ความหลากหลายของพันธุ์มะพร้าว

ถิ่นกำเนิดของมะพร้าวนั้นยังไม่มีข้อสรุปและชี้ชัดว่าอยู่ส่วนไหนของโลก แต่ก็มีบันทึกไว้มากมายว่าอยู่ส่วนโน้นส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกา และเอเชีย แต่ละท้องถิ่นก็มีหลักฐานการใช้ประโยชน์ มาประกอบ

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจว่า มะพร้าวมีสองลักษณะด้วยกัน คือ มะพร้าวแกง ต้นขนาดใหญ่ ตกผลหลังปลูกช้า ต้นสูง ผลขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์โดยนำเนื้อมะพร้าวมาคั้นกะทิทำอาหารหวาน คาว

อีกลักษณะหนึ่งคือ มะพร้าวน้ำหอม ต้นไม่ใหญ่ ไม่สูงมาก ตกผลหลังปลูกเร็ว ผลขนาดไม่ใหญ่ นิยมนำน้ำมาดื่มเพราะมีรสหวาน มีกลิ่นหอม เนื้อมะพร้าวหากเก็บเกี่ยวในระยะพอเหมาะจะได้รสชาติอร่อยนุ่ม มัน

ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่จริงๆ แล้วมะพร้าวมีความหลากหลาย

นักวิชาการเกษตรได้แบ่งมะพร้าวไว้ 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจำนวนหลายพันธุ์ด้วยกัน

ดังนี้

  1. กลุ่มต้นสูง มีมะพร้าวใหญ่ กลาง กะทิ ปากจก น้ำตาล พวงร้อย (ทะลายร้อย) เปลือกหวาน มะแพร้ว หัวลิง ซอกลุ่มนี้ลักษณะของต้นมีขนาดใหญ่ หลังปลูกต้องใช้เวลานานจึงตกผล ผลขนาดใหญ่ ตกผลไม่ดกนัก พื้นที่ปลูกมีมากแถบสมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยทั่วไปแล้วครอบครัวคนไทยจะปลูกมะพร้าวใหญ่ไว้รอบบ้าน หากมีที่ว่างอย่างการสร้างหมู่บ้าน สร้างรวงรัง มักมีมะพร้าวปลูกไว้ จะดูว่าหมู่บ้านไหนมีอายุเก่าแก่มากน้อยเพียงใด ดูคร่าวๆ จากต้นมะพร้าวได้
  2. กลุ่มต้นเตี้ย มีมะพร้าวนกคุ่ม หมูสีเขียว ทุ่งเคล็ด ปะทิว น้ำหอม น้ำหวาน หมูสีเหลือง ไฟ ตื่นดก นิ่ม กะทิ นาฬิเก

กลุ่มนี้ลำต้นมีขนาดเล็ก หลังปลูก 2-3 ปี ก็ให้ผลได้ ผลมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ติดผลดก ปีหนึ่งอาจจะเก็บได้ 120 ผล ต่อต้น ทุกวันนี้มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับมะพร้าวต้นเตี้ยมากขึ้น เพราะปลูกได้จำนวนต่อไร่มาก จำนวนผลต่อต้นมาก รวมทั้งการเก็บเกี่ยวสะดวก

นักวิชาการเกษตร ยังได้ศึกษามะพร้าวแต่ละพันธุ์ พร้อมทั้งบอกลักษณะทางพฤกษศาสตร์

อาทิ

 

มะพร้าวน้ำหอม

เป็นมะพร้าวที่มีอายุตกผลเร็ว นิยมบริโภคผลอ่อน มีกลิ่นหอม ผลสีเขียว รูปร่างกลม น้ำหนักเนื้อแห้งต่อผล 100 กรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 65 เปอร์เซ็นต์

ปะทิว

ปะทิว

ผลสีเขียว ขนาดค่อนข้างใหญ่กว่ามะพร้าวผลเล็กสายพันธุ์อื่นๆ น้ำหนักเนื้อแห้ง 170 กรัม ต่อผล เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 61 เปอร์เซ็นต์

นาฬิเก

นาฬิเก

ผลมีขนาดเล็ก สีเหลือง เนื้อมะพร้าวแห้งต่อผล 180-200 กรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 55-60 เปอร์เซ็นต์

 

มะพร้าวใหญ่

นิยมปลูกเป็นการค้า ผลมีขนาดใหญ่ อายุตกผลช้า น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง 250-300 กรัม ต่อผล เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 60 เปอร์เซ็นต์

ทุ่งเคล็ด

ทุ่งเคล็ด

หลังปลูก อายุตกผลเร็ว ผลรูปร่างกลม ผิวผลสีเขียว น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง 145-160 กรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 60 เปอร์เซ็นต์

 

กะโหลก

ผลมีขนาดใหญ่มาก แต่มีจำนวนผลต่อทะลายน้อย เนื้อมะพร้าวแห้ง 355 กรัม ต่อผล เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 56 เปอร์เซ็นต์

เวสท์แอฟริกันต้นสูง

เวสท์อัฟริกันต้นสูง

อายุการตกผลเร็วกว่าพันธุ์ไทยพื้นเมือง มีความสม่ำเสมอในประชากรสูง เนื้อมะพร้าวแห้งต่อผล 180-200 กรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 70 เปอร์เซ็นต์

 

ทะลายร้อย

มีจำนวนดอกตัวเมียต่อจั่นมาก ทำให้มีผลดก ผลมีขนาดเล็ก รูปร่างรี น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งต่อผล 90-105 กรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 69 เปอร์เซ็นต์

มะพร้าวหมูสีส้ม

หมูสีส้ม

คล้ายหมูสี สีเขียว แต่ผลเป็นสีส้ม อายุการตกผลเร็ว

ปากจก

ปากจก

ผลมีขนาดกลาง รูปร่างยาวรี พบในบางท้องที่ เช่น ที่จังหวัดพังงา น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง 190-200 กรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 66 เปอร์เซ็นต์

มะแพร้ว

มะแพร้ว

แตกต่างจากมะพร้าวพันธุ์อื่นๆ คือ ช่อดอกไม่มีระแง้ มีดอกตัวเมียจำนวนมาก ติดอยู่กับก้านดอก ซึ่งมีอันเดียว และมีดอกตัวผู้ติดอยู่ตอนปลายของก้านดอก น้ำหนักเนื้อแห้งใกล้เคียงกับมะพร้าวกลาง

 

พันธุ์สวีลูกผสม 1 (Sawi Hybrid No.1)

เป็นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x เวสท์อัฟริกันต้นสูง (MYD x WAT) ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านบริโภคผลสด อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เนื่องจากมีปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ได้ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2525

ลักษณะเด่น

เนื้อมะพร้าวแห้ง ให้ผลผลิต ประมาณ 572 กิโลกรัม/ไร่/ปี

เนื้อมะพร้าวมีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ประมาณ 68 เปอร์เซ็นต์

ให้ผลผลิตเมื่ออายุ ประมาณ 4 ปี หลังจากปลูก

ให้ผลดก ผลผลิตสูงสุดโดยเฉลี่ย 2,300 ผล/ไร่/ปี เมื่ออายุ 10 ขึ้นไป (ปลูก 22 ต้น/ไร่)

ไม่ปรากฏว่าเป็นโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดอย่างรุนแรง

ข้อจำกัด

เนื่องจากมะพร้าวพันธุ์สวีลูกผสม 1 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ ลักษณะของลูก ชั่วที่ 1 จะมีลักษณะดีข่มลักษณะที่ด้อยไว้ แต่ถ้าเอาผลไปทำพันธุ์ต่อจะเกิดการกลายพันธุ์ เพราะลักษณะด้อยที่อยู่ในต้นพ่อและต้นแม่จะปรากฏออกมาให้เห็นในลูก ชั่วที่ 2 จึงห้ามไม่ให้เก็บผลไปเพาะทำพันธุ์

 

พันธุ์ชุมพรลูกผสม 60-1

(Chumphon Hybrid 60-1) หรือ ชุมพร 60

เป็นมะพร้าวลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง x ไทยต้นสูง ผลิตขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งบริโภคผลสด และในด้านอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าว ได้ผ่านการรับรองพันธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2530

ลักษณะเด่น

สูงช้ากว่าพันธุ์ไทยต้นสูง คือ เมื่ออายุ 10 ปี สูง 5.25-5.75 เมตร ขนาดผลมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตรงตามความต้องการของชาวสวนมะพร้าว ทนทานต่อความแห้งแล้งดีกว่าพันธุ์พ่อเวสท์อัฟริกัน ตอบสนองต่อปุ๋ยดีกว่าพันธุ์ไทยพื้นเมืองต้นสูง

ตกผลเร็ว เริ่มตกผลเมื่ออายุประมาณ 5 ปี หลังจากปลูก

ขนาดผล อยู่ระหว่างมะพร้าวกลางและมะพร้าวใหญ่ มีเปลือกค่อนข้างหนา

เนื้อมะพร้าวแห้ง ให้ผลผลิตประมาณ 628 กิโลกรัม/ไร่/ปี น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งต่อผล อยู่ระหว่าง 280-390 กรัมเนื้อมะพร้าวมีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ประมาณ 64-67 เปอร์เซ็นต์

ให้ผลผลิตสูง ผลผลิตเฉลี่ย 2,204 ผล/ไร่/ปี เมื่ออายุ 10 ขึ้นไป (ปลูก 22 ต้น/ไร่)

ไม่ปรากฏว่าเป็นโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดอย่างรุนแรง

พื้นที่แนะนำ

ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้และมีผิวหน้าดินลึก 1-1.5 เมตร ไม่มีดินลูกรัง หรือดินดานอัดแน่น แหล่งปลูกมะพร้าวในเขตภาคกลางและภาคใต้

ข้อจำกัด

เป็นพันธุ์ลูกผสม ชั่วที่ 1 ไม่สามารถนำผลไปปลูกต่อไป

 

พันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 หรือ ชุมพร 2

เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์ไทยต้นสูง ผลขนาดกลางถึงใหญ่ ทำให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งรูปผลสดและแปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำมัน ผ่านการรับรองพันธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2538

ลักษณะเด่น

ให้ผลดก ผลผลิต ให้เนื้อมะพร้าวแห้ง 500 กิโลกรัม/ไร่/ปี เนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 261 กรัม/ผล

คุณภาพ เนื้อมะพร้าวมีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์

ให้ผลเร็ว เริ่มเก็บได้เมื่ออายุ 4 ปีครึ่ง

ผลขนาดกลางถึงใหญ่ ทรงผลค่อนข้างกลมมีสีน้ำตาลอมเขียว

ทนแล้งพอสมควร

ข้อจำกัด

เป็นพันธุ์ลูกผสม ชั่วที่ 1 ไม่สามารถนำผลไปปลูกต่อไป

 

พันธุ์ลูกผสมกะทิชุมพร 84-1

เป็นพันธุ์มะพร้าวกะทิลูกผสมระหว่างน้ำหอม x กะทิ (NHK) และมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) ผ่านการรับรองพันธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2554

ลักษณะทั่วไป

มะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์ชุมพร 84-1 หรือมะพร้าวพันธุ์ YDK ต้นแรกออกจั่น เมื่ออายุ 2 ปี 5 เดือน พันธุ์ YDK มีจำนวนต้นออกจั่นครบร้อยละ 50 ของจำนวนต้นที่ปลูก อายุ 3 ปี 1 เดือน ความสูงของจั่นแรก เมื่อมะพร้าวออกจั่นแรก หลังจากติดผล ทะลายมะพร้าวจะโน้มลง ทำให้ผลมะพร้าวปลายทะลายอยู่ต่ำลงตามความยาวของจั่น พันธุ์ YDK มีผลปลายทะลายอยู่เหนือพื้นดิน 73 เซนติเมตร ช่วงอายุ 4-7 ปี มะพร้าวพันธุ์ YDK ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิสูงสุด 661 ผล/ไร่ และให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวธรรมดาสูงสุด 2,717 ผล/ไร่ คิดเป็นเนื้อมะพร้าวแห้ง 887 กิโลกรัม/ไร่ มะพร้าวกะทิมีเนื้อฟูเต็มกะลา แยกเป็นพวกน้ำข้นเหนียว ร้อยละ 21.74 เนื้อฟูปานกลาง ร้อยละ 47.83 เนื้อฟูเล็กน้อย น้ำใส มีร้อยละ 30.43 มะพร้าวธรรมดามีเนื้อมะพร้าวแห้งต่อผลเฉลี่ย 323 กรัม เนื้อมะพร้าวกะทิมีเปอร์เซ็นต์ไขมัน (fat) ประมาณ ร้อยละ 14.98 เนื้อมะพร้าวธรรมดามีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน (oil) ประมาณ ร้อยละ 62 เนื้อมะพร้าวกะทิมีเส้นใยอาหาร (dietary fiber) 8.77 กรัม/100 กรัม ซึ่งสูงกว่าเนื้อมะพร้าวธรรมดา 4 เท่า

ลักษณะเด่น

ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก 3,378 ผล/ไร่ โดยให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิ ไม่น้อยกว่า 18% ซึ่งต้นมะพร้าวธรรมดาจะไม่มีผลเป็นมะพร้าวกะทิ

ให้ผลผลิตเร็ว โดยต้นแรกออกจั่นอายุ 2 ปี 5 เดือน และต้นมะพร้าวจำนวนครึ่งหนึ่งของสวน ออกจั่นเมื่ออายุ 3 ปี 1 เดือน และให้ผลผลิตเมื่อทะลายแรกสูงจากพื้นดิน 73 เซนติเมตร

 

พื้นที่แนะนำ พื้นที่ที่เหมาะสม

ควรมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20-34 องศาเซลเซียส หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ปลูกในที่ที่มีการระบายน้ำดี ถ้าปลูกในที่ลุ่ม ควรยกร่อง ไม่ควรปลูกที่สูงเกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในกรณีพื้นที่ปลูกแล้งนานเกิน 3 เดือน ต้องมีระบบการให้น้ำอย่างเพียงพอ

ข้อควรระวัง

ปลูกให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดา ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ ให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดาอย่างน้อย 300 เมตร ถ้าเป็นทุ่งโล่งให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดาอย่างน้อย 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการผสมข้ามหรือถ่ายละอองเกสร (เรณู) จากละอองเกสรมะพร้าวธรรมดา ซึ่งจะทำให้ได้ผลมะพร้าวกะทิไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ (ตามกฎของเมนเดล)

 

พันธุ์ลูกผสมกะทิชุมพร 84-2

มะพร้าวกะทิลูกผสมระหว่างน้ำหอม x กะทิ (NHK) และมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) ผ่านการรับรองพันธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2554

ลักษณะทั่วไป

มะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์ชุมพร 84-2 หรือมะพร้าวพันธุ์ NHK ต้นแรกออกจั่นเมื่ออายุ 2 ปี 7 เดือน มีจำนวนต้นออกจั่นครบร้อยละ 50 ของจำนวนต้นที่ปลูกอายุ 3 ปี 3 เดือน ความสูงของจั่นแรก เมื่อมะพร้าวออกจั่นแรก หลังจากติดผล ทะลายมะพร้าวจะโน้มลง ทำให้ผลมะพร้าวปลายทะลายอยู่ต่ำลงตามความยาวของจั่น พันธุ์ NHK มีผลปลายทะลายอยู่เหนือพื้นดิน 71 เซนติเมตร พันธุ์ NHK ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ 348 ผล/ไร่ และให้ผลผลิตมะพร้าวธรรมดา 1,569 ผล/ไร่ ลักษณะพิเศษของ NHK คือร้อยละ 55 ของต้นมะพร้าวที่ปลูก จะให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม ซึ่งในแต่ละต้นจะให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ร้อยละ 25 และเป็นผลให้มะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม ร้อยละ 6 ในช่วงอายุ 4-7 ปี ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ 348 ผล/ไร่ มะพร้าวธรรมดา 1,569 ผล/ไร่ เนื้อมะพร้าวกะทิมีเปอร์เซ็นต์ไขมัน ประมาณร้อยละ 10.69 เนื้อมะพร้าวธรรมดามีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ประมาณร้อยละ 57 มะพร้าวธรรมดามีเนื้อมะพร้าวแห้งต่อผลเฉลี่ย 312 กรัม ผลมะพร้าวกะทิ มีเนื้อมะพร้าวกะทิเฉลี่ย 730 กรัม/ผล แยกเป็นพวก

– มีเนื้อฟูเต็มกะลา น้ำข้นเหนียว ร้อยละ 19.55

– เนื้อฟูปานกลาง น้ำข้นเล็กน้อย ร้อยละ 42.46

– เนื้อฟูเล็กน้อย น้ำใส ร้อยละ 37.99

ผลมะพร้าวกะทิที่มีเนื้อและน้ำหอมสามารถปรับปรุงพันธุ์ต่อไปโดยการเพาะเลี้ยงเอมบริโอจะได้ต้นพันธุ์ที่เป็นมะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย เนื้อมะพร้าวกะทิมีเส้นใยอาหาร 6.93 กรัม/100 กรัม ซึ่งสูงกว่าเนื้อมะพร้าวธรรมดา 3.3 เท่า

ลักษณะเด่น

ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก 1,917 ผล/ไร่ โดยให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิ ไม่น้อยกว่า 18 เปอร์เซ็นต์

ต้นแรกออกจั่นอายุ 2 ปี 7 เดือน และต้นมะพร้าวจำนวนครึ่งหนึ่งของสวน ออกจั่นเมื่อ 3 ปี 3 เดือน ให้ผลผลิตเมื่อทะลายแรกสูงจากพื้นดิน 71 เซนติเมตร

ต้นมะพร้าว จำนวน 55% ของสวนให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม ซึ่งในแต่ละต้นจะให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ 25% และเป็นมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอม 6%

นอกจากนี้ ยังมีมะพร้าวที่ปลูกเฉพาะถิ่นและพบลักษณะที่ดี

เช่น

 

คุณพรสิน เต็กสงวน และมะพร้าวแกงที่ชนะการประกวด

มะพร้าว คุณพรสิน เต็กสงวน

คุณพรสิน เต็กสงวน อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีอาชีพทำสวน โดยหมุนเวียนปลูกคล้ายๆ เกษตรกรรายอื่น อย่าง องุ่น มะนาว ฝรั่ง ชมพู่ มะพร้าวน้ำหอม

ที่วัดปรีดาราม ใกล้บ้านคุณพรสิน มีงานประกวดมะพร้าวทุกปี ทั้งมะพร้าวแกงและมะพร้าวน้ำหอม คุณพรสินนำผลผลิตของตนเองไปประกวด เคยได้รางวัล ส่วนหนึ่งของคนอื่นได้รางวัลเขาก็ไปซื้อหามาปลูก เป็นอยู่อย่างนี้กว่า 30 ปี มาแล้ว

หลังๆ มะพร้าวคุณพรสินอยู่ตัว พบลักษณะที่ดีทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวแกง เมื่อนำไปประกวดจึงคว้ารางวัลมานับไม่ถ้วน

มะพร้าว ผศ. ประสงค์ ทองยงค์

ผศ. ประสงค์ ทองยงค์ อยู่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 1 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี

ครอบครัวของ ผศ. ประสงค์ ปลูกมะพร้าวมานาน เดิมเป็นมะพร้าวแกง ต้นสูงมาก ปัจจุบันต้นยังอยู่ อายุกว่า 100 ปี

สำหรับมะพร้าวน้ำหอม ผศ. ประสงค์ พบลักษณะมะพร้าวในท้องถิ่นแปลกและแตกต่างจากถิ่นอื่น คือมีผลขนาดใหญ่เหมาะต่อการส่งออก น้ำหอม

บางลักษณะผลขนาดใหญ่ เหมือนมะพร้าวแกง แต่ต้นเตี้ยมาก

บางต้นผลดกและเป็นกะทิ

ลักษณะของมะพร้าวที่ ผศ. ประสงค์ มีอยู่ เรียกชื่อพันธุ์ว่า รบ.1, รบ.2, รบ.3 และ รบ.4

รบ. ย่อมาจาก ราชบุรี ถิ่นกำเนิดของมะพร้าวนั่นเอง

มะพร้าว รบ.1
มะพร้าว รบ.3

มะพร้าว คุณนงค์นารถ ห่วงเจริญ

คุณนงค์นารถ ห่วงเจริญ อยู่บ้านเลขที่ 76/20 ตำบลท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ทำสวนกว่า 50 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม

ที่นี่เขาคัดพันธุ์ ว่าต้นไหนน้ำมะพร้าวหอมมากหอมน้อย โดยการดูปลายราก หากมีสีชมพูถือว่าหอมมาก เมื่อตัดตามขวางที่ราก หากพบเห็นสีชมพู ต้นนั้นเมื่อนำไปปลูกได้มะพร้าวน้ำหอมมากเช่นกัน เมื่อตัดหรือใช้มือขยี้ที่ราก แล้วดม มะพร้าวน้ำหอมแท้ ที่รากจะมีกลิ่นหอม

แหล่งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ

และแหล่งรวมพันธุ์มะพร้าว

  1. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ (077) 556-023
  2. คุณพรสิน เต็กสงวน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โทรศัพท์ (093) 302-8628
  3. ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โทรศัพท์ (081) 836-6228
  4. คุณนงค์นารถ ห่วงเจริญ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ (086) 156-6160