เกษตรกรแม่นาเรือ ปลูกผักหลังนา ทำรายได้สู้แล้ง

มัดผักกาดเตรียมจำหน่าย

ปีนี้ไปทางไหนคนก็บ่นเรื่องความแห้งแล้ง ความไม่ปกติของธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี เกษตรกรที่อาศัยธรรมชาติ จำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมการรับมือไว้ เพื่อสู้กับความแห้งแล้งนี้

คุณเจริญ ปัญญาชื่น และภรรยา กำลังตัดแต่งและมัดผักกาดเป็นกำเตรียมส่งให้พ่อค้าที่มารับซื้อ
คุณเจริญ ปัญญาชื่น และภรรยา กำลังตัดแต่งและมัดผักกาดเป็นกำเตรียมส่งให้พ่อค้าที่มารับซื้อ

ช่วงวันอาทิตย์ก่อนปั่นจักรยานผ่านไปทางตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา เห็นเกษตรกร สามีภรรยาคู่หนึ่งกำลังมัดผักกาดอยู่ที่แปลงผัก เลยลงไปพูดคุยด้วย ทราบชื่อว่า คุณเจริญ ปัญญาชื่น อยู่บ้านเลขที่ 349 หมู่ที่ 18 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ด้วยวัย 55 ปี มีลูก 2 คน คนโตเรียนจบแล้ว ทำงานเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช คนสุดท้องเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนฟากกว๊านวิทยาคม ตั้งอยู่ตำบลติดกัน ถามว่าลูกชายมาช่วยงานบ้างหรือเปล่า คุณเจริญ ส่ายหน้า บอกว่าไม่เหมือนสมัยลูกสาวเรียน เดี๋ยวนี้ลูกชายมีแต่กิจกรรมของโรงเรียน วันหยุดก็ต้องเรียนพิเศษ ก็อาศัย 2 แรง สามีภรรยา หากวันไหนที่ต้องเก็บผักชีซึ่งต้องใช้แรงงานมาก ก็ต้องจ้างแรงงานเพื่อนบ้านมาช่วย

คุณเจริญ เล่าว่า ที่ดินที่ปลูกผักเป็นมรดกที่คุณพ่อมอบให้ จำนวน 2 ไร่ 2 งาน สันนิษฐานว่า บริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชน ดึกดำบรรพ์ หลายพันปีมาแล้ว เป็นแนวทางน้ำเพราะชุมชนโบราณมักจะตั้งอยู่ริมน้ำเพื่อสะดวกในการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และการเพาะปลูก เมื่อเกิดโรคระบาดหรือน้ำท่วมใหญ่จึงอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น สมัยคุณเจริญ ยังเด็ก เห็นเขาขุดหินจากบริเวณนี้ไปถมเป็นถนนสายแม่ต๋ำ-แม่ใจ ต่อมาคุณพ่อของคุณเจริญ จึงบุกเบิกปรับที่ดินมาถมทำเป็นนา บางครั้งไถนายังเจอเครื่องใช้ในยุคโบราณ พบหินสีที่แตกต่างกันอยู่เป็นประจำ

แปลงหอมแบ่ง
แปลงหอมแบ่ง

เมื่อได้รับมรดกตกทอดจากคุณพ่อของคุณเจริญ ก็สืบทอดอาชีพการเกษตรทำนาปี เสร็จจากการทำนา ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ก็จะเริ่มปลูกผัก โดยผักที่ปลูกประกอบด้วย ผักกวางตุ้ง ทั้งกวางตุ้งต้น และกวางตุ้งดอกหรือทางเหนือเรียกผักกาดจ้อน ผักชี ขึ้นฉ่าย หอมแบ่ง โดยผักกาดจะหว่านทีละแปลง พื้นที่ประมาณ 1 งาน จากนั้น 5-7 วัน ก็จะหว่านอีกแปลง เพื่อให้ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด การดูแลรักษา จะให้น้ำโดยดูจากสภาพความชื้นของดินมี 7 วัน หรือ 10 กว่าวันครั้ง โดยสูบปล่อยท่วมแปลง เนื่องจากที่ดินเป็นดินร่วนปนทราย จึงไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง อาศัยบ่อน้ำที่ขุดไว้ในบริเวณแปลงปลูกผัก ซึ่งน้ำไม่ลึกเท่าไร สาเหตุน่าจะมาจากเป็นพื้นที่ทางน้ำเดิมในสมัยโบราณ ดั่งที่คุณเจริญสันนิษฐานไว้ ปัญหาการปลูกผักของคุณเจริญ คือโรคเน่า โดยเฉพาะขึ้นฉ่ายและผักชี จะปลูกซ้ำที่ไม่ได้เลย และปัญหาหนักมากในส่วนของหมัดผัก เดิมมีการใช้สารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งมีกลิ่นฉุนมาก จะป้องกันได้นานเป็น 10 กว่าวัน แต่ปัจจุบันสารเคมีดังกล่าวถูกห้ามใช้ไปแล้ว ในส่วนของปุ๋ยจะใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอก เช่น ขี้ไก่และขี้หมู คุณเจริญ ทราบดีว่า หากใช้เคมีอย่างเดียวจะทำให้โครงสร้างของดินเสีย แต่หากใช้ชีวภาพอย่างเดียว การเจริญเติบโตช้า โดยการใช้สารเคมีให้ถูกช่วงเวลา หากจะเก็บเกี่ยวก็งดก่อนอย่างน้อย 15 วัน

การตลาดนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้า เข้ารับผลผลิตถึงแปลง และอีกส่วนคุณเจริญจะนำไปส่งให้ผู้ค้าส่งในหมู่บ้านรับไปขายต่อ รายได้แต่ละปีก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผักว่างามหรือไม่ ราคาในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดว่าสูงต่ำอย่างไร อย่างผักชีที่ขายไปก่อนหน้านี้ประมาณ 1 งาน ผลผลิต 400 กว่ากิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 15 บาท ก็ได้ประมาณ 6,000 บาท ถ้าผักกาดงามๆ รายได้ประมาณ 5,000 บาท ต่องาน ไร่หนึ่งก็ได้ประมาณ 20,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 60 วัน ก็พอคุ้มค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและส่งลูกเรียน

คุณเจริญ บอกว่า ปีนี้ถือว่าแล้งจัดในรอบ 10 กว่าปี การปลูกพืชผักซึ่งเป็นพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่จะสู้กับภัยแล้ง แต่ก็ดูแหล่งน้ำที่จะใช้ด้วยว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะตนเองไม่ได้ปลูกที่นี่แปลงเดียว มีปลูกบริเวณบ้านอีกแปลง จำนวน 3 ไร่ ใช้ระบบสปริงเกลอร์ แต่ตอนนี้ต้องหยุดเพราะน้ำไม่พอ แปลงนี้ดีเนื่องจากมีระบบ บ่อน้ำตื้นจึงสามารถที่จะมีผลผลิตออกจำหน่ายได้

แปลงปลูกผักกาด
แปลงปลูกผักกาด

ข้อมูลทางวิชาการของการปลูกผักกาดกวางตุ้ง เป็นผักที่นิยมบริโภคกันมาก ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 35-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นำมาประกอบอาหารประเภทผัด แกงจืด ผักจิ้ม เป็นต้น สามารถปลูกได้ทุกฤดูและนิยมปลูกกันทั่วประเทศ ทั้งในรูปของสวนผักการค้า

ราก เป็นระบบรากแก้ว อยู่ในระดับตื้น ส่วนที่ใหญ่สุดของรากแก้ว ประมาณ 1.20 เซนติเมตร มีรากแขนงแตกออกจากรากแก้วมาก โดยรากแขนงแผ่อยู่ตามบริเวณผิวดิน รากแก้วอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าดินมีสภาพชื้นและเย็น ลำต้น ตั้งตรง มีสีเขียว ขนาดโตเต็มที่ใช้กินได้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.4-1.8 เซนติเมตร สูงประมาณ 43-54 เซนติเมตร ก่อนออกดอกลำต้นจะสั้น มีข้อถี่มากจนดูเป็นกระจุกที่โคนต้น เมื่อออกดอกแล้วในระยะติดฝักต้นจะสูงขึ้นมาก โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 85-144 เซนติเมตร ใบ ใบเลี้ยงมี 2 ใบ มีสีเขียว ปลายใบตรงกลางจะเว้าเข้า ส่วนใบจริงจะแตกเป็นกระจุกที่บริเวณโคนต้น เป็นใบเดี่ยว ใบเรียบไม่ห่อหัว สีเขียว ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ขอบใบเป็นรอยฟันเลื่อยเล็กมาก ใบแก่ผิวใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ไม่มีขน ขอบใบเรียบหรืออาจมีรอยเว้าตื้นๆ ขนาดเล็ก โคนใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบมน ก้านใบที่ติดกับลำต้นมีสีเขียวอ่อนเป็นร่องและเรียวกลมขึ้นไปหาแผ่นใบ ก้านใบหนาและมีสีขาวอมเขียว สำหรับใบที่ช่อดอกจะมีก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร รูปใบเรียวแหลมไปทางฐานใบและปลายใบ ขอบใบเรียบ

ช่อดอกและดอก ผักกาดเขียวกวางตุ้งจะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 55-75 วัน ช่อดอกยาว 50-90 เซนติเมตร ดอกตูมรวมกลุ่มอยู่บนยอดดอกช่อดอก ดอกบานจากด้านล่างไปหาด้านบน ดอกที่บานแล้วมีก้านดอกยาวกว่าดอกที่ตูม ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ขนาดดอก 1-1.5 เซนติเมตร กลีบชั้นนอกสีเขียวอ่อน 4 อัน ขนาดเล็ก กลีบกว้าง 0.1-0.2 เซนติเมตร ยาว 0.7-0.8 เซนติเมตร กลีบชั้นในสีเหลืองสด 4 อัน แยกเป็นกลีบๆ ขนาดกลีบกว้าง 0.5-0.6 เซนติเมตร ยาว 1.1-1.2 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 อัน อับเกสรสีเหลืองแก่ ก้านชูเกสรสีเหลือง รังไข่ยาว 0.5-0.6 เซนติเมตร ซึ่งอยู่เหนือกลีบดอกและเกสรตัวผู้ ก้านเกสรตัวเมียสีเขียว ยาว 0.2-0.25 เซนติเมตร ยอดเกสรตัวเมียเป็นตุ่มสีเหลืองอ่อน ดอกบานในตอนเช้าประมาณเวลา 08.00 น. ผล ผลมีลักษณะเป็นฝัก รูปร่างเรียวยาว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนปลายไม่มีเมล็ด ยาวประมาณ 0.9-1.5 เซนติเมตร และส่วนที่มีเมล็ด ยาวประมาณ 3-4.1 เซนติเมตร กว้าง 0.3-0.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 1.3-2.5 เซนติเมตร ผลตั้งขึ้น เมื่อผลแก่จะแตกตามยาวจากโคนไปหาปลายผล เมื่ออ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล

เมล็ด ค่อนข้างกลม มีทั้งสีน้ำตาลและสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเมล็ดมีลายแบบร่างแห เห็นไม่ค่อยชัด น้ำหนัก 1,000 เมล็ด ประมาณ 2.5 กรัม ผักกาดเขียวกวางตุ้งที่ปลูกมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากคือ ผักกาดเขียวกวางตุ้งใบ สำหรับพันธุ์ผักกาดเขียวกวางตุ้งใบที่ทางกรมวิชาการเกษตร ส่งเสริมแนะนำคือ พันธุ์น่าน 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นผักกาดชนิดไม่ห่อปลี ส่วนกลางของก้านใบค่อนข้างหนา ใบมีสีเขียวอ่อน ความยาวเฉลี่ย 19.5 เซนติเมตร (อายุ 40 วัน) ความหนาของก้านใบเฉลี่ย 0.9 เซนติเมตร ความกว้างเฉลี่ย 1.3 เซนติเมตร ใบสีเขียว ลักษณะยาวรี ความยาวของใบเฉลี่ย 30 เซนติเมตร กว้าง 19 เซนติเมตร ความสูงเมื่ออายุ 40 วัน เฉลี่ย 57.26 เซนติเมตร น้ำหนักต้นเฉลี่ย 550 กรัม ออกดอกเมื่ออายุ 50 วัน ลักษณะเด่นของพันธุ์น่าน 1 คือ เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว อายุสั้น เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุระหว่าง 30-40 วัน น้ำหนักเฉลี่ยต่อต้นสูง ต้นไม่แตกแขนง ทำให้เสียหายน้อยในการบรรจุเพื่อการขนส่ง ไม่ออกดอกก่อนอายุ 40 วัน จึงสามารถทยอยเก็บเกี่ยวส่งตลาดได้ตั้งแต่อายุ 30-40 วัน แต่ข้อเสียของพันธุ์น่าน 1 ก็คือ ไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง

ผักกาดเขียวกวางตุ้งสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเจริญได้ดีที่สุดในสภาพดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี มีอินทรียวัตถุสูง ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ควรอยู่ระหว่างสภาพเป็นกรดเล็กน้อยจนถึงปานกลาง คือ pH อยู่ระหว่าง 6-6.8 ชอบดินที่มีความชื้นสูงเพียงพอสม่ำเสมอ ได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยสามารถปลูกผักกาดเขียวกวางตุ้งได้ตลอดปี เนื่องจากผักกาดเขียวกวางตุ้งเป็นผักที่มีระบบรากตื้น ดังนั้น ในการเตรียมดินควรขุดไถดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายตัวแล้วให้มาก คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วไถพรวนให้ดินละเอียด ในกรณีที่ดินมีสภาพเป็นกรดก็ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับระดับ pH ของดินให้เหมาะสม ขนาดของแปลงปลูก กว้าง 1 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร หรือตามความเหมาะสม ในการปลูกผักกาดเขียวกวางตุ้งนิยมทำกัน 2 วิธีด้วยกัน คือ

  1. การปลูกแบบหว่านเมล็ดโดยตรงวิธีนี้นิยมใช้ในการปลูกแปลงที่ยกร่อง มีร่องน้ำกว้าง และพื้นที่ควรมีการเตรียมอย่างดี และเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ผักกาดเขียวกวางตุ้งมีขนาดเล็กมาก ดังนั้น ก่อนหว่านควรผสมกับทรายเสียก่อน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ 1 ส่วน ผสมกับทรายสะอาด 3 ส่วน แล้วหว่านให้กระจายทั่วแปลงสม่ำเสมอ แล้วหว่านกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หนาประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร หลังจากนั้น คลุมด้วยฟางข้าวบางๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากงอกได้ประมาณ 20 วัน ควรทำการถอนและจัดให้มีระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร
  2. การปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถวการปลูกวิธีนี้หลังจากเตรียมดินแล้วจึงทำร่องลึกประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ให้เป็นแถว โดยให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 20-25 เซนติเมตร นำเมล็ดพันธุ์ผสมกับทราย แล้วโรยหรือหยอดเมล็ดเป็นแถวตามร่อง แล้วกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบางๆ คลุมด้วยฟางข้าวบางๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยสม่ำเสมอ หลังจากปลูกได้ประมาณ 20 วัน หรือต้นกล้ามีใบ 4-5 ใบ จึงทำการถอนแยกในแถว โดยพยายามจัดระยะระหว่างต้นให้ห่างกันประมาณ 20-25 เซนติเมตร ให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
บ่อน้ำตื้น แหล่งน้ำที่ใช้รดผักที่ปลูก
บ่อน้ำตื้น แหล่งน้ำที่ใช้รดผักที่ปลูก

การให้น้ำ เนื่องจากผักกาดเขียวกวางตุ้งเป็นผักที่ต้องการน้ำมาก และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เกษตรกรจะต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยใช้ระบบพ่นฝอยหรือใช้สายยางติดหัวฝักบัว อย่าให้ผักกาดเขียวกวางตุ้งขาดน้ำในระยะการเจริญเติบโต เพราะจะทำให้ผักกาดเขียวกวางตุ้งชะงักการเจริญเติบโตได้ การใส่ปุ๋ย เนื่องจากผักกาดเขียวกวางตุ้งเป็นผักกินใบและก้านใบ ดังนั้น การใส่ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) หรือแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นการเร่งการเจริญเติบโตทางใบและก้านใบให้เร็วขึ้น หรือใช้ปุ๋ยสูตร 20-11-11 หรือสูตรใกล้เคียง ในอัตรา 30-50 กิโลกรัม ต่อไร่ หลังจากใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรมีการรดน้ำตามทันที อย่าให้ปุ๋ยตกค้าง สำหรับการพรวนดินและกำจัดวัชพืช ควรทำให้ระยะแรกพร้อมกับการถอนแยก อายุการเก็บเกี่ยวของผักกาดเขียวกวางตุ้งค่อนข้างเร็ว คือประมาณ 35-45 วัน การเก็บเกี่ยวโดยเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่ตามต้องการ แล้วใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น แล้วตัดแต่งใบนอกที่แก่หรือใบที่ถูกโรคหรือแมลงทำลายออก หลังจากตัดแต่งแล้วจึงบรรจุภาชนะเพื่อส่งจำหน่ายตลาดต่อไป สำหรับการเก็บรักษา เนื่องจากผักกาดเขียวกวางตุ้งเป็นผักอวบน้ำ ดังนั้น การเก็บรักษาจึงควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำ ประมาณ 0 องศาเซลเซียส ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 95 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 3 สัปดาห์

 

สนใจแลกเปลี่ยนความรู้พูดคุยกันเรื่องการปลูกผัก ติดต่อได้ที่ คุณเจริญ ปัญญาชื่น บ้านเลขที่ 349 หมู่ที่ 18 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ (085) 029-0864 ขอเป็นเรื่องปลูกผักนะครับ เรื่องอื่น นอกเหนือจากนี้ขออย่าได้รบกวนเวลาทำมาหากินกันเลยครับ