“ควนลัง” ส้มโอดัง จ.สงขลา เด่นที่ไม่มีเมล็ด กลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อล่อน สีแดง ราคาดี

แต่เดิมคนไทยมีโอกาสชิมรสส้มโอได้เพียงไม่กี่แห่ง และส้มโอที่มีชื่อเสียงเป็นที่คุ้นมักมาจากอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พอถึงตอนนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ภาคใดของประเทศ สามารถชิมรสส้มโอคุณภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างไม่ยาก อย่างถ้าเป็นทางภาคใต้ มีพันธุ์ “ส้มโอหอมควนลัง” ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ชาวจังหวัดสงขลามานานหลายสิบปี                  

กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองควนลัง ให้ข้อมูลว่าด้วยความเป็นห่วงว่าส้มโอพันธุ์หอมควนลังจะสูญหายไปจากท้องถิ่น ดังนั้น จึงร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ส้มโอพันธุ์นี้ให้ยังคงมีและสร้างชื่อเสียง จึงได้ส่งเสริมทั้งการปลูกและการตลาดเพื่อให้มีคุณภาพได้มาตรฐานตามเดิมอย่างสมัยโบราณ

“ส้มโอหอมควนลัง” เป็นไม้ผลพื้นเมืองดั้งเดิมที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่เมืองควนลัง จากข้อมูลของผู้สูงอายุบอกต่อกันมาว่า เดิมส้มโอพันธุ์นี้มีถิ่นอยู่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กระทั่งมีการติดต่อค้าขายกัน จึงมีการนำพันธุ์มาปลูกในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่และอำเภอใกล้เคียงแพร่ขยายมายังหลายตำบลรวมถึงที่ควนลัง

ปรากฏว่าส้มโอที่นำมาปลูกกลับมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เนื้อแน่นและล่อนออกจากเปลือกง่าย พร้อมกับมีจุดเด่นคือ ไม่มีเมล็ด และเนื้อผลสีแดง-ชมพู เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค จนทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

ความมีลักษณะพิเศษของส้มโอหอมควนลังคือ ไม่มีเมล็ด ต้องขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เป็นข้อดีของการรักษาความเป็นพันธุ์แท้ของส้มโอพันธุ์นี้ไว้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกส้มโออินทรีย์

นอกจากนั้น ยังมีความต่างจากส้มโอพันธุ์อื่นตรงที่เปลือกมีกลิ่นหอมพิเศษ ผลกลมสูง ไม่มีจุก น้ำหนักผลระหว่าง 1-2.5 กิโลกรัม เนื้อผลสีชมพูเข้ม-แดง เนื้อนิ่ม ฉ่ำ ล่อนไม่ติดเปลือก จำนวนกลีบ 11-13 เนื้อกุ้งกรอบ ไม่มีเมล็ด รสหวานอมเปรี้ยว มีความหวาน 12-13 องศาบริกซ์ ที่สำคัญเมื่อตัดผลจากต้นแล้วรับประทานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ลืมต้น

แหล่งปลูกส้มโอหอมควนลัง ครอบคลุมพื้นที่เมืองควนลัง จำนวน 66.76 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่เฉพาะที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก คือบริเวณที่ราบลุ่มน้ำในเขตเมืองควนลัง ได้แก่ คลองวาด คลองนนท์ คลองต่ำ และคลองสอ เนื่องจากอยู่ใกล้ลำคลองที่มีตะกอน แร่ธาตุอาหารพืชทับถมจึงมีความอุดมสมบูรณ์ อันอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ส้มโอหอมควนลังมีความต่างจากส้มโอที่ปลูกต่างพื้นที่ โดยมีพื้นที่ปลูกรวมกันประมาณ 200 ไร่

สัญญลักษณ์ส้มโอหอมควนลังทางการค้า

ปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนส้มโอควนลังที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องปลูกส้มโอแบบมาตรฐาน GAP ทุกราย จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากทางจังหวัด พร้อมทั้งยังกำหนดให้เป็นสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาด ทางเทศบาลควนลังได้จัดให้มีงานส้มโอหอมควนลังขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ รวมถึงบรรดานักท่องเที่ยวจำนวนมาก

คุณป้าจำเริญกับผลส้มโอหอมควนลังที่แก่จัด

คุณป้าจำเริญ (แม่) คุณเดชา (ลูก) เพชรประสมกูล พักอยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นชาวบ้านในพื้นที่อีกครอบครัวที่ปลูกส้มโอหอมควนลังได้อย่างมีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ถึงปีละหลักแสนบาทมาตลอด

คุณป้าจำเริญ ปลูกส้มโอพันธุ์นี้มานานกว่า 30 ปี ในช่วงที่ต้นส้มโอมีขนาดเล็กปลูกกล้วยไข่ไว้หารายได้ก่อน พอส้มโอโตเต็มที่จึงโค่นกล้วย มีเนื้อที่ปลูกส้มโอจำนวนกว่า 2 ไร่ มีทั้งส้มรุ่นเก่าและใหม่จำนวนทั้งหมด 115 ต้น สำหรับส้มรุ่นใหม่ปลูกมาได้กว่า 2 ปีแล้ว ขณะนี้เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว

เหตุผลตอนแรกที่คุณป้าจำเริญปลูกส้มโอหอมควนลังเพราะมีพื้นที่ว่าง จึงปลูกไว้เพื่อบริโภคในครอบครัว แต่เมื่อนานไปพบว่าส้มโอพันธุ์นี้มีรสชาติหวาน เนื้อแน่น มีเนื้อสีแดง พอนำไปขายได้รับความสนใจจากลูกค้าแล้วยังมีราคาดีด้วย จากนั้นจึงหันมาปลูกอย่างจริงจัง พร้อมกับเพิ่มพื้นที่ปลูกออกไปอีก

คุณป้าจำเริญ ชี้ว่าการปลูกส้มโอของชาวบ้านทั่วไปมีไม่มากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ทั้งนี้เพราะชาวบ้านหลายรายประสบปัญหาแมลงศัตรูและโรค ยากที่จะแก้ไข จึงทำให้ชาวบ้านโค่นต้นส้มโอแล้วเปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทน ดังนั้นในปัจจุบันจึงทำให้พื้นที่ปลูกส้มโอหอมควนลังลดลง

ภายในบริเวณสวนเก่าเนื้อที่ประมาณไร่เศษ ที่สะอาดเรียบร้อย

การปลูกส้มโอของคุณป้าจำเริญในรุ่นแรกมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ดังนั้น ระยะปลูกต้นส้มโอเลยกำหนดไว้ 5×6 เมตร พอมาในรุ่นใหม่มีเนื้อที่มากขึ้นจึงขยายระยะปลูกเป็น 6×6 เมตร เพื่อต้องการให้กิ่งใบขยายออกไป สามารถเก็บสะสมอาหารได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกส้มโอได้ประมาณ 25-35 ต้น

ส้มโอหอมควนลัง ใช้เวลาปลูกประมาณ 2-3 ปี จึงเริ่มให้ผลผลิต ในระยะแรกผลผลิตอาจได้จำนวนไม่มาก ลักษณะรูปร่างและขนาดผลยังไม่ได้มาตรฐานนัก ให้เกษตรกรผู้ปลูกหมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ย อย่างสม่ำเสมอ ครั้นเมื่อย่างเข้าปีที่ 4 ต้นส้มโอมีความสมบูรณ์เต็มที่สามารถให้ผลผลิตได้สูงถึงต้นละกว่าร้อยผล

กิ่งตอนส้มโอหอมควนลัง

สวนส้มโอของคุณป้าจำเริญมุ่งเน้นการผลิตส้มโอที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเน้นการปลูกแบบอินทรีย์ การกำจัดหญ้าด้วยวิธีตัด แล้วใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้นเป็นขี้วัวใส่ในช่วงแรก กระสอบละ 3-4 ต้น จากนั้นเมื่อต้นมีขนาดใหญ่ ให้ใส่จำนวน 2 ครั้ง คือก่อนเก็บผลผลิต และหลังเก็บผลผลิตหมดแล้ว โดยใส่ต้นละ 1 กระสอบ พร้อมกับตัดแต่งกิ่งเพื่อพักต้น

ขณะเดียวกันในช่วงที่ส้มโอติดดอกคุณป้าจำเริญจะเก็บเฉพาะดอกที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ไว้เท่านั้น ส่วนดอกที่มีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์จะตัดทิ้ง โดยจะเริ่มห่อด้วยถุงกระเทียมเมื่อผลส้มโอมีขนาดสักนิ้วก้อย ทั้งนี้เพื่อป้องกันแมลงศัตรูเข้ามาทำลาย เนื่องจากไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีแต่อย่างใด ทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งหมดโดยไม่มีความเสียหายเลย

คุณป้าจำเริญ บอกว่า ช่วงที่ส้มโอหอมควนลังให้ผลผลิตมากที่สุดคือ ราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ผลผลิตที่ได้ในช่วงฤดูกาลจะมีจำนวนเกือบ 2 ตัน น้ำหนักผลที่ได้มาตรฐาน ประมาณ 1.2-1.5 กิโลกรัม ในแต่ละปีจะมีลูกค้ามาสั่งจองไว้ล่วงหน้า มีทั้งซื้อไว้รับประทาน และเป็นของแจก อีกทั้งยังต้องเก็บผลผลิตบางส่วนไว้เพื่อนำไปขายในงานวันส้มโอที่ทางเทศบาลจัดขึ้นเป็นประจำ จึงทำให้จำนวนส้มโอไม่ค่อยพอขาย ดังนั้น ในช่วงฤดูกาลจึงมีรายได้จากการขายส้มโอถึงแสนกว่าบาท

ห่อผลจนแก่จัดที่ต้น

การเก็บผลผลิตส้มโอของคุณป้าจำเริญจะปล่อยให้แก่จัดที่ต้นเพื่อรักษาคุณภาพรสชาติและความสมบูรณ์ของผลไว้ ทั้งนี้วิธีดูว่าส้มโอแก่จัดแล้วควรเก็บผลผลิตได้หรือยัง คุณป้าจำเริญบอกว่าให้นับเวลาตั้งแต่เริ่มห่อผลไปเป็นเวลา 6 เดือน หรือให้สังเกตสีผิวเปลือกจะมีสีเขียวอมเหลือง มีต่อมน้ำมันขยายเต็มที่แล้วให้เก็บทันที เพราะมิเช่นนั้นรสชาติจะเปลี่ยนไป ไม่หวาน โดยต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งบริเวณก้านผลให้เหลือสั้นที่สุด

ส่วนทำไมเนื้อผลจึงมีสีแดง คุณเดชา ลูกชายบอกว่า ความจริงแล้วส้มโอพันธุ์นี้มีเนื้อสีแดงอยู่แล้ว เพราะเป็นพันธุ์เก่าแก่ แต่ที่มีความโดดเด่นน่าจะเรื่องรสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อล่อนแน่น ไม่มีเมล็ด แล้วแตกต่างจากที่อื่นแม้จะปลูกไม่ไกลกัน อาจเป็นเพราะคุณสมบัติของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มาจากการมีแม่น้ำและคลองหลายสายทำให้พัดพาตะกอนธาตุอาหารสำคัญขึ้นมาทับถมในเนื้อดิน จึงทำให้ดินมีความสมบูรณ์ แล้วยังมีแต่ความชุ่มชื้น

ผ่าให้ชิมกันสด สดในสวน พบว่าหวาน หอมจริง แล้วยังไม่มีเมล็ดด้วย

คุณป้าจำเริญ บอกถึงการขายส้มโอว่า ในสมัยก่อนชาวบ้านขายกันเป็นผล ไม่มีการกำหนดขนาดชัดเจน โดยกำหนดราคาขาย ผลละ 25-30 บาท พอมาในช่วงที่ทางเทศบาลเข้ามาส่งเสริม ได้มีการกำหนดราคาตามขนาดผล ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรฐานการวัดเส้นรอบผล โดยมีการตั้งราคาไว้ ตั้งแต่ 50, 60, 70, 80, 90 และ 100 บาท

โดยธรรมชาติของส้มโอพันธุ์นี้ไม่มีเมล็ด ดังนั้น การขยายพันธุ์จึงต้องใช้วิธีตอนกิ่งเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ไม่เพี้ยนหรือกลายพันธุ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สวนคุณป้าจำเริญจึงมีกิ่งตอนไว้จำหน่ายในราคา กิ่งละ 120 บาท แล้วคุณป้าจำเริญบอกว่าถ้าใครต้องการกิ่งตอนยังไม่รับปากด้วยว่าจะมีขายหรือไม่ เพราะทำไม่ทัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเดชา เพชรประสมกูล โทรศัพท์ (089) 734-4879

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองควนลัง