ปลูกครามแซมสวนหม่อน หนึ่งช่องทางเสริมรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

คราม (Indigofera) เป็นพืชตระกูลถั่ว ชนิดหนึ่ง และเป็นพืชที่ให้สีธรรมชาติที่ตลาดมีความต้องการสูง ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดที่ปลูกลูกครามเชิงการค้าโดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร มีการปลูกครามอย่างแพร่หลายทั้งการปลูกเป็นพืชเดี่ยวและปลูกตามหัวไร่ปลายนา สำหรับพันธุ์ครามที่ปลูกมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ครามสายพันธุ์ฝักงอ (ให้เฉดสีน้ำเงินถึงกรมท่าเข้ม) และสายพันธุ์ฝักตรง (ให้เฉดสีฟ้า) ซึ่งเกษตรกรมีการตัดต้นและใบครามมาผลิตเป็นเนื้อครามหรือ “ครามเปียก” จำหน่ายให้กับผู้ใช้ครามเพื่อย้อมสีเส้นใยและย้อมผ้าโดยครามเปียกมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 100-150 บาท/กิโลกรัม ซึ่งในช่วงฤดูแล้งความเปียกจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกครามได้เป็นอย่างมาก

การปลูกครามแซมในแปลงหม่อน แนะนำให้ปลูกห่างจากแถว 1 เมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร แต่ถ้าร่องหม่อนกว้าง 2-3 เมตร สามารถที่จะปลูกครามได้ 2 แถว ระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร แต่ถ้าร่องหม่อนแคบก็ให้ปลูกครามแซมเพียงแถวเดียวโดยใช้วิธีการหยอดหรือหว่านเมล็ด และก่อนที่จะปลูกครามต้องตัดต้นหม่อน ในลักษณะตัดต่ำ เนื่องจากครามเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก ขณะเดียวกันยังทำให้การจัดการดูแลหม่อนและครามทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการใส่ปุ๋ยคอกหลังตัดต่ำ และการใส่ปุ๋ยเคมีโดยนำทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการใส่ปุ๋ยคอกหลังตัดต่ำ และการใส่ปุ๋ยเคมีโดยนำปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 จำนวน 50 กิโลกรัม และสูตร 15-15-15 จำนวน 50 กิโลกรัม มาผสมกัน แล้วแบ่งใส่แปลงปลูกหม่อนและคราม 2 ครั้งๆ ละ 75 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งครั้งแรกใส่เมื่อครามอายุได้ 1 เดือน และให้ใส่อีกครั้งเมื่ออายุ 2 เดือน

ทั้งนี้ การปลูกครามแซมในสวนหม่อนควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน หรือเดือนเมษายน-มิถุนายน หรือหากมีระบบการจัดการน้ำในแปลงหม่อน ก็สามารถปลูกครามได้ตลอดทั้งปี หลังปลูก 3-4 เดือน ครามจะเริ่มออกดอกและติดฝัก ซึ่งจะให้สีมากที่สุด ก็สามารถตัดต้นและให้ครามมาผลิตเป็นครามเปียกได้ และยังเก็บเกี่ยวใบหม่อนมาเลี้ยงไหมได้ด้วย

นอกจากนี้ จากผลการศึกษายังพบว่า การปลูกครามแซมสวนหม่อนทั้งแบบหว่านและแบบหยอดเมล็ด และพันธุ์ครามฝักตรงและฝักงอ ไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นหม่อนและการให้ผลผลิตใบ ซึ่งหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ยังให้ผลผลิตใบถึง 1-2 ตัน/ไร่ ขณะที่ต้นควรเติบโตดีและให้น้ำหนักต้นและใบสดรวมกว่า 2,200 กิโลกรัม/ไร่ นำเข้าสู่ขบวนการสกัดเนื้อครามเพื่อผลิตเป็นครามเปียกได้ ประมาณ 275 กิโลกรัม และส่งจำหน่ายราคากิโลกรัมละ 100-200 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

เกษตรกรอาจผลิตครามเพื่อใช้ย้อมสีเส้นไหมเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือถ้าไม่ตัดต้นและใบครามมาผลิตครามเปียก เกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้เสริมจากครามที่แซมในร่องหม่อนโดยการเก็บเมล็ดครามจำหน่ายให้กับผู้ปลูกครามในเชิงการค้า ซึ่งจะให้ผลผลิตประมาณ 60-70 กิโลกรัม/ไร่ ในตลาดนั้นมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างสูง โดยราคาซื้อขายเมล็ดครามอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท เป็นอีกหนึ่งช่องทางเสริมรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ดีกว่าทิ้งร่องหม่อนให้ว่างเปล่า นอกจากนั้นการปลูกครามแซมในร่องสวนหม่อนยังมีข้อดึ คือ สามารถช่วยตัดปัญหาเรื่องวัชพืชในแปลงหม่อน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจำกัดวัชพืชลงได้อีกด้วย

ปัจจุบันครามเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดสกลนครเป็นอย่างมาก มีมูลค่าการตลาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท/ปี ซึ่งนอกจากจะส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าในพื้นที่จังหวัดสกลนครซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิต ผ้าไหมและผ้าไหมย้อมครามและจังหวัดอื่นๆ ในประเทศแล้ว ยั่งส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมหม่อนไหม