“สหกรณ์การเกษตรท่ายาง” ส่งออกกล้วยหอมทองรายใหญ่ที่สุด

ทำไมสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จึงส่งออกกล้วยหอมทองรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ?? นับเป็นเวลากว่า 40 ปี สำหรับการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ทางด้านการส่งเสริมปลูกและจำหน่ายไม้ผลของจังหวัดเพชรบุรีให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด 

ขณะเดียวกัน เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จด้วยการส่งออกกล้วยหอมทองไปขายยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก โดยมียอดการส่งออกที่ทวีจำนวนขึ้นจนกลายเป็นรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้ นอกจากนั้น ยังมียอดการส่งขายให้แก่ห้างดังและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศในจำนวนมากเป็นลำดับต้น

จึงเกิดคำถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สหกรณ์ท่ายางสามารถทำได้เช่นนั้น ??

คุณมานะ บุญสร้าง หัวหน้าฝ่ายการตลาด สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จังหวัดเพชรบุรี ให้คำตอบว่า สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลากว่า 40 ปี อีกทั้งโครงการกล้วยหอมทองส่งออกได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในตอนแรกเริ่มจากการรวมตัวของสมาชิกที่ปลูกไม้ผลหลายชนิด แต่ไม่เน้นปลูกกล้วย

คุณมานะ บุญสร้าง

ด้วยโครงสร้างการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสินเชื่อ มีเงินของสมาชิกไปบริหารภาคเกษตร มีเงินทุนให้ปลูกกล้วย พร้อมกับจัดหาตลาดให้ ขณะเดียวกัน ยังมีสำนักงานตลาดกลางเพื่อรองรับผลผลิตกล้วยทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไข่ กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า สำหรับตัวผมทำงานให้สหกรณ์มาประมาณ 20 ปี และมีหน้าที่ดูแลด้านการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งได้เริ่มมีการจัดระบบส่งออกมาแล้วกว่า 25 ปี

ปัจจุบันสมาชิกของสหกรณ์มีจำนวนประมาณ 3,000 ราย มีพื้นที่ครอบคลุมในอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด และอำเภอแก่งกระจาน อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกที่ปลูกกล้วยหอมทองจะพิจารณาคัดเลือกไว้จำนวน 350 ราย มีพื้นที่ปลูกจำนวน 1,200 ไร่

คุณสมบัติของสมาชิกที่จะร่วมปลูกกล้วยหอมทองจะเน้นเรื่องมาตรฐานการปลูกเป็นหลัก ตลอดจนการบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นสารพิษตกค้าง การเก็บผลผลิต ขณะเดียวกัน จะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทคู่ค้าของญี่ปุ่นมาทำงานประจำที่สหกรณ์เพื่อตรวจดูคุณภาพการปลูก พร้อมกับดูแลในแปลงด้วย ฉะนั้น คุณสมบัติของกล้วยหอมทองจากสมาชิกกลุ่มทุกรายจึงเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะสุกเหลืองเหมือนทอง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน เนื้อแน่น รวมถึงยังต้องปลอดสารพิษด้วย

Advertisement
กล้วยหอมทองในสวนของสมาชิกรอเวลาตัดส่งเข้าสหกรณ์

“ส่วนตลาดต่างประเทศจะมีที่ญี่ปุ่นมีปริมาณการจัดส่งไม่เกินปีละ 400 ตัน แต่มุ่งเน้นตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมียอดความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จึงทำให้ขณะนี้มียอดส่งกล้วยหอมทองมากถึงปีละ 3,000 ตัน ส่วนจำนวนที่ส่งเข้าเซเว่นจำนวน 30,000 ผล แล้วยังมีบิ๊กซี ท็อป แฟมิลี่มาร์ท โลตัส จำนวนรวมกว่า 70,000 ผล ต่อวัน”

คุณมานะ กล่าวถึงการนำกล้วยหอมทองเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อว่า เป็นเพราะความได้เปรียบของสหกรณ์ท่ายางตรงจุดที่มีการส่งไปขายที่ญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม เพราะส่งไปเป็นกล้วยดิบโดยใช้การควบคุมอุณหภูมิ แล้วต้องให้กล้วยมีความสุกที่ 70 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ทั้งนี้ เป็นกล้วยชุดเดียวกันที่ส่งไปขายตามโรงแรมดังในกรุงเทพฯ จำนวนเกือบ 30 แห่ง ที่ผ่านการพัฒนาด้านการบ่ม ยิ่งในช่วงหลังที่ส่งตามร้านสะดวกซื้อจะต้องบรรจุห่อละ 1-2 ผล ก็ไม่ได้สร้างปัญหาต่อกระบวนการผลิตเลย เพราะมีวิธีและขั้นตอนรองรับอยู่แล้ว

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการกล้วยหอมทองในตลาดเพิ่มสูงมาก ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกล้วยมากขึ้น ดังนั้น ทางสหกรณ์จึงต้องเข้าไปช่วยเกษตรกรวางระบบการปลูก ระยะการตัดเก็บผลผลิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหามีจำนวนกล้วยล้นตลาดเกินไป แล้วทำให้ราคาตกลงทันที ซึ่งมีตัวอย่างเห็นได้จากเมื่อกล้วยล้นตลาดทำให้ราคาจาก 3 บาท เหลือเพียง 80 สตางค์”

ขั้นตอนการนำกล้วยมาบรรจุใส่ถุงเพื่อส่งขายตามร้านสะดวกซื้อ

คุณมานะ มองว่า กล้วยหอมยังมีอนาคตก้าวไกลแน่นอน เพราะว่าตลาดยังเปิดรับมาก ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือการวางแผนปลูก การดูแลระหว่างเจริญเติบโต และการเก็บผลผลิต ควรให้ทั้งหมดมีความสอดคล้องกัน อย่าแห่ไปปลูกเพื่อหวังว่าจะขายได้ราคาสูง เพราะหากคิดเช่นนั้นมีหวังกล้วยล้นตลาดแน่ แล้วผลเสียหายก็กลับมาที่ชาวสวนอีกเหมือนเดิม

ในส่วนของสหกรณ์ท่ายาง ยังประสบปัญหาเช่นเดียวกันแม้จะวางแผนอย่างรอบคอบแล้ว เพราะเมื่อถึงเวลาก็ต้องรีบเก็บผลผลิต มิเช่นนั้นจะสุกที่ต้น โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว กล้วยแถวเพชรบุรีจะสุกเร็วมาก ปัญหาที่ตามมาคือการรับภาระกล้วยตกเกรดเพิ่มขึ้น

“จึงขอฝากคนที่ต้องการเข้ามายึดอาชีพปลูกกล้วยหอมว่าควรเริ่มจากการหาตลาดก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาวางแผนปลูกทั้งระบบ เพื่อจะได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง แล้วทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่พอใจ”

คุณมานะ บอกว่า ระหว่างที่เกษตรกรรอผลผลิตกล้วยในช่วงเวลา 1 ปี สมาชิกของสหกรณ์มีการบริหารรายได้ด้วยการแบ่งพื้นที่ปลูกกล้วยเป็นรุ่น ถ้ารายใดมีพื้นที่สัก 10 ไร่ รุ่นแรกจะปลูก 3 ไร่ก่อน แล้วเว้นระยะเวลาไปปลูกรุ่นที่ 2 และ 3 ดังนั้น เมื่อเก็บผลผลิตกล้วยรุ่นที่ 1 เสร็จแล้ว จะเริ่มเก็บรุ่นที่ 2 และ 3 ทยอยกันไปโดยไม่มีเวลาว่าง จึงทำให้มีรายได้ตลอดอย่างต่อเนื่อง แล้วถามว่าทำไมไม่ปลูกพืชชนิดอื่นระหว่างต้นกล้วย เพราะกล้วยทั้งหมดเป็นอินทรีย์ที่ไม่ต้องการให้สารเคมีเข้ามาปนเปื้อน

แพ็คใส่ถุงวางขายห้างดัง

นอกจากนั้น คุณมานะยังฝากบอกสำหรับคนที่คาดว่าจะมาทำอาชีพกล้วยว่าควรมองหาตลาดขายให้แน่นอนเสียก่อน ควรศึกษาการวางแผนปลูกพร้อมกับควรปลูกแบบอินทรีย์ด้วย เพราะจะมีผลดีต่อราคาขายเนื่องจากตลาดต้องการมาก

“ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรมีการเข้าสู่ระบบสหกรณ์ที่เป็นการรวมกลุ่มด้วยเหตุผลที่ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ทั้งยังมีข้อดีในเรื่องการเจรจาทำธุรกิจอย่างอื่น นอกจากนั้น ทางสหกรณ์ท่ายางยังช่วยในเรื่องการประกันราคากล้วย เพราะการเกษตรสมัยใหม่จะทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยกลุ่มขับเคลื่อนไปด้วยกัน แล้วในกรณีที่ท่านอยู่ในบริเวณใกล้เพชรบุรี สามารถขอคำแนะนำเรื่องสหกรณ์ได้ ยินดีให้ความช่วยเหลือ”

คุณมานะ บอกว่า กล้วยหอมจะปลูกที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ขอให้เกษตรกรนำแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยว โดยมีหลักคิดว่าในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ คุณปลูกกล้วยหอมได้จำนวน 400 ต้น ถ้าให้มูลค่าหรือรายได้เพียงต้นละ 100 บาท ก็จะมีรายได้รวม 40,000 บาท ซึ่งจะมีต้นทุนไม่เกิน 20,000 บาท จึงเห็นว่ามีกำไรครึ่งต่อครึ่งแล้ว

“อย่างไรก็ตาม การปลูกกล้วยคงไม่จำเป็นเฉพาะกล้วยหอมทอง แต่คุณสามารถเลือกปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ หรือกล้วยชนิดอื่นได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละคน เพียงแต่ให้หลักคิดว่าควรจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงไว้ แล้วควรปลูกกล้วยแบบใช้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่มีคุณภาพสูงที่สุด” คุณมานะ กล่าว

จากเนื้อหาที่คุณมานะให้ข้อมูลมาทั้งหมดคงหายสงสัยแล้วว่า ทำไมสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จึงได้มีศักยภาพในการนำพาสมาชิกชาวบ้านร่วมกันปลูกกล้วยหอมทองอย่างมีคุณภาพ สามารถส่งขายได้ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนมีฐานะการเงินที่มั่นคง

บรรจุใส่กล่องเหมาะเป็นของฝาก

สถานการณ์ภัยแล้งเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา สร้างผลกระทบกับผลผลิตกล้วยทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบเพราะต้องซื้อกล้วยแพงมาก หลังเหตุการณ์ผ่านไปมีชาวบ้านจำนวนมากหันมาปลูกกล้วยเพิ่มขึ้นเพราะมองว่าจะสามารถสร้างราคาขายให้สูงขึ้นได้

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่บ่งบอกสัญญาณแนวโน้มการปลูกกล้วยเพิ่มมากขึ้นคือ การซื้อ-ขายหน่อพันธุ์กันเป็นจำนวนมากผิดปกติ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาและน่าเป็นห่วงคือปริมาณผลผลิตกล้วยจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดจนทำให้ราคาลดลง แล้วอาจส่งผลกระทบความเสียหายต่อรายได้ของชาวบ้านอีกครั้ง

อ.ประทีป กุณาศล

อาจารย์ประทีป กุณาศล ที่ปรึกษานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและคลุกคลีกับวงการไม้ผล ในฐานะนักวิชาการแล้วยังเป็นผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาหลายครั้ง ได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงถึงภาวะดังกล่าวว่า

แนวโน้มปริมาณกล้วยภายหลังที่เกิดการแห่ซื้อหน่อพันธุ์ไปปลูกกันเป็นจำนวนมากน่าจะทำให้จำนวนผลผลิตกล้วยสดล้นตลาดในเวลาอีกไม่นาน อันนี้เป็นผลมาจากประสบการณ์ที่เคยพบไม้ผลล้นตลาดมาหลายครั้ง เพราะเมื่อใดที่มีการแห่ซื้อต้นพันธุ์กันมากมายเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาอย่างชัดเจนคือผลไม้จะล้นตลาดทันที แต่จะช้า/เร็วขึ้นอยู่กับระยะเวลาการให้ผลผลิตของผลไม้แต่ละชนิด

อยากจะฝากมุมมองในเรื่องนี้ว่าถ้าเป็นธุรกิจรายใหญ่อาจมีตลาดไว้รองรับหรือมีการวางแผนเตรียมพร้อมแล้ว คงไม่เดือดร้อนเท่าไรนัก แต่ถ้าเป็นสวนรายบุคคลคงเดือดร้อนแน่ ดังนั้น ทางออกที่พอจะช่วยได้คือต้องหาวิธีลดต้นทุนตั้งแต่เริ่มปลูก

ขณะเดียวกัน ต้องหาวิธีเพิ่มคุณภาพไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ ถ้าใช้แนวทางนี้ยังพอมีตลาดรองรับได้เพราะมีกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นคุณภาพอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าชูเรื่องการปลูกแบบอินทรีย์ก็ยิ่งจะช่วยได้มาก แต่ต้องเป็นอินทรีย์อย่างแท้จริงนะ

ตัวอย่างที่เห็นมีชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตรไปเป็นแนวผสมผสานกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะปลูกพืช ไม้ผล ไม้ดอก เลี้ยงสัตว์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ แล้วนำมูลสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ก็เป็นแนวทางลดต้นทุนที่ดีมาก อีกทั้งในปัจจุบันกระแสอาหารปลอดภัยมาแรง

ดังนั้น ถ้าสามารถปรับตัวเองให้เป็นเช่นนั้นได้ก็จะช่วยให้อยู่รอด แล้วอย่าลืมว่าถ้ามีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้วยยิ่งจะช่วยส่งเสริมการขาย ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยท่านได้ในยามที่สินค้าล้นตลาด

“อย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่องการเกษตรแต่ละด้านอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะคุณสามารถเปิดหาได้ในโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนที่เข้าไปดูเรื่องต่างๆ ที่ต้องการได้ หากยังไม่ชำนาญอาจขอให้ลูกหลานช่วยเหลือก่อนแล้วค่อยใช้เวลายามว่างศึกษาด้วยตัวเองภายหลัง ทั้งนี้ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคนี้ก้าวไปไกลมาก พวกเราจำเป็นต้องรู้เท่าทัน” อาจารย์ประทีป กล่าว

ท้ายนี้มีคำถามที่น่าสนใจจากท่านผู้เข้าร่วมสัมมนา

ถาม – เคยได้ยินว่าถ้าต้องการปลูกกล้วยเชิงธุรกิจ ควรปลูกจำนวนพื้นที่สัก 100 ไร่ จริงหรือไม่??

คุณเสาวณี – สำหรับสมาชิกคิง ฟรุทส์ แล้วพื้นที่เพียง 30 ไร่ก็เพียงพอ จะเป็นผู้ปลูกรายเดียวหรือรวมกลุ่มกันก็ได้ ส่วนที่ระบุว่าควรมีพื้นที่จำนวน 100 ไร่นั้น ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การปลูกกล้วยจะเหมาะกว่า แต่หากเป็นมือใหม่ไม่ควรเพราะเสี่ยงเกินไป

ถาม – แล้วถ้าคำนวณต้นทุนระหว่างพื้นที่ 100 ไร่ กับ 30 ไร่ มีต้นทุนต่างกันมากเพียงใด

คุณเสาวณี – ต้นทุนปลูกกล้วยต่อไร่เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25,000-30,000 บาท แล้วมีต้นทุนผันแปรคือแรงงาน ขณะเดียวกัน ยิ่งมีพื้นที่มากเท่าไรต้องใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่วนต้นทุนปุ๋ยและค่าหน่อคงที่ ทั้งนี้ แรงงานที่ใช้ในการปลูกกล้วย 10 ไร่ ต่อคน ซึ่งความจริงแล้วเป็นแรงงานในครัวเรือนมากกว่า เนื่องจากเกษตรกรส่วนมากปลูกกล้วยในระบบครอบครัว แต่จะใช้แรงงานมากในช่วงที่เก็บผลผลิตเท่านั้น

ถาม – มีอาชีพเป็นคนขายต้นพันธุ์กล้วยหอมทองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แล้วมีลูกค้ามาซื้อต้นพันธุ์ แต่คนซื้อต้องการให้เราติดต่อตลาดส่งกล้วยให้ ถึงจะยอมซื้อหน่อพันธุ์เพราะเกรงว่าปลูกแล้วไม่มีที่ขาย จึงได้ถามไปยังแม่ค้าที่มีแผงตามตลาดค้าส่งแล้ว ซึ่งบางรายก็รับซื้อ แต่บางรายไม่รับ

คุณเสาวณี – ทางออกที่ดีคือการทำสัญญากับคนที่มาซื้อหน่อเพราะสร้างความเชื่อมั่น ขณะเดียวกัน ทางคนขายหน่อก็ควรไปตระเวนหาแหล่งรับซื้อผลผลิตเตรียมไว้ด้วย ทั้งนี้ ควรมีการทำข้อตกลงในเงื่อนไขการรับซื้อให้ชัดเจน รวมถึงการชำระเงินด้วย

คุณมานะ – ที่สหกรณ์ท่ายางมักจะใช้หน่อพันธุ์จากต้นแม่มากกว่า เพราะดูในเรื่องต้นทุนเป็นหลัก

ถาม – ถ้าต้องการหน่อพันธุ์ของทางคิง ฟรุทส์ และที่สหกรณ์ท่ายาง จะติดต่อได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอย่างไร

คุณเสาวณี – ต้องถามก่อนว่าได้เตรียมพื้นที่ปลูกไว้หรือยัง ถ้าพร้อมทุกอย่างแล้วทางคิง ฟรุทส์ จะเปิดขายหน่อในทุกเดือนพฤษภาคม แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาให้แก่สมาชิกก่อนแล้วจึงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปภายหลัง

ถาม – มีลูกค้าที่บริโภคกล้วยหอมมักติดแบรนด์ของท่ายาง เพราะติดใจในรสชาติ จึงถามว่าขอซื้อหน่อพันธุ์ได้หรือไม่

คุณมานะ – สหกรณ์ท่ายางไม่มีนโยบายจำหน่ายหน่อพันธุ์ แต่ถ้าต้องการจะติดต่อผ่านทางสมาชิกเครือข่ายให้

ถาม – ชื่อธงชัย เป็นเภสัชกร ต้องการทราบว่าถ้าแหล่งตลาดขนาดใหญ่ที่รองรับการซื้อกล้วยหอมทองเต็มแล้ว ควรหาวิธีติดต่อตลาดแห่งใหม่ได้อย่างไร

คุณมานะ – จากหลายปีที่ผ่านมา สมาชิกสหกรณ์จะขายผลผลิตในประเทศเป็นหลัก แต่หลังจากปี 2560 พบว่ามีสมาชิกหลายรายตั้งใจจะปลูกกล้วยคุณภาพเพื่อส่งขายต่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะมีราคาขายที่สูงเป็นแรงจูงใจ

ถาม – ชื่อประพันธ์ มาจากลำปาง มีแผนจะปลูกกล้วยทางภาคเหนือ แล้วกำลังมองหาแหล่งรับซื้อ อยากถามว่าทางคิง ฟรุทส์ และท่ายางมีแหล่งรับซื้อทางภาคเหนือหรือไม่

คุณเสาวณี – ของคิง ฟรุทส์ มีตั้งอยู่ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

คุณมานะ – ของสหกรณ์ท่ายางมีแห่งเดียว

ถาม – ชื่อพรทิพย์ มาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องการทราบว่ามาตรฐาน GAP ยากแค่ไหน แล้วมีกฎ เกณฑ์อะไรที่สำคัญบ้าง ในกรณีที่เป็นสวนขนาดเล็กทำได้หรือไม่ หรือเฉพาะสวนขนาดใหญ่เท่านั้น

คุณเสาวณี – ไม่ยากเลย เกษตรกรหรือชาวบ้านที่มีอาชีพเพาะปลูกพืชสามารถทำได้ทุกคน แต่ต้องเริ่มต้นจากการไปขึ้นทะเบียนก่อน จากนั้นควรศึกษาหาความรู้ตามแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจอย่างละเอียดหรือแม้แต่ที่สำนักงานเกษตรแต่ละแห่ง หรือที่กรมวิชาการเกษตร เพียงแต่ขอให้ศึกษาอย่างละเอียดก่อน

“สำหรับที่คิง ฟรุทส์ จะทำมาตรฐานควบคู่กับคุณภาพ ซึ่งแต่เดิมสมาชิกก็ไม่เคยได้รับมาตรฐานมาก่อน แต่ในปี 2560 มีหลายรายสามารถทำได้แล้ว สรุปคือไม่จำกัดเรื่องพื้นที่”

เป็นอันว่าการสรุปเนื้อหาการบรรยายในงานสัมมนา  “กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า” ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน” ได้เสร็จสิ้นลง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาที่สรุปน่าจะเกิดประโยชน์ต่อท่านไม่มากก็น้อย และขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน แล้วพบกันใหม่ในกิจกรรมการสัมมนาของกองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านในครั้งต่อไป