“ไฮโซ” เปลี่ยนวิถีชีวิต หันปลูกผักสลัดปลอดสารพิษ สไตล์ญี่ปุ่น ขายได้ราคาสูงกว่าผักทั่วไป

เชื่อว่า มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจรู้สึกเบื่องานประจำ อยากหนีกรุงไปทำอาชีพเกษตรกรรม เพื่อใช้ชีวิตอยู่ใกล้ธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ หลายคนยังกลัวที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง แต่มีหนุ่มสาวลูกหลานไฮโซฯ กลุ่มหนึ่งที่จะกล้าไล่ตามความฝันที่จะทำอาชีพเกษตรกรรม ในชื่อไร่ “เก็บฟาร์ม” และลงทุนต่อยอดกิจการร้านอาหาร “แปลงผัก” ที่ประสบความสำเร็จทางการตลาด เชื่อว่าเรื่องราวของพวกเขาน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครๆ อีกหลายคน ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเองเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรมเช่นเดียวกับพวกเขา 

 

จุดเริ่มต้น “อาชีพเกษตรกรรม”

คุณกัลยกร บุนนาค หรือ คุณกัล 1 ใน 5 เจ้าของกิจการไร่ “เก็บฟาร์ม” เล่าให้ฟังว่า ภายหลังเธอเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ช่วงเวลานั้นครอบครัวย้ายไปอยู่ที่หัวหิน เปิดร้านอาหารไทย ชื่อ ชิฎฑะเฬ เธออยากอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกเพื่อย้ายมาอยู่กับครอบครัวที่หัวหิน

คุณกัลยกร บุนนาค

คุณกัล ไม่อยากทำงานประจำ อยากหางานที่ทำแล้วมีความสุข ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เธอจึงตัดสินใจเลือกทำอาชีพเกษตรกรรม เธอมั่นใจว่า อาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองได้แน่ๆ เพราะผักผลไม้สดเป็นอาหารที่จำเป็นต้องบริโภคอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันกระแสการบริโภคผักเพื่อสุขภาพมาแรง ทำให้สินค้าผักผลไม้สดปลอดสารพิษได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงตั้งเป้าหมายผลิตผักสดปลอดสารพิษออกขาย

 

ที่มาของ “เก็บฟาร์ม” 

คุณกัล กับเพื่อนสนิทอีก 4 คน ประกอบด้วย คุณรนกร แสง-ชูโต คุณศุภกร จูงพงศ์ คุณธนวุฒิ กุลนิรันดร และ คุณธีรภัทร อัศวเบญญา ได้เช่าพื้นที่ 7 ไร่ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดำเนินกิจการไร่ “เก็บฟาร์ม (Geb Organic Farm)” โดยคาดหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและรวบรวมอาหารจากธรรมชาติ ที่ทุกคนสามารถมาเก็บ มารับประทานได้ พวกเขาวางแผนที่จะพัฒนาไร่เก็บฟาร์ม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษในอนาคต

เพื่อนสนิทที่ร่วมลงทุนในกิจการ “เก็บฟาร์ม”

“ในไร่เก็บฟาร์มของพวกเรา พืชผักทุกชนิดถูกปลูกโดยแบบออร์แกนิก และพยายามทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยที่ไร้สารพิษ และยาฆ่าแมลง 100% ผลผลิตทุกชนิดของพวกเราจึง ‘ดีต่อสุขภาพ’ ของคุณลูกค้าทุกท่านเป็นอย่างมาก” คุณกัล กล่าว

เนื่องจากพวกเขาทั้ง 5 คน ล้วนเป็นเกษตรกรมือใหม่ คุณกัลจึงขอให้เพื่อนรุ่นพี่ ชื่อ “คุณจักรภูมิ บุณยาคม” หรือ คุณภูมิ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำปุ๋ยไส้เดือน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Thailand Young Farmer  เข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการปลูกดูแลพืชผักผลไม้ในไร่เก็บฟาร์ม

 

สารพัดผักสลัด 

เดิมทีพื้นที่ไร่เก็บฟาร์ม เนื้อที่ 7 ไร่ แห่งนี้ เคยใช้เป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดมาก่อน ต่อมาคุณกัลได้ขอเช่าที่ดินดังกล่าว ในอัตรา ปีละ 30,000 บาท ไร่เก็บฟาร์มใช้เงินลงทุน 1.5 ล้านบาท เป็นค่าเช่าที่ ค่าก่อสร้างโรงเรือน ค่าวางระบบน้ำ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ปัจจุบันไร่เก็บฟาร์มเปิดดำเนินงานมาได้ 1 ปีแล้ว มีแรงงาน 4 คน ช่วยดูแลผลผลิต

แปลงปลูกผักสลัด
ผักสลัดสารพัดชนิด ของ “เก็บฟาร์ม”

ไร่เก็บฟาร์ม นำเข้าเมล็ดพันธุ์ผักสลัดคุณภาพดีจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาทำโรงเรือนสำหรับเพาะต้นกล้าและปลูกผักแบบยกร่อง ปัจจุบัน เนื้อที่ 3 ไร่ ของไร่เก็บฟาร์มถูกนำมาใช้ปลูกผักสลัดถึง 11 ชนิด ได้แก่ ผักกรีนโอ๊ก ผักสลัดสีแดง “เรดโอ๊ก” ผักสลัดใบเขียว “ฟิลเลย์” ผักสลัดบัตเตอร์เฮด  รวมทั้งพืชผักสวนครัวประเภทต่างๆ เช่น โหระพา มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเปรี้ยว แครอต บีทรูท ฟักทอง ถั่วแขกสีม่วง ถั่วฝักยาวลายเสือ ฯลฯ

 

หลักการปลูกผัก สไตล์ญี่ปุ่น

หลักการปลูกผักสไตล์ญี่ปุ่น มุ่งเน้นเรื่องการปรุงดินด้วยระบบชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้สภาพดินดีขึ้นเรื่อยๆ คุณภูมิ บอกว่า แนวคิดนี้ไม่ได้คำนึงถึงระบบธาตุอาหารสักเท่าไร การปลูกผักของที่นี่จะเน้นปรับค่าดินให้เป็นกรดอ่อนๆ  ผสมตัววัสดุปลูกที่พัฒนาขึ้นใช้เอง วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิต แถมยังช่วยให้พืชเติบโตได้แข็งแรงอีกต่างหาก

สำหรับวัสดุปลูกที่ใช้ในฟาร์มแห่งนี้ เน้นวัตถุดิบที่มีความเป็นด่างและมีค่าคาร์บอน เช่น แกลบเผา กากอ้อยเผา  เป็นต้น ส่วนวัตถุดิบที่ช่วยอุ้มน้ำคือ ขุยมะพร้าว หรือขุยตาล โดยนำวัตถุดิบกลุ่มนี้มาแช่น้ำเพื่อลดความเค็ม ก่อนนำไปใช้งาน สำหรับวัสดุปลูกการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชจะนำไปใส่ปุ๋ยน้ำหมักปลา (ซึ่งมีกรดอะมิโน) หมักจนหายร้อน จึงค่อยนำมาใช้งาน

ผักสลัดที่รอการเก็บเกี่ยว

ขั้นตอนการปลูกผักสลัดของไร่เก็บฟาร์ม เริ่มจากเพาะเมล็ดในวัสดุที่ทำขึ้นเอง มีขุยมะพร้าวกับขี้เถ้าแกลบนำมาหมักกับปุ๋ยน้ำหมัก เพาะเมล็ดในโรงเรือนนาน 15 วัน ฉีดปุ๋ยน้ำโบกาฉิ (มูลสัตว์ 1 ส่วน และอินทรียวัตถุ 4 ส่วน) ที่ทำขึ้นเอง จนกระทั่งกลายเป็นต้นอ่อนที่มีใบเลี้ยง ก่อนจะปลูกลงดิน ในระยะห่าง 20-30 เซนติเมตร ผักคอส มีลักษณะลำต้นสูง จะปลูกในระยะชิดลงหน่อย โดยทั่วไปผักสลัดจะใช้เวลาดูแลประมาณ 30-50 วัน

ติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์ทุกจุดในแปลงปลูก

เก็บฟาร์มปลูกดูแลผักปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะทำปุ๋ยน้ำหมักไว้ใช้เองจากน้ำนมวัวดิบและกากนม น้ำหมักจากเศษปลา ปุ๋ยหมักสูตรนี้ช่วยให้ผักสลัดที่ปลูกมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย นอกจากนี้ ยังทำปุ๋ยน้ำหมักสูตรไล่แมลงจากยาฉุน เครื่องต้มยำ ยาเส้น สะเดา ที่ใช้แล้วได้ผลดี ไม่มีปัญหาโรคแมลงรบกวนในแปลงปลูกผัก

การจัดการวัชพืชของเกษตรกรไทย จะเน้นถอนหญ้าออกจากแปลงปลูกผัก แต่เกษตรกรญี่ปุ่นจะใช้วิธีนำเอาผ้าใบปูบนแปลงที่มีวัชพืชขึ้นอยู่ จะทำให้วัชพืชเน่า แปลงถัดมาจึงค่อยปลูกผักสลัด ทำสลับกันแบบนี้จนเต็มพื้นที่เพาะปลูก หลังสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรญี่ปุ่นจึงค่อยนำเอาผ้าใบที่คลุมแปลงออก และย้ายมาคลุมในแปลงปลูกผักเดิม (รากพืชที่ตกค้างอยู่ในแปลงปลูกผักเดิมจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในที่สุด) การจัดการแปลงปลูกลักษณะนี้ ถือเป็นการพักหน้าดินอย่างหนึ่งแล้ว ยังได้ปุ๋ยไปในตัวด้วย

คุณภูมิ บอกว่า เก็บฟาร์มเน้นปลูกผักในลักษณะยกแปลง ขนาดความกว้าง ประมาณ 80 เซนติเมตร คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า รากพืชโดยทั่วไปมีหน้าที่ดูดน้ำ สารอาหาร รวมทั้งยึดรากกับดินเพื่อพืชจะมีลำต้นตรง ความจริงแล้วเราพรวนดินให้พูนขึ้นมาเพื่อช่วยให้รากอากาศของพืชดูดซึมออกซิเจนได้ดีขึ้น

 

สร้างมูลค่าเพิ่มผักสด

คุณกัล บอกว่า ผักสลัดอินทรีย์มีราคาจำหน่ายสูงกว่าผักสดทั่วไป จึงเน้นเจาะผู้บริโภคที่เข้าใจคุณค่าและประโยชน์ของผักสลัดอินทรีย์อย่างแท้จริง ช่วงแรกพวกเราปลูกผักเยอะเกินไป ขายผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้เกิดปัญหาผักเน่าเสีย ไม่ทันขายได้ จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ลดจำนวนพื้นที่ปลูกลง เน้นปลูกและขายตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก

ทุกวันนี้ เก็บฟาร์ม มีผักสดออกขายทุกวัน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม จำหน่ายในราคา กิโลกรัมละ 130-140 บาท เพิ่งจำหน่ายอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปี 2560 สินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งขายให้กับธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่อำเภอหัวหิน สร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,000 บาท

ผักสลัดสารพัดชนิด ของ “เก็บฟาร์ม”

ผลผลิตอีกส่วนถูกนำมาใช้ในกิจการร้านอาหารของพวกเขา ชื่อ “ร้านแปลงผัก Veggie Bed” ซึ่งเป็นธุรกิจรวมทุนของคุณกัลกับคุณจักรภูมิ ร้านอาหารแห่งนี้เน้นขายอาหารโฮมเมดสไตล์ยุโรป ประเภทเมนูสลัดผัก ซุปฟักทอง  สเต๊ก พาสต้า ฯลฯ เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559

“ผักสลัดที่มีรสชาติอร่อย หวาน กรอบ ถือเป็นจุดเด่นของร้านอาหารแปลงผักแห่งนี้ เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ทำในสไตล์อาหารโฮมเมด เช่น ทำน้ำสลัดเอง สเต๊ก ก็เคี่ยวน้ำซอสเกรวี่เอง สินค้าใหม่สดทุกวัน ที่สำคัญจำหน่ายในราคาไม่แพง โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ” คุณกัล กล่าว

ใครสนใจอยากเป็นลูกค้าผักสลัดอินทรีย์ของไร่แห่งนี้ หรืออยากลิ้มลองรสชาติความอร่อยของอาหารโฮมเมดสไตล์ยุโรป เชิญมาได้ที่ “ร้านแปลงผัก Veggie Bed” ตั้งอยู่ในซอยหัวหิน 83 ร้านอยู่ต้นซอยทางขวามือ หรือสนใจเยี่ยมชมกิจการไร่ “เก็บฟาร์ม” สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก “Geb Organic Farm” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ (087) 107-5331