูกพริกไทย ความชื้นก็จะสะสมที่บริเวณโคนพริกไทยได้ดี ซึ่งความชื้นพอเหมาะนี้ทำให้พริกไทยเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น ทางสวนพริกไทยท้ายไร่จึงเลือกแกลบเก่ามาเป็นวัสดุปลูก

สำหรับสูตรผสมนั้น ทางสวนเราจะใช้สูตรดังนี้ แกลบเก่า 3 ส่วน+ดิน 1 ส่วน+ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 1 ส่วน

สำหรับการผสมนั้นถ้าใช้แรงงานคนให้ใช้จอบผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยระหว่างผสมนั้นให้รดน้ำไปด้วยเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความชื้นสะสมในแกลบเก่า เมื่อนำไปใช้และรดน้ำจะทำให้การรดน้ำนั้นทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ทำให้การรดน้ำนั้นใช้น้ำน้อยไปด้วย หากใช้รถไถก็คลุกเคล้าและรดน้ำไปด้วยเหมือนกัน ห้ามใช้โรตารีปั่นเด็ดขาด เพราะจะทำให้แกลบนั้นเป็นผงละเอียด ไม่สามารถเก็บความชื้นได้ (แกลบที่ใช้ต้องเป็นแกลบเก่าที่ย่อยสลายแล้วเท่านั้น หากเป็นแกลบใหม่จะเกิดความร้อนสะสมได้ ดินเมื่อนำไปใช้อาจทำให้พริกไทยตายได้)

………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2560


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354