เกษตร เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อย เฝ้าระวังการระบาด ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคแมลงศตรูพืชในขณะนี้พบว่าในพื้นที่จังหวัดราชบุรี อำเภอจอมบึง และอำเภอโพธาราม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อย ที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในภาคตะวันตกและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีการพบว่ามีศัตรูพืช คือ ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส เข้าทำลายแปลงอ้อย เนื่องจากช่วงนี้ตัวอ่อนของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสเริ่มฟักออกจากไข่ ดังนั้นเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตอ้อย และหากพบว่าพื้นที่ใดมีการระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสที่เข้าทำลายอ้อยให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านดำเนินการควบคุมโดยทันที

สำหรับรูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสเป็นตั๊กแตนที่มีขนาดกลางยาว 3-5 เซนติเมตร มีสีเหลืองปนเขียวหรือน้ำตาลปนเหลืองน้ำตาลแก่ ตัวอ่อนมีสีต่างๆ กัน เช่น เขียวอ่อน เหลืองอ่อน น้ำตาลแดงและดำทั้งตัว หน้ามีสีดำ ใต้ท้องมีสีดำตลอดตัว วงจรชีวิตของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส การผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม เป็นช่วงปลายฤดูฝน ไข่จะฟักตัวอยู่ในดินตลอดฤดูแล้ง อยู่ในดิน 7-8 เดือน ลักษณะไข่คล้ายเมล็ดพุทรา เปลือกหุ้มไข่แข็งมีทั้งชนิดรูปกลมและรี ตัวเมียวางไข่ได้ 3 – 4 ฝัก (1 ฝัก มีไข่จำนวน 30-60 ฟอง) ฟักออกเป็นตัวอ่อนช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน และจะเริ่มเป็นตัวเต็มวัยช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ของทุกปี โดยที่ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสจะขยายพันธุ์ปีละ 1 ครั้ง

ส่วนลักษณะการทำลายพบการระบาดของตั๊กแตนตั้งแต่วัยที่ 4 โดยเข้าทำลายใบอ้อยจนเหลือแต่ก้านใบ ลักษณะการเข้าทำลายเหมือนตั๊กแตนปาทังก้า คือ จะกัดกินเนื้อใบอ้อยเหลือก้านใบ ไร่อ้อยถูกทำลายอย่างหนักมองเข้าไปเห็นแต่ก้านใบลักษณะคล้ายแส้ ตั๊กแตนชนิดนี้สามารถกินพืชได้หลายชนิด เท่าที่ได้สำรวจพบว่า ข้าว อ้อย ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หญ้าคา แฝก สาบเสือ พง อ้อ ไผ่ หญ้าใบไผ่ หญ้าตีนติดใบมันสำปะหลัง ละหุ่ง ปอแห้ว ใบมะพร้าว ใบข่า ใบสับปะรด และใบตะไคร้ เป็นต้น

ซึ่งการป้องกันกำจัดตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสนั้น เกษตรกรควรหมั่นดูแลแปลงอ้อยด้วยการไถพรวนดินเพื่อทำลายไข่ก่อนที่ไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อน โดยทำการไถบริเวณที่ตั๊กแตนวางไข่ จากนั้นก็กำจัดวัชพืชที่อยู่หัวไร่ปลายนาเพราะอาจเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสได้ สำหรับวิธีการกำจัดตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสในระยะตัวอ่อน สามารถทำได้โดยการใช้สารเคมี ได้แก่ คาร์บาริล 85% EC อัตรา 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกำจัดด้วยไดอะซินอน 60% EC อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือใช้สารฟิโปรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร กำจัดตัวอ่อนของด้วงหนวดยาวในแปลงที่พบการทำลายของด้วงหนวดยาวอ้อยร่วมด้วย แต่หากพบว่ามีการระบาดอย่างรุนแรงของตั๊กแตนก็ให้ใช้วิธีการกำจัดด้วยกับดักเหยื่อพิษ โดยผสม czrtap hydrochloride 50% SP อัตรา 20 กรัม เกลือแกง -จ กรัม Ammonium bicarbonate อัตรา 30 กรัม สารจับใบ และน้ำ 1 ลิตร และนำกระดาษขนาด 11 x 15 เซนติเมตร ชุบสารละลายให้โชกและพึ่งลมให้แห้งและนำกระดาษไปวางไว้ที่ร่องระหว่างต้นอ้อย

อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้สารเคมีแล้วเกษตรกรควรมีการเก็บทำลายโดยตรง เริ่มจากการสำรวจตรวจสอบใบอ้อยในไร่ เมื่อพบตั๊กแตนกำลังกินให้เก็บตัวตั๊กแตนแล้วนาไปทำลาย หรือนำไปเป็นอาหาร จากนั้นจึงพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น เมตตาไรเซียม หรือบิวเวอเรีย และใช้แมลงศัตรูธรรมชาติแก้ปัญหาร่วมด้วยไปพร้อมกัน ได้แก่ วิธีการใช้แมลงหางหนีบซึ่งเป็นศัตรูของตั๊กแตนไฮไลไกลฟัสในการกำจัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพสามารถกำจัดไข่ตั๊กแตนไฮไลไกลฟัสให้หมดไปได้