เกษตรกรชาวเพชรบูรณ์ ปลูกไม้ต่างถิ่น “ทุเรียน” กับ “เงาะ” สำเร็จเป็นรายแรกในพื้นที่ สร้างรายได้หลักแสน

คุณยวน สกุลวา หรือ ลุงยวน บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 9 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (063) 803-2137 ปลูกทุเรียนมานานกว่า 15 ปี ในพื้นที่อำเภอวังโป่งแห่งนี้ เป็นเกษตรกรรายแรกในพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนและเงาะ ซึ่งถือว่าเป็นพืชต่างถิ่น เป็นพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ที่ไม่มีใครเคยปลูกมาก่อน

ลุงยวน เล่าว่า ในตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการนำทุเรียนและเงาะมาปลูกจะสามารถออกดอกติดผลหรือไม่ แต่ตนเองชอบการทำสวนจึงหาพันธุ์ทุเรียนและเงาะมาปลูก อย่างทุเรียนก็จะเน้นปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และก็มีทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ชะนี หลงลับแลบ้าง ตามที่จะหาซื้อพันธุ์มาได้ ในตอนนั้นคนที่ทราบว่าตนเองปลูกทุเรียน แน่นอนหลายคนคิดว่าตนเองถ้าจะบ้า แต่หลังจากปลูกไว้เพียง 4-5 ปี ต้นทุเรียนก็มีการเจริญเติบโตเป็นอย่างดี เริ่มออกดอกติดผลมาให้เห็น ก็สร้างความดีใจให้กับตนเองเป็นอย่างมาก

คุณยวน สกุลวา เจ้าของสวนทุเรียนที่ปลูกเป็นรายแรก ที่ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

“ต้นทุเรียนเริ่มทยอยออกดอกติดผลมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งผลผลิตที่เก็บได้ถูกสั่งจองและขายแค่ในพื้นที่ก็หมดแล้ว ไม่ได้ออกไปขายที่ไหนเลย ซึ่งเป็นมาอย่างนี้นานนับ 10 ปี คนซื้อก็จะบอกกันปากต่อปาก ราคาขายทุเรียนก็จะอ้างอิงราคาตามท้องตลาดในแต่ละปี” ลุงยวน อธิบายอย่างภูมิใจ

ฤดูกาลที่ผ่านมา (ปี 2560) ต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตเพียง 20 กว่าต้นเท่านั้น ตนเองมีรายได้ราวๆ 150,000 บาท เลยทีเดียว ซึ่งเป็นปีที่ทุเรียนในท้องตลาดมีราคาสูงมาก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80-120 บาท ซึ่งคิดว่าอีกสัก 2-3 ปี ข้างหน้า ต้นทุเรียนที่ปลูกเพิ่มขึ้นมาอีก 100 กว่าต้น ก็จะเริ่มให้ผลผลิตตามมาและน่าจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากขึ้น

ผลทุเรียนหมอนทองที่ ถูกลูกค้าสั่งจองไว้ล่วงหน้าแล้ว

ลุงยวน เล่าว่า ในช่วงของการปลูกก็เพียงแค่รดน้ำให้ต้นทุเรียนไม่ขาดน้ำ มีให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพที่หมักเองบ้างแค่นั้นเอง ค่อนข้างจะเลี้ยงปล่อยแบบธรรมชาติ แต่พอทุเรียนเริ่มมีผลผลิตเราก็มาดูแลบ้าง เช่น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอให้บ้างหลังการเก็บผลผลิตหมด เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้ต้นทุเรียน ซึ่งไม่ได้ให้มากมายอะไรนัก หรือจะให้ช่วงติดผลบ้างตามเหมาะสม อย่างต้นที่ให้ผลผลิตตอนนี้มีเพียง 20 กว่าต้นเท่านั้น จากการสังเกตจะติดผลประมาณ 30-40 ผล ต้นหนึ่งก็จะให้น้ำหนักรวมของผลผลิตประมาณ 80-100 กิโลกรัม โดยประมาณ เนื่องจากผลทุเรียนอย่างพันธุ์หมอนทอง ผลหนึ่งเฉลี่ยน้ำหนักที่ได้ประมาณ 3 กิโลกรัม

ส่วน “เงาะ” ที่นำต้นมาปลูกพร้อมกับทุเรียนเมื่อ 15 ปีก่อนนั้นก็เช่นกัน เป็นอีกพืชที่สร้างรายได้คู่กันมากับทุเรียน เช่นเดียวกันที่ลุงยวนเป็นคนแรกในพื้นที่ที่นำเอาเงาะมาทดลองปลูก จำนวน 60 ต้น ซึ่งเป็นเงาะสี หลังปลูกเพียง 3-4 ปี เงาะก็เริ่มให้ผลผลิต เก็บขายได้ราคาตามท้องตลาดในแต่ละปีเช่นกัน อย่างปีนี้เงาะราคา 20-25 บาท ต่อกิโลกรัม รายได้รวมจากการขายเงาะสูง 50,000-70,000 บาท ทีเดียว

ลุงยวน กับ ผลผลิตเงาะสี ที่เก็บขายออกตลาดวันละ100กก.

ลุงยวน เล่าว่า เงาะของที่สวนค่อนข้างหวานมาก กรอบ เนื้อล่อนแห้งไม่ติดเปลือกเลย ทำให้ลูกค้าชอบและสั่งซื้อหรือจองเอาไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับทุเรียน แทบจะไม่ได้เก็บขายนอกพื้นที่เลย การเจริญเติบโตของต้นเงาะก็ดี เป็นพืชที่ค่อนข้างทน อย่างการออกดอกที่นี่ก็จะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมในแต่ละปี และมาเก็บเกี่ยวได้ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน อย่างเงาะก็เก็บขายได้ทุกวัน เก็บคนเดียววันประมาณ 100 กิโลกรัม

“ถ้าเฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 20 บาท ก็ได้เงินวันละประมาณ 2,000 บาท ไล่เก็บไปเรื่อยๆ ในช่วงเก็บผลผลิตประมาณ 2 เดือน ซึ่งผลผลิตเงาะต่อต้นก็ประมาณ 100 กิโลกรัม ต้นทุนการผลิตค่อนข้างน้อย เนื่องจากทำสวนคนเดียวไม่ได้จ้างแรงงาน ไม่ได้ฉีดสารป้องกันกำจัดแมลงเลย จะมีฉีดเพียงฮอร์โมนอาหารเสริมให้บ้างในช่วงก่อนการออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอให้บ้างในช่วงให้ผลผลิต 1 กระสอบ หรือ 50 กิโลกรัม ก็เต็มที่แล้วในแต่ละปี”

ลุงยวน กับผลผลิตเงาะสี อายุต้น15ปี

การปลูกทุเรียน

ลุงยวนบอกว่า ถ้ามีแหล่งน้ำหรือระบบน้ำดีก็สามารถปลูกได้ทั้งปี แต่ที่สวนตนเองจะปลูกต้นไม้ช่วงต้นฤดูฝนเพื่อลดภาระการให้น้ำ หลังต้นไม้ผ่านช่วงฤดูฝนไปก็สามารถตั้งตัวได้ มีความแข็งแรงระดับหนึ่ง การเตรียมพื้นที่การปลูกทุเรียน ถ้าเป็นพื้นที่ใหม่ก็ต้องปรับไถ ขุดตอ ขุดรากไม้เก่า ออกจากแปลง ถ้าเป็นพื้นที่ดอนไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง ก็ไถกำจัดวัชพืชอย่างเดียว แต่ถ้าพื้นที่ดอน มีแอ่งที่ลุ่มน้ำขัง ไถปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่มหรือต่ำมีน้ำท่วมขังก็ต้องทำทางระบายน้ำหรือยกร่องแบบลูกฟูกให้เกิดการระบายน้ำดี เนื่องจากทุเรียนอ่อนแอต่อสภาพน้ำขังแฉะ และอ่อนแอต่อโรคไฟท็อปทอร่า

.ทุเรียน เพียง20กว่าต้นสร้างรายได้แสนกว่าบาทในแต่ละปี

การปลูกทุเรียนแบบขุดหลุมปลูก

ขุดหลุมให้มีขนาดกว้างยาวและลึก ด้านละ 30 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยคอกเก่า ประมาณ 2-3 กิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบกลับคืนไปในหลุม สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรคไม่มีแมลงทำลายและมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่ (ถ้าใบเป็นระยะใบอ่อนต้องรอให้ใบแก่เสียก่อน) ใช้มีดกรีดก้นถุงออก ถ้าพบรากขดงออยู่ก้นถุงให้ตัดออก วางถุงต้นกล้าที่ตัดก้นถุงออกแล้ววางลงตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับต้นอื่นๆ พร้อมทั้งปรับระดับสูงต่ำของต้นทุเรียนให้รอยต่อระหว่างรากกับลำต้นหรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงจากล่างขึ้นบนทั้งสองด้าน ดึงถุงพลาสติกออก ระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม อย่ากลบดินสูงถึงรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ แล้วปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูกแล้ว พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้เพื่อป้องกันลมพัดโยก กดดินบริเวณโคนต้น หาวัสดุคลุมโคนต้นแล้วรดน้ำตามให้โชก จัดทำร่มเงาให้ต้นทุเรียนที่เพิ่งปลูก โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก แผงหญ้าคา ทางระกำ หรือตาข่ายพรางแสง

เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วควรปลดออก หรืออาจปลูกไม้เพื่อให้ร่มเงา เช่น กล้วย ก็จะช่วยเป็นร่มเงาและเพิ่มความชื้นในสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและมีแสงแดดจัด นิสัยทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้น จึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้าง โดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก สามารถบังร่มได้โดยปลูกต้นไม้บังร่มหรือใช้ซาแรนบังแดดก็ได้ นอกจากนี้ ประโยชน์ของไม้บังร่มอาจปลูกเพื่อเป็นรายได้จุนเจือ พืชที่เหมาะสมที่สุดคือ กล้วย เพราะกล้วยให้ร่มเงาเร็วที่สุดในการใช้เป็นไม้บังร่มเงาชั่วคราว ยิ่งถ้าเป็นสวนทุเรียนที่มีทุนน้อยถ้าได้กล้วยขายเป็นรายได้ไปพลางๆ อย่างน้อยก็พอเป็นค่ารักษาสวน ค่าปุ๋ย ใส่ทุเรียนหรือไม่ก็เป็นการป้องกันกำจัดวัชพืช เพราะเมื่อมีกล้วยขึ้นปกคลุมแล้ว พวกวัชพืชก็จะขึ้นน้อยลง อย่าลืมแกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอดหรือทาบออกเมื่อปลูกไปแล้ว ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อไม่ให้รัดคอดต้นทุเรียน

 

การปฏิบัติดูแลทุเรียน ในช่วงก่อนให้ผลผลิต

เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น ในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิตในช่วงแรกควรปลูกพืชแซมเสริมรายได้ ซึ่งลุงยวนเลือกปลูกกล้วยน้ำว้าเพื่อเป็นไม้พี่เลี้ยงให้กับต้นทุเรียน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง แสงแดดจัดมาก จะทำให้ใบทุเรียนไหม้ได้ หรือกรณีที่ต้นกล้วยยังโตไม่ทันก็ควรทำร่มเงาให้

เมื่อตรวจพบทุเรียนตายหลังปลูก ให้ปลูกซ่อม การให้น้ำนั้น ช่วงเวลาหลังจากปลูกจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝนตกหนักควรทำทางระบายน้ำ และตรวจดูบริเวณหลุมปลูก ถ้าดินยุบตัวเป็นแอ่งมีน้ำขังต้องพูนดินเพิ่ม ถ้าฝนทิ้งช่วง ควรรดน้ำให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ ในปีต่อๆ ไป ควรดูแลรดน้ำให้ต้นไม้ผลอย่างสม่ำเสมอและในช่วงฤดูแล้งควรใช้วัสดุคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง

ผลผลิตทุเรียนหมอนทอง จากต้นอายุ15ปี

การตัดแต่งกิ่ง ปีที่ 1-2 ไม่ควรตัดแต่ง

ปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ตามธรรมชาติ ปีต่อๆ ไป ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งเป็นโรคออก เลี้ยงกิ่งแขนงที่สมบูรณ์ที่อยู่ในแนวขนานกับพื้น (กิ่งมุมกว้าง) ไว้ในปริมาณและทิศทางเหมาะสม โดยให้กิ่งล่างสุดอยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 80-100 เซนติเมตร การป้องกันกำจัด ช่วงแตกใบอ่อนถ้ามีความจำเป็นมีแมลงศัตรูทำลายก็ควรป้องกันกำจัดตามการระบาดหรือเลือกใช้น้ำหมักไล่แมลง

ช่วงฤดูฝนควรหมั่นเดินสำรวจ มีการควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดินและอาจจะกำจัดโดยการถอนหรือตัดหญ้า เพื่อป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าและพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพราะต้นทุเรียนยังเล็กอยู่ละอองสารเคมีอาจจะไปทำลายต้นทุเรียนได้ง่าย

 

การใส่ปุ๋ย

ควรทำดังนี้ ใส่ปุ๋ยพร้อมกับการทำโคนคือ ถากวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่ม หว่านปุ๋ย และพรวนดินนอกชายพุ่มขึ้นมากลบใต้ทรงพุ่มให้มีลักษณะเป็นหลังเต่า และขยายขนาดของเนินดินให้กว้างขึ้นตามขนาดของทรงพุ่มหรือจะใส่ปุ๋ย โดยวิธีใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินเป็นรูหยอดปุ๋ยใส่และปิดหลุมเป็นระยะให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่ม วิธีหลังนี้แม้จะเปลืองแรงงานแต่ช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ยจากการระเหย หรือถูกน้ำชะพา หว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี

ควรใส่ปุ๋ยในบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ และให้ห่างจากโคนต้น ประมาณ 20-30 เซนติเมตรขึ้นไป ขึ้นกับขนาดทรงพุ่มปริมาณและเวลาใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยในปีที่ 1-3 เน้นการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2-5 กิโลกรัม ต่อต้น ในปีที่ 4 ขึ้นไป ใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มขึ้น ราว 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น ใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัม ต่อต้น ตามความเหมาะสม

 

การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงให้ผลแล้ว

เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนออกดอกติดผลมาก และให้ผลผลิตคุณภาพดี การเตรียมต้นให้พร้อมที่จะออกดอกคือ การเตรียมต้นให้พร้อม มีความสมบูรณ์ อาหารสะสมมีเพียงพอ ควรจะต้องมีใบแก่ทั้งต้น และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ฝนแล้ง ดินมีความชื้นต่ำ อากาศเย็นลงเล็กน้อยทุเรียนก็จะออกดอก ขั้นตอนต่างๆ จะต้องรีบดำเนินการภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้

การตัดแต่งกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวให้รีบตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งแขนง ด้านในทรงพุ่มออกโดยเร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น สารเมทาแลคซิล หรือปูนแดงกินกับหมาก เพื่อป้องกันการทำลายของเชื้อรา

ก่อนการออกดอก แนะนำว่า ควรงดการให้น้ำสัก 10-15 วัน เมื่อสังเกตเห็นใบทุเรียนเริ่มสลดลงต้องเริ่มให้น้ำทีละน้อยเพื่อกระตุ้นให้ตาดอกเจริญ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานจนใบเหลืองใบตก เพราะตาดอกจะไม่เจริญ และระวังอย่าให้น้ำมากเกินไป เพราะช่อดอกอาจเปลี่ยนเป็นใบได้ วิธีให้น้ำที่เหมาะสม คือให้น้ำแบบโชยๆ แล้วเว้นระยะ สังเกตอาการของใบและดอก เมื่อเห็นดอกระยะไข่ปลามากพอแล้ว
ก็เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสู่สภาวะปกติ

ต้นทุเรียน อายุ15ปี ที่ปลูกไว้รุ่นแรกในสวน

เลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลทุเรียนแก่เต็มที่แล้วเท่านั้น

โดยสังเกตจากลักษณะของผลและนับอายุ สีเปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นสีน้ำตาลหรือสีเขียวแกมเทา แต่ผลที่อยู่นอกทรงพุ่มที่โดนแสงแดดมากจะมีสีน้ำตาลมากกว่าผลที่อยู่ในทรงพุ่ม ก้านผลสีเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ สาก ตรงรอยต่อของระหว่างก้านผลตอนบนกับก้านผลตอนล่าง (ปลิง) จะบวมใหญ่ เห็นรอยต่อชัดเจน ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาล หนามกางออก ร่องหนาค่อนข้างห่าง สังเกตรอยแยกบนพูจะเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นพันธุ์ก้านยาวจะเห็นไม่ชัด การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ ทั้งนี้เมื่อผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่สุกและร่วงก็เป็นสัญญาณเตือนว่าทุเรียนที่เหลือซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันเริ่มแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว

 

การนับอายุ

การนับอายุทุเรียนนั้นจะนับจำนวนจากวันหลังจากดอกบานจนถึงวันที่ผลแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ คือพันธุ์หมอนทอง ใช้เวลา 140-150 วัน พันธุ์ชะนี ใช้เวลา 110-120 วันพันธุ์ก้านยาว ใช้เวลา 120-135 วัน การนับอายุนี้อาจจะคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย ขึ้นกับอุณหภูมิของอากาศ เช่น อากาศร้อนและแห้งแล้งทุเรียนจะแก่เร็วขึ้น หากมีฝนตกชุกและความชื้นสูงทุเรียนจะแก่ช้า

ดังนั้น เพื่อสะดวกในการจดจำและไม่เกิดความผิดพลาดในการตัดทุเรียนอ่อน เกษตรกรควรจดบันทึกวันที่ดอกบาน และทำเครื่องหมายรุ่น ดังนี้ จดบันทึกวันที่ดอกทุเรียนบานของแต่ละพันธุ์ และแต่ละรุ่น ทำเครื่องหมายรุ่นไว้ในขณะที่มีการโยงกิ่งด้วยเชือก และควรใช้สีที่แตกต่างกันในการโยงกิ่งแต่ละรุ่น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการตัดทุเรียนที่แก่มีคุณภาพดี          

ต้นทุเรียนที่ปลูกเพิ่ม มีการหมักน้ำหมักชีวภาพไว้ข้างๆหลุมปลูก
เงาะสีสวนลุงยวน รสชาติหวานกรอบ เนื้อร่อน สร้างรายได้หลายหมื่นบาทในแต่ละปี