เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กับศสกร.อำเภอสรรพยา

ชื่อตำบลสรรพยา และอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาทนั้น มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณพุ่งหอกโมกขศักดิ์ถูกพระลักษมณ์ พระรามมีพระบัญชาให้หนุมานไปเก็บสังกรณีตรีชวา ซึ่งอยู่ที่เขาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ ปัจจุบันพบว่า บนเขาสรรพยา มีต้นสังกรณีตรีชวาอยู่จริง และพบสมุนไพรที่หายากอื่นๆ เป็นจำนวนมาก จึงเชื่อกันว่าเขาสรรพยาในวรรณคดีดังกล่าว คือ เขาสรรพยาที่ตำบลสรรพยา โดยมีการเล่าขานเป็นตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา) สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงยกย่อง ตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา) เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยนาท พร้อมขึ้นทะเบียน “ตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา)” ใน บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณะได้มีส่วนร่วมสืบสาน ตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา) ในระยะยาว

สวนเกษตรผสมผสาน 

 ศสกร.อำเภอสรรพยา

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบล(ศสกร.ตำบลสรรพยา) และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอสรรพยา( ศสกร.อำเภอสรรพยา ) มีส่วนร่วมในการสืบสานตำนานเขาสรรพยาแล้ว ยังส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การปลูกสมุนไพรพื้นบ้าน สังกรณี ตรีชวา ในกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่นแล้ว ยังส่งเสริมอาชีพการแปรรูปพืชสมุนไพรพื้นบ้าน การทำเครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น

นอกจากนี้ ศสกร.อำเภอสรรพยา มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่น มีความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามศาสตร์พระราชา โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น นายไตรศักดิ์ ปัทมรัฐจิรนนท์ ปราชญ์ด้านการทำเกษตรกรรม เป็นวิทยากร บรรยายให้ความรู้เรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

นายไตรศักดิ์ ปัทมรัฐจิรนนท์ เกษตรกรต้นแบบ

ศสกร.อำเภอสรรพยา สนับสนุนให้นายไตรศักดิ์เปิดบ้าน (สวนมะกรูดนายกใหญ่) เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง ตั้งอยู่ หมู่ที่ 3 ตำบลสรรพยา (ถนนเส้น ห้วยกรด-สรรพยา) ที่นี่กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรผสมผสาน ตามศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) รองรับคณะศึกษาดูงานของหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน ตลอดจนคณะครูและนักศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)จากทั่วประเทศ ตลอดทั้งปี

ป้ายหน้าสวน

ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง

Advertisement

นายไตรศักดิ์เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลเจ้าพระยา ถึง 16 ปี จึงถูกเรียกขานติดปากว่า “นายกใหญ่” เขาเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ชอบศึกษาทดลอง เช่น การเพาะชำกิ่งมะกรูดบนกระบะลอยน้ำ เป็นแพอยู่ในบ่อเลี้ยงปลา ดึงน้ำจากบ่อปลามารดน้ำให้กับกิ่งชำมะกรูด เนื่องจากน้ำในบ่อปลามีแร่ธาตุอาหารนานาชนิด ทำให้กิ่งปักชำมะกรูดงอกรากได้ดี เป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้ชื่อเสียงของสวนมะกรูดนายกใหญ่ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

นายไตรศักดิ์ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรเชิงเดี่ยว พึ่งพาสารเคมี มีฐานะยากจน และมีหนี้สินก้อนโต นายไตรศักดิ์มีโอกาสศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับหน่วยงานต่างๆ ในหลายพื้นที่พบว่า ศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 สามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และสร้างความสุขในอนาคตของลูกหลานไทยได้อย่างยั่งยืน

Advertisement
ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในการสูบน้ำ

นายไตรศักดิ์จึงตั้งใจศึกษาศาสตร์พระราชาอย่างจริงจังกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง ศสกร.อำเภอสรรพยา เดือนมกราคม 2558 นายไตรศักดิ์ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษกิจพอเพียง และเกษตรผสมผสานมาปรับใช้บนที่ดินทำกิน 5 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สวนแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง (สวนมะกรูดนายกใหญ่) แบ่งที่ดิน ขุดสระเป็นบ่อน้ำ เลี้ยงปลาไว้เป็นอาหาร ปลูกผักสวนครัว และผลไม้ไว้รับประทาน ปลูกหญ้าแฝกไว้ป้องกันดินและเพิ่มความชุ่มชื้น ปลูกไม้ผลนานาชนิด เช่น ส้มโอขาวแตงกวา กล้วย ส้มสายน้ำผึ้ง ปลูกต้นทองหลางน้ำเป็นพืชร่วมแปลงทุเรียน เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในสวนทุรียน ช่วยบรรเทาสภาพอากาศร้อนได้อย่างดี

ปลูกไม้ยืนต้นเป็นเงินออม

นอกจากนี้ ยังปลูกพืชสวนประเภท พริก มะนาวน้ำเพชร ดีปลี มะกรูด ฟัก บวบ ไว้ปรุงอาหาร ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคถูกแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง เพื่อน และคนรู้จักก่อน จึงค่อยนำส่วนที่เหลือไปขายเพื่อสร้างรายได้ นายไตรศักดิ์ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า โดยแบ่งที่ดินปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้มีค่านานาชนิด ทั้งต้นสักทอง ต้นยางนา ปลูกต้นสะตอที่คันนาทองคำ และการใช้พลังงานทดแทน (โซลาร์เซลล์) ระบบปั๊มน้ำเพื่อการเกษตร และพลังงานไฟฟ้า

ปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด

ศูนย์การเเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวงแห่งนี้ ไม่ใช้สารเคมี เน้นปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบที่ทำเอง ปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด หลังการเก็บเกี่ยวข้าวจะใช้รถไถกลบตอซัง หมักเป็นปุ๋ยอินทรีบำรุงดิน ทำให้ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพดี โดยใช้ต้นทุนการผลิตต่ำแค่ไร่ละ 1,500 บาทเท่านั้น

ศูนย์การเเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวงแห่งนี้ ถูกจัดตั้งขึ้นแบบบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น คณะวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและความพร้อม ในการออกแบบให้ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อรองรับและจัดกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาเที่ยวและทำกิจกรรม ณ ศูนย์การเเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง

ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน

นายไตรศักดิ์ร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัดทำแปลงทดสอบผลผลิตข้าวพันธุ์ปรับปรุงใหม่ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ พันธุ์ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ฯลฯ รวมทั้งปักดำกล้าพันธุ์ข้าวลงในแปลงทดสอบผลผลิตข้าวพันธุ์ปรับปรุงใหม่ จำนวน 1 ไร่ ตามโครงการ ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก

ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง พื้นที่สีเขียว ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงาน ติดต่อได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 081-886-2844 (นายกใหญ่) หากสนใจกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่รายการเรียนนอกรั้ว ตอน ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา กับ ศสกร.อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท คลิปวิดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=ctVQAp8Ro_E

………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2566.