คุณภาพทุเรียนไทย จะไปถึง 4.0 หรืออยู่ที่ 0.4

ปีนี้เป็นปีที่ผลไม้ยอดนิยมของไทย อย่าง ทุเรียน มีผลผลิตมากมายออกสู่ตลาด ราคาดี ชาวสวนแฮปปี้ ผู้บริโภคยิ้มได้ เป็นฤดูกาลแห่งความสุขของชาวสวนทุเรียน โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งต้องคัดคุณภาพให้เยี่ยม หรือที่เรียกกันว่า เกรดส่งออก

แต่ในวงเสวนา เรื่อง คุณภาพทุเรียนไทย จะไปถึง 4.0 หรือ อยู่ที่ 0.4 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก็ยังหยิบยกปัญหาที่พบในการทำคุณภาพทุเรียนไทยเพื่อการส่งออกให้ได้มาตรฐาน เพราะแม้จะมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างไร ก็อาจมี “ทุเรียนอ่อน” หลุดออกสู่ตลาด ลดทอนมาตรฐานทุเรียนไทยในสายตาต่างประเทศลง

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ให้ข้อคิดเห็นถึงการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกอย่างยั่งยืน ว่า ทุเรียนยังคงเป็นพืชที่สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรดีกว่าพืชอื่น แต่จะเป็นไปได้ดีก็ต่อเมื่อเกษตรกรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่หากจะให้ไปถึง 4.0 นั้น คิดว่ายังห่างไกล ต้องมีการพัฒนาอีกมาก ซึ่งมีอีกหลายสายพันธุ์ ไม่เฉพาะพันธุ์หมอนทอง ที่อาจเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการส่งออกได้

ด้าน ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ยังมองเห็นศักยภาพของชาวสวนทุเรียนไทยว่า สามารถทำคุณภาพทุเรียนได้ถึง 4.0 ซึ่งการควบคุมคุณภาพทุเรียนของเกษตรกรยังคงใช้วิธีการนับอายุ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีปัจจัยที่ทำให้การนับอายุคลาดเคลื่อน เกิดการเบี่ยงเบน ทำให้ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทั้งนี้ ได้คิดค้นเทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR Technology) สำหรับคัดทุเรียนคุณภาพ ซึ่งมั่นใจในเทคโนโลยีชิ้นนี้จะช่วยให้สามารถคัดทุเรียนคุณภาพ และช่วยให้ทุเรียนไทยไปถึง 4.0 ได้แน่นอน

สำหรับ รศ. สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ แสดงความเห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการส่งออก กรณีที่ทุเรียนไทยไม่ได้คุณภาพการส่งออกว่า เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดคุณภาพทุเรียน เพราะสามารถคัดแยกได้แม่นยำ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็เปรียบเสมือนการปรับโครงสร้างของเกษตรกรและการตลาด ซึ่งหากสามารถคัดแยกทุเรียนคุณภาพได้แล้ว ราคาก็จะสูงขึ้น และเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าการเสวนา จะมุ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการคัดคุณภาพทุเรียน เพื่อให้ได้มาตรฐาน และเป็นการปรับโครงสร้างเกษตรกรและการตลาดได้ยกระดับมากขึ้น แต่ ศ.ดร. จริงแท้ ศิริพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมาช่วย ได้แก่ การลดอุณหภูมิก่อนนำทุเรียนเข้าตู้คอนเทนเนอร์ การใช้สารเอทิลีนกับทุเรียนในความเข้มข้นต่ำลง การปรับการระบายอากาศ เพื่อไม่ให้มีการสะสมสารเอทิลีน การขนส่งให้ใช้เส้นทางบกเพื่อใช้เวลาขนส่งสั้นลง เป็นต้น

คุณไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังคงเป็นพันธุ์เศรษฐกิจของไทย แม้ว่าหลายประเทศจะผลิตได้เช่นเดียวกันก็ตาม ซึ่งการผลิตได้ทุกประเทศหมายความว่า ทุกประเทศคือคู่แข่งของเรา แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถผลิตได้ทุเรียนคุณภาพเท่าประเทศไทย และหากจะพัฒนาให้มีสายพันธุ์อื่นขึ้นมาก็ควรรีบทำโดยเร็วที่สุด เพื่อเป้าหมายการเป็นประเทศส่งออกทุเรียน อันดับ 1 ของโลก