“มะระขี้นกยักษ์” โอกินาวา จากญี่ปุ่น ปลูกได้ดี สร้างรายได้งาม กิโลละ 100 บาท

“สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021 ได้นำพันธุ์ “มะระขี้นกยักษ์” โอกินาวา มาปลูกที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร นานประมาณ 2 ปี พบว่า มีการเจริญเติบโตดีมาก สามารถออกดอกติดผลดกมาก และมะระมีรสชาติดีเหมือนที่ปลูกบนเกาะโอกินาวาทีเดียว อายุการเก็บเกี่ยวเร็ว คือ ประมาณ 2 เดือน หลังย้ายกล้าปลูกลงแปลง และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 1-2 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับการบำรุงดูแลรักษา โดยจุดเด่นของมะระโอกินาวาคือ รสชาติไม่ขมมาก นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเช่นเดียวกับมะระทั่วไป

ปัจจุบัน “สวนคุณลี” สามารถผลิตและจำหน่ายผลมะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา ส่งขายร้านอาหารในกรุงเทพฯ และขายปลีกที่สวน ได้กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งได้รับการยอมรับจากคนรับประทานเป็นอย่างดี ซึ่งมีการวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี และยังคัดเลือกพันธุ์มะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา เพื่อผลิตเมล็ดจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจนำไปปลูกต่อ

ต้นมะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา อายุได้ประมาณ 60 วัน มะระรุ่นแรกที่ออกดอกก่อนจะเริ่มแก่ทยอยเก็บผลได้ ซึ่งหลังมะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา ติดผลอ่อนขนาดเล็ก จากนั้นอีกประมาณ 12-18 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวขายหรือรับประทานได้ มะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา สามารถเก็บเกี่ยวได้นาน ประมาณ 5-10 รุ่นนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับสภาพต้น การดูแลรักษา ฤดูกาลปลูก

มะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา จำหน่ายออกจากสวนได้ กิโลกรัมละ 100 บาท

 

โรค และแมลงศัตรู

ก็จะเหมือนพืชตระกูลมะระหรือแตงทั่วไปในบ้านเรา ซึ่งจะมีการทำลายหรือระบาดก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือช่วงฤดูกาลปลูก ซึ่งจากที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ปลูกมาประมาณ 2 ปี และปลูกตลอดทั้งปี ก็สามารถสรุปโรคและแมลงศัตรูที่พบกับมะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา ในเบื้องต้น ดังนี้

 

เพลี้ยไฟ ช่วงอากาศร้อนอบอ้าว แห้งแล้ง ให้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไฟ แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาพบ้านเรา การขยายพันธุ์หรือการระบาดของเพลี้ยไฟมีได้ตลอดปี แต่อาจจะรุนแรงเป็นระยะๆ เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง สังเกตจากยอดอ่อนหรือใบอ่อน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สังเกตดูที่ใบจะหงิกก็ต้องฉีดยากำจัดเพลี้ยไฟ ซึ่งบางท่านอาจจะเลือกฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพร เชื้อชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อบิวเวอเรีย ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถเข้าทำลายเพลี้ยไฟได้ การใช้ห้ามผสมสารเคมีและควรฉีดในช่วงเวลาเย็น

แต่ถ้าเห็นว่าระบาดมาก ควรใช้สารเคมีสกัดยับยั้งเสียก่อน ซึ่งเพลี้ยไฟมีการระบาดที่เร็ว ยกตัวอย่าง สารที่มีความปลอดภัยสูง อย่าง กลุ่มอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง เอ็กซ์, โคฮีนอร์, เสือพรีอุส) ฉีดสลับด้วยสารกลุ่มต่างๆ เพื่อป้องกันการดื้อสารเคมี เช่น สารกลุ่มคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์), กลุ่มฟิโฟนิล (เช่น เฟอร์แบน), กลุ่มคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน, เอส-85) เป็นต้น เนื่องจากเพลี้ยไฟบินในเวลากลางวัน ในช่วงเช้าจนถึงบ่าย คือเริ่มพบเพลี้ยไฟมาก ในช่วงเวลา 08.00-13.00 น. สูงสุดในเวลา 09.00-10.00 น. หลังจากนี้ จะพบเพลี้ยไฟน้อยลง โดยเฉพาะในเวลา 18.00-06.00 น. จะพบน้อยมาก ก็ต้องเลือกเวลาฉีดที่เหมาะสม

มะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา ผักเพื่อสุขภาพ

แมลงหวี่ขาว เป็นแมลงประเภทปากดูดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใต้ใบพืช หนึ่งในแมลงศัตรูพืชสำคัญมีการระบาดและทำความเสียหายให้กับพืชผักเกือบทุกชนิด ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะฤดูร้อนจะมากเป็นพิเศษ แมลงหวี่ขาวสามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอดอ่อนของพืช การทำลายของตัวอ่อนทำให้เกิดเป็นจุดสีเหลืองบนใบพืช ใบพืชหงิกงอ ขอบใบม้วนลงด้านล่าง ต้นแคระแกร็น และเหี่ยว หากพบทำลายในปริมาณมากอาจทำให้พืชตายได้ นอกจากนี้ ยังเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัส สาเหตุโรคใบด่างในพืชต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง

การป้องกันและกำจัด

การจัดการแปลงปลูกพืช หากพบแมลงหวี่ขาวใต้ใบพืชจำนวนมาก ให้ตัด-เก็บ ส่วนของพืชเผาทำลาย เพื่อป้องกันการระบาด หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บเศษซากพืชออกนอกแปลงปลูก และทำความสะอาดแปลงปลูกและพื้นที่รอบๆ

การใช้กับดักกาวเหนียว โดยอาศัยพฤติกรรมของแมลง ซึ่งชอบบินเข้าหาวัตถุสีเหลือง การติดกับดักกาวเหนียวนอกจากสามารถลดจำนวนแมลงได้ระดับหนึ่งแล้ว ยังสามารถใช้ในการตัดสินใจการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงต่อไป

ในบางพื้นที่หรือบางช่วงฤดูกาลที่มีแมลงวันทองระบาด ก็ใช้ถุงห่อเพื่อป้องกันการทำลาย

การควบคุมโดยชีวภัณฑ์ การใช้เชื้อราบิวเวอเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงเข้าทำลายแมลงในสภาพความชื้นที่เหมาะสม เส้นใยจะเข้าตามช่องว่างของแมลง เจริญเติบโตโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร จนแมลงตาย จากนั้นจะสร้างเส้นใยและสปอร์สีขาวปกคลุมตัวแมลง ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว หากพบแมลงหวี่ขาวจำนวนมาก หรือเกิดการระบาด ควรพ่นสารกลุ่มออกฤทธิ์ที่แนะนำให้ใช้สำหรับป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวโดยเฉพาะ ควรพ่นสารจากกลุ่มที่ออกฤทธิ์น้อยก่อน หรือสลับกับกลุ่มที่มีสารออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น เช่น พ่นสารกลุ่มที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบสัมผัสก่อนพ่นสารกลุ่มที่มีกลไกการออกฤทธิ์แบบดูดซึม เป็นต้น

ขนาดผลมะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา ที่พร้อมเก็บจำหน่ายได้

และควรใช้สารเคมีตามอัตราที่แนะนำ เช่น กลุ่มอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง เอ็กซ์, โคฮีนอร์, เสือพรีอุส) ฉีดสลับด้วยสารกลุ่มต่างๆ เพื่อป้องกันการดื้อสารเคมี เช่น สารกลุ่มคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์), กลุ่มคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน, เอส-85), อะเซทามิพริด (เช่น โมแลน) เป็นต้น

หนอน ก็จะคอยทำลายกัดกินใบ ยอด และส่วนต่างๆ ของต้นมะระ ระบาดทุกช่วงอายุ กรณีใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ทูริงเยนซิส หรือ บีที เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งในธรรมชาติที่มีฤทธิ์ในการทำลายแมลง โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อ ที่เป็นศัตรูของพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด เมื่อหนอนกินเชื้อ บีที เข้าไป สารพิษที่ บีที สร้างขึ้นจะไปมีผลทำให้ระบบย่อยอาหารของแมลงล้มเหลว กระเพาะบวมเต่งและแตก ส่งผลให้แมลงหยุดกินอาหาร เคลื่อนไหวช้า ชักกระตุก เป็นอัมพาต และตายภายใน 1-2 วัน  เชื้อ บีที จึงสามารถใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิดที่ดื้อต่อสารเคมีได้ดี ในขณะเดียวกัน เชื้อ บีที ยังเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ควรใช้เชื้อ บีที ในขณะที่หนอนยังเล็กอยู่

ควรพ่นในตอนเย็นเพื่อเลี่ยงแสงแดด และการฉีดพ่นในขณะมีความชื้นในแปลงสูง จะได้ผลดียิ่งขึ้น ควรฉีดพ่น ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง และควรผสมสารจับใบทุกครั้ง

มะระขี้นกยักษ์ โอกินาวา นำมาปลูกติดผลดกมาก ที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร

ถ้ามีการระบาดมาก ก็เลือกใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น กลุ่มอะบาเม็กติด (เช่น โกลแจ็กซ์), กลุ่มไซเพอร์เมทริน (เช่น โกลน็อค-35, เมกก้า 50)

โรคราน้ำค้าง ระบาดและพบมากช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ความชื้นสูง น้ำค้างมาก มักพบมีแผลเหลี่ยมเล็กสีเหลืองบนใบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ กรณีที่มีความชื้นสูงในตอนเช้า จะพบเส้นใยเชื้อราเป็นขุยสีเทาดำตรงแผลใต้ใบ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมโรคจะระบาดรวดเร็ว ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น

วิธีแก้ไข หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล หรือสารไดเมโทมอร์ฟ หรือสารอีทาบ็อกแซม ผสมกับสารโพรพิเนบ (เช่น แอนทราโคล) ฉีดพ่น ได้ผลดีและไม่เป็นอันตรายต่อดอกและผล