มะยม คนชื่นชม นิยมเป็นผัก-ผลไม้มานาน

ตำราพรหมชาติ ว่าการปลูกต้นไม้ตามทิศต่างๆ มีความหมาย และเป็นสิริมงคลต่อบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ในทิศตะวันตกของบ้านเรือน ให้ปลูกมะยมเป็นไม้มงคล โดยเชื่อว่าการปลูกมะยมไว้ ผู้คนจะได้นิยมชมชอบชื่นชม หรือมีนะเมตตามหานิยม นอกจากนั้น มะยมยังเป็นไม้ที่มีประโยชน์ เป็นทั้งผลไม้เป็นทั้งผัก เป็นทั้งยาสมุนไพร

คนทั่วทุกภาค ปลูกต้นมะยมไว้ตามบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ริมสระน้ำ ริมคลอง เป็นไม้ที่โตเร็ว มีผลดกมาก ถึงเวลาติดผลจะเห็นชัดเจน เป็นช่อพวง ระย้าเต็มกิ่งก้าน ต้นมะยมไม่สูงนัก พอเอื้อมมือเด็ดผลได้ อย่างเก่งก็ตั้งม้า เก้าอี้ เด็ดมะยม แต่ที่แน่ๆ คือ ร่วงง่ายมาก ถ้าสอยปลิดก็ร่วงทั้งพวง หล่นร่วงใส่หัว กระเด็นกระดอนกระจายเต็มพื้น ถ้าจะใช้ไม้สอย หรือเขย่ากิ่ง ก็ต้องมีกระสอบ ผ้า ตาข่าย รองรับใต้ต้น ระวังอย่าปีนต้นมะยม กิ่งต้นมะยมเปราะหักง่ายมาก เช่นเดียวกัน หลายคนชอบโน้มกิ่งมะยม เด็ดเอายอดไปเป็นผักเคียงส้มตำ ยำ ลาบ ให้ระวังด้วย กิ่งหักเสียหายง่าย หาวิธีเก็บผล หรือเด็ดยอดอ่อน ตั้งโต๊ะ ม้าขาตั้ง บันไดเหล็ก เป็นวิธีที่ดีที่สุด

มะยม เป็นไม้ที่คนไทยปลูกกันแพร่หลายมานานแล้ว เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้าน เปราะแตกหักง่าย ผิวเปลือกต้นขรุขระ สีเทาปนน้ำตาล ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 10-20 คู่ ใบรูปขอบขนาน กลม หรือค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 1.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-7.5 เซนติเมตร ใบแก่จะร่วงหล่น ใบใหม่ยอดใหม่แตกทดแทนเรื่อยๆ ดอกออกเป็นช่อและออกตามกิ่ง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย แยกกัน ดอกตัวผู้เกิดที่ปลายช่อไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบแยกกัน ดอกตัวเมียมี 6 กลีบ ผลรูปร่างกลมแบนมี 3 พู ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลืองหรือสีขาวแกมเหลือง เมล็ดรูปร่างกลม เห็นเป็นร่องสีน้ำตาลอ่อน

มะยม เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งที่แดดจัด หรือในที่ร่มรำไร ชอบดินร่วนซุย ความชื้นพอเหมาะ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปลูกง่าย จะปลูกเป็นแถวเป็นแนว ก็ปลูกห่างกันระยะ 3×3 เมตร ขุดหลุม ผสมดินด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักให้ร่วนซุย เอากล้ามะยมลงปลูก ปักไม้เป็นเครื่องหมาย หรือถ้าปลูกริมรั้วก็ให้ห่างจากรั้วเข้ามา 2 เมตร เมื่อโตจะได้ไม่ไปคลุมเข้าพื้นที่บ้านคนอื่นเขา แต่ถ้าพูดคุยกันได้ แบ่งผลประโยชน์ร่วมกันได้ก็โอเค จะเป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดีได้ วินวินกันทั้งเขาทั้งเรา ไม่ต้องห่วง มะยมเป็นไม้เมตตามหานิยมอยู่แล้ว คงไม่ทำให้ใครๆ ทะเลาะเบาะแว้งกัน

คุณประโยชน์ทางยา คนสมัยเก่าแพทย์แผนโบราณ นิยมใช้รากมะยมตัวผู้ คือมะยมต้นที่มีดอกแต่ไม่ติดลูก เอารากมะยมตัวผู้ เขาว่าดีกว่ารากมะยมตัวเมีย แต่คงใช้ได้ทั้งหมดนั่นแหละทั้งตัวผู้ตัวเมีย สมัยนี้ไม่ค่อยพบเจอมะยมตัวผู้มากนัก หรือไม่เจอเลย ก็สมัยนี้ปลูกมะยมต้องการเอาลูกเอาผลกันทั้งนั้น เอาเคล็ดด้วย รากมะยมมีสรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้ง ประดง ดับพิษเสมหะ โลหิตเป็นพิษ เปลือกลำต้น แก้ไข้ทับระดู ใบปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว สรรพคุณดับพิษไข้ แก้ไข้ ใช้ใบมะยมรวมกับใบมะเฟือง ใบหมากผู้หมากเมีย ต้มน้ำอาบ แก้พิษคัน พิษไข้หัวเหือด หัด ไข้ดำแดง ไข้สุกใส แก้คัน

มะยม เป็นผักเป็นผลไม้ ยอดอ่อนสีเขียวอมชมพูเรื่อๆ ออกมากฤดูฝน เป็นผักเคียง ผักแกล้มกินคู่กับส้มตำ ลาบ ก้อย จิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอด กินร่วมกับขนมจีนน้ำยา แกงเลียง กินกับแหนมสด ผลอ่อนออกฤดูฝน ผลแก่มีปลายฝนต้นหนาว ผลนอกจากกินเป็นผลไม้ จิ้มพริกเกลือ น้ำปลาหวาน แล้วยังนำมาตำส้มตำแทนมะละกอ และยังสามารถนำผลแก่มาทำ แยมมะยม มะยมดอง มะยมแช่อิ่ม มะยมกวน ปรุงเป็นน้ำมะยม

มะยมเป็นไม้ในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus [Linn.] Skeds ชื่อพื้นเมือง หมักยม (อุดร-อีสาน) ยม (ใต้) มะยม (ทั่วไป) มีปลูกกันทั่วทุกที่ หน้าบ้าน หลังบ้าน ริมทาง ข้างรั้ว หลายต้นคนกินไม่ทัน ร่วงหล่นไร้ราคาเกลื่อนใต้ต้น ที่เน่าเสียเป็นส่วนใหญ่ ลูกใหญ่ลูกเล็กมีหลายขนาด เก็บเอาไปเพาะกล้าได้ดีมาก กระจัดกระจายไปไกลต้น เจอสภาพที่เหมาะสม งอกเป็นต้นใหม่ จะย้ายไปปลูกที่อื่นให้เหมาะสม ก็ขุดไปปลูกได้เลย เอาต้นที่พอดี สูงประมาณ 1 คืบ ถึง 1 ศอก กำลังดี หรือจะรอฤกษ์งามยามดีปลูก เพื่อความเข้มขลังเมตตามหานิยม ก็เชิญตามสะดวก มะยมปลูกไว้ มีแต่ดี มีแต่ประโยชน์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ