ชุดตรวจไส้เดือนฝอย ใช้คลื่นความถี่เหนือเสียง เสริมแกร่งส่งออก “พรรณไม้น้ำ” สู่ตลาดโลก

ประเทศไทย นับเป็นแหล่งผลิตพรรณไม้น้ำ (aquatic plants) หรือพืชน้ำสวยงาม เพื่อการส่งออกที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชน้ำเป็นอย่างยิ่ง ทุกวันนี้เกษตรกรไทยปลูกพรรณไม้น้ำสวยงาม ทั้งสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศมากกว่า 250 ชนิด อาทิ พืชน้ำในสกุล คริป (Cryptocoryne) อนูเบียส (Anubias) และสกุลอะเมซอน (Echinodorus) เป็นต้น

ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ นิยมสั่งซื้อพรรณไม้น้ำจากไทย เช่น ผักเป็ดแดง รากดำใบยาว รากดำใบใหญ่ ปรงทะเล ริคเซีย กระจับ สาหร่ายหางกระรอก ฯลฯ เพื่อนำไปปลูกประดับในตู้เลี้ยงปลาสวยงามหรือตู้โชว์ปลูกพืชน้ำสวยงาม สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยมากกว่าปีละ 50 ล้านบาท

การจำแนกไส้เดือนฝอย

“ไส้เดือนฝอย” นับเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญของการส่งออกพรรณไม้น้ำของไทยในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา เพราะพรรณไม้น้ำของไทยที่ส่งไปขายในตลาดสหภาพยุโรป (EU) ตรวจพบไส้เดือนฝอย Radopholus similis ติดไปกับรากไม้น้ำสกุลอนูเบียส (Anubias) และไส้เดือนฝอย Hirschmanniella sp. ติดไปกับรากไม้น้ำสกุล Vallisneria sp. ทำให้สินค้าพรรณไม้น้ำของไทยถูกระงับการนำเข้าและเผาทำลายทั้งล็อต ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกพรรณไม้น้ำของไทยแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและผู้ส่งออกของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกัน (migratory endoparasite) ที่พบในรากพรรณไม้น้ำและไม้ประดับส่งออกของไทย มี 3 สกุล คือ Radopholus, Hirschmanniella และ Pratylenchus โดย Radopholus และ Hirschmanniella เป็นศัตรูพืชกักกันที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ปนเปื้อนไปกับรากพืชส่งออก และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเข้าไปในฟาร์ม การจำแนกไส้เดือนฝอยทั้ง 3 สกุล ดังกล่าว ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ พิจารณาได้จากรูปร่างลักษณะสำคัญและเด่นชัดที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสกุล

 

ชุดตรวจไส้เดือนฝอย    

กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาการผลิตพรรณไม้น้ำปลอดไส้เดือนฝอย ศัตรูพืชเพื่อการส่งออก” เพื่อยกระดับการผลิตพรรณไม้น้ำของไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

ดร. นุชนาถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา และ คุณวานิช คำพาณิช สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาการผลิตพรรณไม้น้ำปลอดไส้เดือนฝอย ศัตรูพืชเพื่อการส่งออกได้สำเร็จ โดยพัฒนาชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม (NEMA KIT) เป็นชุดเครื่องมือตรวจแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพรรณไม้น้ำที่มีขนาดเล็ก พร้อมติดตั้ง Mini microscope กำลังขยาย 50 เท่า ตรวจหาไส้เดือนฝอยที่แยกจากรากได้ทันที ซึ่งเกษตรกรสามารถพกพาไปใช้ในแปลงปลูกพืชที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนไส้เดือนฝอยในระบบรากได้ทันที ซึ่งเกษตรกรสามารถพกพาไปใช้ในแปลงปลูกพืชเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยในระบบรากของพรรณไม้น้ำและไม้ประดับประเภทต่างๆ เช่น กล้วยไม้ หน้าวัว ฟิโลเดนดรอน กวักมรกต ฯลฯ

พรรณไม้น้ำที่ปลูกเพื่อการส่งออก

ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งออกพรรณไม้น้ำของไทยให้เติบโตสดใสในเวทีตลาดโลกได้อีกครั้ง ดร. นุชนาถ กล่าวว่า หลักการทำงานของชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม เป็นกระบวนการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืชด้วยคลื่นเสียงอัลตราโซนิก ที่ความถี่ 40 กิโลเฮิร์ตซ์ ผลักดันให้ไส้เดือนฝอยที่อาศัยอยู่ภายในรากเคลื่อนที่ออกมา โดยมีน้ำเป็นตัวกลางส่งคลื่นความถี่สู่รากพืช มีผลทำให้โมเลกุลของของเหลวเกิดการบีบอัดและคลายตัวเป็นจังหวะ เกิดเป็นฟองอากาศขนาดเล็กๆ ที่มีพลังงานแฝง ซึ่งสามารถเข้าซอกซอนในระบบรากและรบกวนหรือขับไล่ไส้เดือนฝอยให้เคลื่อนที่ออกมาสู่น้ำ โดยใช้เวลาตรวจเพียง 20 นาที ก็ทราบผล และตรวจได้ครั้งละ 2 ตัวอย่าง มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้เครื่องพ่นหมอก

 

ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียง

โครงสร้างและส่วนประกอบ

ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียง ประกอบด้วย

  1. โครงสร้างสแตนเลสรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างxยาวxสูง 20x20x20 เซนติเมตร
  2. อ่างสแตนเลสสำหรับใส่น้ำ ขนาดกว้างxยาวxลึก 9x15x6 เซนติเมตร ใต้อ่างต่อเชื่อมด้วยหัวส่งคลื่นความถี่เหนือเสียง 40 KHz
  3. แผ่นอะคริลิก ความหนา 3 มิลลิเมตร เจาะเป็นวงกลมสำหรับวางภาชนะแก้วใส 2 ใบ
  4. ฐานวางจานตรวจไส้เดือนฝอย ที่ฐานวางมีหลอดไฟให้แสงสว่างส่องด้านล่างของจาน
  5. กล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็กรูปทรงกระบอก ความยาว 10 เซนติเมตร ชนิดตาเดียวกำลังขยาย 50 เท่า สำหรับตรวจแยกชนิดไส้เดือนฝอย
  6. ช่องเก็บกล้องจุลทรรศน์พร้อมถุงผ้ากันกระแทก
  7. สวิตช์ปิด-เปิด เครื่องกำเนิดคลื่นความถี่เหนือเสียง ตั้งเวลาอัตโนมัติ 20 นาที
  8. สวิตช์ปิด-เปิด ไฟ และหมุนปรับหรี่แสงส่องด้านล่างของจาน
  9. สวิตช์ปิด-เปิด พัดลมระบายความร้อน
  10. สายไฟพร้อมปลั๊กเสียบ กำลังไฟ 220 โวลต์ วัสดุ-อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ ภาชนะแก้วใสทรงกระบอก ขนาด 250 มิลลิลิตร จานตรวจไส้เดือนฝอยและที่ดูดสาร

 

วิธีการใช้

เริ่มจากเตรียมตัวอย่างพืช โดยล้างรากให้สะอาด หลังจากนั้น ใส่ตัวอย่างพืชลงในภาชนะแก้วใสทรงกระบอก (2 ใบ ต่อการตรวจ) พร้อมเติมน้ำท่วมราก ขั้นตอนต่อมาใส่น้ำใน chamber หรืออ่างสแตนเลส นำพืชตัวอย่างที่เตรียมไว้ลงไปบน chamber

หลังจากนั้น เป็นขั้นตอนการแยก โดยใช้ Ultrasonic Kit เปิดเครื่องอัตโนมัติ 20 นาที นำภาชนะแก้วใสทรงกระบอกที่นำพืชออกแล้ว ตั้งวางตกตะกอน 20 นาที รินน้ำในภาชนะแก้วใสทรงกระบอกส่วนบนทิ้ง เหลือน้ำ ประมาณ 40-50 มิลลิลิตร ใช้ที่ดูดสารดูดน้ำที่ผิวออกเบาๆ คงเหลือน้ำ 20 มิลลิลิตร ในภาชนะแก้วใสทรงกระบอก การตรวจใต้กล้อง โดยนำจานตรวจมาใส่น้ำจากภาชนะแก้วใสทรงกระบอก (ที่เหลือ 20 มิลลิลิตร) และวางลงบนฐานไฟส่อง ใส่กล้อง Mini microscope ที่ฐานรับ (อยู่เหนือฐานไฟส่อง) ส่องกล้องหรือตรวจหาไส้เดือนฝอย เพื่อการวิเคราะห์ผลต่อไป

วิธีการใช้ชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม

 

คุณสมบัติเด่น  

ดร. นุชนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียงเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นใหม่ของวงการ NEMATOLOGY ในระดับสากล ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ในฐานะเป็นเครื่องมือขนาดเล็กพร้อมใช้งาน ที่มีราคาถูก ผลิตได้ในประเทศไทย สะดวกในการพกพาใช้ได้ในแปลงปลูก

ที่สำคัญมีขั้นตอนเดียวในการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืช ทำให้มีความแม่นยำสูง เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที ในขณะที่วิธีอื่นๆ ใช้เวลาตรวจสอบนาน 2-48 ชั่วโมง นอกจากนี้ มีคู่มือแนะนำการใช้แสดงวิธีการแยกและจำแนกไส้เดือนฝอยอย่างง่าย ที่มีผู้ใช้น้ำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการ

ดร. นุชนาถ ตั้งจิตสมคิด และ คุณวานิช คำพาณิช

การนำไปใช้ประโยชน์           

ปัจจุบัน ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียงถูกนำไปใช้ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชในภาคสนาม เพื่อแก้ปัญหาพืชส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เกษตรกรสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยศัตรูพืชได้ด้วยตัวเอง และป้องกันกำจัดในแหล่งผลิตได้ทันที

ขณะเดียวกัน ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียง ถูกนำไปใช้ที่ด่านตรวจพืชนำเข้า-ส่งออก เพื่อตรวจพืชต้องสงสัยปนเปื้อนไส้เดือนฝอยศัตรูกักกัน ช่วยประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งนำนวัตกรรมชุดนี้ไปใช้ในสถาบันการศึกษา เพื่อการเรียนการสอนวิชาโรคพืชวิทยา เรื่องไส้เดือนฝอยศัตรูพืช ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร. นุชนาถ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ชุดตรวจไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม โดยใช้คลื่นความถี่เหนือเสียง นอกจากนำไปใช้ในงานวิจัยด้านไส้เดือนฝอยศัตรูพืช ในหน่วยงานวิจัยภาครัฐและสถาบันการศึกษาของประเทศไทยแล้ว ปัจจุบัน ผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หน่วยงาน CRISO ของออสเตรเลีย หน่วยงาน Plant Protection ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมหาวิทยาลัยกัมพูชา

ดร. นุชนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกรมวิชาการเกษตร ได้ชุดตรวจฯ ให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชกว่า 20 ชุด นำไปเป็นเครื่องมือตรวจสอบพืชต้องสงสัยการปนเปื้อนไส้เดือนฝอยศัตรูพืชที่อาจติดมากับสินค้าเกษตรนำเข้า เช่น หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม เพื่อให้ทราบผลการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างตรวจที่ห้องปฏิบัติการ

หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-9586 หรือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) : สวก. โทร. (02) 579-7435 ในวันและเวลาราชการ