‘จิโรจ นาคแป้น’ ปลูกทุเรียนที่สวี ชุมพร คุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม เน้นส่งออก

ช่วงเวลานี้คงไม่มีใครปฏิเสธการผลิตทุเรียนส่งออกอย่างแน่ เพราะเกษตรกรชาวสวนทุเรียนหลายพื้นที่ต่างรู้กันเป็นอย่างดีว่าเป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้ได้ราคาสูงแม้จะต้องผ่านการปลูกที่ยากลำบากเพื่อรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันยังพบว่ามีชาวสวนทุเรียนหลายแห่งสามารถผลิตทุเรียนคุณภาพเกรดส่งออกได้ไม่ยาก

เช่นเดียวกับ คุณจิโรจ นาคแป้น หรือ คุณต้น เจ้าของสวนทุเรียนบนพื้นที่จำนวน 50 ไร่ ที่ตั้งอยู่ เลขที่ 1/1 หมู่ที่10 ตำบลเขาค่าย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ที่ใช้ความสามารถผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทองในฤดูได้อย่างมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดประเทศจีน จนทำให้มีรายได้เป็นหลักล้านบาท

คุณจิโรจ นาคแป้น หรือ คุณต้น เจ้าของสวน

คุณต้น มองว่าสวนทุเรียนของเขามีศักยภาพในการผลิตเพื่อส่งออกได้ทุกต้น เพราะผ่านกระบวนการปลูกและดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงเน้นผลิตทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออกอย่างเดียว ถ้าหากผลใดความสมบูรณ์ไม่พอจะเก็บไว้ขายในตลาดท้องถิ่น

 เก็บผลไว้จำนวนพอเหมาะ

เพื่อสร้างคุณภาพให้สมบูรณ์

แนวทางการปลูกทุเรียนของคุณต้นใช้แนวทางวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะมาจากคุณพ่อเมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยหลักคิดว่าไม่จำเป็นต้องให้ทุเรียนแต่ละต้นมีจำนวนผลมาก พร้อมไปกับการใช้ประสบการณ์ความชำนาญจะรู้ทันทีว่าควรจะเก็บผลผลิตไว้จำนวนต้นละเท่าไรจึงเหมาะสมเพื่อให้ผลที่เก็บไว้มีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่ มีน้ำหนักระหว่าง 3-5 กิโลกรัม ตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ

คุณต้น เล่าว่าทุเรียนทุกต้นที่ปลูกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนใช้กิ่งพันธุ์ติดตา โดยซื้อมาจากแถวระนอง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะต้นกล้าไม้ พร้อมกับชี้ให้เห็นความต่างเมื่อลำต้นมีขนาดใหญ่ขึ้นว่าบริเวณด้านล่างของลำต้นที่เป็นต้นตอทุเรียนบ้านจะมีลักษณะเนื้อไม้ที่ไม่เหมือนกับส่วนด้านบนขึ้นไปที่เป็นพันธุ์หมอนทอง

 

คุณต้นชี้ให้ดูความแตกต่างของเนื้อไม้จากต้นพันธุ์ที่ติดตา อายุกว่า 20 ปี

ผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มาสด

แก้ปัญหาโรครากเน่า

ความชื้นจำนวนมากจากเขตอุทยานแห่งชาติที่อยู่ใกล้กับสวนทุเรียนมีผลทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ แล้วสร้างปัญหาต่อการออกดอก ดังนั้น คุณต้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องนำเคมีเข้ามาใช้เพื่อป้องกันเชื้อรา แต่จะใช้ควบคู่ไปกับอินทรีย์ด้วยการผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มาสดแล้วนำไปใส่กับทุเรียน เพื่อป้องกันและกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า พร้อมกับการตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อช่วยให้แสงแดดส่องผ่านได้ง่าย

ฉะนั้น สวนแห่งนี้จึงต้องปลูกทุเรียนแบบผสมผสานระหว่างเคมีกับอินทรีย์ ทั้งนี้เจ้าของสวนยังบอกต่ออีกว่าความจริงแล้วการปลูกทุเรียนยังไงก็ต้องมีการนำเคมีเข้ามาใช้ เพียงแต่อาจปรับตามความเหมาะสมทั้งเวลาที่ใส่และจำนวน เนื่องจากการใช้อินทรีย์ล้วนอาจจะได้ผลผลิตไม่เต็มที่ หรืออาจต้องใช้เวลานานเกินไป แล้วอาจส่งผลกระทบกับการส่งออก

ไม่จำเป็นต้องเก็บผลไว้มาก

คุณต้นให้รายละเอียดการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นทุเรียนว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จจะปรับสภาพดินและเพิ่มอินทรียวัตถุ อย่าง ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ ลงในดินเพื่อสร้างคุณภาพ หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ จะตามด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ต้นละ 2-3 กิโลกรัม จนกระทั่งเมื่อใบอ่อนชุดที่ 1 แตกออกมา จากนั้นให้ใส่อีกครั้งเมื่อใบทุเรียนแก่เต็มที่ กระทั่งเมื่อทุเรียนมีการแตกใบอ่อนชุดที่ 2 จึงปรับเป็น สูตร 8-24-24 เพื่อสะสมอาหารแล้วกระตุ้นให้ออกดอก

จนเมื่อระยะเวลาประมาณ 2 เดือน พอทุเรียนออกดอกในระยะหางแย้ ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยให้การติดผลดียิ่งขึ้น แล้วยังช่วยลดปัญหาผลอ่อนหลุดร่วงอันเกิดจากการที่ทุเรียนแตกยอดอ่อนอีกด้วย ทั้งนี้หลังจากผลทุเรียนอายุได้ 2 เดือน ซึ่งจะมีขนาดผล ประมาณ 1 กิโลกรัม ให้เปลี่ยนมาใส่ปุ๋ย สูตร 14-7-35 ใส่ต้นละ 2-3 กิโลกรัม เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผลทุเรียน ตลอดจนเพื่อให้ผลทุเรียนมีรูปทรงที่สวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงพ่อค้าผู้ส่งออก หลังจากนั้นก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไร จนกระทั่งรอเก็บเกี่ยวผลผลิต

ผลผลิตทุเรียนส่งออกที่เตรียมขนส่ง

สำหรับการแก้ปัญหาโรคเชื้อราด้วยการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดนั้น คุณต้นบอกว่าต้องใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสด จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 5 กิโลกรัม แล้วนำไปผสมกับปุ๋ยหมักอีก 50 กิโลกรัม เพื่อใส่โคนต้นหรือรองก้นหลุม

หรืออีกแนวทางคือ อาจใช้วิธีฉีดพ่นด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 100-200 ลิตร โดยนำเชื้อไตรโคเดอร์มาสดมาขยำในน้ำ 1-2 ลิตร แล้วกรองด้วยผ้าหรือตาข่ายถี่ๆ แล้วเติมน้ำให้ครบ 100-200 ลิตร นำไปฉีดพ่นบนดินหรือต้นพืช ซึ่งควรฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือในช่วงที่ไม่มีแสงแดด

อย่างไรก็ตาม การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสดอาจไม่จำเป็นต้องใส่บ่อย โดยใส่เฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือในช่วงที่ดินมีความชื้นเท่านั้น และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ขณะเดียวกันควรมีการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและเพื่อให้เป็นอาหารของเชื้อราไตรโคเดอร์มาสดให้มีประสิทธิภาพ

 

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

ทดลองใช้ปุ๋ยเติมอากาศ

หวังลดต้นทุน เพิ่มรายได้

ล่าสุดทางศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ยังทดลองใช้ปุ๋ยเติมอากาศกับต้นทุเรียน จำนวน 20 ต้น โดยได้ใส่ปุ๋ยหมักเติมอากาศมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 40 กิโลกรัม ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อประเมินผลการใช้ในเวลา 2 ปี

ทั้งนี้หากประสบความสำเร็จตามแผนโครงการจะช่วยทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย แล้วยังช่วยเพิ่มรายได้อีกด้วย และหากเป็นเช่นนั้นคุณต้นมีแผนตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เติมอากาศเพื่อให้สมาชิกและผู้สนใจได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

โครงการฝึกอบรมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เติมอากาศของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

บริหารจัดการอย่างดี

สร้างทุเรียนคุณภาพ

มีรายได้เป็นล้าน

ผลจากการปลูกทุเรียนด้วยความเอาใจใส่ มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้ปุ๋ย ใส่น้ำ ตัดแต่งกิ่ง พร้อมกับการดูแลกำจัดวัชพืช จึงทำให้ทุเรียนต้นหนึ่งให้ผลผลิตกว่า 300 กิโลกรัม ขายส่งเฉลี่ย กิโลกรัมละประมาณ 60 บาท มีรายได้ต่อต้นประมาณ 2 หมื่นบาท และมีรายได้ถึงปีละ 3 ล้านบาท ทั้งนี้จำนวนผลผลิตปีที่ผ่านมา (2559) ทั้งสวนได้ปริมาณทั้งสิ้น 53 ตัน

บริเวณสภาพภายในสวนที่ต้องโปร่ง โล่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชื้น

คุณต้น เผยว่า บริเวณที่ปลูกทุเรียนเป็นพื้นที่ใหม่ เป็นดินใหม่ที่ในอดีตเคยปลูกเพียงต้นกาแฟแล้วไม่เคยใส่ปุ๋ยยาแต่ประการใด จึงทำให้ดินมีความสมบูรณ์ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแต่เมื่อตรวจสอบคุณภาพดินแล้ว ยังพบว่ามีค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งการเก็บผลผลิตขายจะใช้ภูมิปัญญาโบราณสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผลทุเรียน เพื่อรอให้สุกที่ต้นเท่านั้น

ผลทุเรียนอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ต้องตัดทิ้ง

ดังนั้น จากปัจจัยทั้งสองจึงส่งผลให้คุณภาพทุเรียนในสวนของคุณต้นมีรสชาติหวานมัน หอม เนื้อแน่น เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าต่างประเทศมาก แล้วนับเป็นจุดเด่นของรสชาติทุเรียนที่ปลูกในสวนตัวเองว่าแตกต่างจากแหล่งอื่นหลังจากที่เคยชิมมาหลายแห่ง

คุณต้น ชี้ว่าการปลูกทุเรียนส่งขายต่างประเทศที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีลักษณะการขายผลผลิตแบบรวมกันขายในกลุ่มสมาชิก เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งในแง่การตลาดและราคา พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการโดยสำนักงานเกษตรอำเภอสวี เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษต(ศพก.) และศูนย์เครือข่ายศูนย์กำจัดศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)

ทำหน้าที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์วิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดให้แก่เกษตรกรที่สนใจ เพื่อนำไปใช้กับทุเรียน ป้องกันและกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา โดยมีกิจกรรมร่วมกันและช่วยกันผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาสดอยู่เป็นประจำเพื่อแบ่งกันไปใช้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณจิโรจ นาคแป้น หรือ คุณต้น โทรศัพท์ (086) 999-4778