ปลูกฟักทองผลอ่อน เพิ่มรายได้ก่อนพืชหลัก ไม่ต้องหาตลาด มีพ่อค้ารับซื้อถึงสวน

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน แฟนนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ติดตามอ่านบทความของลุงยศคนเกษตร ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านสาระดีๆ ที่ได้จากประสบการณ์ตรงของเกษตรกร ในครั้งนี้ผู้เขียนได้เดินทางไปทำธุระที่จังหวัดสิงห์บุรี และได้ใช้เส้นทางสายอินทร์บุรี-ตากฟ้า-หนองบัว-บึงสามพัน (สี่แยกราหุล)-ภักดีชุมพล-หนองบัวระเหว-เทพสถิต-ซับใหญ่-ชัยภูมิ-ขอนแก่น เพื่อเดินทางกลับจังหวัดสกลนคร การเดินทางสะดวก และมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ในระหว่างเส้นทางก็มีจุดสนใจมากมาย เช่น ทุ่งดอกกระเจียว ป่าหินงาม แต่สถานที่เหล่านี้ผู้เขียนได้เดินทางไปชมแล้วหลายครั้ง ในครั้งนี้ได้เพิ่มความตื่นตามากขึ้น เพราะตั้งใจที่จะเข้าชมทุ่งกังหันลมที่มีมากที่สุดในประเทศไทย และสามารถแทรกอยู่บนพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรได้อย่างลงตัว ลงตัวอย่างไรติดตามครับ

บ้านบุฉนวน ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับใหญ่ ประมาณ 5 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกสบาย บนถนนไร้ฝุ่น ที่ทางบริษัทกังหันลมได้สร้างไว้บนเส้นทางที่ชาวบ้านใช้กันเป็นประจำ สภาพโดยทั่วไปเป็นพื้นที่การเกษตร ช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปคือหน้าฝนเดือนกรกฎาคม ดังนั้น ความเขียวชอุ่ม สดสวยของป่ามีความสวยงามมาก สายลมพัดอ่อนๆ พร้อมกับละอองฝนเล็กน้อย สลับแสงแดดอ่อนๆ เมฆเคลื่อนตัวไปในทิศทางของกระแสลม ที่ปะทะใบกังหันหมุนพร้อมกัน เป็นภาพที่สวยงามแปลกตา พื้นที่ดินของเกษตรกรอยู่ในเขต ส.ป.ก. กิจกรรมทางการเกษตรส่วนมากปลูกมันสำปะหลังและพืชไร่อื่นๆ ช่วงปลายพฤษภาคม-กรกฎาคม เกษตรกรจะปลูกฟักแฟง และฟักทอง ทั้ง 2 ชนิด ปลูกเพื่อเก็บผลอ่อนออกขายช่วงกลางฝน เพราะเป็นพืชที่ต้องการใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโต ราคาในท้องตลาดดีมาก

ผู้เขียนได้พบกับ คุณณัฐพนธ์ มักขุนทด อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 6 บ้านบุฉนวน ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นผู้นำส่งผลผลิตลูกฟักอ่อน และลูกฟักทองอ่อนเข้าสู่ตลาดในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในแต่ละปี คุณณัฐพนธ์จะเป็นผู้ที่รับส่งประจำ นำรายได้มาสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการใช้พาหนะขนส่งที่มีสภาพใหม่ทันสมัย

ในด้านการผลิตเจ้าของสวน คุณบัวลอย ภูมิธิ อยู่บ้านเลขที่ 170 หมู่ที่ 6 บ้านบุฉนวน ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ โทร. (086) 252-1563 กล่าวว่า ปลูกฟักทองผลิตผลอ่อนมานานหลายปีแล้ว พื้นที่ก็เป็นเขต ส.ป.ก. ตั้งอยู่ใกล้กังหันลม อาศัยช่วงที่ขุดมันสำปะหลังออกใหม่ๆ เดือนพฤษภาคม ขณะรอที่จะลงมือปลูกมันสำปะหลังอีกรอบปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก็ปลูกฟักทอง ฟักแฟง เพื่อเพิ่มรายได้ก่อนพืชหลัก พื้นที่นี้ถ้าเป็นหน้าแล้งไม่มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จะปลูกพืชอื่นก็เสี่ยง หลังจากปลูกมันสำปะหลังไปแล้วก็รอเวลา เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมก็เก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงต้นฝนก็ปลูกพืชตระกูลฟักแฟงอีกเช่นเคย หมุนเวียนไปอย่างนี้ทุกปี ในปีนี้ประสบปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือ 1. บริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ฟักทองใช้เมล็ดที่มีคุณภาพต่ำบรรจุขาย เมื่อนำไปปลูกเกิดความงอกน้อยกว่าที่เคยนำไปปลูกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา 2. เกิดโรคราที่โคนต้นและใบ ผู้เขียนก็ถือโอกาสแนะนำให้ทดสอบความงอกก่อน ตามหลักวิชาการถ้างอกดีก็ซื้อ และให้ไปปรึกษาเกษตรอำเภอเรื่องใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อรา คุณบัวลอยขอบคุณ

การเก็บผลผลิตลูกฟักทองอ่อนต้องเก็บตอนสายๆ ประมาณ 09.00 น. เป็นต้นไป ให้ลูกฟักทองดูดน้ำเข้าผลอย่างเต็มที่ก่อนเพื่อจะไม่เหี่ยวง่าย หลังจากนั้น นำมาล้างดินทำความสะอาด ผึ่งให้หมาด บรรจุลงถุง ถุงละประมาณ 10 กิโลกรัม ขายส่งถุงละ 100-110 บาท มีพ่อค้ามารับถึงที่ในสวน ผู้เขียนได้สังเกตการณ์การล้าง จะใช้น้ำสะอาดผสมด้วยน้ำยาล้างจานที่เราใช้ในครัวเรือนในปริมาณเล็กน้อย ล้างผิวจะเป็นมันสวยวาว การบรรจุลงถุง ใช้ด้านขั้วผลที่ยาวลงไปก่อนแล้วใส่ลงทับลงไปทีละลูก ระวังไม่ให้ผิวช้ำ นำไปวางบนพื้นที่มีวัสดุปูรองอีกชั้นหนึ่ง รอเวลาการขนส่งเข้าสู่ตลาดต้นทาง

ครับเมื่อกล่าวถึงพลังงานสะอาด ผู้เขียนเองก็มีความสนใจมาก เพราะไม่ไปบุกรุกธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติอยู่อย่างปลอดภัย ในพื้นที่นี้ก็เช่นกัน สังเกตว่าเกษตรกรให้ความสำคัญมาก และสามารถอยู่กันได้อย่างลงตัว กังหันลมแต่ละต้นใช้พื้นที่ประมาณ 2 งาน และพื้นที่วงรัศมีโดยรอบประมาณ 1 ไร่ ชื่นชมเทคโนโลยีการสร้างที่ลงตัวในพื้นที่เกษตรกรรมด้านการผลิตพืชไร่ เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอตลอดปี และยังสร้างโอกาสทางการท่องเที่ยว สำหรับท่านที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ก็สามารถเดินทางไปที่เขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลซับใหญ่ ทางเข้าจะมีใบกังหันลมวางอยู่ปากทาง สามารถขับรถเข้าไปชมได้ สอบถามพูดคุยกับเกษตรกรบริเวณนั้น ท่านก็จะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

พลังงานสะอาดมีมากมายหลายเหตุผลที่ให้ท่านเลือก เช่น ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังน้ำ ไฟฟ้าพลังลม แต่ที่ไม่เปลืองพื้นที่ก็เห็นจะเป็นพลังงานลมนี่แหละ แต่ต้นทุนสูง ในทางกลับกันถ้าใช้กังหันลมตัวที่มีขนาดเล็กและต้องใช้หลายตัว ผู้เขียนว่าขนาดใหญ่จะเหมาะสมกว่าเพราะใช้พื้นที่น้อยกว่า กำลังไฟฟ้าได้มากกว่า (อันนี้ไม่มีความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าแต่ก็คาดเดาว่าน่าจะดีกว่าอย่างอื่นๆ) ทัศนียภาพสวยงามอีกต่างหาก กับภาพประทับใจที่ลงมาให้ชมนะครับ

สนใจสอบถามเส้นทางเข้าชมทุ่งกังหันลมและอุดหนุนผลผลิตการเกษตรชาวบ้านบุฉนวน ติดต่อ คุณณัฐพนธ์ มักขุนทด เบอร์โทร. (065) 046-8405 ฉบับนี้ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ สวัสดี