ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะพร้าว หนึ่งในไม้ผลเป็นยา ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุชนิดต่างๆ กินง่าย สามารถกินได้ทั้งน้ำและเนื้อ อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปทำอาหารได้ทั้งเมนูคาวและหวาน หรือนำมาใช้ในวงการเครื่องสำอาง ที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำคัญ เช่น สบู่ ครีม แชมพู หรืออีกหนึ่งวิธีคือการสกัดเย็น โดยในประเทศไทยมีมะพร้าวหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือมะพร้าวน้ำหอม ด้วยรสชาติที่หอม หวาน เป็นเอกลักษณ์ ทำให้มะพร้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะมีเกษตรกรมากหน้าหลายตาที่แวะเวียน ลงทุนปลูกมะพร้าวเพื่อสร้างรายได้ หลายคนประสบความสำเร็จ หลายคนผิดหวัง ขึ้นอยู่ที่เทคนิคการจัดการดูแลและการทำตลาดถือเป็นเรื่องสำคัญ
คุณศักดิ์ศรี พระจันทร์ หรือ พี่ป้อม ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์นักทดลอง อยู่ที่ตำบลบ้านแขม อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี อดีตผู้จัดการร้านอาหารในเมืองกรุงฯ ผันตัวเป็นเกษตรกรปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชสร้างรายได้หลัก ด้วยเหตุผลที่ว่า มะพร้าวเป็นพืชที่ลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่สามารถเก็บขายได้นาน 25-30 ปี ประกอบกับการมองไปถึงเทรนด์สมัยใหม่ ที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งมะพร้าวก็เป็นพืชที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดี กลายเป็นจุดประกายที่ว่า ปลูกมะพร้าวยังไงก็ขายได้ เพราะสามารถนำไปทำได้หลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านอาหาร เครื่องดื่ม และสุขภาพ ส่งผลให้ปัจจุบันที่สวนปลูกมะพร้าวเพียง 100 กว่าต้น แต่สามารถสร้างรายได้ 30,000-35,000 บาทต่อเดือนแบบสบายๆ
ลงทุนครั้งแรก ไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง
พี่ป้อม เล่าว่า กว่าที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางสายเกษตรเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องผ่านอุปสรรคล้มลุกคลุกคลานมาก่อน กว่าจะเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตนเอง จากการเริ่มต้นเป็นพ่อค้าขายของในตลาดนัดเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี แต่ผลตอบรับในตัวสินค้าที่นำมาขายไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลทำให้เงินเก็บที่มีค่อยๆ ร่อยหรอลงไป ซึ่งในจังหวะช่วงนั้นที่มองอนาคตข้างหน้าแทบไม่ออก ก็ได้ไปเห็นร้านขายน้ำมะพร้าวเป็นแก้ว ขายราคาแก้วละ 10-20 บาท ในตลาดที่ขายดีมาก ตรงนี้จึงเป็นการจุดประกายเริ่มต้นให้หันมาทดลองปลูกมะพร้าวขายดูบ้าง
“ผมเริ่มจากการกลับมาสำรวจพื้นที่ของตนเองว่าพอที่จะปลูกมะพร้าวได้ไหม เมื่อองค์ประกอบของพื้นที่พอจะเป็นไปได้ก็ทดลองปลูกมะพร้าวน้ำหอมจำนวน 30 ต้น การเจริญเติบโตไปได้ดี จึงได้เริ่มขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น จาก 30 ต้น แล้วเริ่มสร้างฐานลูกค้าจากการไปรับมะพร้าวจากสวนอื่นมาขายเป็นผลสด ในตอนนั้นราคาซื้อหน้าสวนลูกละ 6-7 บาท นำมาขายต่อลูกละ 15 บาท ในช่วงแรกๆ ขายได้วันละ 20 ลูก แล้วค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำไรดีขึ้นตามลำดับ และเริ่มมีฐานลูกค้าประจำ จึงได้เปลี่ยนยึดอาชีพขายมะพร้าวเป็นหลัก และขยายสวนมะพร้าวเพิ่มขึ้น จากปลูก 30 ต้น เพิ่มขึ้นมาเป็น 100 กว่าต้น และนอกจากมะพร้าวก็ยังมีพืชผสมผสานชนิดอื่น เช่น มะนาว ฝรั่งกิมจู กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง เป็นพืชสร้างรายได้รองลงมาอีกด้วย”
ปลูกมะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย 100 กว่าต้น
สร้างรายได้อย่างต่ำ 30,000 บาทต่อเดือน
เจ้าของบอกว่า สำหรับสายพันธุ์มะพร้าวที่ทางสวนปลูก เป็นสายพันธุ์ที่ได้มาจากชาวบ้านแถบอำเภอบุณฑริก และอำเภอเดชอุดม ซึ่งเมื่อนำมาปลูกปรากฏว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย ก้นจีบ ในตอนที่ออกผลผลิตมาครั้งแรกลูกออกติดพื้นเลย ถือเป็นความโชคดีที่ได้สายพันธุ์ที่ดีมาปลูก
โดยในพื้นที่ปลูกมะพร้าวของที่สวนจะปลูกในระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 6-7 เมตร แบ่งปลูกเป็น 3 แบบ เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาให้กับคนในพื้นที่ว่าการปลูกแบบไหนจะเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากสวนตนเองเป็นสวนแรกในพื้นที่ 3 ตำบลใกล้เคียงที่มาทำในลักษณะนี้
- ปลูกแบบโคก หนอง นา และมีระบบน้ำสปริงเกลอร์ควบคู่ไปด้วย จะใช้เวลา 2 ปีครั้งในการออกจั่น และ 3 ปีให้ผลผลิตทันที
- ปลูกตามริมขอบสระ ซึ่งการปลูกในลักษณะนี้จะให้ผลผลิตช้า ใช้เวลา 3 ปีในการออกจั่น เนื่องจากการปลูกด้วยลักษณะนี้ที่สวนจะปล่อยให้รากไปหาอาหาร หาน้ำกินเอง และสระค่อนข้างที่จะลึกลงไปหน่อย กว่ารากจะเดินไปถึงน้ำ ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ล่าช้า
- ปลูกบนพื้นที่ราบทั่วไป พร้อมกับทำระบบน้ำสปริงเกลอร์ ถือว่าต้นเจริญเติบโตได้ดีพอสมควร ดูแลง่าย 2 ปีครึ่งออกจั่น 3 ปีเริ่มเก็บผลผลิต
และโดยส่วนตัวคิดว่าการปลูกแบบโคก หนอง นา เป็นวิธีที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด เพราะนอกจากการให้ผลผลิตเร็วแล้ว ยังสามารถปลูกพืชแซมได้ในระหว่างต้นมะพร้าวได้อีกด้วย โดยที่สวนจะปลูกน้อยหน่าหนังและฝรั่งกิมจู ส่วนในโคก หนอง นา ก็นำปลามาปล่อยเลี้ยง ปลูกผักตับชวา ซึ่งผักตบชวาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาความชื้นที่โคนต้นมะพร้าวได้อย่างดี
วิธีการปลูก
พี่ป้อมอธิบายต่อว่า เทคนิคการปลูกมะพร้าวของที่สวนจะเริ่มจากการคัดเลือกพันธุ์ที่เพาะไว้ก่อน ถ้าหากต้นไหนขึ้นไม่เสมอกัน จะคัดทิ้งก่อนแล้วนำมาชำในถุงดำ จากนั้นเมื่อชำในถุงดำเสร็จ เป็นเวลา 3 เดือน จะมีใบขึ้นมาประมาณ 5 ใบ และให้สังเกตที่โคนต้นที่ชำไว้ว่าโคนต้นปกติไหม หรือแคระแกร็น ลำต้นเรียว หรือใหญ่ ถ้าลำต้นเรียวจะคัดทิ้งทั้งหมด แล้วเลือกเฉพาะต้นที่มีคุณภาพ ต้นอวบสมบูรณ์มากปลูก
“การปลูกเทคนิคอยู่ที่การเอียงต้นประมาณ 30 องศา บางคนบอกว่าเพื่อทำให้ต้นเตี้ย แต่การเอียงต้นของผมทำเพื่อให้ระหว่างต้นกับลูกไม่เกิน 1 ปีสลัดกะลาออก หรือบางคนจะปลูกตรงก็ปลูกได้ แต่รากจะขี่กะลากันอยู่ มันคือปัญหาการเจริญเติบโตจะช้านิดหนึ่ง แต่ถ้าเราแยกรากกับกะลาออกได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่รากของมันจะไปได้ไกลมันมีเยอะกว่า”
หลังจากลงต้นพันธุ์ปลูกเสร็จแล้ว ให้ใช้วัสดุคลุมดิน หรือปุ๋ยหมักโรยรอบๆ ต้นประมาณครึ่งถัง ให้ใช้วัสดุคลุมดินที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น ถ้ามีใบอ้อยก็ใช้ใบอ้อย ถ้ามีฟางให้ใช้ฟาง หรือถ้ามีผักตบชวาก็ใช้ผักตบชวาคลุม เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินทำให้รากงอกง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อรากงอกออกมาได้สักระยะให้ใส่ปุ๋ยหมักรอบนอกอีกครั้ง แล้วใช้วัสดุคลุมดินอีกรอบ
แต่มีข้อควรระวังสำหรับเกษตรกรที่ใช้วัสดุคลุมดินในการปลูกมะพร้าว คือจะมีด้วงแรด เพราะด้วงแรดชอบดินร่วนซุย ชอบดินที่มีความชุ่มชื้น วิธีแก้คือให้ใช้ตาข่ายดักนกตาถี่ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร มาขึงเพื่อดักไม่ให้แมลงเข้ามาได้ โดยขึงให้ตรึงเป็นผืนใหญ่ ถือเป็นวิธีที่ดีมาก และเมื่อไปดูผลลัพธ์จะพบว่าด้วงไม่มาเจาะเหมือนตอนที่ยังไม่ขึงตาข่าย
การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย
ที่สวนจะรดน้ำด้วยระบบน้ำสปริงเกลอร์ 2 วันครั้ง เปิดรดครั้งละ 15-20 นาที น้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่าให้ขาด จำเป็นต้องมีระเบียบวินัย “ถ้าหากขาดการรดน้ำไปสัก 1 อาทิตย์ แล้วกลับมารด ทะลายที่มีลูกเล็กๆ บางทะลายมันสลัดลูกทิ้งเกือบทั้งทะลาย เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่าเราให้น้ำน้อยเกินไป ให้น้ำแค่นี้สามารถเลี้ยงได้แค่ทะลายละ 5 ลูก ที่เหลือจะสลัดลูกทิ้งหมด ในช่วงที่เราให้น้ำห่างกัน”
ส่วนปุ๋ยจะใส่ตามการวิเคราะห์ค่าดิน เพราะว่าที่นี่จะมีทางกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาสนับสนุนหรือที่รู้จักกันในชื่อ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) โดยการขุดดินในหลายๆ จุดของพื้นที่สวนนำไปบดให้ละเอียด แล้วนำไปตรวจ แล้ววิเคราะห์ออกมาว่าดินในพื้นที่ของเราเป็นดินลักษณะแบบไหน เหมาะกับการปลูกมะพร้าวหรือไม่ และถ้าปลูกแล้วควรบำรุงปุ๋ยด้วยสูตรอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ตรงนี้ทางเจ้าหน้าที่จะวิเคราะห์ตามผลของดินที่ออกมา นำมาผสมเป็นปุ๋ยสั่งตัด โดยจะมีแม่ปุ๋ยสูตร 0-0-60, 46-0-0, 18-46-0
“ระยะเวลาในการใส่ปุ๋ย ช่วงเริ่มต้นหมั่นใส่ปุ๋ยทุก 15 วัน ใส่ปุ๋ยสั่งตัดต้นละประมาณ 1 ช้อนแกง ใส่บริเวณใกล้โคนต้นประมาณ 1 คืบ ซึ่งการใส่ปุ๋ยสั่งตัดจะมีการระบุว่าในแต่ละช่วงจะใส่ปุ๋ยสูตรไหน เช่น สูตรที่กรมวิชาการเกษตรให้มาคือการผสมปุ๋ยยูเรีย 46-0-0, 0-0-60, 18-46-0 โดยปุ๋ยแต่ละสูตรจะผสมใส่ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ใส่ตามค่าวิเคราะห์ดินที่ทางกรมวิชาการเกษตรผสมมาให้เรียบร้อย เรานำมาหว่าน แล้วค่อยเพิ่มให้ปุ๋ยเป็น 1 กำมือในช่วงที่ต้นอายุได้ 1 ปีขึ้นไป เพื่อบำรุงลูกบำรุงต้น เพราะถ้าไม่เริ่มบำรุงตั้งแต่ในช่วงต้นอายุได้ 1 ปีครึ่ง จากแทนที่เราจะได้ผลผลิตในปีที่ 3 ก็อาจจะต้องรอนานเป็น 3 ปีครึ่งถึง 4 ปี เลยก็เป็นได้ แต่ถ้าใครไม่มีปุ๋ยสั่งตัดแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ควรใส่อย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง โดยตามหลักวิชาการคือ ใส่ต้นฝน ปลายฝน แต่ถ้าเรามีระบบน้ำอยู่แล้วก็สามารถใส่ได้ถี่กว่านี้ โดยให้ดูความสมบูรณ์ ความเขียวของต้น เป็นส่วนประกอบคู่กันไป”
การดูแลช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิต
- เน้นการตัดแต่งก้านในหน้าแล้ง เพราะในช่วงหน้าแล้งน้ำจะน้อย หากไม่ทำการตัดแต่งก้านเลย จะทำให้ต้นดึงน้ำไปเลี้ยงเฉพาะก้าน แต่ไปไม่ถึงลูก โดยการตัดแต่งให้ตัดห่างจากทะลายประมาณ 1 ก้าน แล้วก้านที่รองลงไปให้ตัดทิ้งทั้งหมด
- เน้นการตัดแต่งเฉพาะใบที่แห้งเป็นสีน้ำตาลออกไป เพราะเป็นใบที่ไม่สามารถดึงสารอาหารต่างๆ มาหล่อเลี้ยงลำต้นได้
ปริมาณผลผลิต 15 วัน ตัดได้ 1 ทะลาย 1 เดือน ตัดได้ 2 ทะลายต่อต้น จะได้เนื้อที่พอดี คือ 1 ชั้นครึ่ง เป็นระยะที่พอดี ผู้บริโภคจะชอบเนื้อประมาณนี้ เนื้อจะไม่แข็ง ไม่นิ่มจนเกินไป สามารถใช้ช้อนขูดเบาๆ ได้ ไม่ต้องเคี้ยวแรง
การตลาดทั่วถึง ปัจจุบันที่สวนขายมะพร้าวในราคาส่งลูกละ 15 บาท พร้อมกับการรับประกันเนื้อ สำหรับลูกค้าที่ต้องการนำไปทำเค้ก ว่าจะได้เนื้อและน้ำมะพร้าวตามที่ต้องการ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้านำไปทำน้ำปั่นก็จะเลือกให้เฉพาะที่ไปทำน้ำปั่น เพื่อให้ได้น้ำมะพร้าวออกมานวล สวย ปั่นแล้วได้กำไร ซึ่งแนวคิดการแยกขายมะพร้าวเป็นหมวดหมู่แบบนี้ได้มาจากความชอบดื่มน้ำมะพร้าวเป็นทุนเดิมของตนเอง จึงใช้ความชอบมาเป็นการสังเกตทำให้เกิดความชำนาญในการเลือกมะพร้าวให้เหมาะสมกับประเภทที่นำไปใช้ จนเกิดแนวคิดที่ว่า
“ถ้าเราทำแบบนี้ลูกค้าเราจะเพิ่มขึ้นไหมในตลาด เราก็เลยลองการันตีลูกค้า โดยที่ลูกค้าเดินมาหาเราจะถามลูกค้าก่อนว่า พี่ชอบเนื้อแบบไหน หากลูกค้าชอบแบบพอได้เคี้ยวหน่อย เราก็จะเลือกมะพร้าวที่เป็นเนื้อ 2 ชั้นให้ เราก็จะจัดให้ตามความต้องการของลูกค้า จนทำให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบริโภคน้ำ เนื้อ รวมถึงร้านน้ำปั่น ร้านทำเค้ก ติดใจร้านเราหมด ทำให้ที่สวนของเรามียอดขายมะพร้าวได้วันละ 200-350 ลูก ขายหมดทุกวัน”
แนะนำมนุษย์เงินเดือนอยากปลูกมะพร้าว
“การปลูกมะพร้าวสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเวลาน้อย ก่อนอื่นควรประเมินว่าสถานที่ปลูกของเรามีน้ำเพียงพอไหม ถ้าน้ำเพียงพอ เราสามารถจัดการด้วยระบบ เพราะทุกวันนี้มีระบบที่สามารถรดน้ำผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือได้ ใช้เวลาหลังเลิกงานไม่กี่นาทีในการควบคุมระบบรดน้ำ แล้วในส่วนของการดูแลทางกายภาพคือเรื่องโรคและแมลงอาจจะแบ่งหน้าที่ให้พ่อแม่ช่วยดูแล แต่สิ่งสำคัญที่สุดหากมนุษย์เงินเดือนจะทำคือไม่อยากให้ทำเยอะ ให้เริ่มต้นทำทีละไร่ เพื่อที่จะดูสภาพดินด้วย เพราะการทำเกษตรไม่จำกัดว่าต้องทำเยอะเพียงอย่างเดียวถึงจะดี ในทางกลับกันหากทำเยอะอาจไม่ได้ผลเท่ากับการทำน้อยๆ แต่ดูแลอย่างทั่วถึง”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 087-759-3858, เฟซบุ๊ก : ศักดิ์ศรี พระจันทร์ และช่องยูทูป : ศักดิ์ศรี คนเกษตรแห่งที่ราบสูงงง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2565