ปลูกผักไร้เคมี & สปาหน้าสวย @ บ้านดงเจริญชัย เชียงใหม่

ปัจจุบัน คนไทยประสบปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ไขมัน ความดัน และมะเร็ง อันเกิดจากฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น ทำให้อาหารปนเปื้อนสารเคมี ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงวางแผนแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยใช้หลักการ “เกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวมโดยเฉพาะมิติ BCG Model หรือระบบเศรษฐกิจสีเขียว พัฒนาโครงสร้างชุมชนสู่ความเข้มแข็ง มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงในชุมชน

พืชผักปลอดสารพิษ ไร้สารเคมี

หลักการเกษตรสุขภาพ

ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและการวิจัย วิทยาลัยบริหารศาสตร์ กล่าวว่า “เกษตรสุขภาพ” เป็นการทำการเกษตรผสมผสาน สวนป่า ธรรมชาติ มุ่งผลิตอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระความเจ็บป่วย ความเสื่อมสภาพของร่างกาย จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การทำเกษตรสุขภาพ งดการใช้สารเคมีทุกชนิด เน้นใช้จุลินทรีย์ ชีวภาพ สารอาหารธรรมชาติ และสิ่งที่เหลือใช้ภายในบ้าน ชุมชน ป่า นำมาผลิตเป็นธาตุอาหารให้กับพืชที่ปลูก และเน้นปลูกพืชให้สัมพันธ์กับความต้องการของร่างกาย ธาตุเจ้าเรือน ดิน น้ำ ลม ไฟ มุ่งปลูกพืชให้ได้ โภชนาการ สารอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ขณะเดียวกัน เน้นปลูกพืชส่งเสริมสุขภาพให้ได้สารอาหารประเภทไฟเบอร์ จุลินทรีย์ (โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ และซิมไบโอติกส์) รวมทั้งสารเอนไซม์ ฮอร์โมน และพฤกษาเคมีจากพืช

ปัจจุบัน “วิสาหกิจชุมชนกสิกรรมไร้สารพิษสู่ความยั่งยืนบ้านดงเจริญชัย” หมู่ที่ 6 ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Farm Stay ตามหลักการ “เกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม” สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน 4 ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรสุขภาพ สปาสุขภาพ และเศรษฐกิจฐานราก มีสินค้าพืชผักปลอดภัย จุลินทรีย์ ปุ๋ย และสินค้าแปรรูปทางการเกษตร จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป มีคนไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาเยี่ยมชมโครงการตลอดทั้งปี

นักท่องเที่ยวชมแปลงปลูกผักปลอดสารของกลุ่มวิสาหกิจฯ บ้านดงเจริญชัย

เตรียมแปลงปลูกแบบลดโลกร้อน

ชุมชนแห่งนี้ปลูกผักไร้สารเคมีจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า ที่ไม่ต้องเผาทิ้ง สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจสีเขียว และฐานชีวภาพสู่ความยั่งยืน แปลงผักในชุมชนแห่งนี้ ชั้นล่างสุดเป็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ ชั้นกลางเป็นกิ่งไม้ เรียงจากขนาดใหญ่ไปหาขนาดเล็ก ชั้นบนเป็นใบไม้ หญ้า ชั้นบนสุดเป็นดินผสมใบไม้ ปุ๋ยหมักคลุมด้วยฟางหรือใบไม้ แปลงปลูกพืชใช้ดินน้อยที่สุด และใช้จุลินทรีย์ชีวภาพเข้ามาช่วยย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ดังกล่าว ทำให้ประหยัดน้ำ ดูแลรักษาง่าย เกษตรกรไม่ต้องปวดหลังในการทำงาน ลดการใช้ปุ๋ย พืชเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง แปลงผักไม่ต้องไถดิน ไม่ต้องขุดดิน ลงทุนน้อย ไม่ต้องทำแปลงบ่อย

นอกจากนี้ เกษตรกรบางรายตั้งถังรักษ์โลกเอาไว้ในแปลงผัก โดยให้ส่วนสีเขียวที่เป็นตะกร้าฝังไว้ในดิน ส่วนสีดำอยู่บนเหนือดิน เอาเศษอาหารที่เหลือกินในแต่ละวันมาเทลงแล้วราดด้วยจุลินทรีย์จาวปลวกแล้วปิดฝา วิธีนี้ทำให้เกษตรกรได้ปุ๋ยโดยไม่ต้องซื้อ แถมเป็นการกำจัดขยะไปในตัว

ตะไคร้ เป็นพืชสมุนไพรฤทธิ์ร้อน เป็นทั้งไฟเบอร์และเป็นสารอาหารที่จัดได้ว่าเป็นพรีไบโอติกส์ อาหารของจุลินทรีย์ที่ดี ช่วยปรับสมดุลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน เมื่อจุลินทรีย์ในร่างกายทำงานได้ดี ลำไส้ก็สะอาด เพิ่มภูมิต้านทานและฟอกเลือดได้ดี หลายคนอาจไม่รู้ว่า หลังนำต้นตะไคร้ไปทำอาหารแล้ว เราสามารถชำต้นตะไคร้ส่วนที่เหลือนำไปปลูกได้ ด้วยขั้นตอนง่ายๆ คือ ตัดหัวตะไคร้ ความยาว 1-1.5 นิ้ว นำไปแช่น้ำใช้เวลา 5-7 วัน รากจะงอก รอใบแทงออกมา ก็สามารถนำไปปลูกลงแปลงได้เลย

สำหรับคนที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เพาะปลูก ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กล่อง ถังน้ำ ล้อยาง กระบะ ขวดน้ำ โดยใช้กิ่งไม้ ใบไม้เป็นวัสดุหลักในการปลูก ใช้ดินปลูกน้อย ให้มีความหนาชั้นดินบน 3-5 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้ว แค่นี้ก็มีพื้นที่ปลูกพืชผักได้ตามที่ต้องการ ปลูกผักไร้สารเคมีเอาไว้กินเอง ไม่ได้กินเพียงแค่อิ่ม ยังช่วยสร้างความสมดุลของร่างกาย ช่วยลดอาการเจ็บป่วยแถมประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ตั้งถังรักษ์โลกเอาไว้ในแปลงผัก 

น้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม

พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ถูกนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจชุมชน เช่น น้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม ช่วยย่อยอาหารและขับลม บำรุงเลือดให้หมุนเวียนดี ซึ่งวิธีการทำก็แสนง่าย เริ่มจากเตรียมวัตถุดิบ ได้แก่ กระชาย มะนาว น้ำผึ้ง เกลือชมพู ขั้นตอนต่อมา ล้างกระชายให้สะอาด นำไปปั่นให้ละเอียดกรองด้วยผ้าขาวบาง นำไปต้มให้เดือดและช้อนเอาฟองออกเพื่อลดรสขม ต้มนาน 15 นาที จากนั้นใส่น้ำผึ้ง มะนาวและเกลือชมพู บรรจุขวดขณะร้อนแล้วคว่ำขวดลง ทันทีเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ

ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์

อาหารเพื่อสุขภาพ

ผศ.ดร.สถาพร กล่าวว่า สมุนไพรทำหน้าที่ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างดี ควรปลูกพืชผักที่มีองค์ประกอบพืชอาหารครบทุกธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เนื่องจากประเทศไทยมีธาตุลมเป็นธาตุประจำเมือง ประกอบกับเป็นเมืองร้อน อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและร้อนชื้น ทำให้ร่างกายเกิดไฟและลมขึ้นได้ง่าย คนไทยถึงได้มียาหอม ยาธาตุ ยาบำรุงธาตุ การกินน้ำพริก ช่วยให้เลือดลมหมุนเวียน กระจายลมในร่างกาย และขับลมที่ไม่ดีออกจากร่างกายเรา

ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก พริกไทย ดีปลี หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม กะเพรา สะระแหน่ โหระพา ยี่หร่า แมงลัก ต้นหอม ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว เม็ดผักชี มะแข่วน ชะพลู สะค้าน และสมุนไพรอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ร้อน/รสร้อน จัดเป็นสมุนไพรประจำธาตุลม มีประโยชน์ช่วยชูรส เพิ่มกลิ่นหอม ดับคาว ช่วยในการย่อย ช่วยขับลม เป็นพรีไบโอติกส์ คืออาหารของจุลินทรีย์ เป็นไฟเบอร์กากใยอาหาร ช่วยให้กระเพาะอาหารอุ่น ช่วยย่อยอาหาร ช่วยดูดซึม และขับถ่าย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เลือดลมหมุนเวียนดี

ปลูกผักในล้อยางรถยนต์ แก้ปัญหาข้อจำกัดพื้นที่ปลูก

เมื่อร่างกายเจ็บป่วยทางลม เกิดความเสื่อม เรียกว่า “กษัย” ผู้ป่วยที่มีอาการกษัยล้นเกิดจากอาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารมีกรดมาก หรือลำไส้อักเสบ ส่วน “กษัยราก” เกิดจากกระเพาะอาหารเป็นแผล ลำไส้อุดตัน หรือลำไส้ติดกัน “กษัยเหล็ก” เกิดจากอาการอักเสบของลำไส้ มีแก๊สและลมในลำไส้ทำให้มีอาการท้องแข็ง “กษัยลม” มีผลต่อระบบน้ำเหลือง ระบบเลือด การหมุนเวียน และการอุดตัน การอักเสบของร่างกาย หากจัดการลมไม่สมดุล ร่างกายเสื่อมอย่างต่อเนื่องและเจ็บป่วยเรื้อรัง

การกินอาหารควรกินเป็นมื้อหลัก กินให้อิ่ม หลีกเลี่ยงการกินในระหว่างมื้อเพื่อไม่ให้อินซูลินหลั่งมาตลอดเวลาส่งผลให้เกิดสภาวะดื้ออินซูลิน แป้ง ข้าว น้ำตาล ผลไม้รสหวาน ไขมัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหลั่งอินซูลินที่มากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายเสื่ิอมสภาพได้ง่าย

เราสามารถสร้างคุณภาพชีวิตและภูมิต้านทานที่ดีด้วยธรรมชาติ โดยการบริโภคอาหารดี ที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด เลือกกินเสาวรส สับปะรด มะละกอ มะนาว ที่มีวิตามินซีสูงมาก ช่วยเพิ่มปริมาณเอนไซม์ให้กับร่างกาย ในแต่ละวันร่างกายเราต้องการเอนไซม์ในปริมาณที่สูงมาก เพื่อใช้ในกระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหาร โดยทำงานร่วมกับโคเอนไซม์ ช่วยให้ร่างกายเรามีพลังและสดชื่น

วิธีเพาะชำต้นตะไคร้

ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก พริกไทย ดีปลี มะแข่วน กะเพรา โหระพา ยี่หร่า เม็ดผักชี หอมแดง กระเทียม มะขามเปียก มะกรูด มะนาว งาขี้ม้อน งาขาว น้ำอ้อย ลำไย เกลือดำหิมาลัย ฯลฯ เป็นอาหารกลุ่มพรีไบโอติกส์ช่วยในการย่อย ดูดซึม และขับของเสีย และเป็นอาหารกลุ่มไฟเบอร์ทำให้โพรไบโอติกส์เจริญเติบโตและทำงานได้ดี สร้างความสมดุลของธาตุลมในร่างกาย ระบบการหมุนเวียนที่ดี เพิ่มอุณหภูมิในลำไส้ให้เหมาะสม ในระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารช่วยเพิ่มรสชาติ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ และขับลม

ถั่วเหลือง” เป็นถั่วที่มีคุณสมบัติพิเศษ แตกต่างจากถั่วชนิดอื่นๆ วิธีการกินก็แตกต่างกันออกไป พี่น้องชาวเหนือ ชาวไทใหญ่ และคนญี่ิปุ่นนำถั่วเหลืองไปแปรรูปเป็นถั่วเน่า นัตโตะ หรือเทมเป้ ซึ่งเป็นอาหารที่มีชีวิต ทำให้ลำไส้แข็งแรง

“ไข่” ให้สารอาหารโปรตีน ราคาถูก โปรตีนจากไข่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก เลือด ทำให้ผิวพรรณสวย ไม่เหี่ยวย่น ไม่แก่เร็ว ทำให้เซลล์ประสาทและสมองทำงานได้ดี ควรหลีกเลี่ยงการกินไข่ทอดเพราะเป็นโทษต่อร่างกาย การทอดไข่ 1 ฟองด้วยน้ำมันให้พลังงานสูง 250 แคลอรี ทำให้ร่างกายอักเสบได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเส้นเลือดอุดตัน ควรบริโภค “ไข่ดาวนึ่ง” ซึ่งใช้เวลานึ่งเพียงแค่ 7-10 นาที การกินไข่ให้ได้ประโยชน์ ควรกินคู่กับถั่วนัตโตะหรือถั่วเน่า ร่วมกับต้นหอม ผักชี ขิง  พริกไทย พริกสด มะนาว หอมแดง ตะไคร้ และผักอื่นๆ เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อย

นักศึกษามีความสุขกับการสปาหน้าสวย

สปาหน้าสวย

สุขภาพดี แข็งแรง ต้องควบคู่ กับความสวยงาม สดใส และมีความสุข ผศ.ดร.สถาพร ได้พัฒนาสมุนไพรสูตรพิเศษ พร้อมให้การอบรมในรูปแบบสปาสุขภาพ (Happiness Well-being Spa) ที่แตกต่างจากสปาแบบทั่วๆ ไปและให้คำปรึกษาสุขภาพครบวงจร ผู้สนใจสามารถแวะมาทดลองใช้บริการอาหาร สุขภาพ ความงาม ครบวงจร พร้อมให้บริการอบสมุุนไพร พอกโคลน พอกสาหร่าย พอกผงสมุนไพร พอกผงถั่วเขียว ลงน้ำมันสปา สปาหน้าเด้ง ได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจฯ บ้านดงเจริญชัย แห่งนี้

หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากพัฒนาชุมชนของท่านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ อีเมล [email protected] เบอร์โทรศัพท์ 081-530-9785 ในวันและเวลาราชการ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จากเฟซบุ๊ก Sathaporn Saengsupho