ชี้ช่องรวย ปลูกผัก-เลี้ยงสัตว์ เพิ่มรายได้หลักหมื่นในสวนยาง

การทำสวนยางพารา มีข้อดีหลายประการ เนื่องจากเป็นพืชที่เปิดกรีดน้ำยางได้เกือบทุกวัน สร้างรายได้สม่ำเสมอ มีตลาดรองรับที่แน่นอนเพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมแปรรูปยาง เมื่อครบอายุการตัดโค่น เกษตรกรมีรายได้จากการขายไม้ยางอีกด้วย

แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่ไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ดังนั้น หากใครทำสวนยางพาราในลักษณะพืชเชิงเดี่ยว ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงพยายามปรับแนวคิดเกษตรกรจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลี้ยงสัตว์และมีพืชอื่นปลูกร่วมและปลูกแซมในสวนยางพารา ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตทั้งพืชและสัตว์หมุนเวียนเข้าตลาดได้ตลอดปี ทำให้ชีวิตมีความมั่นคงและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง ให้ความรู้เกษตรกร ในงานมหกรรมยางพารา 2564 จัดโดย กยท.

แนะปลูกพืชผสมผสาน
ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ดร.สุรศักดิ์ ชูทอง อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช กล่าวในฐานะนักวิชาการ และเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราในช่วงวันหยุดว่า ปัจจุบันสถานการณ์ราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น แต่การทำสวนยางพาราในลักษณะพืชเชิงเดี่ยว ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เกษตรกรชาวสวนยางควรหันมาใส่ใจบริหารจัดการสวนยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ และทำประมงในสวนยางพารา เพื่อใช้แหล่งอาหารเลี้ยงดูครอบครัว เหลือจากการบริโภคจึงค่อยนำผลผลิตออกจำหน่าย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง วิธีนี้จะช่วยเกษตรกรลดรายจ่ายในครัวเรือน และเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ปลูกมันสำปะหลังในสวนยาง

อย่างไรก็ตาม การเลือกปลูกพืชแซมยางหรือพืชร่วมยาง ควรพิจารณาชนิดพืชให้เหมาะสมกับอายุของต้นยางพาราด้วย สำหรับแปลงปลูกยางพาราอายุ 0-3 ปี ซึ่งมีความเข้มของแสงในสวนยางประมาณ 70-100% สามารถปลูกพืชแซมยางได้หลายชนิด เช่น อ้อยคั้นน้ำและมันสำปะหลัง โดยปลูกห่างจากต้นยางพารา 2-2.2 เมตร ส่วนพืชผัก สมุนไพร และไม้ผล เช่น ขมิ้นชัน สับปะรด พืชผักต่างๆ ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง แตงโม หญ้าอาหารสัตว์ ปลูกห่างจากต้นยางพารา 1 เมตร ส่วนพืชแซมยางประเภทกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง มะละกอ เกษตรกรสามารถปลูกกึ่งกลางระหว่างแถวยางได้เลย

เลี้ยงเป็ดในสวนยาง

สำหรับต้นยางพาราอายุ 3-10 ปี มีความเข้มแสงในสวนยาง 50-70% สามารถปลูกพืชร่วมยางประเภท ขิง ข่า ผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรบางชนิดได้ โดยปลูกห่างจากต้นยางพารา 1.5 เมตร ต้นยางอายุ 10-15 ปี ความเข้มของแสงในสวนยาง 30-50% สามารถปลูกพืชร่วมยาง อาทิ ไม้ดอกสกุลหน้าวัว ไม้ดอกวงศ์ขิง เช่น ขิงแดง ดาหลา หงส์เหิน กระเจียว พังกา ส้ม และบัว ไม้ดอกสกุลเฮลิโคเนีย และไม้ประดับบางชนิด โดยปลูกห่างจากต้นยางพารา 1.5-1.7 เมตร และต้นยางอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความเข้มของแสงในสวนยาง 10-30% สามารถปลูกพืชร่วมยางประเภทพืชสกุลระกำ เช่น ระกำหวาน สละเนินวง สละหม้อ หวายตะค้าทอง กระวาน เร่ว และผักกูด โดยปลูกกึ่งกลางระหว่างแถวยาง

ปลูกพืชผักในสวนยาง

หากใครอยากปลูกพืชผักสวนครัวในสวนยาง ควรพิจารณาการปลูกพืชตามความชอบแสงเป็นหลักด้วย หากแปลงสวนยางที่ได้รับแสงเต็มวัน สามารถปลูกมะเขือเปราะ มะกรูด ฟักทอง มะเขือยาว มะนาว มะเขือเทศ มะละกอ พริกไทย พริก แตงกวา ฯลฯ ส่วนแปลงต้นยางที่ได้รับแสงครึ่งวัน สามารถปลูกผักกาด ผักชี สะตอ ผักกาดหอม ผักสลัด ชะอม คะน้า ฯลฯ สวนแปลงต้นยางที่มีแสงรำไร สามารถปลูกขิง ข่า ตะไคร้ วอเตอร์เคส ผักชีลาว ผักกูด ชะมวง กระวาน สะระแหน่ ตำลึง ฯลฯ

ปลูกกล้วยในสวนยาง

แนะปลูกผักเหลียงแซมสวนยาง
สร้างรายได้เหยียบแสนต่อเดือน

ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกยางพาราในระยะห่างระหว่างต้น 7 เมตร ระยะห่างจากแถว 3 เมตร หรือ 76 ต้นต่อไร่ แต่การปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง ต้องปรับสัดส่วนการปลูกต้นยางเป็นระยะ 9 หรือ 12 เมตร คูณ 3 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในสวนยางได้มากขึ้น แปลงปลูกต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปี สามารถปลูกพืชแซมยางในกลุ่มพืชผัก สับปะรด ข้าวไร่ บอนสี ฯลฯ

Advertisement

ส่วนต้นยางที่อายุ 3 ปีขึ้นไป ภายใต้ร่มเงายาง สามารถปลูกขิง ข่า สละอินโด เป็นพืชร่วมยางได้ รวมทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ แพะ แกะ และวัว ในสวนยางได้อย่างสบาย ทั้งนี้ พบว่าเกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้จากการขายน้ำยางโดยเฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทต่อไร่ หลังปรับตัวมาปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่นบาทต่อไร่

ปลูกสับปะรดในสวนยาง

“มีเกษตรกรชาวสวนยางหลายรายที่ประสบความสำเร็จในอาชีพและรายได้ หลังปรับตัวปลูกพืชแบบผสมผสาน นอกจากนี้ มีแหล่งอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังมีรายได้ก้อนโตสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวอีกทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรรายหนึ่งมีที่ดินทำกิน 3-4 ไร่ ปลูกผักเหมียงหรือใบเหลียงเป็นพืชร่วมยาง แต่ละสัปดาห์สามารถเก็บผักเหมียงขายในราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ปรากฏว่ามีรายได้ต่อเดือนกว่าแสนบาท” ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

Advertisement
เลี้ยงวัวในสวนยาง

การปลูกป่า 5 ระดับในสวนยาง

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถปลูกป่า 5 ระดับ ในลักษณะการปลูกพืชเกษตรผสมผสาน คือ มีการปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ในแปลงเดียวกัน หลุมเดียวกัน แต่มีความสูงต่างระดับกัน โดยอาศัยลักษณะความแตกต่างของพืช ที่มีความสูงต่ำมาปลูกร่วมกันในแปลงเดียวกัน เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่าธรรมชาติ ทำให้เกิดประโยชน์หลายอย่างและสามารถใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับไม้ระดับสูง ได้แก่ พะยูง สัก แดง ตะเคียน มะค่า มะฮอกกานี ประดู่ ฯลฯ

ไม้ระดับกลาง ได้แก่ ยางพารา มะม่วง มะขาม มะกรูด มะนาว ฯลฯ

ไม้ระดับเตี้ย ได้แก่ กล้วย พริก ผักเหลียง มะเขือ กะเพรา ข้าว ตะไคร้ ไม้ดอก พืชสมุนไพรต่างๆ

ไม้เรี่ยดิน คือ บวบ ฟักทอง แตงกวา แตงโม ผักกูด ถั่ว มะระ ตำลึง ผักบุ้ง น้ำเต้า

ไม้ใต้ดิน คือ เผือก มันเทศ กระเทียม สายบัว เผือก ขิง ข่า หัวหอม

ปลูกสละอินโดในสวนยาง

อาชีพเสริมในสวนยาง

เกษตรกรยังสามารถทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในสวนยางในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำสวนปศุสัตว์ในสวนยาง เช่น การเลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง หมูหลุม แพะเนื้อ และโคขุน ส่วนการทำประมงในสวนยาง เช่น การเลี้ยงกบในกระชังหรือบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงปลาดุก ปลานิลในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ หรือบ่อพลาสติก

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจในสวนยาง เช่น การเลี้ยงจิ้งหรีด ชันโรง ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ด้วงสาคู และหนอนนก หรือใช้พื้นที่ว่างในสวนยางเพาะเห็ดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การเพาะเห็ด และแปรรูปเห็ดสวรรค์ การผลิตน้ำพริกแกง ปลาส้ม การผลิตลูกประคบสมุนไพร การผลิตเครื่องจักสาน ฯลฯ เมื่อเกษตรกรชาวสวนยางปรับตัวเข้าระบบเกษตรผสมผสาน เชื่อว่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้อย่างมั่นคงในอนาคต

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2565