แบเซ็ง หมอดินปลอดสาร แห่งบ้านกะลุบี ปัตตานี

แบเซ็ง หรือ แวอุเซ็ง แต

บ้านกะลุบี เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมเทือกเขาบูโด อยู่ในเขตอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี สภาพแวดล้อมภูมิอากาศแบบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรม รายได้หลักคือ ยางพารา

กะพ้อ แม้เป็นเพียงอำเภอเล็กๆ แต่มีเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนที่น่าสนใจอยู่มากทีเดียว เช่น ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรกรนักพัฒนาผู้ริเริ่มโครงการปลูกพืชพันธุ์เกษตรทางเลือกต่างๆ ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ใช้เวลาว่างและเพิ่มเติมรายได้ เนื่องจากราคายางพาราขณะนี้อยู่ในช่วงภาวะที่ตกต่ำ ชาวบ้านที่รู้จักกันเรียกขานกันว่า แบเซ็ง

แบเซ็ง หรือ แวอุเซ็ง แต วัย 61 ปี อาชีพเดิมเป็นเช่นชาวบ้านทั่วไป ยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ด้วยมีความรักในอาชีพเกษตรกรรม จึงหมั่นเพียรเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ผ่านการฝึกอบรมดูงานภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และกลับมาทดลองในแปลงของตนเอง บนพื้นที่ 2 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 15/1 หมู่ที่ 7 บ้านกะลุบี อำเภอกะพ้อ โทร. (081) 275-6642 จนเริ่มเข้าใจเรื่องดิน เรื่องสมุนไพรต่างๆ การกินผักเป็นยา แบบคนในสมัยอดีต   

จากสิ่งที่เรียนรู้และปฏิบัติ แบเซ็ง บอกว่า จากการที่ได้เรียนรู้อย่างจริงจังและนำมาปฏิบัติจริงจนประสบผลสำเร็จหลายอย่าง โดยเฉพาะการนำผัก พืชพันธุ์ต่างๆ มาขยายผล มาทดลองอย่างจริงจังจนประสบผลสำเร็จ และในช่วงเวลากว่า 10 ปี ได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านเสมอมา

วันนี้ แบเซ็ง ได้รับการยกย่องเป็นหมอดิน ปราชญ์ชาวบ้านของอำเภอกะพ้อ และอำเภอสายบุรี

ร่วมกิจกรรมกับเพื่อการพัฒนา กับหน่วยงานต่างๆ
ร่วมกิจกรรมกับเพื่อการพัฒนา กับหน่วยงานต่างๆ

ภายในพื้นที่การเกษตรของหมอดินแบเซ็ง มีกิจกรรมที่น่าสนใจและเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น แปลงเกษตรปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อบริโภคเอง หรือผลิตเพื่อจำหน่าย การปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืช การใช้ปุ๋ยชีวภาพ และการเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้านในการปลูกพืชเกษตรทางเลือกอื่นๆ ในยุคยางพาราราคาถูก

พร้อมกันนี้ ยังร่วมทำงานแนวทางการอนุรักษ์ป่า ปลูกป่า กิจกรรมอนุรักษ์นกเงือก การรักษาผืนน้ำ ลำธาร รักษาป่าต้นน้ำ เป็นต้น

แบเซ็ง ยังมองว่า ชาวบ้านไม่ชอบทำเป็นเชิงเกษตรพัฒนามากขึ้นเท่าที่ควร ยังคงทำเกษตรแบบชาวบ้านๆ ไม่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ เท่าที่ควร ดังนั้น แบเซ็งจึงคอยมองหา สอดส่องเรียนรู้กรรมวิธีใหม่ๆ หาช่องทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพิ่มปริมาณ ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดการคุณภาพยาง การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย สามารถทำได้เอง  

สำหรับในวันนี้ สิ่งที่แบเซ็งได้ใส่ใจเป็นพิเศษและเน้นย้ำให้ทุกคนได้คิดคือ การลด ละ เลิกการใช้สารเคมีต่างๆ ในการประกอบอาชีพการเกษตร

แบเซ็ง ได้เล่าถึงจุดพลิกผันว่า เกิดจากวันหนึ่งลูกลิงกังที่เลี้ยงอยู่ เช้าวันนั้นซื้อแตงโมที่ตลาดมา เมื่อเอามาให้มันกิน พอในช่วงสายๆ ปรากฏว่าเจ้าลูกลิงของเราน้ำลายฟูมปากเลย อยู่มาได้สักพักหนึ่งก็ตายในเวลาไม่นาน

แบเซ็งเห็นดังนั้นจึงคิดได้ว่า ผลไม้มีสารพิษ มันโดนสารพิษเล่นงานแล้ว

“เราก็คงไม่ต่างกัน ทานผลไม้ทุกวันๆ สะสมสารพิษไปไม่รู้เท่าไรแล้ว เห็นท่าปล่อยไว้ไม่ดีแน่ ตั้งแต่นั้นมาจึงตัดสินใจปลูกผักไว้ทานเอง ไม่ยอมซื้ออีกต่อไป ตั้งใจหาความรู้ ศึกษาการเกษตรด้วยตนเอง จากแหล่งสื่อต่างๆ และเปลี่ยนพันธุ์ ยกแปลง ทดลอง ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนเข้าใจ และพัฒนาเพิ่มหลายสายพันธุ์เรื่อยๆ มา”

แรกๆ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร ขึ้นอยู่กับเวลา ด้วยความอดทนและใจรัก แบเซ็ง เล่าต่อว่า

“นานๆ เข้าพอชาวบ้านรู้ว่าเรามีอะไร ทำอะไร ก็เริ่มเข้ามาดู มาศึกษาที่เรามากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนเมื่อเราได้ขยับขึ้นไปอบรมดูงาน เป็นตัวแทนของชาวบ้าน และติดต่อเชื่อมกับหน่วยราชการ จึงทำให้ได้ทำงานเกษตรอย่างจริงจัง และตั้งใจศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ไปแนะนำชาวบ้าน ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านต่อไป ให้ได้มากที่สุด”

มาระยะหนึ่ง ข่าวการทำแปลงผักปลอดสารพิษของแบเซ็ง ได้ไปถึงคุณหมอ เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกะพ้อ ได้รู้มาว่ามีการปลูกผักปลอดสารพิษที่นี่ จึงสนใจ มาชม มาซื้อถึงที่แปลงเลย จึงทำให้แปลงผักของแบเซ็งเป็นที่รู้จักและสร้างความน่าเชื่อถือแก่ชาวบ้านมาตั้งแต่นั้นมา

พร้อมกันนี้ คุณหมอยังแนะนำให้แบเซ็งปลูกพืชผักสมุนไพร เพื่อให้ชาวบ้านนำไปขยายต่อ เพื่อชุมชนจะได้มีสุขภาพที่ดี มีพลานามัยแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เลือกกินอาหาร กินผัก กินพืชสมุนไพรกันมากๆ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน จะได้ไม่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลกันบ่อยๆ

ทุกวันนี้ คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เข้ามาซื้อผักปลอดสารพิษที่นี่กันเป็นประจำอยู่ไม่ขาดสาย

แปลงนาที่ชาวบ้านปลูกพืชเกษตรทางเลือกอื่น
แปลงนาที่ชาวบ้านปลูกพืชเกษตรทางเลือกอื่น

ในแปลงผักปลอดสารพิษมีพืชพันธุ์ที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย ทั้งพืชในท้องถิ่นและต่างถิ่นที่นำมาปลูกศึกษาทดลอง เช่น เมนทอล หญ้าหวาน แปะตาปี้ รวมถึงพืชป่า เช่น ควายผู้ ปลาไหลเผือก เมล็ดมังกร ส่วนมากที่เป็นประโยชน์ซึ่งสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ดี นอกจากนั้น ยังมีพืชที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน เช่น การปลูกเห็ดในสวนยาง ปลูกข้าวโพดในไร่ข้าว พืชตระกูลถั่ว ฟักทอง มันสำปะหลัง มันเทศ และอื่นๆ

ขณะนี้ ชาวบ้านเริ่มเข้ากลุ่ม จัดการตัวเองเป็นสมาชิก ขยายแปลงปลูกผักกันหลายคนแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างทดลอง ติดตามผล และไปแนะนำเพิ่มความรู้ให้แก่ชาวบ้านแบบตัวต่อตัว คาดว่าอนาคตจะดีขึ้นอีก เพิ่มผลิตผลออกมาเพิ่มมากขึ้น

ในอนาคต แบเซ็งวางเป้าหมายไว้ว่า ให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องของป่าต้นน้ำ การรักษาป่า รักษาแหล่งน้ำ รักษาสัตว์ป่า

 

“สิ่งที่ดีคือ ชาวบ้านต้องรักษาทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่นี้ให้สามารถรักษาไว้ได้ยาวนานที่สุด ต้นน้ำต้องรักษา ไม่สร้างมลภาวะให้กับแหล่งน้ำ ป่าไม้ต้องยังคงอยู่เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ เมื่อต้นน้ำดี ปลายน้ำดี ตลอดลำธารดี สัตว์ป่ายังคงอยู่ ไม่ทำร้าย ไม่บิดเบือน ธรรมชาติก็จะยังคงอยู่ตลอดไป ข้างบนเขาดี ข้างล่างจะปลูกอะไรก็ไม่มีปัญหา ที่แหล่งแร่ธาตุมีสัตว์ แหล่งน้ำไม่เหือดหายไปไหน ทุกคนก็มีความสุข ปลูกอะไรขึ้นดี ขึ้นงามไปหมด ผักปลอดสารพิษ สุขภาพดี ความเป็นอยู่ย่อมดีมีความสุข” แบเซ็ง กล่าวในที่สุด