อบเชย เครื่องเทศคู่ครัว – สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

อบเชย

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

น้าชาติ ขอข้อมูลประโยชน์ของอบเชย

ปูเป้

 

ตอบ ปูเป้

อบเชย ชื่อสามัญ Cinnamon, Cassia ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum spp. อบเชยที่คุ้นเคยกันคือชื่อของเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม ได้มาจากเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย แท่งอบเชยมีสีน้ำตาลแดง มีลักษณะเหมือนแผ่นไม้แห้งที่หดงอหลังจากโดนความชื้น

การใช้ประโยชน์ยอดนิยมของอบเชยคือนำไปประกอบในเครื่องแกง เช่น พริกแกงกะหรี่ หรือใช้ร่วมกับโป๊ยกั้กในอาหารคาวประเภทพะโล้ เนื้อตุ๋น ขณะที่แถบตะวันตกมักใส่อบเชยในของหวาน เช่น ซินนามอนโรล หรือใช้ผงอบเชยละเอียดโรยหน้ากาแฟใส่นม ใช้ผงอบเชยกับน้ำตาลโรยหน้าเพรตเซล ทั้งยังมีลูกอม หมากฝรั่ง และยาสีฟันรสอบเชย

อบเชยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณทางยาใกล้เคียงกัน นำมาใช้แทนกันได้ พันธุ์ที่มีชื่อเสียงคุณภาพดีและราคาแพงที่สุด คือสายพันธุ์จากศรีลังกา อบเชย สายพันธุ์จากจีนจะอ่อนที่สุด ส่วนอบเชยไทยไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะเปลือกหนาและไม่หอม

อบเชยจีน

บางข้อมูลระบุว่า อบเชยญวนมีคุณภาพสูงสุด รองลงมาคืออบเชยจีน และอบเชยเทศ ทั้งนี้ ส่วนประกอบของสารเคมีและน้ำมันระเหยแต่ละชนิดไม่เท่ากัน

สำหรับประเทศไทยมีอบเชยมากกว่า 16 ชนิด โดยมีชนิดใหญ่ๆ อยู่ 5 ชนิด ได้แก่ อบเชยเทศ หรืออบเชยลังกา, อบเชยจีน, อบเชยญวน, อบเชยชวา หรืออบเชยอินโดนีเซีย และอบเชยไทย

อบเชยเป็นเครื่องยาหรือเครื่องเทศที่ได้มาจากการขูดเอาเปลือกชั้นนอกออกให้หมด แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาวของกิ่ง แล้วผึ่งในที่ร่มสลับกับตากแดดประมาณ 5 วัน ในขณะที่ตากให้ใช้มือม้วนเอาขอบทั้งสองข้างเข้าหากัน เมื่อเปลือกแห้งแล้วจึงมัดรวมกัน เปลือกอบเชยที่ดีจะต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีสนิม มีความตรงและยาวอย่างสม่ำเสมอ โดยยาวประมาณ 1 เมตร

อบเชยมีรสเผ็ด หวานชุ่ม กลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ โดยรวมสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ ชูกำลัง ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับผายลม อาหารไม่ย่อย แก้เบื่ออาหาร แก้ท้องเสีย ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งยังใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ แก้ลมวิงเวียน ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้อาการอ่อนเพลีย ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้สันนิบาต แก้อาการไอ

อบเชยยังช่วยลดความดันโลหิต โดยใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไป หรือที่เป็นแท่งนำมาบด ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น

นอกจากนี้มีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการสันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น ลดการดื้ออินซูลิน ทำให้เซลล์ต่างๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด

สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานให้ใช้อบเชยวันละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 1,200 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 4 มื้อ ซึ่งจะได้ผงอบเชยในปริมาณ 300 มิลลิกรัม หรือมีขนาดเท่ากับแคปซูลเบอร์ 1

ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน กินได้วันละ 500-600 มิลลิกรัม หรือประมาณวันละ 2 แคปซูล ทั้งช่วยย่อยสลายไขมัน ควบคุมระดับไขมันในเลือด และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้มีระดับต่ำลง ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมีสารคลีเซอไรซินเข้มข้น

อบเชยจัดอยู่ในพิกัดยาไทยร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ หลายตำรับ ได้แก่ พิกัดตรีธาตุ (เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้ไข้ แก้เสมหะ), พิกัดตรีทิพย์รส (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ), พิกัดจตุวาตะผล (เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้พรรดึก ขับผายลม แก้ลมกองริดสีดวง แก้ ตรีสมุฏฐาน), พิกัดทศกุลาผล (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้เสมหะ บำรุงปอด ขับลมในลำไส้ แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต)

คำเตือน อบเชยจีนเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมากๆ หรือไม่ได้รับประทานตามคำแนะนำในฉลากหรือจากแพทย์ ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นโรคตับ เนื่องจากอบเชยจีนมีสารคูมารินซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ และการได้รับสารนี้ในระยะยาวก็อาจมีปัญหาต่อตับได้

ที่มา     :   คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ผู้เขียน  :  น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]