ปลูกถั่วลิสงครบวงจร สร้างรายได้ยั่งยืน ทำครบจบในที่เดียว

เนื่องจากบริเวณสองฝั่งแม่น้ำชี มักจะมีปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและประสบความแห้งแล้งในฤดูแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ละทิ้งถิ่นฐานออกไปทำงานรับจ้างนอกภาคการเกษตรมากขึ้น และนับวันจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น 

แต่ด้วยน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใน ปี พ.ศ. 2540 จึงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดเก็บน้ำและการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ดังนี้

“ให้จังหวัดขอนแก่นหาวิธีการเก็บน้ำในพื้นที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำชี เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนหลากและนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค และช่วยเหลือการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่เกษตรกรจังหวัดขอนแก่น” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรในเขตพื้นที่ดังกล่าว จึงทรงมีพระราชดำริ…

ในปี 2545 กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ด้วยความร่วมมือของส่วนราชการในจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบให้จัดทำ โครงการการพัฒนาการเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดขอนแก่น ขึ้น

โครงการการพัฒนาการเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้การเกษตรเชิงระบบสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ พัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำชี พัฒนาการผลิตพืชในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำชีให้มีความเหมาะสมและมีความยั่งยืนในการผลิต

โครงการสร้างกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตถั่วลิสงแบบครบวงจรบ้านละหานนา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนา ที่กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่นและศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ได้ดำเนินการในพื้นที่แห่งนี้

1471022145

ด้วยถั่วลิสงสามารถปลูกทั้งในสภาพไร่และสภาพหลังนาได้เกือบทุกจังหวัด ในฤดูฝนเกษตรกรจะปลูกในสภาพไร่ ส่วนในฤดูแล้งจะปลูกในพื้นที่สภาพนา แต่ในการปลูกของเกษตรกรพบว่ามีปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ พันธุ์ที่ใช้ปนหรือเมล็ดพันธุ์ไม่บริสุทธิ์ ปัญหาเมล็ดลีบ ไม่เคยใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ไม่มีการคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันโรค และใส่ปุ๋ยเคมีไม่เหมาะสม ไม่มีการใส่ยิปซัมระยะออกดอก

นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรเน้นการขายถั่วลิสงแบบฝักสด เนื่องจากสามารถจำหน่ายได้ง่าย ตลาดมีความต้องการสูง ส่วนการขายถั่วลิสงแบบฝักแห้งจะมีปริมาณที่น้อย เนื่องจากเกษตรกรต้องนำไปตากเพื่อลดความชื้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้แก่เกษตรกร ทำให้เกิดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์

1471022185

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงของกรมวิชาการเกษตรเข้าไปดำเนินการส่งเสริม นับเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงเรื่องการขาดเมล็ดพันธุ์ในการผลิตถั่วลิสงในฤดูกาลถัดไป โดยเฉพาะการผลิตถั่วลิสงฝักแห้งเพื่อสามารถเก็บได้นาน และจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่มีความต้องการปลูกได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของถั่วลิสงได้

โครงการสร้างกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตถั่วลิสงแบบครบวงจรบ้านละหานนา ดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจในการปลูกถั่วลิสงมาร่วมดำเนินกิจกรรมของกลุ่มและสร้างอาชีพเสริมแก่สมาชิกให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน และมีเป้าหมายในการจัดหาเมล็ดพันธุ์และปัจจัยในการผลิตถั่วลิสงให้ครบวงจร ตั้งแต่การเตรียมปัจจัยการผลิต การปลูก การดูแลรักษา การจำหน่าย และการแปรรูปเพื่อจำหน่าย รูปแบบการดำเนินงานเน้นการผลิตเพื่อจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวของสมาชิก และการลดต้นทุนการผลิตด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้แรงงานภายในครอบครัว ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกและลงทุนเฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น

สำหรับการดำเนินการของโครงการ มีขั้นตอนการปฏิบัติ โดย หนึ่ง การเลือกพื้นที่และเกษตรกรในการดำเนินงาน สอง ดำเนินการทดสอบ สาม จัดทำการฝึกอบรมเกษตรกร และจัดเวทีเสวนาเกษตรกรเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน สี่ คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบในการผลิตและกระจายพันธุ์ถั่วลิสง และ ห้า ติดตามผลการดำเนินงานของเกษตรกร

1471022177

โครงการสร้างกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตถั่วลิสงแบบครบวงจรบ้านละหานนา ได้สนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ให้เกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ราย ปลูกถั่วลิสงรายละ 1 ไร่ โดยปลูกถั่วลิสงสายพันธุ์ขอนแก่น 6 เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงมีการคลุกสารคาร์บอกซินเพื่อป้องกันโรคโคนเน่าและเชื้อไรโซเบียมเพื่อช่วยในการตรึงธาตุไนโตรเจน ส่วนการเตรียมดินได้หว่านปูนโดโลไมท์เพื่อบำรุงฝักและใช้เมล็ดถั่วลิสง อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ ปลูกในเดือนมิถุนายน และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังปลูก 10-15 วัน และ 30-45 วัน

ผลการดำเนินโครงการสามารถพัฒนาระบบการผลิตถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 ของกรมวิชาการเกษตร ได้ครบวงจรและยั่งยืน โดยยกระดับผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ยของถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 ได้ถึง 546 กิโลกรัม ต่อไร่ และจากเดิมที่ผลิตได้ 393 กิโลกรัม ต่อไร่

อีกทั้งยังสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น 6 ในฤดูฝน และกระจายพันธุ์ให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการได้อย่างเพียงพอ ต่อการปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้งได้ เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกถั่วลิสง ประมาณไร่ละ 10,000 บาท และเกษตรกรบางส่วนนำถั่วลิสงแห้งทำการแปรรูปผลผลิตถั่วลิสง

จากการขยายผลเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสง อำเภอแวงน้อย อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอชนบท โดยเกษตรกรต้นแบบ ทำให้ในปี 2555/2556 มีเกษตรกรผู้ผลิตถั่วลิสงบริเวณสองฝั่งแม่น้ำชี ทั้ง 3 อำเภอ เพิ่มขึ้นเป็น 180 ราย

1471022166

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ปลูกในฤดูแล้งยังเป็นปัญหาหลัก ในการผลิตถั่วลิสงในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยังต้องการการถ่ายทอดและทดสอบเทคโนโลยี เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ในฤดูฝน

ในส่วนการขยายผลเกษตรกรภายใต้โครงการพัฒนาการเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดขอนแก่น ได้เรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงแบบต่างๆ จากแปลงทดสอบ แปลงต้นแบบ แปลงกระจายพันธุ์และการฝึกอบรม และสามารถนำเอาเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงที่ได้รับการถ่ายทอดไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองอย่างเป็นระบบ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้งแรงงานและปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลผลิตถั่วลิสงออกสู่ตลาดและจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 15

1471022156

ส่งผลทำให้ครอบครัวและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงของรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป็นต้นแบบให้เกษตรกรหรือผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ระบบการดำเนินงานของกลุ่ม ทำให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการมีความสนใจและมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น

 

สำหรับผู้สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกถั่วลิสงแบบครบวงจร สามารถติดต่อได้ที่ คุณสรรเสริญ เสียงใส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. (034) 261-504 และ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 203-500, (043) 203-504