พรเทพ เรียบร้อย ปลูกทุเรียนหมอนทอง พื้นที่สูง ที่บ้านน้ำฉา ชุมพร

การปลูกทุเรียนในปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากด้วยราคาจำหน่ายที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชุมพรซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกทุเรียนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตทุเรียนอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผลผลิตทุเรียนคุณภาพออกสู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอยู่โดยตลอด

คุณพรเทพ เรียบร้อย หรือ โกเดี่ยว หนุ่มร่างสันทัด นัยน์ตาสีเหล็ก เกษตรกรปลูกทุเรียนที่บ้านน้ำฉา ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ถือเป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ผ่านการเคี่ยวกรำและสั่งสมประสบการณ์บทบาทวิถีของชาวสวนผลิตทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองนอกฤดูมาตรฐานส่งออก อีกทั้งยังมุ่งมั่นขยายพื้นที่ในการปลูกทุเรียนเพิ่ม ภายใต้ปณิธาน “ปลูกทุเรียน 4 ปี ต้องได้รับผล” เพื่อตอบโจทย์การบริโภคของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีนที่มีความต้องการสูงจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

คุณพรเทพ เรียบร้อย หรือ โกเดี่ยว

คุณพรเทพ บอกเล่าเรื่องราวของตนเองอย่างอารมณ์ดีว่า ตนเองเดิมทีประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวนทุเรียนอยู่ก่อนแล้ว และเล็งเห็นว่าตลาดทุเรียนส่งออกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจึงตัดสินใจขยายแปลงปลูกทุเรียนเพิ่ม นอกจากแปลงทุเรียนที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อยู่ก่อนหน้านี้แล้วซึ่งเน้นทำทุเรียนนอกฤดู หรือทุเรียนทวายเป็นหลัก สำหรับสวนทุเรียนแปลงปัจจุบันที่ลงปลูกเพิ่มนั้นมีเนื้อที่กว่า 30 ไร่ เป็นพื้นที่ติดเชิงเขา มีความลาดชันสูง ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำฉา ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองทั้งหมด 700 ต้น อายุเฉลี่ยของต้นทุเรียนอยู่ที่ประมาณ 4 ปี สำหรับปี 2566 นี้ถือเป็นการเตรียมต้นทุเรียนเพื่อติดลูกในปีแรก

ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่มีการเลือกพื้นที่สร้างสวนทุเรียนนั้น ด้วยสภาพอากาศของจังหวัดชุมพรเป็นพื้นที่ร้อนชื้น ฝนตกชุก ตนเองจึงเลือกแปลงปลูกทุเรียนที่มีลักษณะการถ่ายเทของน้ำได้ดี โดยลักษณะทางกายภาพของสวนทุเรียนแปลงนี้เป็นพื้นที่มีความลาดชันสูงติดภูเขา การเตรียมแปลงปลูกรวมถึงการวางระบบน้ำในแปลงทุเรียนจึงมีความยากกว่าแปลงทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ราบอยู่พอสมควร แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่สามารถเตรียมต้นทุเรียนเพื่อเอาผลผลิตได้ง่าย น้ำไม่ขัง และไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากนัก อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงแหล่งน้ำ เลือกแปลงปลูกทุเรียนที่มีลำน้ำไหลผ่านซึ่งช่วยให้มีต้นทุนแหล่งน้ำสำรองในการใช้รดทุเรียนได้ทั้งปีนั่นเอง

ดอกทุเรียนในระยะมะเขือพวง 

ปลูกทุเรียนพื้นที่ลาดชันทำอย่างไร

“ปลูกทุเรียนพื้นที่ลาดชัน” หรือพื้นที่สูง แหล่งน้ำถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำจึงต้องเตรียมแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการรดน้ำต้นทุเรียนอยู่ตลอดทั้งปี

คุณพรเทพ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชันติดกับเชิงเขาจึงสามารถที่จะถ่ายเทน้ำได้อย่างสะดวก โดยใช้ระยะปลูก ขนาด 9×9 เมตร ซึ่งถือเป็นระยะปลูกที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดอย่างเพียงพอจึงไม่ควรปลูกให้ไม่แน่นทึบจนเกินไป วิธีการเตรียมดินปลูกให้นำรถแบ๊กโฮพรวนดินในหลุมให้กว้างเพื่อให้ดินร่วนซุย ไม่ให้ดินแน่นจนเกินไปและเป็นการตัดรากวัชพืชไปในตัว ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกทุเรียนในพื้นที่ราบก็ต้องทำการยกร่องหรือยกโคก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นทุเรียนอันเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราไฟทอปธอรา เน่าคอดิน หรือรากเน่าโคนเน่าได้

การเตรียมระบบน้ำสำหรับสวนทุเรียนแปลงนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความลาดชันสูงจึงต้องให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำและระบบน้ำภายในแปลงมากเป็นพิเศษ เริ่มต้นจากขุดสระน้ำขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ด้านล่างของแปลงซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อดินใช้การสูบน้ำขึ้นมาจากคลองแล้วนำมาพักไว้ในบ่อเพื่อรอสูบต่อขึ้นไปไว้บนบ่อพักที่ด้านบนสุดของแปลง โดยใช้ปั๊มซับเมอร์สจำนวน 2 ตัว ดูดน้ำขึ้นไปพักเอาไว้ เมื่อต้องการรดน้ำทุเรียนก็สามารถปล่อยน้ำจากบ่อด้านบนลงมาสู่พื้นที่แปลงปลูกทุเรียนด้านล่างโดยที่ไม่ต้องใช้ปั๊มสูบน้ำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม บ่อด้านบนสุดมีขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 6 เมตร สามารถที่จะบรรจุน้ำได้ในปริมาณ 1 ล้านลิตร ใช้แผ่นพลาสติกปูบ่อ (PE) ปูพื้นบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึม ส่วนการวางระบบน้ำภายในแปลงทุเรียนจะถูกแบ่งพื้นที่ภายในแปลงออกเป็น 4 โซน แล้วจึงติดตั้งวาล์วน้ำสำหรับเปิด-ปิดน้ำเอาไว้จำนวน 4 ตัว โดยใช้ท่อเมนหลัก ขนาด 6 นิ้ว สำหรับส่งน้ำจากบ่อพักด้านบนสุดเข้ามาสู่ท่อ 4 นิ้ว แยกเข้าท่อส่งขนาด 2 นิ้ว แล้วจึงส่งต่อไปยังท่อขนาด 4 หุน ที่มีการติดตั้งหัวสปริงเกลอร์จำนวน 2 หัว เอาไว้ที่โคนต้นทุเรียนทุกต้น ในแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลาในการรดน้ำทุเรียนทั้ง 4 โซน แบ่งออกเป็นโซนละประมาณ 30 นาที หรือใช้ระยะเวลารวมในการรดน้ำในแต่ละครั้งประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ดอกทุเรียนในระยะดอกบาน

นอกจากการเตรียมแปลงปลูกแล้ว การเลือกต้นพันธุ์ทุเรียนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงเลือกปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองทั้งหมด เพราะเป็นทุเรียนสายพันธุ์ที่สามารถทำตลาดส่งออกไปยังประเทศจีนและทำทุเรียนฟรีซดราย (ทุเรียนอบแห้งโดยใช้ความเย็นสูง) ต้นพันธุ์จะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ความสูงของต้นพันธุ์โดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับหน้าอก หรือประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร

ส่วนสาเหตุที่เลือกปลูกทุเรียนไซซ์ใหญ่นั้น ก็เพราะมีความสมบูรณ์มากกว่าต้นทุเรียนเล็ก ต้นกล้าทุเรียนที่มีความสูงในระดับนี้เมื่อนำลงปลูกในแปลงวัชพืชที่ขึ้นอยู่รอบโคนต้นจะปกคลุมต้นทุเรียนได้ยากเพราะทุเรียนมีระดับที่สูงกว่านั่นเอง กอปรกับการปลูกทุเรียนใหญ่ก็มีการเจริญเติบโตที่ไวกว่าทุเรียนเล็กเปรียบเสมือนการโกงอายุใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี ก็สามารถที่จะติดดอกและให้ผลผลิตได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของผู้ปลูกทุเรียนในแต่ละราย อย่างไรก็ตาม การปลูกทุเรียนในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นทุเรียนเล็กหรือทุเรียนใหญ่จะต้องทำการตัดรากขดที่อยู่บริเวณก้นถุงออกก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตด้วยรากที่ขดอยู่ เมื่อตัดรากขดออกแล้วก็ใช้ระยะเวลาไม่นานในการแตกรากใหม่ หรือประมาณ 2 เดือน

คุณพรเทพ เรียบร้อย (ซ้าย) และ คุณสุริยัณห์ สายหยุด (ขวา) 

ทุเรียนเล็กดูแลอย่างไร

คุณพรเทพ กล่าวว่า เทคนิคการดูแลทุเรียนเล็ก เมื่อนำทุเรียนลงหลุมปลูกเรียบร้อยแล้วจะใส่ปุ๋ยบำรุงต้นตามหลังในทันทีด้วยสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ในปริมาณที่ไม่มากนัก เนื่องจากต้นกล้าทุเรียนขณะอยู่ที่ร้านขายต้นพันธุ์จะได้รับการใส่ปุ๋ยอยู่ตลอดทุกๆ 20 วัน เพราะฉะนั้นการใส่ปุ๋ยทุเรียนเล็กจึงมีความจำเป็นอย่างมากจะต้องใส่อยู่ตลอดเพื่อให้ทุเรียนได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ปลูกทุเรียนในแต่ละรายที่จะเลือกใส่ปุ๋ยทุเรียนเล็กในช่วงระยะเวลาใด แต่ที่สวนแห่งนี้จะใส่ปุ๋ยในทุกเดือนโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ต่อเนื่องกันประมาณ 3 เดือน สลับมาใส่ปุ๋ยชีวภาพ 1 ครั้ง เพื่อปรับสภาพดินแล้วจึงกลับมาใส่สูตรเสมอตามปกติอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ปุ๋ยชีวภาพที่เลือกใช้คือ ปุ๋ยคอก (ขี้วัว) ใส่เฉพาะในช่วงปีแรกเพื่อปิดหน้าดิน ทำให้ดินสามารถเก็บความชุ่มชื้นเอาไว้ได้ดี อีกทั้งยังช่วยไม่ให้ความชื้นระเหยขึ้นไปในอากาศ เพื่อป้องกันทุเรียนเล็กสูญเสียความชื้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการใบไหม้ ใบแห้ง และจะใช้วิธีใส่ปุ๋ยบำรุงทุเรียนเล็กในลักษณะดังกล่าวประมาณ 2 ปี เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 3 จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ในช่วงที่ทุเรียนมีการแตกยอดตามปกติ

บ่อน้ำขนาดใหญ่ภายในแปลงทุเรียน

นอกจากการบำรุงต้นทุเรียนเล็กด้วยปุ๋ยทางดินแล้วยังต้องให้เพิ่มสารอาหารทางใบเข้าไปด้วย โดยใช้กรรมวิธีฉีดพ่นทางใบในระยะเวลาทุกๆ 10 วัน หรือในช่วงระยะทำยอดทุเรียนก็จะมีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อรักษาใบอ่อนให้รอดพ้นจากการกัดกินของแมลง เพลี้ย และไรแดง ผสานกับการให้สารอาหารควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ ฮิวมิค ปุ๋ยเกล็ด และธาตุอาหารเสริมต่างๆ อาจมีการใช้ยาป้องกันเชื้อราบ้างในช่วงฤดูฝน (หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องใช้) แต่ในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นสูง สภาพอากาศปิดย่อมทำให้ทุเรียนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อราได้จึงต้องใช้ยารานั่นเอง ส่วนการให้น้ำด้วยสภาพดินภายในแปลงทุเรียนมีลักษณะเป็นดินเหนียวปนลูกรัง การให้น้ำในช่วงฤดูร้อนก็จะให้น้ำตามปกติ หรือในช่วงทำยอดจะให้น้ำวันเว้นวัน ส่วนในระยะที่ดอกทุเรียนบานจะมีการปรับระยะเวลาในการให้น้ำจากครึ่งชั่วโมงเป็น 20 นาที พร้อมทิ้งระยะเวลาออกไปประมาณ 1-2 วัน แล้วจึงให้น้ำ 1 ครั้ง

ต้นทุเรียนหมอนทองอายุ 4 ปี 

แต่งกิ่งช่วยเร่งทุเรียนให้โตเร็ว

การแต่งกิ่งทุเรียนนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ต้นทุเรียนสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยใช้วิธีการแต่งกิ่งแขนงที่แย่งอาหารจากกิ่งหลักที่มีการเว้นเอาไว้ออกไป เพื่อมุ่งเน้นให้กิ่งหลักมีความอวบอ้วน แข็งแรง และต้นทุเรียนได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกระจายไปยังกิ่งแขนงที่ไม่มีความสำคัญ

คุณพรเทพ กล่าวว่า “การแต่งกิ่งทุเรียนเปรียบเสมือนการแต่งอนาคต” เนื่องจากต้นทุเรียนที่ได้รับการแต่งกิ่งอยู่เสมอจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในกรณีที่ผู้ปลูกต้องการที่จะไว้กิ่งทั้งหมดจะทำให้กิ่งซ้อนกันและทำให้ทรงพุ่มแน่นยากแก่การทำงานในช่วงที่ทุเรียนติดลูก ทางด้านเทคนิคการแต่งกิ่งทุเรียนจะเน้นใช้วิธีแต่งกิ่งให้มีลักษณะหยักฟันปลา (แต่ง 1 กิ่งแล้วเว้นเวียนขึ้นไป) เพื่อไม่ให้มีกิ่งซ้อนกัน การแต่งกิ่งด้วยกรรมวิธีนี้จะช่วยให้แสงแดดสามารถที่จะส่องถึงได้ทั่วทรงพุ่มรวมถึงพื้นดินด้านล่าง เมื่อต้องขึ้นทำงานบนต้นทุเรียนก็สามารถที่จะทำได้อย่างง่ายดายโดยไม่ไปชนกับกิ่งที่ซ้อนกันเพราะได้แต่งกิ่งเตรียมเอาไว้หมดแล้ว

สำหรับการแต่งกิ่งทุเรียนอายุ 1-4 ปี จะเน้นทำในระยะ 2 เดือนต่อครั้ง และมีความแตกต่างจากทุเรียนใหญ่ที่ได้มีการจัดตำแหน่งกิ่งเอาไว้ทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการแต่งกิ่งทุเรียนเล็กหากไม่มีความเข้าใจ หรือไม่มีความชำนาญก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ซึ่งในระหว่างนี้จะขึ้นไปทำการแต่งกิ่งทุเรียนด้วยตนเองทั้งหมด เมื่อทุเรียนมีอายุครบ 4 ปี จึงให้ลูกน้องขึ้นไปแต่งกิ่งได้ เนื่องจากรู้ว่ากิ่งแม่ที่เราเว้นเอาไว้คือกิ่งใดแล้วจึงขึ้นไปแต่งกิ่งย่อย กิ่งข้าง หรือกิ่งที่มีขนาดเล็กออกซึ่งกิ่งแขนงเหล่านี้จะแย่งอาหารจากกิ่งใหญ่ที่ต้องการเตรียมพร้อมสำหรับการติดลูก

บรรยากาศภายในแปลงทุเรียน

นอกจากการแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ดีแล้วกรรมวิธี “บล็อกกิ่ง” เองก็ช่วยให้กิ่งของต้นทุเรียนมีลักษณะที่อวบอ้วน แข็งแรง และไม่เปราะหักง่ายซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไปด้วย เมื่อทุเรียนมีอายุได้ประมาณ 2 ปี ทรงพุ่มเริ่มมีขนาดใหญ่จึงเริ่มทำการบล็อกกิ่ง ส่วนสาเหตุที่ต้องบล็อกกิ่งนั้นก็เพราะในระยะนี้กิ่งทุเรียนมีการแตกออกมาด้านข้างเพื่อหาแสงแดดซึ่งเป็นปกติของทุเรียนเล็กจะต้องขึ้นไปทำการบล็อกกิ่งด้วยกรรมวิธีสับปลายกิ่ง เพื่อช่วยไม่ให้แตกออกไปด้านข้างมากจนเกินไป กรรมวิธีบล็อกกิ่งนั้นสามารถเลือกทำได้ทุกกิ่งแต่จะเน้นกิ่งที่ยาวจนเกินไปจะทำการบล็อกกิ่งไว้ เปรียบเสมือนการจัดแต่งทรงพุ่มทุเรียนไปในตัวซึ่งจะช่วยให้กิ่งทุเรียนอวบใหญ่และไม่ยาวออกไปภายนอกรัศมีทรงพุ่มมากจนเกินไป เมื่อต้องรับน้ำหนักจากการโยงกิ่งในระหว่างที่ทุเรียนติดลูก แม้จะแบกรับน้ำหนักไว้มากกิ่งก็ไม่หัก

ทั้งนี้ ต้นทุเรียนที่ทำการบล็อกกิ่งแล้วจะมีความแตกต่างจากต้นทุเรียนที่ไม่ได้ทำการบล็อกกิ่งอยู่พอสมควร เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดเมื่อต้นมีลักษณะใบที่หนาทึบเพราะไม่ได้รับการตัดแต่งทรงพุ่ม กิ่งก็ย่อมที่จะแผ่ขยายออกไปเพื่อหาแสงแดดในลักษณะแนวตรงยาวออกไปจนทำให้ปลายกิ่งห้อยในที่สุด เมื่อกิ่งมีน้ำหนักมากจะถ่ายเทน้ำหนักลงไปที่ปลายกิ่งจนกิ่งหัก เมื่อลูกน้องขึ้นเหยียบกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ก็จะมีการแตกร้าวอยู่ภายในจนทำให้ใบเหลืองเพราะตับกิ่งแตก แต่ถ้าเราได้แต่งกิ่งพร้อมทั้งบล็อกกิ่งไว้ในลักษณะนี้กิ่งทุเรียนจะมีลักษณะที่เชิดขึ้น ไม่เปราะหักง่ายนั่นเอง

ตัดแต่งดอกทุเรียน 

แนะนำเทคนิคเตรียมต้นทุเรียนติดลูกปีแรก

คุณพรเทพ กล่าวว่า เทคนิคการเตรียมต้นทุเรียนเพื่อติดลูกปีแรกในปีที่ 4 จะต้องเตรียมต้นให้มีความสมบูรณ์เพื่อจะเอายอดแรกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ส่วนยอดที่ 2 เมื่อใบเพสลาดแล้วหากต้องการที่จะให้ต้นทุเรียนติดดอกต้องใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ก่อนประมาณ 1 อาทิตย์ หรือในกรณีที่ต้องการทำทุเรียนทวาย (ทุเรียนนอกฤดู) ก็ต้องมีการใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เช่นเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างก่อนทำการโชยสาร (ฉีดแพคโคลบิวทราโซล) ประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นก็สามารถลงสารได้ทันที แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของสวนต้องการให้ทุเรียนติดลูกในช่วงระยะเวลาใดของปี

สำหรับสวนทุเรียนแปลงนี้เลือกทำทุเรียนตามฤดูกาลของภาคใต้ มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นปักษ์ใต้ว่า “เรียนหยาม” โดยระยะในการเริ่มเตรียมต้นสำหรับติดลูกทุเรียนตามฤดูกาลของจังหวัดชุมพรจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ปลายเดือนธันวาคม หรือแล้วแต่สภาพอากาศในแต่ละปี สำหรับสวนแห่งนี้เริ่มเตรียมต้นทุเรียนในเดือนธันวาคม ด้วยกรรมวิธีใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ในอัตราต้นละประมาณ 2 กิโลกรัม หรือดูตามความสมบูรณ์ของต้น และทำการแต่งกิ่งแขนงทุเรียนในระยะที่ทำยอดแรก เมื่อเข้าสู่ระยะยอดที่ 2 จะไม่ทำการแต่งกิ่ง ซึ่งในระหว่างนี้จะมีการให้อาหารทางใบจำพวกธาตุอาหารรวม ได้แก่ ปุ๋ยเกล็ด แคลเซียม และธาตุอาหารรวม (ยูนิเลท) แต่จะไม่ใช้สารอาหารที่มีลักษณะกดยอดฉีดแล้วทำให้ใบกรอบใบโทรมเพื่อเร่งให้ทุเรียนติดดอก แต่จะเน้นความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลัก เพราะถ้าต้นทุเรียนสมบูรณ์ดีก็สามารถที่จะออกดอกติดลูกได้ง่ายซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำสวนทุเรียน ทั้งนี้ ปุ๋ยเกล็ดสูตรที่ใช้ในระหว่างทำยอดจะใช้เคโมฟายล์ สูตร 30-10-10 ส่วนในช่วงสะสมอาหารจะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเกล็ดอีกสูตรหนึ่ง หรืออาจเลือกใช้สูตรที่มีการใช้งานทั่วไปจำพวก 0-52-34 (โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต) ได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว อาจจะมีการเพิ่มธาตุอาหารรองจำพวกแคลเซียมเข้ามาในระยะนี้อีกด้วย

เมื่อทุเรียนเริ่มออกดอกประมาณช่วงต้นเดือนมกราคมซึ่งย่างเข้าสู่เดือนที่ 2 จะฉีดยาฆ่าแมลงและยาป้องกันเชื้อราจำพวกเมทาแลกซิล แมนโคเซบ หรือในบางครั้งอาจมีการฉีดแอนทราโคล (สารโพรพิเนบ) เพื่อป้องกันเชื้อราจำพวกแอนแทรกโนสเข้าอยู่ในช่อดอก ไปจนกระทั่งดอกทุเรียนเริ่มเข้าสู่ระยะหางแย้ไหม้และขึ้นหนามจะมีการให้สารอาหารทางใบควบคู่กันไปด้วย

ใบทุเรียนที่มีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการติดลูก

ภายหลังจากที่ต้นทุเรียนติดลูกแล้วจะสลับมาใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 เพื่อบำรุงไม่ให้ต้นทุเรียนโทรม การใช้ปุ๋ยสูตรเสมอในระยะนี้ก็เพื่อบำรุงต้นทุเรียนทั้งในส่วนของใบ ลำต้น และผลทุเรียน ส่วนการฉีดยาทุเรียนในช่วงนี้จะใช้สูตรยาในรูปแบบเดียวกันกับในระยะ 2 เดือนแรก ได้แก่ ยาราและยาฆ่าแมลงเข้าไปเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราและแมลงเข้าทำการกัดกินทำลายผลทุเรียน เน้นใช้ยาฆ่าแมลงจำพวกอีมาเมกตินเบนโซเอต แลมดาบ์ ไซฮาโลทริน และไซเปอร์เมทริน ในการกำจัดหนอน ส่วนเพลี้ยแป้งจะเลือกใช้ไทอะมีทอกแซม และไม่ให้สารอาหารทางใบจำพวกอาหารเสริมแต่อย่างใด แต่เลือกใช้การให้สารอาหารทางดิน คือ ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ตั้งแต่ผลทุเรียนมีขนาดเล็กไปจนถึงผลทุเรียนมีขนาดใหญ่จึงหยุดปุ๋ย จะใช้วิธีการดูแลในรูปแบบดังกล่าวนี้ไปจนกระทั่งทุเรียนมีอายุประมาณ 110 วัน นับตั้งแต่ดอกทุเรียนบานไปจนถึงทุเรียนแก่ก็สามารถที่จะตัดจำหน่ายได้ แต่ปัจจุบันด้วยสภาพอากาศรวมไปถึงสารเคมีที่ใช้กับต้นทุเรียนอาจมีผลทำให้ทุเรียนอยู่ในระยะที่ตัดได้ในช่วงระยะเวลาที่อาจไม่ถึง 120 วัน ได้เช่นกัน แล้วเลือกตัดทุเรียนที่มีความแก่จัดอยู่ที่ 75-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นทุเรียนตามฤดูกาลผลิตของจังหวัดชุมพรจึงจะเริ่มออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคมนั่นเอง

“การทำสวนทุเรียนนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำ เปรียบเสมือนการดูแลลูกอ่อน แต่เมื่อลงมือทำอย่างจริงจังก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะเมื่อได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำทุเรียนในขั้นตอนต่างๆ จนเข้าใจดีแล้ว ประสบการณ์จะเป็นตัวสอนให้เราพัฒนาตนเองจนชำนาญขึ้นเรื่อยๆ” คุณพรเทพ กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจปลูกทุเรียน

ติดต่อเกษตรกร คุณพรเทพ เรียบร้อย หรือ โกเดี่ยว ที่อยู่ เลขที่ 14/2 หมู่ที่ 5 บ้านน้ำฉา ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทร. 089-207-0353