ต้นแบบสวนผสมผสาน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สวนเป็นระบบ รายจ่ายแทบไม่มี มีแต่รายรับ

ทำเกษตรแบบคนรุ่นใหม่ ไม่เครียดและไม่กดดัน เพราะมีหลักคิดง่ายๆ เริ่มทำอย่างไรก็ได้ให้มีความสุขก่อน อย่าเพียงมุ่งหาแต่รายได้ คิดแค่ว่าทำเพื่อลดรายจ่ายก่อน แล้วรายได้จะตามมาทีหลัง” หลักคิดการทำเกษตร ของ คุณเมธยา

คุณเมธยา ภูมิระวิ หรือ คุณเมย์ อยู่บ้านเลขที่ 343 หมู่ที่ 6 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เกษตรกรรุ่นใหม่สานต่องานเกษตรที่พ่อสอน บนเนื้อที่ 27 ไร่ คุณเมย์ เล่าว่า เธอเรียนจบคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อเรียนจบเธอตัดสินใจกลับบ้านที่จังหวัดชุมพรทันที ไม่ได้อยู่ทำงานตามสายที่เรียนมา เนื่องจากเคยได้ฝึกงานก่อนที่จะเรียนจบ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่วิถีชีวิตที่ชอบ ไม่ชอบทำงานในออฟฟิศที่ต้องตื่นเช้ามาตอกบัตรเข้า-ออก ต้องนั่งทำงานที่มีพาร์ติชั่นกั้นเป็นล็อกๆ รู้สึกอึดอัด จึงคิดว่าที่บ้านก็มีพื้นที่ให้ทำต่อยอด ทำไมไม่กลับไปดูแลพื้นที่ของตัวเอง

เริ่มทำเกษตร บนคำสบประมาท
ของชาวบ้าน หาว่า “บ้า”

ด้วยความที่ คุณเมย์ เรียนจบคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์มา เธอเล่าว่า หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ขาดแคลน ตลาดกำลังต้องการ แต่เธอเลือกที่จะทิ้งโอกาสแล้วกลับบ้าน แรกๆ คนแถวบ้านหาว่าเธอบ้า มีงานดีๆ ไม่ทำ ซึ่งตอนนั้นเธอคิดแค่ว่า เธอไม่ได้ทำอะไรผิด เธอแค่เลือกในสิ่งที่ตัวเองรัก เลือกที่จะกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ ดูแลแผ่นดินที่ตัวเองเกิด เธอจึงมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรบนแนวคิดของเธอให้สำเร็จ และลบคำสบประมาทของชาวบ้านให้ได้

คุณเมย์ บอกว่า พื้นฐานครอบครัวพ่อกับแม่เป็นเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันมาก่อน มีการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งการทำเกษตรของพ่อ พ่อจะเน้นเรื่องการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และเรื่องของอารยะขัดขืนในสวนปาล์ม คือปลูกไม้ยืนต้นในสวนปาล์ม จะไม่เชื่อในหลักวิชาการ แต่เชื่อในหลักของการปฏิบัติและเชื่อตามศาสตร์พระราชา

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เธอตั้งต้นด้วยการเข้าไปเป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการพระราชดำริของมูลนิธิหนองใหญ่ กว่า 4 ปี ทำในส่วนของผู้ประสานงาน ดูแลในเรื่องของคณะดูงานและสถานที่ ในระหว่างนั้นก็มีการสะสมองค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วนำมาสอนสมาชิกให้ได้รู้วิธีการและระบบเครือข่ายมากขึ้น หลังจากทำงานครบ 4 ปี สะสมองค์ความรู้ได้พอสมควร จึงลาออกมาทำงานเกษตรต่อที่บ้าน

การเริ่มต้นทำเกษตรของคุณเมย์ เริ่มจากแนวคิดง่ายๆ คือ ทำสิ่งที่ตนเองชอบและมีความสุขก่อน คือการเลี้ยงสัตว์ มีไก่นานาชนิด ไก่พื้นเมือง ไก่ต๊อก ไก่งวง ห่าน ไก่ดำ เลี้ยงจนชำนาญสามารถเพาะขยายพันธุ์แจกเพื่อนบ้าน ได้แบ่งปันเริ่มมีความสุข เริ่มคิดว่าการทำเกษตรก็เหมือนห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่ต้องศึกษาหาความรู้ที่ในทฤษฎีไม่ได้บอกอยากรู้ต้องลงมือทำ เพราะถ้ามีแต่องค์ความรู้ แต่ทำไม่เป็น ก็ได้แค่มอง เธอจึงเลือกที่จะลงมือปฏิบัติจากสิ่งง่ายๆ จากการขยายพันธุ์สัตว์จนสำเร็จได้มีความสุขไปแล้ว จึงขยับมาทำงานสวนต่อ ปลูกไม้ผล ทำสวนป่า ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะภายในสวนจะทำน้ำหมักไล่แมลงเอง ทำน้ำหมักปรับโครงสร้างดินแต่ละสูตร ทำปุ๋ยหมักบำรุงพืชเอง เช่น น้ำหมักจาวปลวกเป็นสูตรที่ทำง่ายแต่ได้ผลดี

สูตรน้ำหมักจาวปลวก ทำง่ายได้ผลดี

เริ่มจากการหารังปลวกมาก่อน แล้วขุดเอาดินแข็งๆ ออก เอาแต่รังนิ่มๆ ข้างใน แล้วนำมาผสมน้ำเปล่า กากน้ำตาล รำ แล้วหมักทิ้งไว้ 3 เดือน

วิธีใช้ นำไปรดดิน รดต้นไม้ ช่วยในเรื่องการปรับโครงสร้างของดินให้รากพืชเดินได้สะดวกขึ้น เพราะในรังปลวกมีน้ำลายของปลวก จะมีเชื้อราตัวดี เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียแอคติโนมัยซีท ที่เป็นตัวดีๆ ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกพืชผักให้ได้ผลผลิตดีขึ้น

การทำงานเกษตร ระบบน้ำต้องมาเป็น อันดับ 1
มีน้ำพอ จัดการดี ทำอะไรก็สำเร็จ”

เจ้าของบอกว่า การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ น้ำ คือ สิ่งสำคัญ ไม่มีน้ำก็ปลูกพืชไม่ได้ ที่สวนจะให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำมาเป็น อันดับ 1 มีการจัดระบบน้ำที่ดี หน้าแล้งไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะวางแผนระบบน้ำให้มีพอใช้ มีการขุดคลองไส้ไก่ เจ้าของอธิบายเพิ่มเติมว่า คลองไส้ไก่ คือร่องระบายน้ำที่มีลักษณะคดเคี้ยวคล้ายกับไส้ไก่ เพื่อชะลอน้ำให้ไหลช้าลง และกระจายความชื้นได้ทั่วถึง ยกตัวอย่าง แปลงทดลองที่สวนมีพื้นที่ไร่ครึ่ง ที่สวนขุดคลองไส้ไก่โดยไม่วางระบบน้ำ แต่ปลูกหญ้าแฝกแทน แล้งที่ผ่านมาต้นไม้บนแปลงไม่ตาย หญ้าเขียวขจี สวนคนอื่นวางระบบน้ำต้องเปิดรดทุกวันเกือบจะไม่รอด แต่คลองไส้ไก่ถึงแม้น้ำจะแห้งแต่มีระบบหญ้าแฝกยึดหน้าดินอยู่ ต้นไม้จึงงาม เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติช่วยกักเก็บน้ำ ช่วยกระจายความชุ่มชื้นในดิน แต่จะให้ได้ผลเต็มขั้นคลองไส้ไก่ต้องอยู่คู่กับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ถึงจะดี มีหญ้าแฝก มีต้นไม้หลากหลาย 5 ระดับขึ้นไป จะช่วยลดการระเหยของน้ำได้ เพราะถ้าเป็นบ่อทั่วไป ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านตรัสว่าน้ำจะลดทุกวัน ยิ่งบ่อกว้างมาก น้ำจะระเหยมาก ทางที่ดีควรขุดบ่อน้ำให้ลึกกว่า 3.65 เมตร เพื่อป้องกันน้ำระเหย วันละ 1 เซนติเมตร แต่บ่อที่สวนจะขุดไว้ลึกประมาณ 12 เมตร สามารถเลี้ยงปลาหาอาหารได้ และยังมีน้ำไว้แบ่งปันเพื่อนบ้านยามฉุกเฉินหน้าแล้งได้เพียงพอ

แปลงทดลองคลองไส้ไก่

บริหารจัดการพื้นที่ ทำทุกตารางนิ้วเป็นเงิน

พื้นที่ทำการเกษตรของคุณเมย์ มีทั้งหมด 27 ไร่ คุณเมย์ แบ่งพื้นที่ไว้ขุดสระทำบ่อน้ำไว้ใช้ในการเกษตร 7 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันผสมกับสวนป่า 9 ไร่ สวนผสมไม้ผล 6 ไร่ และแบ่งพื้นที่ไว้ทดลองทำโคกหนองนาโมเดล 1 ไร่ คุณเมย์ บอกว่า ยิ่งทำให้ครบวงจร จะยิ่งลดค่าใช้จ่ายได้มากเท่านั้น การทำเกษตรถ้าทำอย่างเดียว เมื่อเกิดปัญหาจะพาลำบากกันไปทั้งบ้าน ทางที่ดีคือ ผสมสผสาน ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีป่า มีสัตว์ ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ เมื่อระบบนิเวศสมบูรณ์สัตว์จะเริ่มจัดการกันเอง ทำปุ๋ยก็ไม่ต้องกลับกองเอง ใช้ไก่ในการคุ้ยเขี่ยสลับกองให้ และยังช่วยกำจัดวงจรแมลงวัน หรือที่สวนเลี้ยงปลา หากไก่ตายก็สามารถเอาไก่ไปให้ปลากินเป็นอาหารได้อีก รวมถึงการทำน้ำหมักจะเน้นในเรื่องของการนำเศษอาหารในครัวเรือน จากคณะที่มาศึกษาดูงาน ที่เหลือมาทำน้ำหมัก มาผสมกับรำ ทำเป็นอาหารปลา พยายามทำตามฟันเฟืองของธรรมชาติ อย่าไปฝืนธรรมชาติ ถ้าอยู่กับธรรมชาติได้ รายได้จะมาเอง

เชื่อในสิ่งที่ทำ แล้วความสำเร็จจะมาเอง

“หลายคนอยากทำเกษตร แต่ยังมีความกังวล คิดว่าตัวเองไม่มีความรู้ แล้วจะทำได้อย่างไร อยากบอกว่าให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเลือกและทำให้ดีที่สุด ทำอย่างตั้งใจ อย่างตัวเธอเอง เธอก็ไม่มีความรู้มากมายอะไร อาศัยจากการเรียนรู้ อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และให้ยึดหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้ง 5 ข้อ

  1. ความอดทน
  2. ไม่พูดมาก ไม่อวดรู้
  3. ไม่ทะเลาะกัน
  4. มีความเพียร
  5. อย่าใจร้อน

การทำเกษตรใจร้อนไม่ได้ ถ้าเร่งจะเอาแต่เงินก็พัง ถ้าทุกคนยึดหลักเหล่านี้ได้ เชื่อว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จแน่นอน เพราะตัวเธอเองก็ไม่ได้มีเงินทองมากมาย เริ่มจากครอบครัวติดหนี้ แต่ทุกวันนี้ปลดหนี้ได้หมด และมีเงินซื้อที่เพิ่ม เพราะยึดศาสตร์พระราชาเป็นแบบอย่าง” คุณเมย์ กล่าวทิ้งท้าย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2565