เยือน โอโซน ฟาร์ม แหล่งผลิตเมล่อนเกรดพรีเมียม มาตรฐานส่งออกญี่ปุ่น

คุณพิเชษฐ์ กันทะวงศ์ เกษตรกรหนุ่ม ประธานยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จ.เชียงราย เล่าให้ฟังว่า ตนนั้นเรียนจบมาทางด้านอารักขาพืช จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 64 และเข้าทำงานบริษัทเอกชนอีก 2 ที่ คือ บริษัท เจียไต๋ จำกัด รับหน้าที่ทดสอบพันธุ์ต่างประเทศ และ บริษัท ทีเจซี เคมี จำกัด รับหน้าที่ขึ้นทะเบียนสารก่อนนำมาขายในประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาได้มีโอกาสทำงานอยู่ในแวดวงเคมีเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยว่าเราจะเรียนจบมาทางด้านกีฏวิทยาเกี่ยวกับแมลง ทำให้เรามีพื้นฐานที่ดีและรู้ว่าการควบคุมแมลงนอกจากสารเคมีแล้วยังมีวิธีอื่นๆ อีกมาก ยกตัวอย่าง การทำผักกางมุ้ง หรือการทำโรงเรือน เป็นการใช้หลักชีววิธี จึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะทดลองปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมี แต่เลือกใช้หลายๆ วิธีมาประยุกต์รวมกัน และมาลงตัวที่เมล่อน

คุณพิเชษฐ์ กันทะวงศ์

หลังจากที่ตัดสินใจแล้ว จึงได้ลงมือทำและการเรียนรู้ในครั้งแรกนี้ก็ทำให้ตนเองค้นพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ สาเหตุการปลูกเมล่อนไม่ได้ผลดีจากประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือ การปลูกกลางแจ้งแล้วได้ผลผลผลิตไม่ได้ดีนั้นมีสาเหตุมาจากการปลูกแบบลงดินนั้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพืชต่างๆ ที่อยู่ในดินจำนวนมาก เช่น โรครากเน่า เหี่ยวเขียว จากเชื้อ Fusarium sp. Pythium sp. Sclerotium sp. phytopthora sp. Rhizoctonia sp.และ Ralstonia solanacearun ซึ่งมักระบาดในฤดูฝน ถึงแม้ว่าทางฟาร์มจะใช้เชื้อจุลินทรีย์ ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) รดลงดินแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ทุกเชื้อ

ภายในโรงเรือน

ซึ่งจากการศึกษาพบว่าไตรโคเดอร์มาจะใช้ได้ผลเฉพาะกับเชื้อโรค phytopthora sp. เท่านั้น จึงไม่สามารถควบคุมเชื้อโรคที่มีเชื้อสาเหตุอื่นได้ ทำให้เริ่มเข้าใจวงจรความเป็นไปของต้นเมล่อนมากขึ้น

ด้วยสาเหตุนี้ คุณพิเชษฐ์ จึงวางแผนการปลูกครั้งต่อมาเป็นแบบโรงเรือน ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นโรงเรือนที่สร้างจากไม้ไผ่คลุมด้วยมุงเขียว ก่อนจะมาเปลี่ยนมาเป็นโรงเรือนแบบมาตรฐานที่เห็นทุกวันนี้ แม้จะได้ผลในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาของโรคที่เกิดจากดินได้ จึงได้ทดลองปลูกแบบไม่ใช้ดิน

ผลผลิตดี

คุณพิเชษฐ์ เล่าต่อว่า ต่อมาจึงได้ทดลองปลูกเมล่อนแบบไฮโดรโพนิกซ์ เพื่อตัดปัญหาเรื่องเชื้อโรคที่มีสาเหตุในดิน โดยทดลองปลูกในระบบ DRFT (Dynamic Root Floating Technique) คือ ให้รากเมล่อนแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง จากการทดลองผลที่ได้ในช่วงแรกนั้นดีมาก เมล่อนเจริญเติบโตดี แต่พบปัญหาในระยะเก็บเกี่ยว คือ มักจะพบว่าผลเมล่อนจะแตกก่อนถึงอายุเก็บเกี่ยว เนื่องจากรากพืชแช่อยู่ในน้ำนานทำให้ดูดน้ำมากเกินไปจึงทำให้ผลแตก และอีกปัญหาที่พบในระบบ DRFT คือ เมล่อนไม่หวาน จึงกลับไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากตำราเพื่อแก้ปัญหาตัวใหม่ที่เกิดขึ้น จนกระทั้งพบว่าการใช้ทรายกับกาบมะพร้าวสับมาแทนดินถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ จึงนำมาทดลองอีกครั้ง ผลปรากฏว่าได้รสชาติที่ดีขึ้น และตัดปัญหาโรคพืชทางดินอย่างสมบูรณ์แบบ

จากการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง จนกระทั่งพบวิธีปลูกที่ตอบโจทย์ตรงตามความตั้งใจที่ตั้งไว้ว่า จะต้องปลูกเมล่อนแบบไร้สารให้ได้ และต้องมีคุณภาพระดับที่ดีมาตรฐานเดียวกับประเทศญี่ปุ่น หลังจากการทดลองเสร็จสิ้นจึงได้ปรับที่นา จำนวน 2 ไร่ ทำฟาร์มเมล่อนอย่างจริงจัง ในชื่อ “โอโซนฟาร์ม” โดยจะเน้นการปลูกเมล่อนแบบไร้สาร โดยใช้วัสดุปลอดเชื้อเป็นวัสดุปลูก คือ ทรายผสมกาบมะพร้าวสับ อัตรา 1:1 ใช้ถุงขาวขนาด 8 x16 นิ้ว โดยปลูก 1 ต้นต่อ 1 ถุง ปลูกในโรงเรือนขนาด 5 x 20 เมตร ทั้งหมด 204 ต้นต่อโรงเรือน ระยะห่างระหว่างถุงคือ 50 x 50 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการวางถุงปลูกแบบห่าง และใช้วิธีบริหารจัดการฟาร์มการกำจัดแมลงด้วยสารชีวภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของเมล่อนและผู้บริโภค โดยได้ตั้งมาตรฐานของฟาร์มไว้ว่า เมล่อนทุกผลในฟาร์มต้องปลอดภัยและสะอาดอย่างแท้จริง โดยทางฟาร์มได้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์กับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย อย่างเสมอ จนได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร จึงทำให้เมล่อนของโอโซนฟาร์มเป็นเมล่อนรสชาติดีมีกลิ่นหอมหวาน  จนลูกค้าต่างพูดกันว่า “กินเมล่อนจากโอโซนฟาร์ม เหมือนกินที่เมล่อนของต้นฉบับอย่างญี่ปุ่น”

เนื้อสวยเนียน

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิเชษฐ์ กันทะวงศ์ เจ้าของโอโซนฟาร์ม (OZONE FARM) บ้านแม่เปิน ซอย 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เบอร์โทรศัพท์.08-9201-6654

ผลิตภัณฑ์จากเมล่อน