ครอบครัว “สตาล” ประสบความสำเร็จจากการทำสวนไม้ผลแบบผสมผสาน ขายตลาดค้าส่งใหญ่

การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจากในอดีตสู่ปัจจุบันสร้างปัญหาอย่างมากต่อภาคเกษตรกรรม เมื่อก่อนเกษตรกรลงมือปลูกอะไรล้วนประสบความสำเร็จทุกอย่าง เพราะน้ำ อากาศ และดินมีความสมบูรณ์เพียงพอ แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม หากชาวบ้านต้องการปลูกอะไรต้องพิจารณาปัจจัยทุกอย่างให้รอบคอบ จะด่วนใจร้อนลงมือทันทีอย่างเช่นสมัยก่อนคงไม่ได้แล้ว ดังนั้น การคิดจะปลูกพืชเพียงชนิดเดียวที่เรียกว่าพืชเชิงเดี่ยวเพื่อหารายได้คงเสี่ยงเกินไปกับยุคสมัยนี้

ครอบครัว “สตาล” ที่ประกอบด้วย คุณปากิ๊ด สตาล (พ่อ) คุณสุมาลี สตาล (แม่) คุณพัชรี สตาล (ลูก) และ คุณอภินันท์ ไชยเดชกำจร (เขย) พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 187 หมู่ที่ 2 ตำบลระหาน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร

ครอบครัว ‘สตาล’

ความจริงครอบครัวนี้ไม่ได้เป็นคนกำแพงเพชร แต่ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพื่อยึดอาชีพเกษตรกรรมที่จังหวัดนี้เมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเริ่มต้นปลูกส้มเขียวหวาน และด้วยความเป็นเกษตรกรมืออาชีพจึงมองถึงความเสี่ยงต่อการทำส้มเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงนำมะละกอพันธุ์ดำเนินมาปลูกแซม ขณะเดียวกัน ได้นำกล้วยน้ำว้ามาปลูกคู่กับมะละกอจนทำให้มีรายได้ตลอดปีอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจากการทำสวนไม้ผลแบบผสมผสาน

คุณสุมาลี หรือ คุณไก่ เล่าว่า มีที่ดินเช่าอยู่ 2 แปลง โดยแปลงแรกมีพื้นที่จำนวนกว่า 50 ไร่ (กำลังจะหมดสัญญาสิ้นปี 2560) ส่วนแปลงใหม่มีพื้นที่จำนวนกว่า 30 ไร่ ทั้งสองแปลงปลูกพืชหลักเหมือนกันคือส้มเขียวหวาน มะละกอดิบ และกล้วยน้ำว้า ลักษณะสวนที่ปลูกเป็นแบบยกร่องขนาดกว้าง 3 วา 2 ศอก มีร่องน้ำ แต่น่าเสียดายส้มเขียวหวานเก็บผลผลิตเสร็จสิ้นไปแล้วและอยู่ระหว่างพักต้น สำหรับสวนแห่งใหม่ยังอยู่ระหว่างการดูแลบำรุงเพื่อให้มีผลผลิตได้ทันก่อนหมดสัญญาสวนแรก

คุณไก่ บอกว่า มะละกอที่ปลูกไว้ทั้งสองแห่งมีจำนวน 7,000 ต้น แต่ผลผลิตที่เก็บมีเฉพาะที่สวนแรกจำนวน 3,000 ต้น ปลูกมาแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 2 ปี พร้อมกับแจงรายละเอียดขั้นตอนปลูกมะละกอว่า ต้องเริ่มจากเลือกผลมะละกอที่มีลักษณะยาวเป็นกระโปรง เนื่องจากพบว่ารูปลักษณะผลดังกล่าวมีเมล็ดมาก แล้วเมื่อนำไปปลูกจะได้พันธุ์ที่มีผลยาวตามความต้องการของตลาด จากนั้นให้ผ่าออกแล้วตากลมทิ้งไว้

ออกเก็บมะละกอ

ให้นำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้สัก 2 คืน นำขึ้นมาผึ่งไว้กับผ้าขาวบางห่อไว้แล้วนำไปใส่กระติกปิดฝา ให้ตากแดดไว้สัก 3-4 วัน จากนั้นจึงเปิดฝาออก เมื่อเห็นว่างอกออกมาคล้ายกับเมล็ดข้าวเปลือกจึงนำไปเพาะลงถาดหลุมเพาะที่เตรียมดินไว้ โดยใส่หลุมละ 3 เมล็ด จนแตกใบอ่อนสัก 4 ใบ จึงย้ายไปปลูกในแปลงจริง พอปลูกไว้สัก 1 เดือน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 โดย 15 วันแรก ใส่ 1 ครั้ง แล้วอีก 30 วัน ใส่อีกรอบ จากนั้น 45 วัน จึงใส่อีก 1 ครั้ง พอครบ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อเตรียมสะสมตาดอก

“ปัญหาที่เกิดจากการปลูกมะละกอคือเพลี้ยไฟที่คุกคาม จึงจำเป็นต้องมีหาฉีดพ่นยาควบคุมและป้องกันไว้ล่วงหน้าตามอัตราที่เหมาะสมและไม่เกิดอันตราย รวมถึงยังต้องใส่ปุ๋ยคอกในช่วงหน้าแล้งเพื่อป้องกันไม่ให้ใบเหลือง”

มะละกอปลูกกับส้ม

คุณไก่ บอกว่า มะละกอสวนแรกจำนวน 3,000 กว่าต้น จะเก็บผลผลิตทุก 20 วัน ได้จำนวน 50 กว่าตัน จากนั้นนำมาคัดแบ่งขนาดจำนวน 4 ขนาด ได้แก่ 2 แถว, 3 แถว, ลูกกลม และลูกเสียบ (ลักษณะผอมแหลม) ทั้งนี้ น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัม เป็นขนาดที่ลูกค้าชอบมาก ส่วนผลรองลงมามีน้ำหนักประมาณ 8 ขีด โดยมีพ่อค้ามารับซื้อที่สวนด้วยรถ 6 ล้อบ้าง รถปิกอัพบ้าง แล้วนำไปขายส่งต่อที่ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และที่ขอนแก่น

มะละกอที่เก็บแล้วนำใส่เรือ

ส่วนราคาขายหน้าสวน คุณไก่ชี้ว่าไม่แน่นอน ราคาผันผวนตลอดแล้วแต่สภาพเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ อาทิ ความต้องการ ปริมาณมะละกอในตลาด ฯลฯ อย่างตอนนี้ (เมษายน 2560) ราคารับซื้อมะละกอดิบประมาณ 2 บาท ต่อกิโลกรัม แต่เคยขายได้ราคาสูงสุดประมาณ 10 บาท ต่อกิโลกรัม แล้วยังเคยมีรายได้จากขายมะละกอดิบกว่า 5 แสนบาท (เก็บขาย 2 ครั้ง)

สำหรับกล้วยน้ำว้าซึ่งถือเป็นผลพลอยได้จากมะละกอ เนื่องจากในปีที่แล้งจัด น้ำที่ใช้จากเขื่อนภูมิพลมีปริมาณไม่พอ ทำให้ต้องระดมสูบน้ำจากบ่อมาช่วยหมดเงินเป็นแสนบาท ช่วงนั้นคุณไก่กังวลใจมากและเกรงว่ามะละกอคงต้องเสียหายอย่างมากแน่ จึงตัดสินใจนำหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าจากจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นบ้านเกิด จำนวน 450 ต้น มาปลูกแซมต้นมะละกอเตรียมไว้ก่อน

แต่โชคช่วยได้น้ำฝนชุดใหญ่เลยทำให้มะละกอกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ จากนั้นจึงเร่งบำรุงต้นมะละกออย่างเต็มที่เพื่อรักษาผลผลิตให้สมบูรณ์ จึงกลายเป็นว่าได้กล้วยเพิ่มมาด้วย แล้วยังเป็นกล้วยน้ำว้าที่มีความความสมบูรณ์ทั้งขนาดและรสชาติ

การปลูกกล้วยในสวนผสมของคุณไก่ไม่ได้ต่างจากเกษตรกรคนอื่น เพราะกล้วยใช้เวลาปลูกจนได้ผลผลิตประมาณ 6 เดือน จึงตกปลี แล้วเก็บได้เมื่ออายุ 9 เดือน แต่สิ่งที่ทำให้กล้วยในสวนของเธอมีหวีและเครือขนาดใหญ่กว่าปกติคงไม่ใช่เพราะการได้รับปุ๋ยผ่านมะละกออย่างเดียว เนื่องจากคุณไก่มีการดูแลบริหารจัดการต้นกล้วยอย่างดีด้วยการแต่งหน่อกล้วยให้เหลือเพียง 3 หน่อเท่านั้น เพื่อควบคุมไม่ให้แย่งอาหารกันจนทำให้เครือเล็ก

กล้วยน้ำว้าเตรียมลำเลียงขึ้นรถ

ดังนั้น เมื่อถึงช่วงเก็บผลผลิตได้จำนวนครั้งละ 16 เครือ น้ำหนักเกือบ 600 กิโลกรัม มีพ่อค้ามารับซื้อหน้าสวน ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ชั่งเป็นเครือได้น้ำหนักเครือละประมาณ 50 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยมีราคาเครือละ 400-500 บาท โดยพ่อค้าเหล่านั้นนำกล้วยไปส่งขายที่ตลาดไทและสี่มุมเมือง

คุณปากิ๊ด กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ต้องปลูกไม้ผลหลายชนิดเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนว่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงมาก พอเกิดปัญหาขายไม่ได้ก็หมดทางแก้ไข แล้วเงินที่ต้องใช้จ่ายประจำวันก็ไม่มี ดังนั้น การทำเกษตรแบบผสมผสานเป็นวิธีใหม่ เป็นแนวคิดใหม่เพื่อเป็นการช่วยเกื้อกูลในเรื่องรายได้ของไม้ผลแต่ละชนิดที่สามารถทดแทนกัน แล้วยังไม่ต้องกังวลถ้าเกิดภัยธรรมชาติหรือปัญหาราคาตกต่ำอีกด้วย อีกทั้งยังสามารถกำหนดรายได้ทันทีหากมีการปลูกด้วยความใส่ใจและได้มาตรฐานจนทำให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์เป็นที่ต้องการของตลาด

คุณปากิ๊ด ปีนบันไดยืนเคียงคู่เครือกล้วยกับต้น

“ถ้าทำเกษตรต้องมีใจรักและอดทน อย่าหวังเห็นคนอื่นทำแล้วมีรายได้มากก็อยากทำบ้างโดยไม่มีความรู้หรือรู้จักพืชผลชนิดนั้นมาก่อน เพราะคนที่ประสบความสำเร็จจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก ต้องผ่านปัญหา/อุปสรรคและความลำบากนานัปการกว่าจะมาถึงความสำเร็จ แล้วควรเพิ่มพูนความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด เพราะภาคเกษตรกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลง” คุณปากิ๊ด กล่าวฝาก

น้ำหนักกล้วยเครือละ 50-60 กิโลกรัม

เห็นจะเป็นจริงตามที่คุณปากิ๊ดฝาก เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปเร็วมาก ขณะเดียวกัน ยังมีผลโดยตรงกับภาคเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เกษตรกรควรวางแผนการเกษตรของตัวเองอย่างรอบคอบควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อความอยู่รอดของทุกคน

สอบถามรายละเอียดเพื่อสั่งซื้อมะละกอหรือกล้วยน้ำว้าได้ที่ โทรศัพท์ (083) 162-8001 หรือ (084) 521-8712