ชาวพังงา ทำฝันเป็นจริง ปลูกองุ่นสำเร็จ เล็งขยายเป็นจุดท่องเที่ยว

ปกติ องุ่น ในบ้านเรามักปลูกกันในภาคเหนือและบางส่วนที่ปากช่อง-เขาใหญ่ ในพื้นที่อื่นอาจมีบ้างประปราย ยังไม่เคยได้ยินว่ามีการปลูกองุ่นกันในภาคใต้ แต่ล่าสุด “คุณนิกร สาระการ” อายุ 53 ปี อยู่ที่ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ปลูกองุ่นหลากหลายสายพันธุ์ และได้ผลผลิตออกมาแล้ว สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับเจ้าตัวและผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะน่าจะเป็นเจ้าแรกของพังงาหรือของภาคใต้ก็ว่าได้ที่สามารถปลูกองุ่นจนออกลูกได้สำเร็จ

 

เชื่อมั่นภาคใต้ปลูกองุ่นได้ดี

คุณนิกร สาระการ เล่าที่มาที่ไปของการมาปลูกองุ่นว่า ตนเองนั้นทำอาชีพหลายอย่าง นอกเหนือจากการเป็นไกด์ คือเป็นวิทยากรด้านงานศิลปะผ้าบาติกและงานเพ้นต์สีอะคริลิก เรื่องการปลูกองุ่นนั้นเป็นความฝันมาตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว เพราะเป็นพืชที่ไม่มีในแถบภาคใต้ ตอนอายุประมาณ 20 ปี ไปซื้อหนังสือการปลูกองุ่นมาศึกษา ได้ความรู้ว่าภูมิอากาศทางภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกองุ่นที่ดีมาก โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า ภาคใต้ส่วนใหญ่มีพื้นที่ลาดเอียงเป็นส่วนมาก ในที่สูงมีป่าไม้ที่อุ้มน้ำไว้

การปลูกองุ่นในพื้นที่แบบนี้ไม่ต้องรดน้ำ ซึ่งเป็นข้อดี แต่ปัญหาคือ ภาคใต้มีน้ำเยอะไป จะทำให้องุ่นมีรสเปรี้ยว เมื่อเรียนรู้แบบนี้เลยไปคุยกับคนรอบๆ ข้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะหัวเราะ และพูดว่าไม่เคยเห็นใครทำ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะองุ่นเป็นพืชเมืองหนาว ตนเองจึงเก็บความรู้ไว้ในใจเรื่อยมา

“ตอนอายุ 22 ปี มีโอกาสได้ไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่นั่นมีการทำสวนองุ่นทั้งที่เป็นประเทศแห้งแล้ง และผมได้ศึกษาคัมภีร์อัลกุรอ่าน จึงรู้ว่ามีการกล่าวถึงองุ่นที่เป็นผลไม้ในสวนสวรรค์ มีความเป็นสิริมงคลยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้การปลูกองุ่นก็อยู่ในใจผมตลอดมา”

เรียกว่าเขาเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องขององุ่นมาอย่างจริงจัง ดังนั้น เมื่อคุณนิกรกลับจากซาอุดีอาระเบียมาเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2538 จึงให้น้องสาวซื้อต้นองุ่นติดตามาให้ทดลองปลูก 1 ต้น แต่ปลูกในกระถาง ปรากฏว่าขึ้นดีโตดี โดยปล่อยให้ขึ้นโครงจั่วหน้าบ้าน จนเกือบเต็มหน้าจั่วแล้ว แต่เป็นช่วงที่เขาต้องออกไปทำงานนอกบ้านบ่อยๆ หรือครั้งละหลายๆ วัน กว่าจะได้กลับบ้าน บวกกับตรงกับหน้าแล้ง จึงทำให้ต้นองุ่นไม่รอด จากนั้นก็ไม่มีการปลูกใหม่อีกเลย แต่ความชอบในองุ่นของเขายังฝังอยู่ในใจตลอด และบางครั้งถึงกับฝันเห็นต้นองุ่นหลายครั้งหลายครา เป็นความฝันที่รอความเป็นจริง

คุณนิกร เล่าว่าได้กลับมาปลูกองุ่นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2547 เป็นต้นองุ่นติดตา โดยปลูกไว้ที่หลังบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่รอด เหลือแต่ต้นตอองุ่นป่า เลยปลูกเอาร่มเงา จนมีอายุมาก และออกลูกเล็กๆ บ้าง อยู่ได้ประมาณ 8-9 ปี ต้นก็ตาย

พันธุ์บิวตี้ซีดเลส

จนมาถึงประมาณเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว คิดอยู่ว่าอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันคงจะไม่ยั่งยืนพอ หากอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพวิทยากรสอนงาน หรืออาชีพมัคคุเทศก์ จึงมองที่จะหาอาชีพใหม่มารองรับ เลยคิดถึงการเกษตร ก่อนหน้านั้น เคยทดลองปลูกเมล่อนประมาณ 30 ต้น เพราะหวังจะเป็นการช่วยส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากตนเองเป็นกลุ่มชุมชนที่ทำท่องเที่ยวโดยชุมชน ชื่อ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านโคกไคร แต่ด้วยความที่เมล่อนเป็นพืชที่ต้องเอาใจใส่มาก และต้องทำโรงเรือน จึงไม่คิดที่จะปลูกต่อแค่ทดลองปลูกครั้งเดียว จากนั้นเริ่มหาข้อมูลเรื่ององุ่นทางอินเตอร์เน็ตอย่างจริงจังอีกครั้ง

 

คนขายต้นพันธุ์ให้ทำใจ

กระทั่งตัดสินใจสั่งต้นพันธุ์องุ่นติดตาทางอินเตอร์เน็ตจากเชียงราย โดยสั่งมา 12 ต้น ต้นละ 80 บาท จำนวน 6 สายพันธุ์ พันธุ์มีเมล็ดอย่างละ 2 ต้น คือ ไวท์มะละกา และป๊อกดำ ส่วนพันธุ์ไร้เมล็ด อย่างละ 2 ต้น 4 สายพันธุ์ คือ แบล็คโอปอล รูทเพอเรท เฟรมฟิตเล็ต บิวตี้ซีดเล ซึ่งทุกต้นใช้องุ่นป่าเป็นต้นตอ

“คนขายต้นพันธุ์บอกว่า ต้องทำใจ เพราะว่าต้นองุ่นคงจะรอดแค่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ผมตอบไปว่า ไม่เป็นไร พอรับมาจากไปรษณีย์ แล้วนำมาเลี้ยงในถุงดำ ขนาด 8 นิ้ว โดยซื้อดินถุงสำหรับเพาะชำมาแบ่งลงถุง เลี้ยงจนกระทั่งมีขนาดเถา ความยาว ประมาณ 1.5-2.0 เมตร จึงนำลงปลูกในแปลง ขุดหลุมขนาด กว้าง-ยาว-ลึก 12-12-12 นิ้ว ใช้ดินถุงสำหรับเพาะชำ ผสมกับหน้าดินที่ขุดหลุม และปุ๋ยเกล็ดน้ำตาล หลุมละ 1 ช้อนโต๊ะ พร้อมปลูกได้เลย”

ช่วงนำไปปลูกในถุงดำเพื่อให้องุ่นปรับตัว ประมาณ 10 วัน มีแตกตาออกมาขนาดใหญ่ ตอนนั้นดีใจมาก รีบใส่ปุ๋ย รดน้ำ ตื่นเช้าขึ้นมาอีกวัน ตาขนาดใหญ่นั้นหายไป กลายเป็นหลุม ค้นไปค้นมาเจอหอยทาก เลยย้ายที่เพาะ จากนั้นเลี้ยงต่อมาแบบล้มลุกคลุกคลาน พร้อมส่องดูและเก็บหอยทากทุกคืน สรุปเหลือที่ติดตาได้ 10 ต้น ส่วนอีก 2 ต้น เหลือตอต้นองุ่นป่า”คุณนิกร แจกแจงว่า ได้เริ่มปลูกองุ่นลงดิน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยแบ่งเป็น 2 แปลง คือพันธุ์มีเมล็ด 1 แปลง และไม่มีเมล็ดอีก 1 แปลง ส่วนองุ่นป่าอีก 2 ต้น ปลูกไว้ใกล้ๆ กัน เพราะตั้งใจว่าต่อไปสามารถจะชำและติดตา ขยายพันธุ์เองได้

ในแปลงปลูกองุ่นนั้น เขาระบุว่า ทำค้างองุ่นแบบง่ายๆ โดยใช้ไม้เสาที่หาได้ข้างๆ บ้าน แล้วใช้เชือกฟางเส้นแดงๆ ขึงตามยาวของค้าง ที่มีความยาว 5 เมตรบ้าง 7 เมตรบ้าง ให้แต่ละเส้นห่างกันประมาณ 1 คืบ ที่ใช้เชือกฟางแดงเพราะว่ายังไม่มั่นใจว่าองุ่นจะออกลูกหรือไม่ แต่พอแน่ใจแล้วว่าออกลูก ก็เปลี่ยนเป็นใช้เส้นลวดแทน หรือสายไฟฟ้าเก่าร่วมด้วย แต่ตอนนี้ยังเปลี่ยนไม่หมด ต้องรอเข้าช่วงตัดแต่งกิ่งครั้งต่อไป

ส่วนความกว้างของค้างองุ่น ประมาณ 1.8-2.0 เมตร คือแต่ละค้าง จะมีความยาวประมาณ 5-7 เมตร กว้าง 1.8-2.0 เมตร ค้างละ 1 ต้นบ้าง 2 ต้นบ้าง และ 4 ต้นบ้าง ตามพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด

ระหว่างที่ปลูกองุ่นนั้น คุณนิกร เล่าว่า ปลูกไป ถ่ายรูปไป วัดขนาดไป และเห็นชัดว่าต้นองุ่นโตเร็วมาก เพราะเป็นช่วงฝนตกติดต่อกัน แค่ 3 เดือน องุ่นโตเต็มค้าง ทว่าในแต่ละต้นโตไม่เท่ากัน โดยเฉพาะพันธุ์บิวตี้ซีดเลสไม่โตเลย ต้นสูงได้แค่ด้ามดินสอ พออายุ 4 เดือน ต้นที่โตค่อยๆ เล็กลง ใบเริ่มออกอาการ กิ่งเริ่มแห้งตาย ช่วงนั้นรู้สึกหนักใจ จึงใช้วิธีหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ไม่กล้าใช้ยาเคมี ได้แต่ใช้ยาเส้นตราเสือไฟคู่ ยาสูบ ละลายบีบเอาเฉพาะน้ำฉีดพ่น

ประคับประคองอยู่ 2 เดือน ต้นองุ่นจึงฟื้นขึ้นมา เลยตัดแต่งยอดที่เสียออก บังเอิญ มี 2 ต้น แทงช่อดอกออกมาให้เห็น ก็รู้สึกดีใจ แต่มีอยู่ต้นหนึ่งเจอโรค จนต้นโทรมมาก ทำให้ต้องตัดใบและกิ่งอ่อนออกให้หมด เพื่อจะให้ออกดอกหรือไม่ก็ตายไปเลย ต่อมา 15 วัน เริ่มแตกตาใหม่ให้เห็น หลังจากนั้นเริ่มแทงช่อดอก ต้นนี้มี 24 ช่อ แต่ช่วงนั้นฝนตกเยอะมาก ทำเอาดอกเสียหายอีก เหลือไม่กี่ช่อ

 

6 สายพันธุ์ ออกลูกหมด

ตอนแรกนั้น คุณนิกร ยังไม่ได้มุงหลังคา แต่พอเห็นอาการของต้นองุ่นที่มีอาการเป็นโรค คิดว่าถ้าไม่มุงหลังคาองุ่นจะไม่รอด เลยตัดสินใจไปซื้อผ้ายางกันฝนสีใสๆ มามุง โดยทำโครงหลังคาด้วยไม้ไผ่ และท่อพีวีซี

ส่วนการใช้ยาเส้นละลายน้ำราดที่หลุม คุณนิกร อธิบายว่า เพื่อป้องกันหนอนบางชนิดที่จะมากัดกินราก โดยเฉพาะไส้เดือนฝอยในดิน ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจ แต่ไม่สามารถป้องกันหอยทากได้เลย และละลายน้ำเพื่อฉีดพ่นไปที่ใบและยอดอ่อน เพื่อป้องกันแมลงต่างๆ แต่ได้ไม่ทุกชนิด จนกระทั่งหันมาใช้แอมโมเนีย หรือที่เรียกกันว่าลูกเหม็นที่ใช้ใส่ในตู้เสื้อผ้า นำมาห่อผ้าแล้วชุบกับน้ำมันพืช จากนั้นนำไปแขวนไว้ที่ค้างองุ่น ทำให้แมลงไม่กล้าเข้ามารบกวน เหตุผลที่ทำอย่างนี้เพราะไม่ต้องการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลงทั่วๆ ไป

จากผลของการแต่งกิ่งแล้วดี หนุ่มใหญ่รายนี้จึงตัดสินใจตัดแต่งกิ่งอีก 6 ต้น ที่เหลือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่อมา 9 เมษายน เริ่มแตกยอดใหม่ พร้อมช่อดอก ทุกคนที่บ้านก็ดีใจกันไปตามๆ กัน จากนั้นลุ้นกันว่าจะมีลูกไหม 5 วัน ต่อมา ดอกเริ่มยาวขึ้น แต่กลัวฝนตกลงมาอีก จึงเริ่มทำหลังคามุงกันฝนแบบตามมีตามเกิด จากนั้นให้น้ำให้ปุ๋ยเรื่อยๆ จนดอกบาน และติดลูก เกือบทุกลูกมีขนาดเท่ากันหมด ถึงตอนนี้ ถ้านับจากวันตัดกิ่งมาประมาณ 2 เดือนเศษ แต่ 2 ต้น ที่ชิงออกลูกก่อนก็มีคนมาเยี่ยมชมและชิมองุ่นกันไปเรื่อยๆ ทั้งที่ยังสุกไม่เต็มที่

“พอองุ่นออกลูกแล้ว ชาวบ้านในชุมชนชวนกันมาดู มาถ่ายรูป มาชิม คนที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่องุ่นจะสามารถปลูกได้ที่ภาคใต้ ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้ว และบางรายถึงขั้นให้ช่วยสั่งซื้อต้นพันธุ์ให้ด้วย แต่ผมตั้งใจไว้ว่าจะทำต้นพันธุ์ด้วยตัวเอง เพราะเลี้ยงต้นองุ่นป่าไว้แล้ว 5-6 ต้น อีกไม่นานคงทำได้เหมือนต้นฉบับแน่นอน และคงทำได้ทุกสายพันธุ์”

คุณนิกร กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า สรุปตอนนี้องุ่นทุกสายพันธุ์ที่ปลูก ออกดอกออกผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง แต่พันธุ์ที่ปลูกได้ผลดีกว่าเพื่อน น่าจะเป็น รูทเพอเรท และบิวตี้ซีดเลส ซึ่งถึงแม้ตามตำราจะระบุว่าเป็นพันธุ์ที่ควรปลูกอยู่เหนือน้ำทะเล 300 ฟุตขึ้นไป แต่แถวทับปุดที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกับน้ำทะเลก็ยังสามารถปลูกองุ่นพันธุ์นี้ได้

สำหรับองุ่นทั้ง 6 สายพันธุ์ เมื่อปลูกแล้วมีอายุประมาณ 1 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต โดยหลังตัดแต่งกิ่ง 15 วัน องุ่นเริ่มออกดอก จากนั้นอีก 25 วัน เริ่มติดผล ช่วงนี้ต้องบำรุงรักษาต่อไปอีก 3-4 เดือน หรือ 90-120 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยองุ่นพันธุ์บิวตี้ฟิตเล็ต ถือเป็นองุ่นที่มีคุณภาพดี ผลมีสีสวยงาม รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค จำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าองุ่นสายพันธุ์อื่นๆ ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 250 บาท

“ผมมั่นใจว่า ภาคใต้เหมาะกับการปลูกองุ่นมาก แต่ถ้าใครคิดจะปลูกควรศึกษาและวางแผนให้ดี โดยเฉพาะหลังคามุงกันฝน เป็นสิ่งจำเป็นมาก สำหรับผู้ที่ไม่อยากใช้ยาเคมี ส่วนเรื่องปัญหาแมลงมีมากมาย แต่ผมใช้ยาเส้นละลายแล้วฉีดพ่น ส่วนบางชนิดที่ดื้อยามากๆ ก็ใช้แอมโมเนียก้อน หรือที่เรียกว่าลูกเหม็นที่ใช้ใส่ในตู้เสื้อผ้า ชุบน้ำมันพืช แล้วนำไปแขวนไว้ เท่านี้แมลงก็ไม่มาให้เห็นแล้ว”

ส่วนเรื่องความหวานขององุ่น ตอนแรกที่ตัดมาลองชิมกันครั้งแรกที่ฝนยังไม่ตกหนัก รสชาติหวานพอใช้ได้ แต่พอมาตอนหลังฝนตกหนักมากจนทำเอาบางช่อผลแตกทั้งที่คลุมหลังคา มีรสออกเปรี้ยวแล้ว แต่จากการศึกษาสวนองุ่นทั่วไป มีวิธีบังคับให้หวานได้โดยกักน้ำไม่ให้ต้นองุ่นรับน้ำนาน 7-14 วัน ก่อนตัดผลองุ่น จะทำให้องุ่นหวาน และถ้าวางแผนการปลูกให้ดี แน่นอนว่าทำได้ หรืออีกทางหนึ่ง กำหนดให้องุ่นสุกและตัดผลได้ตรงกับช่วงหน้าแล้ง องุ่นจะออกมาหวานแน่ๆ

 

วางแผนทำเป็นแปลงสาธิต

อย่างไรก็ตาม การปลูกองุ่นต้องใช้ทุนเริ่มต้นสูงมาก และต้องทุ่มเทเวลาให้การดูแลใกล้ชิดมากกว่าพืชอื่นหลายเท่า แต่คิดว่าน่าจะคุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับ เนื่องจากองุ่นสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี หรือไม่เกิน 2 ปี ถ้าเทียบกับปาล์ม หรือยางพารา จะคืนทุนที่ เกิน 10 ปีขึ้นไป ขณะที่ในระยะหลังๆ ค่าการจัดการขององุ่นจะลดลงมาก แต่ค่าตอบแทน อาจเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าเลย ที่สำคัญควรเลือกที่มาของต้นพันธุ์ให้ดีด้วย

คุณนิกร บอกด้วยว่า ในอนาคตอันใกล้วาดฝันไว้ว่า จะขยายสวนองุ่นให้เป็นอาชีพหลักให้ได้ และอยากจะตั้งชื่อว่า สวนองุ่นร้อยไร่ เผื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมขายองุ่นสดหน้าแปลง ได้ราคาดีกว่าแน่นอน เพราะองุ่นที่หลีกเลี่ยงการใช้ยาเคมีนั้น หาได้ไม่มากนัก อาจจะสร้างแบรนด์เป็นของจังหวัดพังงา และส่งผลผลิตตามห้างทั่วประเทศหรือต่างประเทศก็เป็นได้ นอกจากนี้ อยากเป็นแปลงตัวอย่าง หรือเป็นแปลงสาธิตให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจมาศึกษาหาความรู้ เพราะตามที่ศึกษามา องุ่นมีผลตอบแทนดีกว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หลายเท่า และเหมือนเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับอาชีพเกษตรกรรมในภาคใต้เลยทีเดียว

“องุ่น เป็นพืชอายุยืนยาวมาก ถ้าดูแลดีๆ คงได้ 20-50 ปี และออกลูกได้ปีละ 2 รอบ และสามารถเลือกช่วงที่จะให้ออกลูกได้ ผมมองว่าองุ่นควรจะปลูกปลายเดือนเมษายนถึงจะดี จะได้รับฝนและทำให้องุ่นโตไวด้วย เรื่องผลผลิตนั้นจะได้ประมาณ 4 ตัน ต่อครั้ง ต่อ 1 ไร่ ใน 1 ปี ตก 8 ตัน ต่อไร่ เป็นข้อมูลที่ศึกษามาครับ องุ่นจึงเหมาะจะเป็นนวัตกรรมทางการเกษตรภาคใต้ของเราต่อไป ผมเชื่อมั่นว่าพื้นที่อำเภอทับปุดสามารถที่จะปลูกองุ่นในเชิงพาณิชย์ และจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะองุ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยพัฒนาอาชีพ รายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความอยู่ดีกินดีได้ไม่ยาก”

คุณนิกร ฝากแจ้งมาว่า หากใครสนใจอยากมาดูหรือศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการปลูกองุ่น ยินดีให้คำแนะนำ โดยโทรศัพท์ไปที่ (085) 797-2757 และ (089) 290-9265

หลังจากนี้ คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่า เกษตรกรและชาวบ้านทับปุดจะหันมาปลูกองุ่นกันมากน้อยแค่ไหน และองุ่นที่นี่จะมีจุดเด่นในเรื่องรสชาติแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างไร ส่วนตอนนี้ถ้าใครอยากชิมองุ่นของ คุณนิกร สาระการ ต้องติดต่อกับเจ้าตัวโดยตรง เพราะผลผลิตมีจำกัด