เกษตรกรติดดิน เช่าที่เศรษฐีปลูกผักสวนครัว ส่งตลาดรังสิต สี่มุมเมือง

ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองขณะนี้ ใครจะไปคาดคิดว่า จะยังคงพบเห็นมีเกษตรกรทำการเกษตร ท่ามกลางเมืองใหญ่ๆ อย่างจังหวัดปทุมธานี และอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่รายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า อาทิ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ศูนย์กลางขนส่งสินค้าการเกษตรตลาดสี่มุมเมือง รังสิต และศูนย์กลางสินค้าเบ็ดเตล็ดตลาดพูนทรัพย์ และโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อีกมากมาย ที่อยู่รายล้อม

ผู้เขียนอาศัยอยู่คอนโดฯ เมืองทองธานี เมื่อถึงเวลาเข้าออกต่างจังหวัดขึ้นเหนือ ล่องไปอีสาน จะใช้เส้นทางนี้อยู่เป็นประจำ จากถนนติวานนท์ตัดออกถนนเลี่ยงเมืองรังสิต และมุ่งหน้าสู่ต่างจังหวัดต่อไป

ทุกครั้งที่ขับรถผ่านทีไรก็จะเห็นแปลงผักร่องสวนเป็นทิวแถวแนวยาวเตะตาให้อยากเข้าไปสัมผัส

คุณชาญ ผลไม้ กำลังรดน้ำแปลงร่องผัก

นึกอยู่ในใจว่า แปลงผักร่องสวนเกษตรที่ว่านี้คงจะต้องเป็นของมหาเศรษฐีที่มีใจรักวิถีการทำเกษตรอย่างแน่นอน เพราะที่ดินใจกลางเมืองเศรษฐกิจติดกับกรุงเทพฯ อย่างปากเกร็ด นนทบุรี และอำเภอเมืองปทุมธานี มีราคาที่สูงมากๆ สามารถนำไปให้เช่าทำโรงงาน ทำห้างสรรพสินค้า หรือว่าทำบ้านจัดสรร ซึ่งน่าจะทำเงินได้มากกว่าการปลูกพืชผักทำการเกษตรกรรม

เพื่อให้คลายข้อสงสัยหนนี้ผู้เขียนเลยแวะจอดรถลงไปดูแปลงเกษตรที่ว่านี้

คุณชาญ ผลไม้ กับเรือปั๊มน้ำ แปลงผัก และบ้านพักด้านหลังเป็นที่อยู่อาศัย กินนอนอยู่กับแปลงผัก

เมื่อลงจากรถยืนมองจากถนน ปรากฏแปลงร่องผักหลายสิบร่องเรียงรายอยู่ในเวิ้งที่ลุ่มต่ำ จึงตัดสินใจย่างก้าวลงไปพบเจอคนงานเลยถามหาเจ้าของแปลงผักสวนครัว

คนงานชี้ไปยังร่องแปลงผักท่ามกลางแสงแดดเปรี้ยงๆ อากาศร้อนๆ เมื่อตอนใกล้ๆ เที่ยงวัน

ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าเจ้าของแปลงสวนผักคือคนไหน เพราะแต่งตัวคล้ายกับคนงานจนแยกไม่ออก ว่าเจ้าของแปลงผักคนรวยมีกะตังไม่น่าจะมาตากแดดทำเกษตรด้วยตัวเอง

และถ้าเป็นเศรษฐีเจ้าของที่ดิน เขาน่าจะกางร่มชี้ไม้ชี้มือสั่งงานอยู่บนฝั่งอะไรประมาณนั้น

บรรยากาศการรดน้ำและบ้านพักที่อยู่อาศัยด้านหลังแปลงผัก ที่คุณชาญ ผลไม้ อาศัยอยู่

เมื่อถามไถ่จนได้ความว่า คนๆ นี้ เขาไม่ใช้เจ้าของที่ดินตัวจริง แต่เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินทำแปลงเกษตรปลูกผักสวนครัว สืบทอดมาจากรุ่นพ่อซึ่งมีความเกื้อกูลสนิทสนมกับเศรษฐีเจ้าของที่ดินมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นความผูกพันระหว่างกัน

คุณชาญ ผลไม้ คือบุคคลที่กล่าวถึงและเป็นผู้สืบทอดการเช่าที่ดินทำแปลงเกษตรสวนผักต่อเนื่องมาจากรุ่นพ่อ และตนเองก็เกิดและเติบโตอยู่กับแปลงสวนผักแห่งนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน อายุ 65 ปี และก็ยังคงเช่าที่ดินสืบต่อเนื่องทำแปลงสวนเกษตรมาในราคาถูกๆ เท่าที่จำความได้ที่ดินแห่งนี้เดิมเป็นทุ่งนาแล้วยกร่องขึ้นมาปลูกผักสวนครัว อย่างที่เห็น

“เขาให้เราเช่าอยู่ 17 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ ในราคาปีละ 4,000 บาท ซึ่งยึดถือราคานี้มาแต่เดิมเมื่อสมัย 50 ปีก่อน”

คุณชาญ ผลไม้ ขณะกำลังรดน้ำกับแปลงผักคะน้า

“เศรษฐีเจ้าของที่ดินคนนี้ เขาเป็นนายแพทย์ระดับต้นๆ ของเมืองไทย เขาร่ำรวยมาทั้งตระกูล คนรวยนี่ก็แปลกมีลูกชายเพียงคนเดียว มีที่ทางก็เยอะแยะดูแลไม่ทั่วถึง เจ้าของที่ดินเขาใจดี เขาขอเพียงให้เราดูแลเฝ้าที่ดินให้เขา อย่าให้หญ้าขึ้นรถ ทำที่ให้สะอาด และทุกๆ ปี ประมาณเดือนมกราคม ผมก็จะเอาเงินค่าเช่าไปให้เขา ไม่ขาดไม่เกิน” คุณชาญ ว่าอย่างนั้น และเล่าย้อนอดีตต่ออีกว่า

สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน ผมไม่มีรถต้องเดินเท้าเวลาเข้าวัดไปเวียนเทียน สองข้างทางย่านนี้เป็นป่ารก ถนนเมื่อสมัยก่อนนั้นเป็นดินแดงลูกรัง เวลาไปตลาดรังสิตที หรือไปไหนไกลๆ จะต้องใช้เรือ ล่องไปตามคลองทะลุเชื่อมต่อถึงกันหมดไปจนถึงคลองรังสิต

ผักคะน้าแปลงท้ายสุดที่รอการเก็บเกี่ยว

จนถึงปัจจุบันนี้คงจะหมดรุ่นเราแล้ว ทุกอย่างพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งถนนหนทาง คลองก็ไม่มี เรือก็ไม่ได้พาย

ส่วนผืนดินที่เราทำร่องแปลงผักอยู่นี้ก็เป็นพื้นดินเดิมจากแปลงนาเมื่อ 50 ปีก่อนที่ไม่ได้ผ่านการถมดินแต่อย่างใด ซึ่งเราทำอาชีพนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ถ้าไม่ได้เช่าที่ในราคาถูกๆ จากเศรษฐีผู้ใจบุญก็คงจะไม่สามารถปลูกผักทำแปลงเกษตรอย่างนี้ได้

และการปลูกผักทำการเกษตรท่ามกลางแดดร้อนๆ เด็กๆ รุ่นใหม่ๆ คงจะไม่มีใครเขาทำกัน และที่เรายังวางมือไม่ได้เพราะแปลงสวนผักของเราอยู่ใกล้ตลาดขายส่ง ไม่ต้องลงทุนบรรทุกขนผักมาจากต่างจังหวัด

ผักคะน้ารุ่นสุดท้ายที่การรอเก็บเกี่ยว

และผักสวนครัวที่ปลูกประกอบไปด้วย ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง ปลูกสลับกันไป แต่ละแปลง ปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี สลับกันไปทุกๆ เดือน แต่ละร่องแปลง ครั้งแรกที่หว่านเมล็ดผัก 45-50 วันก็สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้ ประมาณ 1 ตันต่อร่อง

ไม่ต้องกลัวว่าผักจะขายไม่ได้ เพราะพ่อค้าเร่และพ่อค้าประจำจะมารอรับซื้อผักถึงหน้าแปลง กระจายส่งขายตามตลาดของตัวเอง ที่ไกลๆ อย่างตลาดคลองเตย และบางครั้งตนเองก็จะไปส่งผักเองอย่างที่ตลาดสี่มุมเมืองรังสิต หรือที่ตลาดไท เป็นต้น ถ้าฤดูไหนพ่อค้าคนกลางมากดราคารับซื้อกันมากๆ ก็จะไม่ขาย ยอมบรรทุกวิ่งไปส่งเองตามตลาดต่างๆ เป็นต้น

ต้นผักคะน้าบางส่วนที่หลงเหลือ รอเก็บในรอบต่อไป

ก่อนหน้านี้เคยหว่านผักราคาแพงๆ เพื่อที่จะทำกำไรให้ได้สูงขึ้น เช่น ผักชี ผักตั้งโอ๋ ซึ่งผักพวกนี้จะชอบอากาศไม่ร้อนจัด สภาพอากาศดีๆ เย็นๆ แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง เพราะเคยเจอมาแล้ว เมื่อถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวอีก 4-5 วัน ฝนตกลงมา แล้วก็มาเจอแดดแรงๆ ซ้ำ ทำให้ผักเหี่ยวเฉาเร็วเสียหายง่าย ผักเหล่านี้ไวต่อสภาพอากาศ เคยเสียหายมาแล้วหลายรอบ จึงไม่กล้าเสี่ยงอีก

ส่วนผักที่ปลูกเป็นประจำถึงแม้จะทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ก็จริง แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา อย่างช่วงหน้าแล้งแมลงลง เสียหายไปเกือบครึ่ง ส่วนดีก็มีอยู่มากและยังพอทำกำไรได้ในช่วงหน้าแล้งที่ผักจะขาดตลาดและราคาแพง เนื่องจากเป็นผักนอกฤดู

ผู้เขียนสงสัยและตั้งคำถามว่า แปลงสวนผักของคุณชาญ บนพื้นที่แห่งนี้มีการควบคุมดูแลเป็นอย่างดี คงจะมีออร์เดอร์ส่งขายห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ เป็นประจำอย่างแน่นอน

คุณชาญ ผลไม้ กำลังรดน้ำ แปลงผักคะน้าบางส่วนที่หลงเหลือ รอเก็บในรอบต่อไป

แต่หาไม่ คุณชาญให้เหตุผลว่า เพราะห้างค้าปลีกเรื่องมาก ติดปัญหาเรื่องขนาดและมาตรฐานซึ่งของเราปลูกตามธรรมชาติ ขนาดจึงไม่ได้ตรงตามที่เขากำหนด อีกทั้งมันจุกจิกหยุมหยิม และเราก็ไม่ต้องมาเครียดให้ปวดหัว เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว จะต้องมาแยกต้องคัดเกรด จึงสะดวกที่จะขายผักตามสภาพ เพราะเราไม่ได้ใช้สารเคมีควบคุม

ส่วนราคาพืชผักตามท้องตลาด มันก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามกลไกของตลาด ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าฤดูไหนผักขาดตลาด ผลผลิตน้อย ก็จะเหมือนกันหมดทุกๆ ตลาด เช่น ช่วงหน้าหนาว ราคาผักจะถูก ผักจะสวยโตเร็ว แมลงไม่ค่อยมี ผลผลิตออกมาเยอะราคาก็จะถูก ช่วงฤดูฝนน้ำท่วมพื้นที่เกษตรเสียหาย ผักก็จะแพง เมื่อถึงหน้าแล้ง หน้าร้อน ทุกๆ ปี ราคาผักก็จะแพงเพราะผลผลิตออกน้อยผักโตช้า เป็นต้น

ชีวิตที่อยู่กับแปลงผักของคุณชาญในวัย 65 ปี ก็ยังคงหมุนเวียนอยู่กับการปลูกผักสวนครัวไม่มีวันหยุด กับผู้ช่วยแรงงานอีกหนึ่งคน ง่วนอยู่กับแปลงผัก เริ่มจากพรวนดิน แล้วคลุมดินด้วยฟาง จากนั้นหว่านเมล็ดผักและงอกขึ้นมา จากนั้นก็แยกต้นกล้า ปลูกรุ่นต่อรุ่น มีถี่มีห่างบ้าง ส่วนกล้าผัก ต้นเล็กๆ ก็ดึงทิ้งให้ปลากินเป็นอาหารในร่องน้ำ ทำหมุนเวียนไปอย่างนี้ทุกๆ เดือน ตลอดทั้งปี

ทิวแถวร่องแปลงผัก ท่ามกลางเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่รายล้อมใจกลางเมืองอุตสาหกรรม

และที่สำคัญน้ำต้องพร้อม เมื่อถึงหน้าแล้ง แดดจะแรง อากาศจะร้อน ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทั้งคนและผัก ปรับเปลี่ยนการให้น้ำ 2 ช่วงเวลา คือช่วงสายๆ 4 โมงเช้า ลากเรือสูบน้ำไล่ตามร่อง และจะไปรดน้ำอีกครั้งช่วง ค่ำๆ 2 ทุ่ม เพื่อให้ความร้อนได้คลายตัว ผักจะได้ไม่ช็อกเมื่อเจอน้ำ ส่วนหน้าฝนจะรดเพียงครั้งเดียว

ผมทำงานอยู่คนเดียว กับแรงงานอีกหนึ่ง ทำกันมานานจนรู้ใจ ไม่มีลูกน้องไม่มีนาย เราจะพรวนดินกันคนละร่องต่อ 1 วัน โดยใช้จอบฟันดินด้วยมือเปล่า เครื่องจักรพรวนดินก็มีแต่ไม่ใช้ เพราะไม่ดีเท่าจอบจากมือเรา ส่วนเครื่องจักรรถพรวนดินมันพรวนแค่ผิวหน้าดิน เมื่อปลูกผักรากไม่ลงลึกอยู่ตื้นๆ ผักจึงไม่โตเต็มที่

นี่คือชีวิตเกษตรติดดินอย่าง คุณชาญ ผลไม้ ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเศรษฐี มาทำแปลงผักเกษตรพื้นบ้าน แต่เมื่อได้สัมผัสเขาคือบุคคลสาธารณะที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี