แม่โจ้ ผลิตจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย อี-เวิร์ม ต่อยอดจากมูลและปัสสาวะไส้เดือน

ขยะที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนที่เพิ่มของประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้มีการทำวิจัยใช้ไส้เดือนมาย่อยขยะอินทรีย์ เช่น เศษผัก ผลไม้ต่างๆ  ซึ่งได้ผลเป็นอย่างมาก และภายหลังจากนั้นได้ต่อยอดโดยนำมูล และปัสสาวะของไส้เดือนมาทำจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย อี-เวิร์ม  (E-Worm) พร้อมทั้งได้ส่งไปช่วยพื้นที่ประสบอุทกภัยที่น้ำท่วมขังจนเริ่มเน่าเสียในภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.อานัฐ  ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีองค์ความรู้ด้านการใช้จุลินทรีย์มาบำบัดน้ำเสีย จึงได้จัดทำชุดบำบัดน้ำเสีย ที่เรียกว่า อี-เวิร์ม (E-Worm) คือ กลุ่มจุลินทรีย์ธรรมชาติจากลำไส้ไส้เดือนดินท้องถิ่นไทยที่มีความหลากหลายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์ที่เกิดจากโครงการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน นอกจากการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างได้ผลแล้ว ยังเกิดผลผลิตที่เป็นมูลไส้เดือนดินที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ คุณภาพดีและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินที่สามารถใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืชและยังใช้บำบัดน้ำเสียได้ผลดี เพราะมีจุลินทรีย์จากลำไส้ของไส้เดือนดินมากกว่า 300 ชนิด

อี-เวิร์ม (E-Worm) เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ อาศัยอยู่ได้ในน้ำลึก บริเวณแอ่งน้ำได้เป็นอย่างดี โดยจะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีอนุภาคเล็กลง และตกตะกอนอย่างรวดเร็ว มีค่าความเป็นกรดด่าง (PH) อยู่ในช่วง 7-8  เมื่อเทลงสู่น้ำเน่าเสียซึ่งมีค่าความเป็นด่างสูง อี-เวิร์ม (E-Worm) สามารถทำการบำบัดน้ำเสียได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่จุลินทรีย์ทางการค้าทั่วไปในท้องตลาด ที่ใช้กากน้ำตาล

ในขบวนการขยายเชื้อรวมถึงน้ำหมักชีวภาพทั่วไป จะชอบทำงานที่ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ในช่วงที่เป็นกรดอ่อน – กรดจัด

จากสถานการณ์มหาอุทกภัยของประเทศทำให้พื้นที่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยถูกน้ำท่วมอย่างหนักในรอบกว่า 50 ปี มีประชาชนได้รับความเสียหาย และเดือดร้อนนับล้านคน สถานที่ราชการ สถานประกอบการ บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ถึงแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมกำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลายแห่งระดับน้ำลดลง แต่อีกหลายแห่งยังมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้น้ำเน่าเสีย

ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับความร่วมมือจาก สวทช.ภาคเหนือ และมูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดทำชุดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เป็นชุดสำเร็จรูปใช้งานได้ทันที จำนวน 1,000 ชุด เพื่อส่งไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 63 หมู่ 4 ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290 โทร.0-5387-3493 ต่อ 200 หรือ www.maejoearthworm.org

ข้อมูลจำเพาะ

 อี-เวิร์ม (E-worm) คือ จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย จากลำไส้ของไส้เดือนดินซึ่งมีความหลากหลายของจุลินทรีย์มากกว่า 300 ชนิด และเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ธรรมชาติจากลำไส้ไส้เดือน

ดินท้องถิ่นไทยที่มีความหลากหลายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ สามารถอาศัยอยู่ใต้น้ำลึกบริเวณก้นแอ่งน้ำได้เป็นอย่างดี โดยจะย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีอนุภาคเล็กลงและตกตะกอนอย่างรวดเร็ว โดยไม่รบกวนระบบออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ) และทำงานร่วมกับจุลินทรีย์กลุ่มใช้ออกซิเจนบริเวณผิวน้ำได้

จุดเด่น E-worm

เป็นน้ำจุลินทรีย์ที่มีค่าความเป็นกรด – ด่าง (pH) เป็นกลางจนถึงด่างอ่อน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าความเป็นกรด – ด่าง ในแหล่งน้ำเสีย สามารถทนทานต่อสภาพน้ำเสียที่ขาดออกซิเจนได้ดี  ไม่ต้องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในแหล่งน้ำ ผ่านกรรมวิธีการผลิตในสภาพแวดล้อมแบบเปิดในธรรมชาติ จุลินทรีย์จึงมีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เร็วกว่าจุลินทรีย์ที่ผลิตในสภาพแวดล้อมแบบปิด เช่นจุลินทรีย์ที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ หรือ การหมัก

วิธีการใช้จุ่มท่อปล่อยน้ำ E-worm ลงไปให้ลึกถึงก้นแอ่งน้ำ1 – 1.5 เมตร แล้วเทน้ำ E-worm ลงในกรวยให้น้ำ E-worm ไหลลงไปก้นแอ่งน้ำ โดยเทกระจายตามจุดต่างๆ ของแหล่งน้ำเสีย ตามอัตราแนะนำการใช้ หรืออัตราการใช้ ใช้น้ำ E-worm  1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร

ความสามารถระหว่าง EM-BALL และ E-worm ในการบำบัดน้ำเสีย

น้ำเน่าเสีย คือ น้ำที่มีสารอินทรีย์ปะปนอยู่มาก จุลินทรีย์ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายจนเหลือออกซิเจนละลายอยู่น้อย น้ำมีสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็น โดยปกตินั้นน้ำเสียมักจะมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ในช่วง 8-9 ซึ่งถือว่ามีค่าเป็นด่าง

EM-BALL มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) เท่ากับ 4 เมื่ออยู่ในค่า pH ที่เป็นด่างอย่างน้ำเสีย จึงทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ใน EM-BALL ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเป็นปกติ มีจำนวนจุลินทรีย์ใน EM-BALL อยู่ 40 สปีชีส์ และมีสารประกอบอินทรีย์จำพวก แกลบ รำ ดินทราย และ กากน้ำตาลอยู่ หากย่อยสลายไม่หมดก็จะทำให้น้ำเน่าเสียมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งผลิตในสภาพแวดล้อมแบบปิดจากในห้องปฏิบัติการ จึงมีการปรับตัวได้ช้า

E-worm มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ในช่วง 7-8  เมื่ออยู่ในค่า pH ที่เป็นด่างอย่างน้ำเสีย จึงทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ใน E-worm สามารถดำเนินกิจกรรมได้เป็นอย่างดี จึงทำให้บำบัดน้ำได้รวดเร็ว มีจำนวนจุลินทรีย์ใน E-worm อยู่ 343 สปีชีส์ และไม่มีสารประกอบอินทรีย์ ทั้งยังผ่านกรรมวิธีการผลิตในสภาพแวดล้อมแบบเปิดในธรรมชาติ จุลินทรีย์จึงมีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์