สัมภาษณ์พิเศษ ทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี “รายได้ของเกษตรกร ทำสวนดีกว่าอย่างอื่น”

ไม้ผลดั้งเดิมหลายชนิดสร้างรายได้อยากให้กลับมา

ไม้ผลดั้งเดิมของจังหวัดอุบลราชธานีมีหลายตัว โดยเฉพาะพืชที่เป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง มะขามหวาน มะขามเปรี้ยว ลำไย ล้วนแต่เป็นพันธุ์ดีๆ ทั้งนั้น เนื่องจากบางส่วนช่วงยางพาราบูม ทำให้พี่น้องเกษตรกรตัดผลไม้ออกบางส่วน มาปลูกยางพารา พื้นที่ลดลง ก็เลยอยากให้ผลไม้กลับมาสู่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร

จุดเริ่มต้นของไม้ผลชนิดใหม่ เริ่มจาก คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านมองภาคการเกษตรมีความจำเป็น น่าจะมีการปรับโครงสร้างการผลิต ให้สอดคล้องกับพื้นที่ ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ปลูกตามความเคยชิน ตามประเพณีนิยม ก็เลยให้มีการสำรวจว่ามีศักยภาพตรงไหนอย่างไร ควรมีการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกร ช่วงนั้นเรียกว่าแผนปรับปรุงการผลิตทางการเกษตร ให้พี่น้องปรับปรุงการผลิตทางการเกษตรขนานใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีการนำพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามา มีความเหมาะสมที่จะปลูกไม้ผล มีการนำเข้ามาตั้งแต่ช่วงนั้น ผลผลิตออกมาดี เริ่มมีการขยายตั้งแต่นั้นมา

 

ไม้ผลเศรษฐกิจใหม่ ทุเรียน คุณภาพดี

พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลิ้นจี่ เข้ามาพร้อมกับจังหวัดศรีสะเกษ ช่วงปี 2531 มีการปลูกพร้อมกัน ดินเหมาะสมในการปลูกอย่างมาก ทั้งจังหวัดตอนนี้…ทุเรียน มีประมาณ 2,000 ไร่ เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่

หากรวมไม้ผลทุกตัว พื้นที่กว่า 1 แสนไร่ เพราะฉะนั้นพืชเหล่านี้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก อยากเพิ่มพื้นที่ดึงพื้นที่กลับคืนมา ตอนนี้ยางพาราตัดโค่นเยอะ มาเป็นทุเรียน ทำผลไม้มากขึ้น อย่างอื่นมี ลำไย มะม่วง มะขาม เป็นผลไม้ส่งออกได้ดี มังคุด ลองกอง สะตอ มีพื้นที่เพิ่มขึ้น

คุณภาพของผลผลิตดีมาก เป็นที่นิยม โดยเฉพาะทุเรียนปลูกมาก อำเภอน้ำยืน น้ำขุ่น นาจะหลวย วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ สามารถให้ผลผลิตและรสชาติดีมาก ดินเป็นดินลาวาภูเขาไฟ มีธาตุกำมะถันเป็นทุน ทำให้รสชาติของทุเรียนออกมากลิ่นไม่ฉุนจัด รสชาติหวานมัน เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป

 

พื้นที่เหมาะสมสามารถขยายได้กว่า 2 แสนไร่

พื้นที่เหมาะสม มีศักยภาพที่จะปลูกพืชจำพวกไม้ผล มีราว 2 แสนไร่

ในปี 2560 ได้รับงบประมาณกลุ่มจังหวัด เพิ่มพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ทุเรียน ลำไย มะขามเปรี้ยว แก้วมังกร และมะม่วง…ทุเรียนจะเพิ่มพื้นที่ปลูกกว่า 2 พันไร่ รวมงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท สวนเดิมก็จะเติมเทคโนโลยี…เติมนวัตกรรมเข้าไป ให้มีการลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าดียิ่งขึ้น

ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด

เกษตรกรมีศักยภาพ มีความรู้ดั้งเดิมในการทำสวนอยู่แล้ว เราจะเติมนวัตกรรมเข้าไปบางส่วน เพราะบางสวนประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรทั่วไปเป็นอย่างดี คงไม่ยุ่งยากเรื่องเทคโนโลยีสามารถทำได้

ตลาดดี มีตลาดกลางสินค้าเกษตรที่อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานีติดลาว กัมพูชา เวียดนาม สามารถส่งออกต่างประเทศ

 

รายได้ของเกษตรกร ทำสวนดีกว่าอย่างอื่น

พัฒนาการของการทำสวน ในความรู้สึกยังช้าอยู่ เนื่องจากมีข้อมูลมากระทบต่อการตัดสินใจของพี่น้องเกษตรกร ปัจจัยหลัก ยางพารา ทำให้พี่น้องเกษตรกรปรับส่วนหนึ่งไปทำยางพาราเพิ่มขึ้น ทำให้งานผลิตผลไม้ชะลอตัวลง ที่จริงผลทางด้านการตลาด ที่นี่ไม่มีปัญหา อุบลฯ เป็นจุดกึ่งกลางของอินโดจีนแถบนี้ อยู่กึ่งกลางเขมร เวียดนาม ลาว สามารถส่งไปจีนสะดวก ส่งไปง่าย ต้นทุนไม่สูง สามารถเอาผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างดี

ผู้ค้า ผู้ขาย ปัจจัยการผลิต มีแนวโน้มพัฒนาดีขึ้น ล้งจะรับซื้อส่งออก มีอยู่แล้ว ปริมาณมีเพิ่มขึ้น ล้งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวเมืองอุบลฯ จะรวบรวมผลผลิตแล้วค่อยส่งต่างประเทศ ต่างจังหวัดบางส่วน

คุณทวี มาสขาว และเจ้าหน้าที่เกษตร ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนของเกษตรกร

เกษตรกรทำสวนผลไม้ ฐานะดีกว่าทำนา ทำไร่ ใช้พื้นที่ไม่มาก ได้รายได้มากกว่า จึงมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเกษตรกรทำนา ทำไร่

ผู้อยากเข้าร่วมโครงการไม้ผล เรารับพิจารณา เกษตรกรสนใจมีที่เหมาะสม สามารถแจ้งรายชื่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ระดับอำเภอมีคณะกรรมการพิจารณาว่า ใครเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากที่สุด จะคัดพี่น้องเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นต้นแบบให้พี่น้องเกษตรกรรายอื่นๆ

 

งานขายผลผลิตทางออนไลน์ ต้องเติมให้กับเกษตรกร

ระบบดิจิตอลกับการตลาด รัฐบาลได้นำเข้ามาเพื่อรองรับ 4.0 ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ใส่พวกนี้เข้าไป ในเรื่องของตลาด ตอนนี้พัฒนาขึ้นมาเยอะ พี่น้องชาวนา ชาวสวน ผู้ปลูกพืชไร่ด้วย วิสาหกิจชุมชน จะใส่พวกนี้เข้าไป เพราะพวกนี้มีพัฒนาการค่อนข้างรวดเร็ว

พี่น้องชาวสวน ไม่ว่าจะขายผลไม้สด หรือขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขายทางระบบออนไลน์ เขาสามารถบอกกล่าวเล่าเรื่องสวนของเขาว่า มีกระบวนการผลิตอย่างไร ทำระบบอินทรีย์อย่างไร ทำระบบคุณภาพอย่างไร ตั้งแต่เริ่มต้นถึงออกสู่ตลาด เป็นการประชาสัมพันธ์งานคุณภาพของเขาเองสู่ลูกค้า ซึ่งจะมีการขายผ่านระบบนี้ จะทำให้ตลาดพวกนี้พัฒนายิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับแนวทางนโยบายของรัฐบาลที่จะมุ่งด้านนี้เข้ามาช่วยด้วย รวมทั้งนวัตกรรมที่เป็นระบบต่างๆ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ให้ฮอร์โมนต่างๆ ระบบง่ายทันสมัยมากยิ่งขึ้น จะพัฒนาเข้ามา

 

เทศกาลผลไม้ ขนมาทุกอำเภอ

ในช่วง วันที่ 23-29 มิถุนายน 2560 มีการจัดงานวันผลไม้และของดีประจำจังหวัดอุบลราชธานี ณ ลานห้างบิ๊กซี อำเภอเมือง อุบลราชธานี ระดมผลไม้ที่มีอยู่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย แก้วมังกร มะขาม กล้วย แคนตาลูป ขนุน ทุกตัวที่มีจะระดม นอกจากนี้ยังมีสินค้าแปรรูป มีนิทรรศการแสดงนวัตกรรมต่างๆ อยากให้มารับเทคโนโลยีต่างๆ

มีผลไม้จากทุกอำเภอ ขายในราคาไม่แพง จะมีการรวมผลิตภัณฑ์ของดีระดมจำหน่าย ขอเชิญร่วมอุดหนุนเกษตรกรครั้งนี้ครับ