“กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า” ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน ตอบประเด็นข้อสงสัยเรื่องกล้วย กล้วย

เป็นอันว่าเนื้อหาบรรยายกล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า สำหรับภาคเช้าเสร็จสิ้นเรียบร้อย สาระสำคัญของเนื้อหาจากวิทยากรทุกท่านถูกถ่ายทอดลงในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านครบทุกท่าน ขณะเดียวกัน หากท่านติดตามมาตลอดทุกตอนจะเห็นว่าทุกท่านปล่อยความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่ไม่มีเก็บ จนเมื่อมาถึงช่วงท้ายรายการจึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาได้ถามปัญหาข้อสงสัยจากวิทยากรแต่ละท่าน

ถาม – ชื่อไพบูลย์ มีอาชีพทนายความมาจากจังหวัดศรีสะเกษ แล้วชอบงานเกษตรกรรมมาก พร้อมกับได้ติดตามงานสัมมนาของเทคโนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้มาเข้าร่วมสัมมนาไผ่ จากนั้นนำไปต่อยอดจนขณะนี้มีอาชีพสวนไผ่เพิ่มขึ้น แล้วยังส่งไผ่ไปขายต่างประเทศได้รับความสนใจดี

สำหรับการมาร่วมสัมมนาเรื่องกล้วยในครั้งนี้ เท่าที่ฟังจากวิทยากรทุกท่านล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่อยากจะทราบว่าเคยปลูกกล้วยแล้วไม่ประสบความสำเร็จบ้างไหม ส่วนตัวผมเองได้ปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บ้างเหมือนกัน แล้วพบปัญหาเรื่องแมลงหนอนกอกับโรคตายพราย ซึ่งสร้างปัญหาต่อการปลูกกล้วยอย่างมาก ดังนั้น จึงขอทราบแนวทางในการป้องกันและกำจัด

อีกประเด็นคือมีความสนใจที่จะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ฉะนั้น ระหว่างรอมะพร้าวถ้าต้องการจะปลูกกล้วยในสวนมะพร้าวมีทางพอเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร อีกทั้งควรใช้พันธุ์กล้วยอะไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

คุณคมกฤช – กล้วยที่ปลูกอยู่เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 อันมาจากเนื้อเยื่อ และบางส่วนใช้หน่อจากที่อื่น ดังนั้น ในประเด็นหนอนกอ สิ่งที่พึงระวังคืออย่านำต้นพันธุ์หรือหน่อจากแหล่งที่ไม่รู้จักมาปลูกเพราะเสี่ยงมาก

ดังนั้น ถ้าต้องการหาพันธุ์กล้วยมาปลูกควรใช้ความละเอียดรอบคอบในการหาข้อมูลแหล่งพันธุ์ที่รู้จักหรือเชื่อถือได้ดีกว่า แต่สำหรับที่สวนของผมไม่ค่อยเจอปัญหาเช่นนี้เนื่องจากมีการบริหารจัดการอย่างดี ซึ่งแนวทางนี้เป็นการป้องกันหนอนกอหรือโรคตายพรายได้อย่างดี

ที่ผ่านมาพบว่าในสวนของชาวบ้านที่พบหนอนกอมักมาจากมูลวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ และโรคตายพรายควรแก้ไขด้วยการวางระบบน้ำ เพราะชาวบ้านที่เจอโรคตายพรายมักเป็นสวนที่ปลูกกล้วยแบบธรรมชาติใช้น้ำฝนอย่างเดียว

ส่วนการปลูกกล้วยในสวนมะพร้าวคงไม่มีปัญหา และควรใช้ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร กับ 2 คูณ 2 เมตร อาจใช้น้ำว้ามะลิอ่องปลูกได้

ถาม – ชื่อสมศักดิ์ มาจากจังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันมีสวนกล้วยน้ำว้าอยู่ และมีความสนใจพันธุ์กล้วยน้ำว้ายักษ์ของอาจารย์พัชนี พร้อมกับต้องการทราบว่าที่ขุดด้วยแบ๊กโฮขนาดหลุม 1 เมตร เพื่อต้องการขายหน่อนั้น เวลาขุดหน่อขายไม่ลำบากหรือ?? เพราะขนาดที่สวนขุดลึกเพียง 50 เซนติเมตร ยังขุดหน่อด้วยความลำบากเลย

อาจารย์พัชนี – การขุดลึก 1 เมตร และกว้าง 1 เมตรกว่า เพราะต้องการให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์มาก แต่ถ้าต้องการขายหน่อจะขุดลึกเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น ฉะนั้น การขุดหลุมลึกเพราะต้องการให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว กล้วยพันธุ์ยักษ์นี้ยังสามารถปลูกได้กับดินทุกชนิด เพียงแต่ต้องพิจารณาว่าดินชนิดนั้นมีลักษณะอย่างไร แล้วค่อยดูว่าจะขุดให้มีความลึกเท่าไร อย่างกรณีถ้าดินไม่สมบูรณ์ควรจะขุดให้ลึกและกว้างเพื่อนำดินที่สมบูรณ์มีคุณภาพมาถมใส่หลุมที่เรียกกันว่าการปรุงดิน

ถาม – ชื่อวิภาดา มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช สนใจแนวทางปลูกกล้วยอินทรีย์ตามที่คุณสมยศมีประสบการณ์มา เพราะที่ผ่านมาตัวเองได้ลงมือปลูกกล้วยแบบอินทรีย์แล้วแต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปหลายปียังไม่มีผลผลิตเลย ต่างจากเพื่อนบ้านที่อยู่ละแวกนั้นได้ปลูกกล้วยแนวอินทรีย์เหมือนดิฉันและปลูกเวลาใกล้เคียงกันด้วย แต่ของเขาได้ผลผลิตแล้ว จึงขอถามคุณสมยศว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมจนป่านนี้ยังไม่มีผลกล้วย

คุณสมยศ – ความจริงปัญหานี้ตอบยากเพราะไม่เห็นพื้นที่ปลูกจริง แต่ถ้าจะพอประมวลเอาจากประสบการณ์อาจต้องพิจารณาจากปัจจัยปลูกเบื้องต้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นพันธุ์ วิธีปลูก คุณภาพดิน การดูแลใส่ปุ๋ย และความสมบูรณ์ของน้ำ เพราะการปลูกกล้วยยังไงก็ต้องมีผลออกมาบ้าง เนื่องจากเป็นพืชที่ดูดซับธาตุอาหารได้รวดเร็ว

อีกทั้งระบบรากของกล้วยยังหากินตามผิวดิน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ควรใส่ปุ๋ยให้ตรงตามเวลาแล้วควรให้ห่างจากโคนต้น ในกรณีที่ต้องใส่มูลสัตว์จะต้องหมักไว้นาน 3 เดือน เพราะการใช้มูลสดจะเจอปัญหาหนอนกอทันที

กับอีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการนำกล้วยไปปลูกในสวนยางพาราที่มีร่มเกินไป ขาดแสงแดดที่เพียงพอ เพราะความจริงกล้วยควรปลูกกลางแจ้งเพื่อให้ใบได้รับแสงแดดอย่างพอเพียงในการปรุงอาหาร ฉะนั้น แนะนำให้ปลูกในที่โล่งมากกว่า

ถาม – มาจากเชียงใหม่ อยากถามคุณคมกฤชว่า ช่วงที่เหมาะสมกับการปลูกกล้วย เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคตายพราย

คุณคมกฤช – ได้ยินมาบ่อยเหมือนกันว่าควรปลูกกล้วยก่อนหรือหลังเข้าพรรษาจะดีกว่าเพราะจะได้ป้องกันโรคตายพราย ทั้งนี้ ความจริงแล้วถ้าสามารถจัดระบบการให้น้ำไว้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ไม่ว่าจะปลูกกล้วยช่วงไหนก็ได้ทั้งนั้น

“เพราะที่สวนของผมได้วางระบบน้ำไว้อย่างดีจึงไม่เคยปัญหา ขณะเดียวกัน ข้อดีของการวางระบบน้ำก็คือสามารถกำหนดผลผลิตให้ออกตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญอันเป็นผลดีต่อการตลาด”

ในคราวหน้าเป็นการสัมมนาในช่วงสอง ที่ว่าด้วยเนื้อหาของการนำกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้าไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ทั้งแบบผลสดที่เป็นหวีส่งเข้าห้างสรรพสินค้าดัง หรือแยกขายเป็นผลเดี่ยวส่งขายตามร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตาก ซึ่งผลสำเร็จของทุกธุรกิจไม่ได้มาแบบง่ายๆ แต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ฉะนั้น กว่าจะมาถึงวันนี้พวกเขาต้องต่อสู้อะไรมาบ้าง ขอให้ทุกท่านติดตามอ่านในคราวต่อไปให้ได้