ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อาชีพเกษตรกรรมที่หลายคนมองว่าไม่มั่นคง ก็คงอยู่ที่ทัศนคติของแต่ละบุคคลไป บางคนทำเพื่อหาความสุข ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก บางคนทำเพื่อเงินตรา ก็สุดแล้วแต่ทางที่เลือกเดิน แต่คุณแอ๊ว สาวแม่ฮ่องสอนคนนี้ มองว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างความมั่นคงได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการเกษตรทำให้มีกินอยู่ตลอด ไม่มีคำว่าอดอยาก กินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น เหลือจึงนำไปขาย จากนั้นจึงค่อยพัฒนาต่อยอดเป็นรายได้
คุณอรัญญา คำเขียว หรือ คุณแอ๊ว สาวเมืองเหนือจากแม่ฮ่องสอน เจ้าของ สวนผักบ้านน้องชิน ตั้งอยู่ที่ 38/3 หมู่ที่ 3 บ้านไร่ ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน อดีตพนักงานประจำ ตั้งใจลาออกจากงานมาทำเกษตร สานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากครอบครัว พร้อมกับการพัฒนาต่อยอดการตลาดส่งขายไปทั่วประเทศ
คุณแอ๊ว เล่าให้ฟังว่า หลังจากลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรนับเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ที่ตนเองเดินอยู่บนเส้นทางนี้ และได้ผ่านเรื่องราวมากมาย กว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ไม่ง่าย แต่มีสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้และทำให้หลงรักในอาชีพเกษตรกรรมคือ ความเรียบง่าย ไม่หรูหรา แต่เป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุขมากๆ ซึ่งในบางครั้งอาจจะเหนื่อยกาย แต่มีความสุขใจเต็มร้อย เพราะได้ทำงานอยู่กับครอบครัว ได้ดูแลคนที่รัก และยังสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงเลี้ยงครอบครัวได้อีกด้วย
โดยปัจจุบันที่สวนเน้นปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวเป็นหลัก เนื่องด้วยสภาพอากาศหนาวเย็นเอื้อต่อการปลูกผักเมืองหนาว และมีความโดดเด่นด้านการทำเกษตรธรรมชาติ เน้นการพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด พยายามใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเป็นหลัก นำมาประยุกต์ใช้ อาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด และผลิตพืชตามฤดูกาล ไม่ฝืนธรรมชาติก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแมลงหรือโรคพืชต่างๆ ไปได้มาก
ปลูกผักหน้าบ้าน พื้นที่ 15 ไร่ เก็บกิน เก็บขาย ได้ทุกวัน
คุณแอ๊ว บอกว่า จุดเริ่มต้นของการปลูกผัก เริ่มจากการปลูกผักหน้าบ้าน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลูกไว้กินเอง แต่พอปลูกไปเรื่อยๆ ผลผลิตเริ่มมีปริมาณเยอะขึ้น บวกกับบรรยากาศบริเวณรอบบ้านที่สวยงาม เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ทำให้มีคนเห็นและเกิดความสนใจจะขอเข้ามาแวะเยี่ยมชมสวน และต้องการที่จะเข้ามาขอซื้อและตัดผักเอง จึงได้ถือโอกาสตรงนี้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มและเริ่มหาพืชผักผลไม้ที่มีสีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้มาถึงทุกวันนี้
“ปัจจุบันที่สวนมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 15 ไร่ เน้นยึดหลักใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ ทำหนึ่งอย่างแต่ได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เทคนิคการคลุมแปลง โดยใช้พลาสติกเก่าจากโรงเรือนคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1 งาน ประโยชน์ที่ได้คือ หนึ่ง ช่วยป้องกันวัชพืชช่วงหน้าฝน สอง ช่วยคลุมดินป้องกันน้ำฝนเพื่อไม่ให้ดินแน่นจนเกินไป และ สาม ได้ปลูกแตงโมระหว่างรอให้ผ่านช่วงฤดูฝน และพืชที่ปลูกก็จะไม่มีวัชพืชขึ้นปะปน”
เทคนิคปลูกพืชเมืองหนาวให้เป็นที่ต้องการของตลาด คุณแอ๊ว อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยสภาพพื้นที่โดยรอบของสวนมีทั้งพื้นที่เนินและที่ลุ่ม มีลักษณะภูมิอากาศที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลูกผักอะไรก็ได้ตลอด จะมีช่วงที่ผลัดเปลี่ยนปลายฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อากาศเปลี่ยน พายุเข้า ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ ลักษณะการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรจึงต้องทำในรูปแบบผสมผสาน ปลูกพืชผักตามฤดูกาล เช่น แตงกวา พริกขี้หนู มะเขือ และพืชผักเมืองหนาว เช่น บร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก ถั่วลันเตา ผักสลัด เป็นตัวสร้างรายได้หลัก ปลูกหมุนเวียนกันเป็นรุ่น รุ่นละ 3 เดือน สลับกันไป
การเตรียมดิน อันดับแรกต้องใช้รถไถพรวนดินตีดินบนพื้นที่ต้องการปลูกทั้งหมด จากนั้นทำการขุดยกร่องเตรียมแปลงให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก วางระบบน้ำสปริงเกลอร์ หลังจากวางระบบน้ำเสร็จ นำปุ๋ยหมักที่เตรียมไว้ลงไปในพื้นที่เตรียมดิน แล้วนำพลาสติกมาคลุมดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ โดยดินที่คลุมต้องควบคุมให้มีความชื้นอยู่ อย่าปล่อยให้ดินแห้งจะปลูกไม่ได้ผล
หลังจากคลุมผ้าพลาสติกไว้ครบ 2 สัปดาห์ ให้นำพลาสติกออกแล้วขุดหลุมก่อนย้ายต้นกล้าลงหลุมปลูก ให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักอีก 1 ครั้ง สำหรับผักสลัด ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ส่วนพืชตระกูลกะหล่ำ ปลูกในระยะห่าง 30 เซนติเมตร
การเพาะเมล็ด เพาะเมล็ดใส่ถาดหลุม ใช้ดินเพาะที่ผสมเอง มีส่วนผสมดังนี้ 1. แกลบเผา 2. ดิน 3. ขุยมะพร้าวบด 4. ปุ๋ยหมัก ผสมในอัตราส่วนเท่าๆ กัน
การดูแล จะคล้ายกับการปลูกผักทั่วไป ส่วนมากที่สวนปลูกแบบปลอดสารพิษ จะใช้น้ำหมักสูตรต่างๆ เช่น น้ำหมักปลา น้ำหมักพืชต่างๆ และใช้สารเร่ง พด. ของกรมพัฒนาที่ดินเป็นหลัก
รดน้ำทุกวัน แบ่งรดตามช่วงที่ผักแต่ละชนิดต้องการ เพราะพืชผักแต่ละชนิดต้องการน้ำปริมาณและเวลาไม่เท่ากัน จำเป็นต้องแยกโซนปลูกตั้งแต่ทีแรกคือ ตระกูลกะหล่ำจะปลูกด้วยกัน ตระกูลผักสลัดก็แยกปลูกคนละแปลง
ส่วนระยะเวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ทั้งกะหล่ำดอก บร็อกโคลี่ ใช้เวลา 45-60 วัน หลังย้ายกล้า ส่วนผักสลัดอยู่ที่ 35-60 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์และช่วงฤดูกาลด้วย
ปริมาณผลผลิต ต่อ 1 ครอป พื้นที่ประมาณ 1 งาน เก็บผลผลิตได้ดังนี้ 1. ผักสลัด 9 ชนิด เก็บผลผลิตได้ 50 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท 2. กะหล่ำปลีรูปหัวใจ เก็บผลผลิตได้ 70 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท 3. ผักกาดขาว เก็บผลผลิตได้ 40 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท 4. กะหล่ำดอก เก็บผลผลิตได้ 80 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 40 บาท 5. บร็อกโคลี่ เก็บผลผลิตได้ 50 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท 6. ถั่วลันเตา เก็บผลผลิตได้ 100 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท 7. โคราบี้ เก็บผลผลิตได้ 50 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท และพืชผักชนิดอื่นๆ เก็บผลผลิตได้ประมาณ 50 กิโลกรัม โดยพืชผักแต่ละชนิดที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งสิ้น ด้วยจุดเด่นของผักที่เก็บสดใหม่ทุกวัน ทำให้รสชาติหวาน กรอบ ผู้บริโภคกินแล้วติดใจ จนกลายเป็นลูกค้าประจำในโลกออนไลน์
“ต้องบอกว่าช่องทางการทำตลาดในยุคสมัยนี้ค่อนข้างเปิดกว้างกว่าในสมัยก่อนมาก ด้วยอิทธิพลของสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในการค้าขายมากขึ้น ช่วยทำให้ทั้งเราและพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นๆ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สามารถกระจายสินค้าได้สะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความโชคดีอีกอย่างหนึ่งของเรา เพราะโดยพื้นฐานนิสัยแล้วเป็นคนที่ชอบถ่ายรูป ถ่ายวิดีโออยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำงานก็เหมือนกับการที่เราได้ทำสิ่งที่ชอบ แล้วถือโอกาสนำสิ่งที่ชอบมาทำเป็นรายได้ คือการถ่ายคลิปวิดีโอเล่าเรื่องวิถีชีวิต และการทำสวนลงสื่อออนไลน์ ลงใน Facebook และ TikTok เพื่อให้ลูกค้าในโลกออนไลน์ได้เห็นและรู้สึกสนุกไปกับเรา และกลายเป็นจุดดึงดูดลูกค้าให้อยากเข้ามาจับจองซื้อผลผลิตเรา ถือว่าเป็นการเพิ่มยอดขายได้ดีมากๆ จึงอยากฝากถึงเกษตรกรมือใหม่ที่สนใจ อยากทำให้ลงมือทำเลย เพราะตอนนี้เทคโนโลยีการเกษตรในปัจจุบันช่วยทำให้เราทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น ถึงพื้นที่จะน้อยก็สามารถทำได้ เช่น ปลูกบนรางยกพื้น ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกพืชนอกฤดู จำพวกผักเครื่องปรุงก็สามารถสร้างรายได้ได้ดี อาชีพเกษตรกรรมไม่ยากแต่ไม่ง่าย ทำความเข้าใจศึกษาพื้นที่ตัวเอง แล้วลงมือทำ” คุณแอ๊ว กล่าวทิ้งท้าย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : แอ๊ว อรัญญา หรือ TikTok : แอ๊ว อรัญญา