ผู้เขียน | นิพนธ์ สุขสะอาด |
---|---|
เผยแพร่ |
สวนสมรม หรือเกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่สอดคล้องกับการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ในการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคนนครศรีธรรมราชได้นำมาใช้ในการประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จในหลากหลายพื้นที่ ทั้งบนภูเขาสูง พื้นที่ราบ พื้นที่ลุ่ม และพรุ มีตัวแบบที่ดี มีตัวอย่างที่ดี สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้หยิบยกมาจัดทำโครงการ เสวนา “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังกับเกษตรกรเจ้าของภูมิปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กองทุน สสส. นักวิชาการอิสระ ในการระดมสมอง จัดเวทีถอดองค์ความรู้ โดยกำหนดจัด 3 เวที เพื่อหาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละโซนพื้นที่ไปขยายผลต่อไป
คุณชลินทร์ ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ตามที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสนอโครงการเพื่อจัดทำโครงการเสวนา “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์ของเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องสวนสมรม เพื่อค้นหาตัวแบบที่ดี ที่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และจัดทำเป็นหลักสูตรชุมชนในการขยายผลในอนาคตต่อไป
คุณนิพนธ์ สุขสะอาด หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชผู้เสนอโครงการจัดเสวนาถอดบทเรียน “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับเกษตรกรในทุกสาขาอาชีพทุกพื้นที่ พบว่า เกษตรกรที่ทำอาชีพเชิงเดี่ยว เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว พืชไร่ หรือพืชสวน มักจะเจอปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาวะหนี้สิน การอพยพละทิ้งถิ่นฐาน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากเกษตรกรอีกกลุ่มอาชีพหนึ่งคือ การทำการเกษตรผสมผสาน ที่มักจะไม่เดือดร้อนกับเรื่องอาชีพและรายได้
“ตัวอย่างเช่น เกษตรกรจากในหลายพื้นที่ที่ทำสวนสมรมจะให้ข้อมูลตรงกันว่า แม้ราคายางพาราตกต่ำ แต่เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก เพราะยังมีรายได้จากพืชอื่นๆ เช่น มังคุด ลองกอง หมาก พลู ชะอม จำปาดะ พริกไทย สะตอ ลูกเนียง สะละ ผักกูด และอีกหลายชนิดพืชที่สร้างรายได้ผลัดเปลี่ยน หรือต่อเนื่องไปทั้งปี ซึ่งเป็นการพิสูจน์ชัดว่า การทำการเกษตรผสมผสาน การปลูกพืช ร่วมกัน ที่เกื้อกูลกัน เป็นทางออกที่ดีที่สุดของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีที่ดินค่อนข้างจำกัด จะได้มีพืช สัตว์ หรือสัตว์น้ำ ไว้ขาย และได้บริโภคในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเองได้ให้สโลแกน หรือแนวคิดในการขับเคลื่อนโครงการนี้ว่า “การเพิ่มพื้นที่ทำกินโดยไม่เพิ่มโฉนด” การทำการเกษตรเชิงประณีต ดูแลพื้นที่ที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
กิจกรรมการเสวนา “สวนสมรม” ทางเลือกทางรอด และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของคนนครศรีธรรมราช ได้เชิญปราชญ์เกษตรและเจ้าของภูมิปัญญาจากทุกอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดเสวนา 3 เวที เวทีละ 65 คน โดยการขับเคลื่อนเวทีที่ 1 เป็นการชี้แจงวัตถุประสงค์ การแนะนำตัวผู้เข้าร่วมเสวนา การแนะนำกิจกรรมอาชีพเด่นๆ ของแต่ละคน หลังจากนั้น ก็แบ่งกลุ่มเป็นโซนพื้นที่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภูเขา/เชิงเขา กลุ่มที่ราบ และกลุ่มนากลุ่มพรุ เพื่อทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนหากิจกรรมเด่นหลัก/รอง/เสริม ของแต่ละกลุ่ม พร้อมเทคนิค เคล็ดลับ หรือภูมิปัญญา เตรียมพร้อมไว้แลกเปลี่ยนในเวทีต่อไป
เวทีที่ 2 ให้แต่ละกลุ่มทำองค์ความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยน และตกผลึกแล้วนำมาเรียบเรียง นำเสนอในรูปนิทรรศการ และผลผลิตของจริงมาให้ชมให้ชิม โดยให้สมาชิกกลุ่มอื่นหมุนเวียนกันเข้าชม ตามรูปแบบ “World cafe” แล้วนำสิ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันในเวทีใหญ่ ค้นหาสิ่งที่ได้จากการเสวนา และมอบหมายภารกิจให้ไปทำต่อ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนในเวทีที่ 3
เวทีที่ 3 ให้สมาชิกที่ได้รับมอบหมาย นำองค์ความรู้ที่ได้จากการค้นหา จากประสบการณ์จริงของแต่ละคน เพื่อนำเสนอรูปแบบของการพัฒนาสวนสมรม 5 รูปแบบ คือ 1. สวนสมรมกับยางพารา 2. สวนสมรมกับปาล์มน้ำมัน 3. สวนสมรมกับไม้ผล 4. สวนสมรมกับนาข้าว 5. สวนสมรมกับสวนป่าและวนเกษตร โดยให้มีการเสนอแต่ละรูปแบบ พร้อมเหตุผลสนับสนุนจากสมาชิกทุกคน หรือการซักถาม เพื่อให้เกิดความแตกฉานทั้ง 5 รูปแบบ
การเสวนาทั้ง 3 เวที เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้เพื่อให้ได้องค์ความรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน การทำอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืนที่เหมาะกับการนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ ได้หลักสูตรท้องถิ่นที่พร้อมจะนำไปขยายผลในพื้นที่โดยหน่วยงานต่างๆ ได้วิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ในเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน หรือสวนสมรม และจะได้ลดพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราชลงให้ได้ ลดปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทำกิน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้หลักคิด “เพิ่มพื้นที่ทำกิน โดยไม่เพิ่มโฉนด”